ตร.สน.ดุสิต ส่งสำนวนคดีชุมนุมหน้าทำเนียบฯ 15 ตุลา ให้อัยการ มีความเห็นไม่ฟ้อง 4 คนส่งน้ำ

3 ก.พ. 64 ที่สำนักงานอัยการศาลแขวงดุสิต พ.ต.ท.พิชัย มีอัฐมั่น รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ดุสิต ได้นัดหมายประชาชน 13 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีการเดินขบวนของ “คณะราษฎร” จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมดำเนินคดี โดยตำรวจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 4 ราย เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

คดีนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ต.ค. 63 ภายหลังจากในเวลา 4.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีการเข้าจับกุมแกนนำ “คณะราษฎร” ตามหมายจับในคดีต่างๆ และยังจับกุมผู้ร่วมชุมนุมจำนวนอย่างน้อย 18 ราย ไปยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ต่อมาทั้ง 18 คน ได้ถูกดำเนินคดีแยกเป็น 2 คดี โดยเป็นคดีที่สน.ดุสิต จำนวน 13 ราย และ สน.นางเลิ้ง จำนวน 5 ราย

ในส่วนของประชาชน 13 รายนั้น ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ดุสิต เข้าแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยคดีมี พ.ต.ท.อัฏฐวัฒน์ มหาเทียนธำรง เป็นผู้กล่าวหา

ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ บก.ตชด.ภาค 1 เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ก่อนจะถูกนำตัวไปขออำนาจศาลแขวงดุสิตในการฝากขัง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 แต่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยให้ใช้หลักทรัพย์ประกันรายละ 1 หมื่นบาท

กลุ่มประชาชนที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ มีทั้งประชาชนผู้มาเข้าร่วมชุมนุม ทนายความที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุม คนขับรถส่งน้ำ และคนรับจ้างตั้งเตนท์ในการชุมนุม

รายชื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 13 คน ได้แก่ ชาติชาย แจ่มจันทร์, ว่าที่ร้อยตรีรุ่งโรจน์ ครองสินไชโย, สมประสงค์ เปาอินทร์, เจษฎา พงษ์วันนา, ปารย์พิรัย์ บุญญาธนาภูวเดช, เดือน คงยอด, สิงหา ดลสุข, เจษฎา จอกโคกสูง, ไชญะภัณฑ์ พันทรศิริมาส, เริงชัย บังวงศ์, วิชัย โรคน้อย, วันชัย สิงห์สวัสดิ์, ศักดา อุประ

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 63 ทนายความของผู้ต้องหาได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมในคดีเอาไว้ โดยยืนยันว่าพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาคดีนี้ เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกโดยชอบด้วยตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งลักษณะการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาเป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง เพื่อแทรกแซงยับยั้งการใช้สิทธิ เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน และมีเจตนาไม่สุจริต

จนกระทั่งในวันนี้ พนักงานสอบสวนสน.ดุสิตได้นัดหมายผู้ต้องหาทั้ง 13 คน เพื่อส่งตัวและสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิต โดยมีผู้ต้องหาจำนวน 10 ราย เดินทางเข้ารายงานตัวตามนัด ส่วนอีก 3 รายซึ่งไม่สามารถติดต่อได้ ทางตำรวจจะออกหมายเรียกมาส่งตัวให้กับอัยการอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน พนักงานสอบสวนยังมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหารวม 4 ราย ได้แก่ ไชญะภัณฑ์ พันทรศิริมาส, เริงชัย บังวงศ์, วิชัย โรคน้อย และวันชัย สิงห์สวัสดิ์ เนื่องจากเห็นว่ามีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องทั้งสี่ ส่วนอีก 9 ราย พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี

โดยข้อเท็จจริง ทั้งสี่คนที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดี เป็นเพียงคนขับรถส่งน้ำให้กับที่ชุมนุม ไม่ได้เป็นผู้มาเข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด โดยได้มีนายจ้างของทั้งสี่คนเข้าให้การยืนยันข้อเท็จจริงกับทางตำรวจเอาไว้ด้วย

ทั้งนี้ คำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีทั้ง 13 คน ยังต้องรอความเห็นจากทางพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตต่อไป โดยพนักงานอัยการได้นัดหมายผู้ต้องหาทั้งหมดฟังคำสั่งในวันที่ 27 พ.ค. 64 เวลา 10.00 น.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 15 ต.ค. 63 เวลา 4.00 น. จนถึงวันที่ 22 ต.ค. 63 เวลา 12.00 น. ได้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมือง เป็นจำนวนอย่างน้อย 72 ราย ในจำนวน 23 คดี

 

X