7 นศ.-นักกิจกรรมสู้คดี ยืนยันใช้สิทธิเสรีภาพตาม รธน. ให้กำลังใจ “ราษฎรโขงชีมูล” ไม่เสี่ยงแพร่โควิด ลุ้นคำพิพากษา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุมในขอนแก่นคดีแรก

31 ต.ค. 2565  นักศึกษาและนักกิจกรรม 7 ราย มีนัดฟังคำพิพากษาของศาลแขวงขอนแก่นในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุชุมนุมหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ให้กำลังใจนักกิจกรรม “ราษฎรโขงชีมูล” ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองรวม 3 คดี เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 โดยจะเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมคดีแรกที่ศาลแขวงขอนแก่นมีคำพิพากษา สำหรับนักศึกษา-นักกิจกรรมทั้งเจ็ดคดีนี้เป็นคดีแรกของพวกเขาที่ศาลจะมีคำพิพากษาเช่นกัน

คดีนี้เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 รองอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงขอนแก่นยื่นฟ้อง ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์, ณัฐพร อาจหาญ, มัฑณา ศรีจันทร์ และทาคายูกิ แสนพาน นักกิจกรรม ธนสิทธิ์ นิสยันต์, กุลธิดา กระจ่างกุล และอาทิตยา น้อยศรี นักศึกษา ในความผิดฐาน 

ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมในสถานที่แออัด หรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง โดยไม่ได้ดําเนินการตามมาตรการที่กําหนดไว้ตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 18), ร่วมกันกระทําการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ระบาดออกไป โดยไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต (จําเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 3), พ่นสีที่บนถนน (เฉพาะจําเลยที่ 7)

อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6), พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12  

“เรายืนยันว่าการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องทำได้ และการจัดกิจกรรมที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อให้กำลังใจเพื่อนในวันดังกล่าว ก็ไม่ได้มีใครติดโควิด -19 จากการไปร่วมกิจกรรมแม้แต่คนเดียว”

ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ นักกิจกรรม

ในจำนวนนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี มี 3 คนที่ต้องเดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อมาต่อสู้คดีในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ กุลธิดา ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในขอนแก่น แต่ไปเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ, ทาคายูกิ นักกิจกรรมกลุ่มเสรีชนคนกาฬสินธุ์ และมัฑณา นักกิจกรรมชาวมหาสารคาม ทำให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละครั้งไม่ใช่น้อย เมื่อครั้งเข้ารับทราบข้อกล่าวหาช่วงเดือน ส.ค. 2564 ซึ่งการเดินทางสาธารณะถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด กุลธิดาต้องเดินทางโดยรถไฟซึ่งมีเพียงวันละ 1 เที่ยว ใช้เวลาเดินทางกว่า 10 ชม. ทั้งต้องรีบเดินทางกลับในทันที เนื่องจากต้องพรีเซนต์รายงานในวันจันทร์ 

“เป็นการใช้ข้อกฎหมายที่ลำเอียง ตำรวจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แสดงออกตรงข้ามกับรัฐบาล เพื่อให้มาเสียเวลารายงานตัว ขณะที่บางกรณีหรือคนบางกลุ่มก็มีการรวมกลุ่มเช่นกัน แต่ไม่เห็นมีการดำเนินคดี นอกจากนี้ เราก็แสดงออกอย่างสันติ ทุกคนก็พยายามป้องกันตัวเองจากโควิดอยู่แล้ว”

กุลธิดา กระจ่างกุล นักศึกษา ถูกดำเนินคดีเป็นครั้งแรก 

.

“เซฟ” วชิรวิทย์ หนึ่งในผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันเกิดเหตุคดีนี้ เผาหมายเรียกผู้ต้องหา

“พวกเราเพียงแค่ไปให้กำลังใจเพื่อนของเราเท่านั้น อีกอย่างพื้นที่ที่พวกเราอยู่ไม่ได้มีความแออัดแต่อย่างใด ตลาดนัดหรือห้างสรรพสินค้าก็เปิดได้ปกติ คนเยอะกว่านี้ เอาแต่จะจับแต่ม็อบอย่างเดียว ดำเนินคดีกับคนเห็นต่างอย่างเดียว เราจะหาความเป็นธรรมได้จากไหน หากประเทศของเรายังมีการกดขี่เช่นนี้อยู่”

ธนสิทธิ์ นิสยันต์ นักศึกษา ถูกดำเนินคดีเป็นครั้งแรก

.

