ตร.เชียงใหม่แจ้งข้อหาฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 5 ประชาชน เหตุร่วมคาร์ม็อบ18กรกฎา “ด่วนนครพิงค์เชียงใหม่ ไล่ประยุทธ์”

10 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ นักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนจำนวน 5 คน ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สังวาลย์ ศรีวิชัย ผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียน-นักแปลอิสระ, หาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ หรือพิชิต ตามูล อดีตแกนนำ นปช. แดงเชียงใหม่ และจาตุรณ คำชมพู อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกกรณีร่วมกิจกรรม Car Mob ด่วนนครพิงค์ เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564

หมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ออกหมายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ระบุเหตุที่ต้องหาว่า “ร่วมกันทำกิจกรรมเสี่ยงต่อโรคในพื้นที่เฝ้าระวังสูงที่มีบุคคลรวมกันมากกว่า 200 คน” โดยมี พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน เป็นผู้กล่าวหา อย่างไรก็ตามจนถึงวันนี้ ผู้ต้องหาบางคนก็ยังไม่ได้รับหมายเรียก แต่ทราบว่าถูกออกหมายเรียกจากทางตำรวจ

ในวันนี้ บริเวณรอบ สภ.เมืองเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ได้นำแผงเหล็กมากั้นลักษณะจำกัดการเข้า-ออก พร้อมมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบยืนเฝ้ากระจายรอบสถานีตำรวจประมาณ 20-30 นาย 

ภาพประกอบ บรรยากาศบริเวณหน้า สภ.เมืองเชียงใหม่ วันที่ 10 สิงหาคม 64

ก่อนเข้ารับทราบข้อหา กลุ่มผู้ต้องหาและมวลชนจำนวนหนึ่ง ร่วมกันถือป้ายไวนิลสีดำเขียนข้อความ “กูขอให้พวกมึงรับกรรมจากคำสาปแช่งของคนไทยที่ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อนและความตาย จากสิ่งที่พวกมึงและพวกพ้องร่วมมือกันทำลงไป ขอให้ไม่ตายดี” พร้อมชู 3 นิ้ว เรียกร้องความเป็นธรรม เดินจากบริเวณด้านข้างสถานีตำรวจผ่านด้านหน้าสถานี ก่อนจะเดินเข้าไปด้านใน

ภาพประกอบ ผู้ต้องหาพร้อมมวลชนส่วนหนึ่งเดินถือป้ายไวนิลเรียกร้องความเป็นธรรม บริเวณหน้า สภ.เมืองเมืองเชียงใหม่ 10 สิงหาคม 2564

ระหว่างที่ผู้ต้องหาพร้อมมวลชนจำนวนหนึ่งกำลังเดินถือป้ายไวนิล และป้ายผ้ามาถึงบริเวณทางเข้าสถานี ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายกับทางตำรวจ เนื่องจากตำรวจไม่อนุญาตให้นำป้ายไวนิลเข้าไปด้านในสถานี แต่กลุ่มผู้ได้รับหมายเรียกได้พยายามนำป้ายเข้าไป ทำให้เกิดการยื้อแย่งป้ายไวนิลจนชุลมุน มีคนล้มลงและถูกฉุกลากไปกับพื้น ใช้ระยะเวลายื้อแย่งอยู่หลายนาที จนมวลชนเกิดความไม่พอใจรุมกันเข้าช่วยจนเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยมือจากป้าย 

จากนั้น มวลชนรวมตัวกันเดินเข้ามาในสถานีตำรวจ พร้อมตะโกนแสดงความไม่พอใจ ก่อน พ.ต.อ.ภูวนาท ดวงดี ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เข้าอธิบายในลักษณะว่าเกิดความเข้าใจผิดกันเล็กน้อย และไม่ได้มีการยึดป้ายไวนิลดังกล่าวอีก

หลังจากนั้น ผู้ต้องหาทั้ง 5 พร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.วัชรพล ยมเกิด พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา

พฤติการณ์โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. ถึง 19.30 น. ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน และประชาชนที่ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดจำนวนกว่า 200 คน ได้เข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรม “ด่วนนครพิงค์ : เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์” ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 6 และคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ที่ 80/2564 เรื่องมาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 โดยไม่ได้รับอนุญาต

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา 1 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือกำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่รวมกันมากกว่า 200 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่, ร่วมกันจัดกิจกรรมใด ๆ ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิน 50 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่”

ผู้ต้องหาทั้ง 5 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2564 หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้พิมพ์ลายนิ้วมือ ลงบันทึกประจำวัน และนัดหมายให้ผู้ต้องหามารายงานตัวพร้อมส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 30 สิงหาคม 2564

ภาพประกอบ หนึ่งในผู้ต้องหา หลังรับทราบข้อกล่าวหา
และพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบประวัติฯ วันที่ 10 ส.ค. 2564

หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว กลุ่มมวลชนจำนวนหนึ่งที่คอยอยู่ ได้ปรบมือให้กำลังใจกลุ่มผู้ต้องหา และนักกิจกรรมอีกส่วนหนึ่งเดินถือป้ายไวนิลสีดำและป้ายผ้า พร้อมประกาศเตรียมพบกับจัดคาร์ม็อบอีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 นี้

ภาพประกอบ มวลชนจำนวนหนึ่งยืนถือป้ายหลังประกาศจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเชียงใหม่ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 นี้

สำหรับกิจกรรมคาร์ม็อบ “ด่วนนครพิงค์เชียงใหม่ ไล่ประยุทธ์” เมื่อ 18 กรกฎาคม 2564 มีการนัดรวมตัวกันจากบริเวณหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ฝั่งตรงข้ามสวนหลวง ร.9 ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ มุ่งหน้าไปอนุสาวรีย์สามกษัตริย์กลางเมือง มีจุดประสงค์เพื่อกดดันรัฐบาล ขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล หลังบริหารประเทศล้มเหลวมา 7 ปี และไม่สามารถแก้ปัญหาการระบาดโควิด 19 พร้อมกับเรียกร้องให้จัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ภัควดีระบุว่าในวันดังกล่าว ตนเพียงไปร่วมขับรถในกิจกรรมดังกล่าว แต่ไม่ได้ลงจากรถ และไม่ได้เข้าร่วมไปรวมตัวทำกิจกรรมที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์แต่อย่างใด

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 4 จากการจัดคาร์ม็อบในช่วงเดือนที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนหน้านี้มีการดำเนินคดีทั้งกิจกรรมที่จังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงราย โดยในส่วนของคดีที่จังหวัดลำปาง ตำรวจกล่าวหาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงและข้อหากีดขวางการจราจร ที่สามารถเปรียบเทียบปรับ ทำให้คดีสิ้นสุด

.

X