25 ตุลาคม 2563
รัฐบาลไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมโดยสงบอย่างต่อเนื่อง ระหว่างการปราบปรามการชุมนุมเคลื่อนไหวที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มเยาวชนและกําลังขยายวงกว้าง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและอาร์ติเคิล 19 กล่าวในรายงานซึ่งเปิดตัววันที่ 25 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่ควรยุติการดําเนินคดีที่ไร้เหตุผลและระงับการใช้กําลังต่อผู้ชุมนุม รัฐบาลควรเติมเต็มพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่คนไทยสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบได้อย่างปลอดภัย ปราศจากความกลัวและการแทรกแซงจากภาครัฐ
“การกระทําของเจ้าหน้าที่ไทยยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผู้ชุมนุม ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยและเคารพในสิทธิมนุษยชน” เยาวลักษณ์อนุพันธุ์ผู้อํานวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว “ลูกความของเราจํานวนมากเผชิญกับโทษจําคุกหลายปี บางรายเป็นสิบปี แค่เพียงเพราะเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยอย่างเปิดเผย”
รายงาน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย: การปราบปรามสิทธิการประท้วงโดยรัฐ บรรยายการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับวิธีการที่รัฐบาลไทยโต้ตอบต่อการชุมนุมเคลื่อนไหวนําโดยเยาวชนในปี 2563 รายงานฉบับนี้รวบรวมข้อมูลจากรายงานข่าว เอกสารทางการ ข้อมูลสาธารณะ รวมถึงบันทึกข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลที่ถูกฟ้องร้องด้วย ข้อหาต่าง ๆ เนื่องมาจากกิจกรรมการชุมนุม
ตั้งแต่ต้นปี 2563 คนไทยหลายพันคนจัดการชุมนุมและเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหยุดคุกคามนักกิจกรรมและบุคคลที่วิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาล ในสามเดือนที่ผ่านมา การชุมนุมเคลื่อนไหวสื่อสารข้อเรียกร้องชัดเจนให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถือเป็นพัฒนาการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
ทว่า เจ้าหน้าที่ไทยยังใช้กลยุทธ์หลายประการเพื่อพยายามกําจัดการชุมนุมเคลื่อนไหว
รัฐบาลใช้อํานาจตามพระราชกําหนดสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อยับยั้งการชุมนุมสองครั้ง ในเดือนมีนาคม รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และออกข้อกําหนดหลายฉบับ รวมถึงข้อห้ามการชุมนุมสาธารณะซึ่งมีบทบัญญัติกว้างขวางและคลุมเครือ ตั้งแต่ประกาศข้อกําหนดกระทั่ง สิ้นเดือนกรกฎาคม รัฐบาลบังคับใช้ข้อกําหนดเหล่านี้โดยพลการต่อกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันกลับอนุญาตให้การชุมนุมอื่นดําเนินต่อไปได้และให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับคืนสู่ภาวะปกติ ในเดือนตุลาคม รัฐบาลประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” เพื่อโต้ตอบต่อการชุมนุมต่อเนื่องขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงแห่งชาติภายหลังการบังคับใช้หนึ่งสัปดาห์รัฐบาลประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง
ตั้งแต่ต้นปี 2563 มีบุคคลอย่างน้อย173 คนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและกล่าวหาเกี่ยวกับกิจกรรมการชุมนุม หลายคนถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีโทษสูงสุดจําคุกสองปี บ้างถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลอื่นถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงสุดจําคุกเจ็ดปี นักกิจกรรมและแกนนําการชุมนุมที่มีชื่อเสียงยังเผชิญข้อกล่าวหาในหลายคดีอีกด้วย
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เพิ่มวิธีและช่องทางปราบปรามผู้ชุมนุม การชุมนุมอย่างสงบหลายแห่งถูกสลายโดยตํารวจปราบจลาจลโดยปราศจากคําอธิบายที่ชัดเจน และโดยวิธีการที่ละเมิดมาตรฐานการใช้กําลังของเจ้าพนักงานบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ยังขัดขวางทางเข้าออกสถานที่ชุมนุมและสั่งปิดเครือข่ายขนส่งสาธารณะบางแห่ง ละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม รวมถึงผู้โดยสารและผู้อื่นที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร รัฐบาลยังประกาศคําสั่งที่พยายามให้บริษัทสื่อสังคมออนไลน์และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตปิดกั้นเนื้อหาที่เป็นการ วิจารณ์รัฐบาลหรือสถาบันกษัตริย์พร้อมทั้งขัดขวางช่องทางการสื่อสารของผู้ชุมนุม
การโต้ตอบของรัฐบาลต่อการชุมนุมเคลื่อนไหวขัดกับพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีใน ปีพ.ศ. 2509 คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหน่วยงานรับผิดชอบติดตามการบังคับใช้สนธิสัญญาฉบับนี้ได้อธิบายความรับผิดชอบของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการชุมนุมเพิ่มเติมในข้อวินิจฉัยทั่วไป (General Comment) ที่ 37 ซึ่งเผยแพร่ในเดือนกันยายน คณะกรรมาธิการเน้นยํ้าว่าเจ้าหน้าที่ต้องไม่เพียงแต่ ระงับการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม แต่ต้องก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่บุคคลสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังชี้ให้เห็นว่า ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การ ปราศรัยและการชุมนุมที่มีเนื้อหาทางการเมืองควรได้รับการคุ้มครองมากขึ้น
“การกระทําของรัฐบาลไทยเสียงดังกว่าคําพูด” แมทธิว บิวเฮอร์หัวหน้าภูมิภาคเอเชีย อาร์ติเคิล 19 กล่าว “เจ้าหน้าที่ใช้ข้ออ้างความปลอดภัยสาธารณะเพื่อยับยั้งการชุมนุม แต่ต่อมากลับโจมตีผู้ชุมนุมด้วยการฉีดนํ้า แรงดันสูงและล้อมด้วยตํารวจปราบจลาจลเสียเอง เจ้าหน้าที่เตือนว่าการชุมนุมเป็นการขัดขวางการจราจร แต่กลับปิดกั้นเส้นทางคมนาคมของทั้งจังหวัด ถึงเวลาแล้วที่ผู้นําประเทศไทยจะเริ่มรับฟังเสียงของผู้ชุมนุม แทนที่จะพยายามปิดปากพวกเขา”
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
มนทนา ดวงประภา ฝ่ายข้อมูลและนักกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, +66 61 314 2685, [email protected]
แมทธิว บิวเฮอร์หัวหน้าภูมิภาคเอเชีย อาร์ติเคิล 19, +66 617464208, [email protected]
อ่านรายงาน ภาษาอังกฤษ (รายงานภาษาไทยจะได้นำเสนอต่อไป)