ตำรวจชี้ จำเลย 1-3 เป็นผู้จัดการชุมนุม ก่อนรับว่าไม่มีพยานหลักฐาน สาธารณสุขระบุ ไม่มีผู้ติดเชื้อ ด้านจำเลยยืนยัน เพียงไปให้กำลังใจ ป้องกันตนเองแล้วด้วย

ภายหลังอัยการฟ้องคดี ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 23-25 ส.ค. ที่ผ่านมา สมบัติ วรานนท์วนิช ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงขอนแก่น เจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดี โดยจำเลยทั้งเจ็ดได้รับอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลัง จึงเข้าเบิกความและเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีเฉพาะในนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 25 ส.ค. 2565 เท่านั้น ยกเว้นดวงทิพย์ จำเลยที่ 1 ที่เข้าฟังการพิจารณาคดีทั้ง 3 วัน และมีนักกิจกรรมร่วมสังเกตการณ์คดี 2-3 ราย

โจทก์สืบพยานรวม 6 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นตํารวจชุดสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ที่สังเกตการณ์โดยรอบที่ชุมนุม รวม 2 ปาก, ปลัดอำเภอเมืองขอนแก่นซึ่งสังเกตการณ์จากตัวอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร, หัวหน้างานเทศกิจและจราจร เทศบาลนครขอนแก่น ที่เดินทางผ่านการชุมนุม, นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และพนักงานสอบสวน 

ในส่วนของชุดสืบสวนที่เป็นผู้กล่าวหาระบุว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุมีดวงทิพย์, ณัฐพร และมัฑณา เป็นผู้จัดการชุมนุม เนื่องจากดวงทิพย์เป็นผู้เจรจากับผู้กํากับ สภ.เมืองขอนแก่น และทั้งสามคนเป็นผู้ปราศรัยให้ผู้ชุมนุมเข้าไปใน สภ.เมืองขอนแก่น โดยไม่ได้มีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ส่วนจําเลยอีก 4 คน เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น โดยจําเลยที่ 7 ได้พ่นสีสเปรย์เป็นข้อความลงบริเวณถนนด้วย 

พยานโจทก์เห็นว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย  มีการยืนรวมกลุ่มในลักษณะแออัด ไม่เว้นระยะห่าง อีกทั้งผู้จัดการชุมนุมไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสาธารณสุขเบิกความตอบโจทก์ว่า หลังการชุมนุมไม่มีข้อมูลว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมติดโควิด รวมทั้งไม่มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดขอนแก่น พยานโจทก์เกือบทุกปากเบิกความรับกับทนายจำเลยว่า ที่ชุมนุมโล่งกว้าง การชุมนุมไม่ได้แออัด อีกทั้งพยานตำรวจยังรับว่า ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยโพสต์เชิญชวนหรือเป็นผู้จัดการชุมนุม ที่อ้างเหตุว่า จำเลยที่ 1 เจรจากับผู้กำกับ สภ.เมืองขอนแก่นนั้น ข้อเท็จจริงคือ ผู้กำกับพูดคุยกับผู้ชุมนุมหลายคน ทั้งมีผู้ปราศรัยหลายคนแต่ถูกดำเนินคดีเพียงจำเลย 

ในวันเกิดเหตุตำรวจมีการจัดตั้งเต็นท์ไว้บริการผู้ชุมนุม แต่ก็ไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโควิด ทั้งที่ข้อกำหนดและประกาศจังหวัดกำหนดให้เจ้าของสถานที่เป็นผู้จัดมาตรการด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 7 ถูกฟ้องว่าพ่นสีลงพื้นถนน ตำรวจก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงต่อศาล 

ฝ่ายจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งมีข้อต่อสู้ว่า ตนเป็นเพียงผู้ที่เดินทางไปให้กําลังใจแก่ผู้ต้องหาในคดีอื่น ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้มั่วสุม และกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ได้เข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง ยืนยันว่า ไม่ใช่ผู้จัดให้มีการชุมนุม เพียงร่วมแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลระหว่างประเทศรับรอง โดยทุกคนใส่แมสก์ พกแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างแล้ว ทั้งผู้ชุมนุมไม่ได้รวมกลุ่มแออัด

