ศาลยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “แรปเตอร์-วาดดาว-ทาทา” กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เหตุคาร์ม็อบ #ขบวนกี1 เห็นว่ากิจกรรมไม่ถึงกับแออัด ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ

วันที่ 4 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ‘แรปเตอร์’ สิรภพ อัตโตหิ (จำเลยที่ 1), ‘วาดดาว’ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง (จำเลยที่ 2) และ ‘ทาทา’ ศิริ นิลพฤกษ์ (จำเลยที่ 3) สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก จากกรณีจัดกิจกรรม Rainbow Carmob #แหกกีไปไล่คนจัญไร หรือ #ขบวนกี1 เพื่อร่วมขับไล่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่ง บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564  

ศาลยกฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ แต่ลงโทษปรับในข้อหากีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 คนละ 500 บาท

เหตุในคดีนี้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกได้จัดกิจกรรม Rainbow Carmob #แหกกีไปไล่คนจัญไร เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริเวณถนนสีลม 

จากนั้น เมื่อวันที่ 17 และ 30 ส.ค. 2564 พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด รอง ผกก. (สอบสวน) สน.ทุ่งมหาเมฆ ได้แจ้งข้อกล่าวหา 4 ข้อหาดังกล่าว ต่อนักกิจกรรมทั้งสามคนที่เดินทางเข้าพบตามหมายเรียก 

จนกระทั่งวันที่ 29 ก.ย. 2564 ‘วาดดาว’ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง (จำเลยที่ 2) ถูกตำรวจควบคุมตัวตามหมายจับในคดีนี้ เหตุจากการไม่มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อส่งตัวให้อัยการ ทั้งที่ทนายความได้โทรแจ้งกับพนักงานสอบสวนไว้ก่อนแล้วว่าจำเลยที่สามไม่สามารถไปตามนัดได้เนื่องจากติดธุระ 

ต่อมาในวันที่ 4 ก.ค. 2565 นวพล เอี่ยมสอาด พนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแขวงพระนครใต้ จำเลยทั้งสามยืนยันต่อสู้คดี และศาลได้นัดสืบพยานไปเมื่อวันที่ 14 และ 19 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม-สถานที่ไม่ถึงกับแออัด

วันนี้ (4 ก.ย. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 เวลาประมาณ 09.35 น. จำเลยทั้งสามคนเดินทางมาฟังคำพิพากษา

ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาสรุปได้ดังนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน แต่จำเลยทั้งสามไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย โดยที่สถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่ง ประกอบกับผู้ชุมนุมมีประมาณ 20 คน ผู้คนยืนเว้นระยะห่างกัน จึงไม่ถึงขนาดเป็นสถานที่แออัด พยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-2019 จากกิจกรรมดังกล่าวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง

ในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุญาต และไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ‘ไม่ได้มีการขออนุญาต’ ใช้เครื่องขยายเสียงในวันเกิดเหตุจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามฟ้อง

ในข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 133 “รถที่เข้าขบวนแห่ต่างๆ หรือรถที่นํามาใช้เฉพาะเพื่อการโฆษณาสินค้าหรือมหรสพ ที่แห่หรือโฆษณาไปตามทาง จะต้องรับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจรฯ”  พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำการชักชวนให้คนออกมาชุมนุม ไม่ได้เป็นขบวนแห่เพื่อการโฆษณาสินค้าหรือมรหสพตามข้อหานี้แต่อย่างใด จำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตามข้อหานี้

สุดท้าย ประเด็นต้องวินิจฉัยในข้อหากีดขวางทางสาธารณะ เห็นว่ามีรถบรรทุกสีขาวจอดบนช่องทางจราจร 1 ช่องทาง และยังสามารถใช้การจราจรได้อีก 2 ช่องทาง แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสามได้นำผ้าขนาด 5*10 เมตร มาปูบริเวณถนนสีลมบนช่องทางเดินรถ 1 ช่อง เห็นว่ามีความผิดในฐานกีดขวางทางสาธารณะ 

พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดข้อหาร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร ตาม ป.อาญา มาตรา 385 ลงโทษปรับคนละ 500 บาท

สรุปแล้ว ศาลพิพากษาปรับจำเลยทั้งสามคนรวมแล้ว 1,500 บาท ในฐานความผิดข้อหากีดขวางทางสาธารณะ ส่วนในข้อหาอื่นยกฟ้องทั้งหมด ทั้งนี้ หลังจากศาลมีคำพิพากษา จำเลยทั้งสามคนได้ลงไปจ่ายค่าปรับให้กับศาลด้วยตนเองทันที

เปรียบเทียบคำพิพากษาคดีเยาวชน – ผู้ใหญ่ จากเหตุชุมนุม #แหกกีไปไล่คนจัญไร วันเดียวกัน แต่พิพากษาลงโทษต่างกัน

ทั้งนี้ ในกิจกรรมการชุมนุม Rainbow Car mob #แหกกีไปไล่คนจัญไร เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 นอกจาก ‘แรปเตอร์ – วาดดาว – ทาทา’ ที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี ยังมีเยาวชนอีก 3 คน ‘โมโม่ – ต้นอ้อ – ปิง (นามสมมติ)’ ถูกตั้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีแยกออกไปในฐานะคดีเยาวชนด้วย

ในคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาปรับคนละ 4,000 บาท ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพรก.ฉุกเฉินฯ แต่ยกฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ส่วนในข้อหากีดขวางทางจราจร พิพากษาลงโทษปรับเพียงจำเลยที่ 3 (ปิง) จำนวน 400 บาท

ข้อหาที่ถูกดำเนินคดีคดีเด็กและเยาวชน 
‘โมโม่ – ต้นอ้อ – ปิง’

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
พิพากษา 28 มิ.ย. 2566
คดีผู้ใหญ่
‘แรปเตอร์ – วาดดาว – ทาทา’
ศาลแขวงพระนครใต้
พิพากษา 4 ก.ย. 2566

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาทยกฟ้อง

พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ
ยกฟ้องยกฟ้อง

พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ
ยกฟ้องยกฟ้อง
ม.385 – กีดขวางทางสาธารณะลงโทษปรับจำเลยที่ 3
จำนวน 400 บาท
ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2
ให้ยกฟ้อง
ลงโทษปรับคนละ 500 บาท
สรุปมีความผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ป.อาญา มาตรา 385 ลงโทษปรับทั้งสิ้น 12,400 บาทมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 385 ลงโทษปรับคนละ 500 บาท รวมทั้งสิ้น 1,500 บาท

คำพิพากษาจากรณีชุมนุม Rainbow Carmob #แหกกีไปไล่คนจัญไร เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคดีที่ฟ้องเด็กและเยาวชน และคดีที่ฟ้องผู้ใหญ่ในลักษณะเดียวกัน เห็นได้ว่า ศาลพิพากษาลงโทษในคดีเด็กและเยาวชนทั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหากีดขวางทางสาธารณะ ในขณะที่คดีผู้ใหญ่พิพากษาเห็นว่ามีความผิดเฉพาะข้อหากีดขวางทางสาธารณะ

X