ศาลเยาวชนพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “ต้นอ้อ” ร่วมคาร์ม็อบ #ขบวนกี3 ลงโทษปรับ 4,000 บาท เห็นว่าขณะเกิดเหตุมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

วันที่ 31 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาในคดีข้อหาหลักฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “ต้นอ้อ” ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปี สังกัดกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกและกลุ่มภาคี save บางกลอย จากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ15สิงหา #ขบวนกี3 เมื่อปี 2564  

คดีนี้ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องทุกข้อหา ลงโทษปรับรวม 4,000 บาท 

.

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 แทนฤทัย และนักกิจกรรมอีก 3 ราย จากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ได้แก่ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, ศิริ นิลพฤกษ์ และ “ต้นอ้อ” เยาวชนที่ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปี ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.บางรัก โดยกรณีของต้นอ้อถูกแยกดำเนินคดีในส่วนของเยาวชน

ต่อมา 18 พ.ค. 2565  พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จัดการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด-19 ที่บริเวณถนนสีลม และจำเลยกับพวกได้ทำการนำแผ่นผ้าสีขาวขนาดใหญ่มาวางบนพื้นถนนที่ประชาชนใช้สัญจรผ่านไปมา โดยฉีดพ่นสเปรย์ลงบนแผ่นผ้า ซึ่งมีข้อความว่า ‘ขับรถบรรทุก เพื่อไปชนประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ตลอดทั้งทำกิจกรรมร้อง เต้นอยู่บนรถบรรทุกซึ่งมีผู้ชุมนุมอยู่หลายคน อันเป็นการกระทำในลักษณะกีดขวางทางจราจร 

คดีนี้ ศาลนัดสืบพยานไปตั้งแต่วันที่ 30 – 31 ส.ค. และวันที่ 1 ก.ย 2566  โดยโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด-19  การชุมนุมไม่มีมาตรการควบคุมโรค ตลอดจนกิจกรรมของผู้ชุมนุมสร้างความวุ่นวาย และกีดขวางทางจราจร ส่วนจำเลยมีข้อต่อสู้ว่าการชุมนุมเป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

วันนี้ (31 ต.ค. 2566) ศาลอ่านคำพิพากษา พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ และจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริง โดยเห็นว่าการรวมกลุ่มของผู้ชุมนุมมีความเสี่ยงที่จะแพร่โรคระบาดโควิด-19 และขณะเกิดเหตุยังมีรายงานการติดเชื้อโควิด-19  

ส่วนเรื่องที่จำเลยเบิกความต่อสู้ว่าการชุมนุมของจำเลยเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แต่แม้การชุมนุมจะสงบและปราศจากอาวุธจริง และเป็นการชุมนุมที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ศาลเห็นว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 วรรค 2 มีข้อยกเว้นที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะสามารถใช้บังคับได้ กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่บังคับใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะเมื่อยังไม่มีกฎหมายยกเลิกในขณะนั้น จึงเห็นว่าจำเลยมีความผิด ให้ลงโทษปรับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นจำนวน 4,000 บาท

ส่วนความผิดตามพ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 เรื่องวางสิ่งของกีดขวางทางสาธารณะ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักสุดคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ลงโทษปรับ 2,000 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 ลดโทษปรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหลือ 3,000 บาท และลดโทษปรับตามมาตรา 385 เหลือ 1,000 บาท รวมโทษปรับทั้งสิ้น 4,000 บาท

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 ต้นอ้อก็ได้ถูกศาลเยาวชนพิพากษาคดี  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  จากกรณีเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมคาร์ม็อบ #ขบวนกี2  ลงโทษปรับ 4,000 บาท เช่นกัน

สำหรับกิจกรรมคาร์ม็อบ15สิงหา #ขบวนกี3 หรือ #เฟมตัวร้ายกับนายคฝ.ตัวดี เป็นการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งที่ 3 ของ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก มีการทำกิจกรรมบริเวณซอยสีลม 2 ก่อนไปรวมตัวกับขบวนคาร์ม็อบกลุ่มอื่นๆ  ในส่วนคดีของผู้ใหญ่ 3 คน ศาลแขวงพระนครใต้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 20 ธ.ค. นี้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า กิจกรรมคาร์ม็อบของกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีทั้งสี่ครั้ง แยกเป็นทั้งหมด 8 คดี ทั้งในส่วนของคดีผู้ใหญ่และคดีเยาวชน

X