พยานโจทก์: ชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด แม้หลังชุมนุมไม่มีผู้ติดเชื้อในขอนแก่น ยืนยันจำเลยเพียง 3 คนเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม เหตุปราศรัยชวนคนเข้าในเขต สภ.เมืองฯ

พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ พุทธธัยธีรธร และ ร.ต.อ.ประยุทธ เมณกุล ชุดสืบสวนและผู้กล่าวหา เบิกความสอดคล้องกันว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2564 เฟซบุ๊กเพจขอนแก่นพอกันที, ดาวดินสามัญชน และภาคีนักเรียน KKC ได้มีการโพสต์ข้อความและไลฟ์สดนัดหมายให้บุคคลมาเข้าร่วมการชุมนุมที่ สภ.เมืองขอนแก่น ในวันที่ 22 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ได้นัดหมายผู้ต้องหา 16 คน มาแจ้งข้อกล่าวหา 

พยานเห็นประกาศในเฟซบุ๊กทั้งสามเพจดังกล่าวจึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และมีการประชุมวางแผนรับมือการชุมนุม เนื่องจากขณะนั้นยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่เฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค. มีผลทําให้ผู้จัดการชุมนุมจะต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามที่ระบุในข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 11) และประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 28 

ต่อมาในวันที่ 22 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 08.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทะยอยเดินทางมาชุมนุมกันที่บริเวณด้านหน้า สภ.เมืองขอนแก่น และมีการนําเต็นท์มากางบังแดดบนถนนด้าหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ขณะนั้นมีบุคคลมาเข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 10 – 20 คน ภายหลังจากนั้นคนเดินทางมาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นเป็น 80 – 100 คน 

ผู้กํากับ สภ.เมืองขอนแก่น ได้พูดคุยกับดวงทิพย์ จําเลยที่ 1 ห้ามไม่ให้กางเต็นท์บริเวณทางเข้าออก เนื่องจากจะเป็นการกีดขวางการจราจร แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงกางเต็นท์ที่ด้านหน้า สภ.เมืองขอนแก่น และชุมนุมจนถึงเวลาประมาณ 14.00-15.00 น. จึงแยกย้ายกันเดินทางออกจากที่เกิดเหตุ 

ผู้กล่าวหาทั้งสอง รวมถึงปลัดอำเภอเมืองขอนแก่น เห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากผู้ชุมนุมซึ่งอยู่ทั้งในเต็นท์และนอกเต็นท์ มีการยืนรวมกลุ่มในลักษณะแออัด คือมีระยะห่างไม่ถึงเกณฑ์ที่กําหนด อีกทั้งผู้จัดการชุมนุมไม่ได้จัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้จัดการชุมนุมน่าจะต้องทราบมาตรการดังกล่าว และในระหว่างการชุมนุม ผู้กํากับ สภ.เมืองขอนแก่น ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ชุมนุมทราบแล้วด้วย 

ด้านวัฒนา นิลบรรพต นักวิชาการสาธารณสุข ระบุเช่นเดียวกันว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุมีลักษณะเสี่ยงแพร่กระจายของโควิด-19 ได้ เนื่องจากมีจํานวนผู้เข้าชุมนุมหลายคน มีผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก และเป็นการชุมนุมกันนานเกินกว่า 5 นาทีขึ้นไป 

ผู้กล่าวหายังระบุว่า ดวงทิพย์, ณัฐพร จำเลยที่ 2 และมัฑณา จำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในฐานะผู้จัดให้มีการชุมนุม โดยดวงทิพย์เป็นผู้เจรจากับผู้กํากับ สภ.เมืองขอนแก่น และทั้งสามคนได้ปราศรัยเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมเดินเข้าไปภายในเขต สภ.เมืองขอนแก่น โดยไม่ได้มีการขออนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียงจากเจ้าพนักงาน ทั้งยังอยู่ร่วมชุมนุมจนเสร็จสิ้นการชุมนุม โดยมี จ่าเอกนิตินัย แก้ววิเศษ หัวหน้างานเทศกิจและจราจรเทศบาลนครขอนแก่น มาเบิกความยืนยันว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่เคยได้ยื่นคําร้องขออนุญาตใช้เครื่องเสียงบริเวณหน้า สภ.เมืองขอนแก่น มาก่อน 

