จับ 7 ราย หลัง #ม็อบสมรสเท่าเทียม รวมรถเครื่องเสียงและเยาวชนส่งเดลิเวอรี่ ก่อนชายถูกกล่าวหาร่วมปาพลุ-ระเบิด เข้าเรือนจำอีก 1 ราย

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ตำรวจตามจับคนขับและผู้ติดตามบนรถเครื่องเสียง รวม 3 คน อ้างเหตุขนอุปกรณ์เข้าร่วมชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์กับเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ “ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม” เรียกร้องให้ทุกคนมีสิทธิในการสมรสอย่างเท่าเทียม ก่อนแจ้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกีดขวางทางสาธารณะ ยึดของบนรถ 6 รายการ และให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน โดยมี เบนจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งวางประกันแทนหลักทรัพย์ คนละ 10,000 บาท ทั้งสามได้รับการปล่อยตัวจาก สน. ลุมพินี หลังเที่ยงคืน   

ประสิทธิ์ (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 25 ปี ถูกจับที่แยกโรงกรองน้ำ ก่อนควบคุมตัวไป สน.ดินแดง และถูกเปรียบเทียบปรับฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน เนื่องจากไม่แสดงบัตรประจำตัวประชาชน และได้รับการปล่อยตัว 

นอกจากนี้ ยังมีประชาชนอีก 3 ราย ถูกจับจากบริเวณถนนพระราม 9 และถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ดินแดง เช่นกัน แต่ถูกนำตัวเข้าห้องสืบสวนก่อน ไม่ให้ทนายความเข้าพบ จากนั้น ตำรวจให้ข้อมูลว่า ถูกเปรียบเทียบปรับฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ก่อนได้รับการปล่อยตัวไป 1 ราย 

ส่วนอีก 2 ราย ได้แก่ ต้า (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี และสหรัฐ (สงวนนามสกุล) วัย 27 ปี ถูกตั้งข้อหา ร่วมมั่วสุมทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ และมีหรือใช้วัตถุระเบิด ก่อนที่วันต่อมา (29 พฤศจิกายน 2564) พนักงานสอบสวนส่งต้าไปตรวจสอบการจับและขอออกหมายควบคุมตัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และขอฝากขังสหรัฐต่อศาลอาญา 

ต่อมาศาลเยาวชนฯ ได้ออกหมายควบคุมตัวต้า และให้ประกันในวงเงิน 20,000 บาท โดยครอบครัวได้ขอใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ ขณะที่หลังศาลอาญาอนุญาตฝากขังสหรัฐ แต่ญาติติดภารกิจไม่ได้เดินทางมายื่นประกัน ทำให้สหรัฐถูกส่งตัวไปขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ     

แยกมักกะสัน รถเครื่องเสียงตกเป็นเป้า ไม่มีหมายจับ เจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมายซ้ำซาก

หลังยุติการชุมนุม #ม็อบสมรสเท่าเทียม เรียกร้องให้ทุกคนมีสิทธิในการสมรสได้อย่างเท่าเทียมกัน และเชิญชวนลงชื่อเสนอกฎหมายเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1448 ที่มีสาระสำคัญกำหนดให้การสมรสเกิดขึ้นได้ระหว่าง “บุคคลสองคน” แทนการสมรสของ “ชายและหญิง”

>>> ประมวล #ม็อบ28พฤศจิกา64 ล่ารายชื่อเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับ ปชช.  

21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดจำนวนหนึ่งดักจับรถเครื่องเสียงของศักดิ์ชัย คำมี, รัชเดช สะอาดสิทธิ์ และดิสพงษ์ ธนวิภากุล บริเวณแยกมักกะสัน โดยเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นและนำตัวทั้งสามคนพร้อมรถกระบะที่บรรทุกเครื่องเสียงไปยัง สน.ลุมพินี 

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุในบันทึกการจับกุมว่า ได้พบรถยนต์กระบะน้ำเงินบรรทุกเครื่องเสียงและอุปกรณ์การชุมนุมเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ โดยมีศักดิ์ชัยเป็นผู้ขับขี่ รัชเดชและดิสพงษ์เป็นผู้โดยสาร จากนั้นทั้งสามช่วยกันขนเครื่องเสียงและติดตั้งบนเวที กระทั่งยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 20.35 น. รถคันดังกล่าวได้เคลื่อนออกจากพื้นที่ชุมนุม จนถึงบริเวณข้ามทางรถไฟใต้สถานีรถไฟราชปรารภ เจ้าหน้าที่ตํารวจซึ่งสะกดรอยติดตามไปตลอดได้เข้าตรวจค้นรถพบลำโพง 6 ตัว, ตัวควบคุมเสียง และสายไฟหลายเส้น จึงจับกุมตัวทั้งสาม พร้อมทั้งตรวจยึดรถพร้อมเครื่องเสียงเป็นของกลาง

หลังทำบันทึกการจับกุม ซึ่งทั้งสามคนถูกตั้งข้อหา ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ประกาศกำหนดหรือพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกีดขวางทางสาธารณะ ศักดิ์ชัยและพวกให้การปฏิเสธพร้อมทั้งไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม 

ผู้ถูกจับกุมทั้งสามพร้อมทนายความต้องรอคณะพนักงานสอบสวนจนกระทั่งหลังเที่ยงคืน จึงได้เริ่มสอบปากคำ โดยให้การปฏิเสธ และจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 จากนั้น ส.ส.เบนจา แสงจันทร์ ได้เดินทางมายื่นประกันโดยใช้ตำแหน่งประกันแทนหลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนให้ประกันในวงเงินคนละ 10,000 บาท  ศักดิ์ชัย, รัชเดช และดิสพงษ์ จึงได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 01.30 น. 

