2 มิ.ย. 64 – ที่สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 “ภูมิ” (สงวนชื่อและนามสกุล) แนวร่วมกลุ่ม ‘นักเรียนไท’ พร้อมที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) ได้เดินทางมาพบพนักงานอัยการ เพื่อรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ ขณะพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้กับพนักงานอัยการ ในคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ24มีนา ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64
ในวันนี้ ภูมิยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย และการสั่งฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน
ก่อนหน้านี้ ภูมิได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ลุมพินี เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 64 และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ยื่นหนังสือขออัยการสั่งไม่ฟ้อง ระบุเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก
หนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าวชี้แจงเหตุผลว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ถนนราชดําริ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 ตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาเป็นคดีนี้ ภูมิขอเรียนว่า ภูมิได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย และการสั่งฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน โดยระบุเหตผล ดังต่อไปนี้
- พฤติการณ์เกี่ยวกับการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64 เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต เป็นการชุมนุมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระทำโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ภูมิไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือก่อเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด
- ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ฉบับลงวันที่ 25 มี.ค 63 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเจตนารมณ์ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวนั้น เป็นมาตรการเข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน
อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวกับผู้ต้องหาและผู้ร่วมชุมนุมรายอื่น มิได้เป็นการบังคับใช้ตามเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่เพื่อประสงค์จำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อยับยั้งบุคคลที่ต้องการเรียกร้องหรือเห็นต่างจากรัฐบาล อันเป็นการบังคับใช้กฎหมายต่อประชาชนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาและผู้ร่วมชุมนุมรายอื่น เป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง เพื่อแทรกแซงยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน และมีเจตนาไม่สุจริต - ภูมิได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันและลดความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงได้มีมาตรการป้องกันผ่านการสวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างตามสมควร นอกจากนี้สถานที่บริเวณพื้นที่การชุมนุม ที่แยกราชประสงค์ เป็นพื้นที่สาธารณะเปิดโล่ง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และผู้เข้าร่วมไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จึงไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด ดังนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย
- การดำเนินคดีนี้เป็นไปโดยเหตุผลทางการเมือง เพื่อแทรกแซงยับยั้งการใช้สิทธิ เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน และมีเจตนาไม่สุจริต หวังผลให้ผู้ที่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตมีภาระทางคดีความ และเกิดความยากลำบากตามมาหลังจากการแสดงความคิดเห็นแล้ว เพื่อหวังข่มขู่ให้บุคคลอื่นไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในลักษณะเช่นเดียวกันอีก อันเป็นลักษณะของการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อ “ปิดปาก” หรือ Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPP)
ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินคดีนี้กับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กเป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง รัฐบาลเลือกดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นเด็กที่มีการแสดงออกเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา อันเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน
ตามอนุสัญญาข้อ 2 (2) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ระบุไว้ว่า “รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง เพื่อที่จะประกันว่าเด็กได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ หรือการลงโทษในทุกรูปแบบ บนพื้นฐานของสถานภาพ กิจกรรมความคิดเห็นที่แสดงออก ฯลฯ”
ดังนั้น การดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชนในคดีนี้ จึงขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างร้ายแรง
พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งทางคดีในวันที่ 4 มิ.ย. 64 เวลา 10.00 น. ที่สํานักงานอัยการพิเศษฝ่าย คดีเยาวชนและครอบครัว 3 เพื่อฟังคําสั่งของพนักงานอัยการ นอกจากนี้ ภูมิระบุว่า ไม่ประสงค์จะให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการดําเนินคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชน และครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 86
นอกจากคดีนี้ ภูมิยังถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ โดยพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องและยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว แม้ผู้ต้องหาจะได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไม่ให้สั่งฟ้องคดีเช่นเดียวกัน รวมแล้วทำให้ภูมิถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทั้งหมด 2 คดี (อ่านเพิ่มเติม: สั่งฟ้องคดี 3 แกนนำนร. เยาวชนชี้อัยการไม่ได้พิจารณาประเด็นขอความเป็นธรรมที่ร้องไป)
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้มีเยาวชนอย่างน้อย 43 ที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมในการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง โดยในจำนวนนี้ มี 8 รายที่ถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคงอย่าง มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และอีก 1 รายที่ถูกตั้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” หรือ มาตรา 116
>> ภาพรวมคดีทางการเมืองของ “เยาวชน”: ยอดผู้ถูกดำเนินคดีพุ่งไปกว่า 43 รายแล้ว
>>สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-64