ในส่วนของจําเลยที่ 4 ถึงที่ 7 คือ ธนสิทธิ์, ทาคายูกิ, กุลธิดา และอาทิตยา ผู้กล่าวหาเบิกความว่า เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น โดยจําเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ได้ใช้สีสเปรย์พ่นใส่โล่ของเจ้าหน้าที่ตํารวจ และจําเลยที่ 7 ได้พ่นสีสเปรย์เป็นข้อความลงบริเวณถนนสาธารณะด้านหน้า สภ.เมืองขอนแก่น แต่ไม่ได้มีการบันทึกภาพถ่ายในขณะจําเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 เข้าร่วมการชุมนุมเอาไว้ ด้านปลัดอำเภอกล่าวว่า ไม่พบเห็นเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมพ่นสีใส่โล่ตํารวจหรือพ่นสีบนถนนสาธารณะ 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสาธารณสุขเบิกความตอบโจทก์ว่า ช่วงเกิดเหตุจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2564 นั้น พบว่ามีจํานวนผู้เข้ารับการรักษาโรคโควิดในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น 1 ราย เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งติดเชื้อมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่ได้มีประวัติเกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมในจังหวัดขอนแก่น โดยพยานไม่มีข้อมูลว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุหรือผู้ชุมนุมในวันอื่นมีประวัติติดโรคโควิด 

นอกจากนี้ พยานโจทก์เหล่านี้ได้ตอบคำถามค้านของทนายจำเลย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

พยานโจทก์:  ไม่ได้ห้ามชุมนุม แต่ให้เจ้าของสถานที่-ผู้จัดกิจกรรม จัดมาตรการป้องกันโควิด ตำรวจรับตั้งเต็นท์ไว้บริการผู้ชุมนุม แต่ไม่ได้จัดมาตรการ

วัฒนา นักวิชาการสาธารณสุข ตอบทนายจำเลยว่า ช่วงเกิดเหตุอนุญาตให้มีการชุมนุมได้ เพียงแต่การชุมนุมที่อยู่ในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคนั้นจะต้องปฏิบัติตามข้อกําหนดฉบับที่ 11 และประกาศจังหวัดฉบับที่ 28

แต่ในวันเกิดเหตุ ที่มีตํารวจพร้อมโล่ราว 200 นาย ตั้งแถวปิดกั้นทางเข้าออก สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งปกติประชาชนเดินผ่านเข้าออกได้ พร้อมทั้งมีการนําลวดหนามหีบเพลงมาวางด้านนอกรั้วนั้น ชุดสืบสวนและปลัดอำเภออ้างว่า เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในเขต สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย โดย ร.ต.อ.ประยุทธ รับว่า เป็นการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่ตํารวจเอง 

พยานโจทก์ปากตำรวจและปลัดอำเภอที่สังเกตการณ์ชุมนุมเบิกความตอบทนายจำเลยรับว่า ในวันดังกล่าว ตํารวจก็มีการนําเต็นท์มาตั้งบริเวณถนนด้านหน้า สภ. เมืองขอนแก่น พร้อมทั้งตั้งถังน้ำดื่ม เพื่อให้บริการประชาชนผู้มาชุมนุม 

โดย พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ ระบุว่า ตามข้อกําหนดฉบับที่ 11 นั้นกําหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของสถานที่หรือผู้จัดให้มีกิจกรรมเป็นผู้จัดให้มีมาตรการป้องกันโควิด และประกาศจังหวัดขอนแก่นฯ ก็ระบุให้เป็นหน้าที่ของบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือรับผิดชอบสถานที่เช่นกัน ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุนั้น สภ.เมืองขอนแก่น เป็นเจ้าของสถานที่ 