ภาพจากสำนักข่าวราษฎร

มีข้อสังเกตว่า รถเครื่องเสียงคันดังกล่าวตกเป็นเป้าหมายการจับกุมของตำรวจจากการเข้าร่วมการชุมนุม แต่การจับกุมไม่ได้กระทำขณะทั้งสามเข้าร่วมการชุมนุมหรืออยู่ในที่ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด กลับเข้าจับกุมหลังออกจากที่ชุมนุมและอยู่ระหว่างเดินทางกลับ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจับกุมซึ่งหน้า  

การจับกุมในลักษณะนี้พนักงานสอบสวนจะต้องขออนุมัติหมายจับจากศาลก่อน และนำมาแสดงต่อผู้ถูกจับ หรือออกเป็นหมายเรียก การจับกุมโดยไม่มีหมายจับดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการจับกุมโดยมิชอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีการเช่นนี้เข้าจับกุมและยึดรถเครื่องเสียงของลำไย, เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี และรถเครื่องเสียงคันอื่นที่เข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้ 

>>> จอดปาดหน้าก่อนจับรถเครื่องเสียง 3 คัน ไร้หมายจับ หลัง #ม็อบ3กันยา – อีก 2 เยาวชน ถูกจับฝ่าเคอร์ฟิวที่ดินแดง 1 ใน 2 ถูกกระสุนยางยังอยู่ รพ.

>>> ตร.บุกค้น-ควบคุมตัว ทีมงานรถเครื่องเสียง ‘คณะแดงก้าวหน้า’ ยามวิกาล อ้างกลัวมีอาวุธซุกซ่อนในบ้าน ก่อนรีบปล่อยตัว

>>> ตามจับรถเครื่องเสียง-รถห้องน้ำไม่มีหมายจับ-ยึดสิ่งของรวม 29 รายการ หลัง #ราษฎรประสงค์ ยกเลิก112 ยุติชุมนุม

แยกโรงกรองน้ำดินแดง ค้นกระเป๋าหนุ่มวัยรุ่น อ้างมือเลอะเขม่าดินปืนจากพลุไฟ นำตัวไป สน. ดินแดง ก่อนปรับแล้วปล่อยตัวข้อหาไม่ให้ดูบัตรประชาชน  

เวลาประมาณ 21.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่า มีชายอายุ 25 ปี ทราบชื่อว่าประสิทธิ์ (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมบริเวณก่อนถึงแยกโรงกรองน้ำ-ดินแดง ถนนประชานุเคราะห์ โดยตำรวจในเครื่องแบบกว่า 10 นายพร้อมโล่ อ้างว่าประสิทธิ์เข้าร่วมการชุมนุมสมรสเท่าเทียม และเมื่อตำรวจขอตรวจบัตรประชาชน ไม่ยอมแสดง ก่อนจะควบคุมตัวไป สน.ดินแดง โดยแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน จากเหตุที่ไม่แสดงบัตรประชาชน และเปรียบเทียบปรับ 300 บาท แล้วปล่อยตัว

ประสิทธิ์ให้ข้อมูลต่อทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความว่า ขณะที่ตนถูกจับกุมนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฉุดกระชากลากถูตน โดยมีบาดแผลถลอกเห็นเลือดที่แขนด้านซ้าย ประสิทธิ์แจ้งอีกว่า เขาถูกตำรวจเอากระบองจี้เอวด้วย เพียงแต่ไม่ปรากฏรอยดังกล่าว  

 

บาดแผลถลอกของประสิทธิ์

ประสิทธิ์เล่าอีกว่า ขณะที่เขากำลังเดินทางกลับบ้านมาถึงที่แยกโรงกรองน้ำดินแดง เกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าตรึงพื้นที่และผู้ชุมนุมอิสระที่ยิงพลุแถวแยกราชปรารภ เขาจึงหลบเข้าไปในซอย แต่ตำรวจได้ตามไปพบเขา และขอดูบัตรประชาชน หลังเห็นว่าเขามือเลอะ ประสิทธิ์เห็นว่า ตนไม่ได้ทำผิด จึงไม่ได้แสดงบัตร และถามตำรวจกลับว่า อยู่ สน.ไหน 

