ยกฟ้องอีกคดี ไม่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชี้ 7 นศ.-นักกิจกรรมขอนแก่น ร่วมให้กำลังใจ “ราษฎรโขงชีมูล” ไม่มีหลักฐานเป็นผู้จัด-ชุมนุมไม่แออัด 

31 ต.ค. 2565  ศาลแขวงขอนแก่นพิพากษายกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุชุมนุมหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ให้กำลังใจนักกิจกรรม “ราษฎรโขงชีมูล” ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 3 คดี เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ซึ่งมีนักศึกษาและนักกิจกรรม 7 ราย เป็นจำเลย

นักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งเจ็ด ได้แก่ ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์, ณัฐพร อาจหาญ, มัฑณา ศรีจันทร์ และทาคายูกิ แสนพาน นักกิจกรรม ธนสิทธิ์ นิสยันต์, กุลธิดา กระจ่างกุล และอาทิตยา น้อยศรี นักศึกษา 

คดีนี้นอกจากอัยการจะฟ้องทั้งเจ็ดในความผิดฐาน ร่วมกันจัดการชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่เฝ้าระวัง ฝ่าฝืนประกาศและข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แล้ว ดวงทิพย์, ณัฐพร และมัฑณา ยังถูกฟ้องฐาน ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ และอาทิตยายังถูกฟ้องฐาน พ่นสีบนถนน ผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ด้วย  

จำเลยทั้ง 7 คน ซึ่งมีทั้งที่เดินทางระยะใกล้จากในเมืองขอนแก่น และที่เดินทางระยะไกลจากมหาสารคาม, กาฬสินธุ์ และกรุงเทพฯ เข้าห้องพิจารณาคดีพร้อมทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเพื่อนนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจ โดยไม่ปรากฏว่ามีตำรวจประจำศาลมารอควบคุมตัวจำเลยอยู่ในห้องพิจารณาคดี

สมบัติ วรานนท์วนิช ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า 

เห็นว่า ประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 28 ข้อ 3, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ฉบับที่ 3 ข้อ 4 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 11 ข้อ 6 กำหนดให้เฉพาะเจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ หรือผู้จัดกิจกรรมเท่านั้น มีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค 

แต่เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์พบว่า ก่อนเกิดเหตุมีการประกาศในเฟซบุ๊กเพจ ขอนแก่นพอกันที, ดาวดิน สามัญชน และภาคีนักเรียน KKC เชิญชวนบุคคลทั่วไปมาร่วมชุมนุม โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งเจ็ดมีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจทั้งสาม หรือเกี่ยวข้องกับการเชิญชวนให้มาชุมนุม แม้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น ได้เข้าพูดคุยกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ปราศรัย แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังมีการชุมนุมเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้ประกาศชักชวนหรือมีส่วนร่วมในการเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ

ประกอบกับพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2564 พยานกับพวกได้ไปพบและพูดคุยกับแกนนำที่นัดหมายชุมนุมในวันเกิดเหตุ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยทั้งเจ็ดอยู่ร่วมในการพูดคุยดังกล่าว อีกทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบถึงเหตุการณ์ในช่วงในวันที่ 21 และ 22 มี.ค. 2564 ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งเจ็ดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้จัดเตรียมการชุมนุม พยานหลักฐานโจทก์ตามที่นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค

นอกจากนี้ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ที่ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในสถานที่แออัด หรือการกระทำที่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์มีเพียงว่า จำเลยทั้งเจ็ดเข้าร่วมชุมนุม โดยสถานที่ชุมนุมเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้ชุมนุมเดินไปมาได้ ไม่แออัด ประกอบกับพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้ชุมนุมเดินไปมาเข้าออกเต็นท์ ไม่มีเหตุที่ผู้ชุมนุมต้องอยู่นิ่งหรือรวมกลุ่มกับบุคคลคนอื่นเป็นเวลานาน พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวมีความแออัด 