ก่อนวันเกิดเหตุมีการประชุมเกี่ยวกับมาตรการในการดูแลป้องกันการชุมนุม แต่ พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ จําไม่ได้ว่าได้มีการพูดคุยเรื่องการจัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยหรือไม่ และในวันเกิดเหตุตํารวจ สภ.เมืองขอนแก่น ไม่ได้ดําเนินการจัดให้มีมาตรการดังกล่าวบริเวณที่ชุมนุม แต่มีจุดคัดกรองและเจลแอลกอฮอล์บริการที่ประตูทางเข้าอาคาร ซึ่งเป็นสถานที่ปิดทึบ อากาศไม่ถ่ายเท อีกทั้งตำรวจไม่ได้มีการนําประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 28 ไปปิดประกาศบริเวณชุมนุมเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบ

พยานโจทก์: ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยโพสต์ชวนหรือเป็นผู้จัดการชุมนุม – มีผู้ปราศรัยหลายคนแต่ถูกดำเนินคดีเพียงจำเลย – ไม่มีหลักฐานว่าใครพ่นสีลงพื้นถนน

ชุดสืบสวนผู้กล่าวหาทั้งสองนายซึ่งเบิกความว่า ดวงทิพย์มีพฤติกรรมแสดงออกว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม เนื่องจากเป็นบุคคลที่มาเจรจากับผู้กํากับ สภ.เมืองขอนแก่น นั้น ได้ตอบกับทนายจำเลยว่า ในวันดังกล่าวผู้กํากับได้พูดคุยเจรจากับผู้ที่มาชุมนุมคนอื่นอีกหลายคนที่ไม่ใช่จําเลยทั้งเจ็ดด้วย ปรากฏตามภาพถ่ายวันเกิดเหตุที่ทนายจำเลยให้ดู

ประเด็นที่ผู้กล่าวหาทั้งสองระบุว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปราศรัยเชิญชวนผู้ชุมนุมให้เข้าไปในเขต สภ.เมืองขอนแก่น ต่อมาทั้งสองได้รับกับทนายจำเลยว่า นอกจากจําเลยทั้งสามแล้วยังมีผู้มาชุมนุมพูดปราศรัยจํานวนหลายคน แต่มีการดําเนินคดีเฉพาะจําเลยในคดีนี้ อีกทั้งในรายการการสอบสวนที่มีภาพคนถือไมค์พูด โดยระบุว่าเป็นมัฑณา จำเลยที่ 3 นั้น ก็ไม่ได้มีข้อความระบุว่า มัฑณาเชิญชวนหรือสั่งการผู้มาชุมนุมหรือไม่

พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ ยังรับด้วยว่า ไม่ปรากฏหลักฐานในรายงานการสืบสวนว่า ในวันที่ 21 และ 22 มี.ค. 2564 จําเลยทั้งเจ็ดมีการประชุมแบ่งหน้าที่กันทํา หรือเกี่ยวข้องกับเพจที่ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนมาชุมนุมทั้ง 3 เพจ หรือเป็นผู้จัดการชุมนุมในวันเกิดเหตุ สอดคล้องกับที่ พ.ต.ท.ศุภมินทร์ ล้วนโสม พนักงานสอบสวนตอบทนายจำเลยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนไม่ปรากฏว่าจําเลยทั้งเจ็ดเป็นผู้ริเริ่มหรือชักชวนให้บุคคลมาเข้าร่วมการชุมนุมในวันเกิดเหตุ  

และในประเด็นที่เกี่ยวกับการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง พนักงานสอบสวนเบิกความตอบทนายจำเลยว่า คดีนี้อัยการได้มีคําสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของรถที่บรรทุกเครื่องขยายเสียงในวันเกิดเหตุ โดยพยานได้หมายเรียกเจ้าของรถมาสอบคําให้การ แต่พยานจําไม่ได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะให้การเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้อย่างไรบ้าง

ในส่วนที่โจทก์ฟ้องอาทิตยา จำเลยที่ 7 ว่า พ่นสีบนถนนสาธารณะ โดย พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ ก็เบิกความเช่นเดียวกันนั้น พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ ยอมรับกับทนายจำเลยว่า ในรายงานการสืบสวนไม่ปรากฏภาพว่า จําเลยที่ 7 หรือบุคคลใดเป็นผู้พ่นสีสเปรย์ 

