วันที่ 18 สิงหาคม 2564 เวลา 11.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ นายแสงไท (นามสมมติ) สมาชิกกลุ่มคนเมืองมูฟเม้นท์ วัย 57 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก โดยถูกกล่าวหาเรื่องการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ ‘ด่วนนครพิงค์ เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์’ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ในจังหวัดเชียงใหม่
หมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ออกหมายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ระบุเหตุที่ต้องหาว่า “จัดกิจกรรมเสี่ยงโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่มีบุคคลรวมกันมากกว่า 100 คน” โดยมี พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน เป็นผู้กล่าวหา โดยให้ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันนี้ เวลา 11.00 น.
บริเวณรอบสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ในวันนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนกระจายโดยรอบสถานี โดยมีประชาชนที่ทราบข่าวเดินทางมาให้กำลังใจ 7-8 คน มีผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10-15 นายยืนเฝ้าบริเวณแผงเหล็กกั้น และตั้งจุดคัดกรองประชาชนก่อนเดินเข้าไปในสถานี
ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา แสงไทประกาศว่า หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาแล้วเสร็จ เขาจะเดินเท้าไปยังลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อร่วมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำขณะนี้
หลังจากนั้น แสงไท พร้อมด้วยทนายความ ได้ผ่านจุดคัดกรองเข้าไปด้านในอาคาร เพื่อพบร้อยตำรวจโทอมรเทพ ชุมวิสูตร พนักงานสอบสวน ผู้แจ้งข้อกล่าวหา
พฤติการณ์โดยสรุป ระบุได้ว่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. ถึง 20.00 น. ผู้ต้องหาและประชาชนที่ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด จำนวนกว่า 300 คน ได้เข้าร่วมชุมนุม “ด่วนนครพิงค์ : เจียงใหม่ไล่ประยุทธ์” ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมืองเชียงใหม่
โดยที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ฉบับที่ 24 ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 7 และคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ที่ 80/2564 เรื่องมาตรการควบคุมการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ข้อ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต และคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ที่ 96/2564
ดังนั้นพนักงานสอบสวน จึงได้แจ้ง 1 ข้อหา ได้แก่ “จัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่รวมกันมากกว่า 100 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่, จัดกิจกรรมใดๆ ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิน 50 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่”
แสงไทให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 8 กันยายน 2564 หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้พิมพ์ลายนิ้วมือ ลงบันทึกประจำวัน และนัดหมายให้ผู้ต้องหามารายงานตัวพร้อมส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 14 กันยายน 2564
หลังจากรับทราบข้อกล่าวหา แสงไทและประชาชนอีก 3-4 คน ได้เดินถือกระดาษลัง และแผ่นกระดาษเขียนข้อความ “#ปล่อยเพื่อนเรา”, “เมื่อความยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การลุกขึ้นต่อต้านก็เป็นหน้าที่”, “นายกตู่ต้องออกไป”, “ชีวิตคนไทยจะดีขึ้น+โควิด-19 จะเอาอยู่ !!!” เดินจาก สภ.เชียงใหม่ ไปยังลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
เมื่อเดินมาถึง แสงไทได้หยุดอยู่ที่ด้านหน้าของอนุสาวรีย์ฯ และยืนนิ่งเป็นเวลา 11 นาที 2 วินาที เพื่อประท้วงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมทางการเมือง และขอให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองที่กรุงเทพฯ โดยทันที พร้อมประกาศว่าจะมาทำกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ที่บริเวณลานสามกษัตริย์ ตั้งแต่วันศุกร์นี้ จนกว่าผู้ถูกคุมขังที่กรุงเทพฯ จะได้รับการปล่อยตัว
“เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การลุกขึ้นต่อต้านก็เป็นหน้าที่ ที่มายืน ณ จุดนี้เพื่อยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่มีความเห็นแตกต่าง” นายแสงไทกล่าวขณะยืนประท้วง
สำหรับกิจกรรม ‘ด่วนนครพิงค์ เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์’ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 จัดขึ้นเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ก่อนวันกิจกรรม มีรูปภาพโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดียระบุ “ไม่มีผู้นำ ไม่มีผู้ตาม” โดยนัดรวมตัว 4 จุดมุมเมือง สายเหนือพบกันที่แบงค์ชาติ (หน้าสวนหลวง) สายใต้พบกันที่โลตัสหางดง สายตะวันออกพบกันที่สถานีรถไฟจังหวัดเชียงใหม่ สายตะวันตกพบกันที่หน้าสวนรุขชาติ (หน้า มช.) โดยขับเข้าวนรอบคูเมือง เปิดไฟ บีบแตร ผ่านประตูช้างเผือก เข้ามายังลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
ขณะนี้มีรายงานการออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อดำเนินคดีเพียงรายเดียว ขณะที่ก่อนหน้านี้ในจังหวัดเชียงใหม่ ตำรวจสภ.เมืองเชียงใหม่ ได้แจ้งข้อหากับผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 รวม 5 รายแล้ว