นอกจากตำรวจไม่ตอบแล้วยังขอตรวจค้นกระเป๋าของเขา และพบธงสีรุ้งหรือธง pride จึงกล่าวหาว่า เขาไปชุมนุมมา และสงสัยว่า มือเลอะดินปืน แม้ว่าประสิทธิ์พยายามจะชี้แจงว่า มือของตนเลอะสี แต่ตำรวจไม่เชื่อ และควบคุมตัวเขาไปที่ สน. ดินแดง ซึ่งจากไลฟ์สดประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์พบว่า ตำรวจชุดดังกล่าวส่งเสียงดังและพยายามจู่โจมเข้าควบคุมตัวประสิทธิ์ แต่ท้ายที่สุด ผลการตรวจสอบสิ่งที่เลอะมือประสิทธิ์คือสีเท่านั้น ตำรวจจึงได้ปรับในข้อหาอื่นแล้วปล่อยตัว

อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองมีอำนาจขอตรวจการพกบัตรประจำตัวประชาชนได้เฉพาะในด่านตรวจ หากเป็นการขอตรวจนอกด่าน จะต้องเป็นตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป กรณีของประสิทธิ์ซึ่งตำรวจขอตรวจนอกด่าน และไม่แสดงตนว่ามียศอะไร จึงมีเหตุให้เป็นที่สงสัยว่า ตำรวจชุดดังกล่าวมีอำนาจในการขอตรวจบัตรหรือไม่  

ถนนพระราม 9 จับเยาวชนอายุ 17 ปี อาชีพส่งอาหารเดลิเวอรี่ ตั้งข้อหาหนักต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ และมีหรือใช้วัตถุระเบิด  

เวลาประมาณ 23.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า มีประชาชนอีก 2-3 รายถูกจับบริเวณถนนพระราม 9 หลังจากมีเหตุ “กลุ่มอิสระ” ใช้รถจักรยานยนต์รวมตัวกันที่แยกราชปรารภ และมีการจุดพลุ และขว้างปาประทัด จนต่อมามีการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตรึงพื้นที่บริเวณนั้นและกลุ่มอิสระ โดยตำรวจได้ยิงทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยางตอบโต้เป็นระยะ ๆ  

โดยภายหลังการถูกจับกุมไปที่ สน. ดินแดง ตำรวจได้ควบคุมตัวประชาชนกลุ่มดังกล่าวเข้าห้องสืบสวน เมื่อทนายความพยายามเข้าไปพบผู้ถูกจับกุม กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ออกมานอกห้อง กระทั่งตำรวจทำบันทึกจับกุมเสร็จแล้ว ทนายความจึงได้พบต้า เยาวชนอายุ 17 ปีและสหรัฐในเวลาเกือบ 04.00 น. ของวันที่ 29 พฤศจิกายน 

บันทึกการจับกุมระบุว่า ต้า และสหรัฐ ถูกจับกุมพร้อมๆ กัน หลังเหตุการณ์ที่กลุ่มคนขับขี่จักรยานยนต์ประมาณ 20 คัน ยิงพลุ ปาประทัด และระเบิดแสวงเครื่องแบบตกกระทบแตก ตามถนน และปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจุดตรวจต่างๆ โดยต้าและสหรัฐขับขี่จักรยานยนต์คนละคัน เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นตัวของทั้งสองแล้วไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็ถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดี

ทั้งสองถูกแจ้งข้อหา ร่วมกันมั่วสุมทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่โดยมีหรือใช้อาวุธ และมีหรือใช้วัตถุระเบิด ต้าและสหรัฐให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน พร้อมทั้งไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม 

ภาพการจับกุมบริเวณถนนพระราม 9 จากเพจกะเทยแม่ลูกอ่อน

ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 หลังถูกขังที่ สน.ดินแดง 1 คืน ต้าถูกนำตัวไปตรวจสอบการจับที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนฯ อนุญาตให้ควบคุมตัวระหว่างสอบสวนไว้ในอำนาจของศาล และให้ประกัน หลังครอบครัวของต้ายื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 20,000 บาท โดยขอใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์   

ส่วนสหรัฐถูกฝากขังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ต่อศาลอาญา ศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังระหว่างการสอบสวน แต่เนื่องจากญาติติดภารกิจ ไม่สามารถเดินทางมายื่นประกันตัว ทำให้สหรัฐถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในทันที ทำให้ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็นอย่างน้อย 28 คน  

>>> สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี

ทั้งนี้ ต้าได้ให้ข้อเท็จจริงต่อทนายความว่า เขาไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ตนเป็นเพียงเยาวชนที่ทำอาชีพขับรถส่งอาหารเดลิเวอรี่ โดยในวันเกิดเหตุเขารับงานส่งอาหารที่สุขุมวิท ซอยทองหล่อ และขับรถจักรยานยนต์ออกมาเส้นพระราม 9 มุ่งหน้าเส้นสุขุมวิททั้งไปและกลับ แต่มาถูกตำรวจจับโดยเขาไม่ได้ร่วมชุมนุม หรือยิงพลุ ปาระเบิด ตามที่ตำรวจกล่าวหา 

X