พยานโจทก์: ที่ชุมนุมโล่งกว้าง การชุมนุมไม่แออัด เสี่ยงแพร่โควิดน้อยกว่าที่ปิด 

พยานโจทก์ทั้งหมดรับว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ขณะมีการชุมนุมประชาชนยังสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ ระบุว่า ผู้ชุมนุมจะเดินไปมาบริเวณที่ชุมนุม ไม่ได้ยืนอยู่กับที่ ส่วนปลัดอำเภอกล่าวว่า ตามที่ตนเบิกความว่าการชุมนุมมีลักษณะแออัดนั้น หมายถึงผู้ชุมนุมเพียงบางคนเท่านั้นที่มีการรวมกลุ่มกันในลักษณะแออัด แต่มีกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยืนในลักษณะไม่แออัดด้วย ทั้งรับว่า ช่วงเกิดเหตุประชาชนจะได้รับการคัดกรอง เช่น การตรวจอุณหภูมิ จากการเดินทางเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นประจําอยู่แล้ว 

ด้านนักวิชาการสาธารณสุขตอบทนายจำเลยว่า การรวมกลุ่มกันในห้องปิดและเปิดแอร์นั้น จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคมากกว่าการรวมกลุ่มกันในสถานที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้ การชุมนุมในวันเกิดเหตุ หากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีบุคคลใดติดเชื้อโควิด-19 ในขณะเข้าร่วมชุมนุมแล้ว ก็ไม่ได้มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ในช่วงเกิดเหตุ จากการสอบสวนการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อโควิด ไม่พบว่ามีประวัติเกี่ยวข้องการเดินทางไปร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว

ทั้งนี้ พ.ต.ท.สุกฤษฎ์ ผู้กล่าวหาในคดีนี้รับว่า ช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับวันเกิดเหตุในคดีนี้ โรงเรียนบ้านวังขอนแดงหนองหญ้าปล้อง อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น สามารถจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในลักษณะเดียวกับการชุมนุมในคดีนี้ได้ อีกทั้งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปที่จังหวัดอุดรธานี ก็มีประชาชนจำนวนมากรวมตัวไปให้กําลังใจลักษณะเดียวกับที่จำเลยในคดีนี้มาให้กำลังใจเพื่อนนักกิจกรรม 

เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองตอบทนายจำเลยด้วยว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติรับรองไว้ 

พยานโจทก์: ข้อกำหนด ประกาศ ที่โจทก์ฟ้อง ไม่ได้นิยาม “ผู้จัดการชุมนุม” “เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” – ชั้นสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหา ฝ่าฝืนประกาศจังหวัดขอนแก่น

ตำรวจผู้กล่าวหาทั้งสองนาย ตอบทนายจำเลยว่า ข้อกําหนด ฉบับที่ 11 และประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 28 ที่ระบุให้มีการจัดมาตรการ และพยานโจทก์เบิกความถึงนั้น ไม่ได้ระบุนิยามคําว่า “ผู้จัดการชุมนุม”  รวมถึงคําว่า “เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” ตามที่โจทก์ฟ้องเอาไว้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการตีความคําดังกล่าวเอง

ขณะที่พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ตนไม่ทราบว่าหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจะมีอํานาจในการออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 3 หรือไม่ และประกาศดังกล่าวจะเป็นการออกประกาศโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตามศาลแขวงลพบุรีได้มีการวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวเอาไว้แล้วว่า  ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ กำหนดองค์ประกอบความผิดเพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดที่ให้อำนาจ จึงไม่มีผลบังคับใช้

ที่สำคัญ พนักงานสอบสวนรับกับทนายจำเลยว่า ในชั้นสอบสวนไม่ได้มีการแจ้งแก่จําเลยทั้งเจ็ดว่า กระทําการฝ่าฝืนประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 28 แต่อย่างใด รวมถึงบันทึกคําให้การชั้นสอบสวนของจําเลยที่ 4 ระบุว่า จําเลยที่ 4 ฝ่าฝืนประกาศจังหวัดฉบับที่ 29 ซึ่งเป็นคนละฉบับกับที่โจทก์ฟ้อง 

.

