เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของประชาชน 9 ราย ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จากการเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมดำเนินคดี
คดีนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ต.ค. 2563 ภายหลังจากในเวลา 04.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีการเข้าจับกุมแกนนำ “คณะราษฎร” ตามหมายจับในคดีต่างๆ และยังจับกุมผู้ร่วมชุมนุมจำนวนอย่างน้อย 18 ราย ไปยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ต่อมาทั้ง 18 คน ได้ถูกดำเนินคดีแยกเป็น 2 คดี โดยเป็นคดีที่ สน.ดุสิต จำนวน 13 ราย และ สน.นางเลิ้ง จำนวน 5 ราย
ในส่วนของประชาชน 13 รายนั้น ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ดุสิต เข้าแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และทั้งหมดถูกควบคุมตัวไว้ที่ บก.ตชด. ภาค 1 เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ก่อนจะถูกนำตัวไปขออำนาจศาลแขวงดุสิตในการฝากขัง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยให้ใช้หลักทรัพย์ประกันรายละ 1 หมื่นบาท
กลุ่มประชาชนที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ มีทั้งประชาชนผู้มาเข้าร่วมชุมนุม ทนายความที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุม คนขับรถส่งน้ำ และคนรับจ้างตั้งเต็นท์ในการชุมนุม
จากจำนวน 13 รายข้างต้น ต่อมา เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565 อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงดุสิตเพียง 9 รายเท่านั้น ได้แก่ ชาติชาย แจ่มจันทร์, ศักดา อุประ, เจษฎา จอกโคกสูง, ปารย์พิรัย์ บุญญา, ธนาภูวเดช, สิงหา ดลสุข, เดือน คงยอด, สมประสงค์ เปาอินทร์ และว่าที่ร้อยตรีรุ่งโรจน์ ครองสินไชโย
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีก 4 รายนั้น ได้แก่ ไชญะภัณฑ์ พันทรศิริมาส, เริงชัย บังวงศ์, วิชัย โรคน้อย และวันชัย สิงห์สวัสดิ์ อัยการเห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าปรากฏพยานหลักฐานไม่พอฟ้องทั้งสี่ โดยข้อเท็จจริงนั้นทั้งสี่คนเป็นเพียงคนขับรถส่งน้ำให้กับที่ชุมนุม ไม่ได้เป็นผู้มาเข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด โดยได้มีนายจ้างของทั้งสี่คนเข้าให้การยืนยันข้อเท็จจริงกับทางตำรวจเอาไว้ด้วย
คำฟ้องในคดีนี้สรุปสาระสำคัญได้ว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 จำเลยทั้ง 9 คนและพวกรวมประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันชุมนุมที่บริเวณแยกสวนมิสกวัน กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อจำเลยและพวกได้ฟังประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วเกิดความไม่พอใจจำเลย และได้ส่งเสียงดังพร้อมลุกขึ้นเดินทางเข้าหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับดันแผงกั้นเจ้าที่ตำรวจที่ตั้งไว้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่ยอมเลิกการชุมนุม อันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548
ต่อมา ศาลได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลย จำนวน 3 นัด ระหว่างวันที่ 1, 2 และ 14 มิ.ย. 2566 และนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้
คำพิพากษา : ศาลยกฟ้อง เห็นว่าจำเลยชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ สิทธิถูกรับรองไว้ตามกฎหมาย – การเบิกความของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีความผิด
ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 502 จำเลยทั้ง 9 รายทยอยเดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยจำเลยรายหนึ่งโดยสารเครื่องบินมาจากจังหวัดเชียงรายในเช้าวันนี้และเดินทางมาศาลเป็นคนสุดท้ายในเวลาประมาณ 11.30 น. จากนั้นศาลจึงได้อ่านคำพิพากษา ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า
พิเคราะห์พยานโจทก์และพยานจำเลยทั้ง 9 รายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันเกิดเหตุทั้งหมด 4 ปาก เบิกความตรงกันว่า การชุมนุมในคดีนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. 2563 เวลาประมาณเที่ยงตรง ซึ่งมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน
ต่อมาในวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. ผู้ชุมนุมทยอยกลับไปจนเหลือประมาณ 200 คน จากนั้นนายกฯ ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ร้ายแรงโดยมีข้อกำหนดหนึ่งในนั้นว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยง ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง …”
หลังจากนั้นเจ้าที่ตำรวจจึงได้ประกาศให้ยุติการชุมนุม โดยใช้เครื่องขยายเสียงประกาศบนรถเครื่องขยายเสียงอยู่หลายครั้ง เมื่อผู้ชุมนุมได้ฟังกลับเกิดความไม่พอใจและลุกขึ้นดันแผงกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเช้ามืดของวันที่ 15 ต.ค. เวลาประมาณ 04.30 น. ซึ่งเลยเวลาประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงใช้มาตรการจับกุมผู้ชุมนุมได้ 18 ราย ซึ่งมีจำเลยทั้ง 9 ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย
พยานโจทก์เบิกความตรงกันว่าจำเลยทั้ง 9 นั้นในขณะร่วมการชุมนุมมีพฤติการณ์ชุมนุมไม่สงบ ยุยงให้เกิดความวุ่นวาย ขว้างปาขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และดันแผงกั้นใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ในคดีนี้ไม่ได้เบิกความถึงประเด็นดังกล่าว แต่เบิกความถึงเพียงประเด็นวิธีการประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมและพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมว่าจำเลยทั้ง 9 รายกระทำการใดบ้างอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
การชุมนุมในวันเกิดเหตุ ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยประชาชนได้นัดหมายเคลื่อนขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาจนถึงทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15 ต.ค. 2563 ช่วงหนึ่งของการชุมนุมนั้น พบว่า จะมีขบวนเสด็จของพระราชินีเคลื่อนผ่านบริเวณที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่ และผู้ชุมนุมพยายามจะเข้าล้อมรถพระที่นั่ง แต่ตำรวจได้ป้องกันเหตุไว้ได้ นอกจากนี้แล้ว ไม่พบว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงหรือประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงไม่พบว่ามีผู้ชุมนุมคนใดได้ทำลายข้าวของหรือทรัพย์สินระหว่างการชุมนุม
ศาลเห็นว่าการชุมนุมของจำเลยทั้งเก้าและพวกยังคงเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 การเบิกความของพยานโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีความผิด ศาลจึงพิพากษาให้ยกฟ้อง
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. ถึง 22 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง การประกาศดังกล่าว เป็นการยกระดับความรุนแรงของการใช้กฎหมายขึ้นไปกว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับปกติ
ระหว่างช่วงดังกล่าว มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมตามข้อกล่าวหานี้จำนวนไม่น้อยกว่า 72 คน ใน 35 คดี โดยหลายคดียังดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนและชั้นศาล
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ตร.สน.ดุสิต ส่งสำนวนคดีชุมนุมหน้าทำเนียบฯ 15 ตุลา ให้อัยการ มีความเห็นไม่ฟ้อง 4 คนส่งน้ำ
สรุปสถานการณ์ชุมนุม 14 ต.ค. ก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง จับกุมแกนนำ