วันที่ 20 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ นายวัชรภัทร ธรรมจักร แกนนำนักศึกษากลุ่มประชาคมมอชอ และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกกรณีร่วมกิจกรรม “Car Mob ด่วนนครพิงค์ เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 พ.ต.ท.วัชรพล ยมเกิด พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้เข้าร่วมชุมนุม คาร์ม็อบ 18 กรกฎา “ด่วนนครพิงค์เชียงใหม่ ไล่ประยุทธ์” จำนวน 5 คน ไปแล้ว แต่อ้างว่าเพิ่งทราบว่าวัชรภัทรได้เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ด้วย จึงออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 1 คน รวมเป็นผู้ต้องหาทั้งหมด 6 คน
วัชรภัทรได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 ออกหมายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ระบุเหตุที่ต้องหาว่า “ร่วมกันทำกิจกรรมเสี่ยงต่อโรคในพื้นที่เฝ้าระวังสูงที่มีบุคคลรวมกันมากกว่า 200 คน” โดยมี พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน เป็นผู้กล่าวหา
ในวันนี้ นายวัชรภัทรได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาโดยแต่งกายด้วยเสื้อยืดสีเหลือง ที่สกรีนข้อความ “มช. จิตอาสา ทำดีเพราะนิเวศน์เกณฑ์มา” พร้อมสวมหมวกสีฟ้า และพันผ้าที่คอ รวมทั้งที่ถุงเท้ายังสกรีนเป็นรูปการ์ตูนหน้าประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะที่บริเวณรอบ สภ.เมืองเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กมากั้นลักษณะจำกัดการเข้า-ออก พร้อมมีกำลังตำรวจทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบยืนกระจายรอบสถานีตำรวจประมาณ 15-20 นาย ขณะที่มีมวลชนและตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาให้กำลังใจประมาณ 10-15 คน ระหว่างเดินเข้าผ่านแผงกั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนเฝ้าแผงเหล็ก และมีการตั้งจุดคัดครองบุคคล จำกัดจำนวนคนที่เดินเข้าไปในสถานีตำรวจ
พ.ต.อ.ภูวนาถ ดวงดี ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ ได้มาสอบถามวัชรภัทรว่าจะมีผู้เข้าไปด้วยกี่คน โดยจะอนุญาตให้เข้าเฉพาะทีมทนายความและผู้ไว้วางใจเข้าไปด้านในสถานีได้ 1 คนเท่านั้น
หลังจากนั้น วัชรภัทรพร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.วัชรพล ยมเกิด พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา
พฤติการณ์คล้ายกับที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้ง 5 คนไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. ถึง 19.30 น. ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน และประชาชนที่ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดจำนวนกว่า 200 คน ได้เข้าร่วมชุมนุมและทำกิจกรรม “ด่วนนครพิงค์ : เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์” ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตามข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2564, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 6 และคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ที่ 80/2564 เรื่องมาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 โดยไม่ได้รับอนุญาต
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา 1 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือกำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่รวมกันมากกว่า 200 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่, ร่วมกันจัดกิจกรรมใด ๆ ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิน 50 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่”
วัชรภัทรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2564 หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้พิมพ์ลายนิ้วมือ และนัดหมายให้ผู้ต้องหามารายงานตัวพร้อมส่งสำนวนให้อัยการพร้อมกับผู้ต้องหาอีก 5 คน ในวันที่ 30 สิงหาคม 2564
สำหรับคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายงานการดำเนินคดีแล้ว 2 คดี จากกิจกรรมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม และ 1 สิงหาคม 2564 ขณะเดียวกันยังมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการติดป้ายข้อความเข้าร่วมคาร์ม็อบในจังหวัดเชียงใหม่ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้วอีก 1 คดี
.