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้มีข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ใช้ไมค์พูดปราศรัย แต่ก็หาได้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดเตรียมหรือนำเครื่องขยายเสียงมาใช้หรือไม่ เมื่อ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง เป็นผู้ขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อได้ขออนุญาตแล้วบุคคลอื่นก็สามารถใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใช้เครื่องขยายเสียงแต่ละบุคคลขออนุญาตเป็นรายบุคคลอีก 

ดังนั้นผู้ใช้เครื่องขยายเสียงหากไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการจัดหาหรือจัดเตรียมเครื่องขยายเสียงย่อมไม่อาจฟังได้ว่ามีความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต พยานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำกระทำผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ประเด็นที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 7 พ่นสีลงบนถนนหรือทางสาธารณะ โดยมีพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ เบิกความว่า จําเลยที่ 7 ได้ฉีดพ่นสีสเปรย์ในลักษณะการเขียนข้อความลงบริเวณถนนสาธารณะด้านหน้า สภ.เมืองขอนแก่น แต่ตามพยานหลักฐานภาพถ่ายปรากฏผู้ชุมนุมหลายคนร่วมกันพ่นสีลงบนถนน โดยไม่ปรากฏภาพจำเลยที่ 7 คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง ยังไม่อาจรับฟังได้โดยสนิทใจ 

พยานหลักฐานโจทก์ทั้งหมดจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง กรณีไม่จำต้องพิจารณาพยานหลักฐานของจำเลย พิพากษายกฟ้อง.

.

นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมคดีแรกที่ศาลแขวงขอนแก่นมีคำพิพากษา โดยมีคดีจากการชุมนุมอีก 3 คดี มีนัดฟังคำพิพากษาในเดือนธันวาคมนี้ ได้แก่ คดีชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ” เมื่อ 23 ก.ค. 2563 ฟังคำพิพากษาวันที่ 15 ธ.ค. 2565, คดีชุมนุมที่สวนเรืองแสง เรียกร้อง #ปล่อยหมู่เฮา เมื่อ 20 ก.พ. 2564 และคดีชุมนุมประณามตำรวจที่ สภ.ย่อย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 1 มี.ค. 2564 ฟังคำพิพากษาพร้อมกันในวันที่ 27 ธ.ค. 2565 

สำหรับนักศึกษา-นักกิจกรรมทั้งเจ็ดคดีนี้เป็นคดีแรกของพวกเขาที่ศาลมีคำพิพากษาเช่นกัน

การชุมนุมหน้า สภ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นเหตุให้นักกิจกรรมและนักศึกษาทั้งเจ็ดถูกดำเนินคดีในคดีนี้นั้น สืบเนื่องมาจากเพจ “ขอนแก่นพอกันที” ได้เชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจนักกิจกรรม “ราษฎรโขงชีมูล” รวม 16 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหารวม 3 คดี ที่ สภ.เมืองขอนแก่น ภายใต้ชื่อกิจกรรม #หมายที่ไหนม็อบที่นั่น แต่ประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งสิบหกกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวางแบริเออร์และวางกำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองร่วม 300 นาย ปิดกั้น ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้า จึงมีการทำกิจกรรมแสดงความไม่พอใจตำรวจ โดยยืนยันว่ามาให้กำลังใจนักกิจกรรมที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเท่านั้น

.

ย้อนดูการต่อสู้คดีและเรื่องราวของจำเลย

7 นศ.-นักกิจกรรมสู้คดี ยืนยันใช้สิทธิเสรีภาพตาม รธน. ให้กำลังใจ “ราษฎรโขงชีมูล” ไม่เสี่ยงแพร่โควิด ลุ้นคำพิพากษา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุมในขอนแก่นคดีแรก

มัฑณา ศรีจันทร์: ราชประสงค์ถึงม็อบราษฎร เรื่องราวเคลื่อนไหวการเมืองก่อนคำพิพากษา

X