จำเลยทั้งเจ็ด: ไปให้กำลังใจนักกิจกรรม แต่ตำรวจตั้งเต็นท์ให้รอบนถนนนอก สภ.เมืองฯ  

ในการเบิกความของจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานนั้น จำเลยทั้งหมดยกเว้นธนสิทธิ์ จำเลยที่ 4 เบิกความว่า ก่อนวันเกิดเหตุได้เห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้ไปที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น ในวันที่ 22 มี.ค. 2564 เพื่อให้กําลังใจผู้ต้องหา 16 คน ซึ่งถูกดําเนินคดีเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง จึงตัดสินใจที่จะเดินทางไปร่วมให้กำลังใจ โดยไม่ได้แชร์โพสต์ดังกล่าวไปให้ใคร รวมทั้งไม่ได้ไปชักชวนคนอื่นให้ไปร่วมกิจกรรมด้วย 

ทั้งนี้ ดวงทิพย์ จำเลยที่ 1 เห็นว่า การแสดงความ คิดเห็นในทางการเมืองนั้นประชาชนสามารถทําได้ ไม่ควรถูกเจ้าหน้าที่รัฐดําเนินคดี ส่วนกุลธิดารู้จักกับศิวกร นามนวด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาตามหมายเรียก โดยเป็นเพื่อนเรียนตอนชั้นมัธยม กุลธิดาจึงตัดสินใจจะไปให้กําลังใจ เช่นเดียวกับอาทิตยา ซึ่งรู้จักวชิรวิทย์ เทพศรีเมือง หรือเซฟ เนื่องจากเป็นเพื่อนที่เรียนคณะและมหาวิทยาลัยเดียวกัน 

ด้านธนสิทธิ์เบิกความว่า ก่อนวันเกิดเหตุ วชิรวิทย์ เทพศรีเมือง หรือเซฟ ซึ่งเป็นเพื่อนเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับหมายเรียกของตํารวจ สภ.เมืองขอนแก่น ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 22 มี.ค. 2564 และได้ขอให้ตนไปร่วมฟังการสอบสวนในฐานะบุคคลที่ไว้วางใจ โดยตนได้ตอบตกลง

วันเกิดเหตุจำเลยแต่ละคนจึงเดินทางไปที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อให้กําลังใจผู้ต้องหาและเข้าร่วมรับฟังการสอบสวนเท่านั้น เมื่อเดินทางไปถึงได้เห็นกำลังตํารวจตั้งแถวด้านหน้านอกรั้ว สภ.เมืองขอนแก่น พร้อมกับมีแท่งปูนและรั้วลวดหนามขวางกั้นทางเข้าออก ธนสิทธิ์และเซฟจึงได้ขอเข้าไปใน สภ.เมืองขอนแก่น แต่เจ้าหน้าที่ตํารวจอนุญาตให้เซฟกับทนายความเข้าไปได้เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ธนสิทธิ์เข้าไปด้วย 

ที่ด้านหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ตํารวจได้กางเต็นท์ไว้บนถนนให้ผู้ไปให้กำลังใจนั่งรอด้วย จำเลยและคนที่เดินทางไปถึงจึงเข้าใจว่า ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่อนุญาตให้คนมาให้กําลังใจได้ อย่างไรก็ตาม ทาคายูกิระบุว่า ที่เต็นท์ดังกล่าวไม่ได้มีเครื่องวัดอุณหภูมิหรือแอลกอฮอล์ไว้บริการ และมัฑณาไม่เห็นว่า ตํารวจได้นําประกาศจังหวัดขอนแก่นไปติดประกาศบริเวณที่ชุมนุม

จำเลยที่ 1: ขอกางเต็นท์เพราะร้อน-เต็นท์ตำรวจอยู่ไกล ก่อนผู้ชุมนุมช่วยกันกาง

ดวงทิพย์ จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ในวันนั้นตนได้เดินไปพูดกับตํารวจเพื่อขอเข้าไปในเขต สภ.เมืองขอนแก่น เนื่องจากมีบุคคลที่มาร่วมชุมนุมปวดปัสสาวะ และเห็นว่าหากเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมเข้าไปลานด้านหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้างขนาดใหญ่ ก็จะเกิดความสะดวกกับการสัญจรของบุคคลทั่วไปและเกิดความปลอดภัยกับผู้ชุมนุม แต่ตํารวจก็ไม่อนุญาต 

นอกจากนี้ ตนเห็นว่ามีเต็นท์วางอยู่ที่พื้นถนนยังไม่ได้กาง และตํารวจกำลังพูดคุยกับกลุ่มผู้มาชุมนุมว่าไม่ให้กาง พยานจึงได้เข้าไปขอให้กางเต็นท์เพราะอากาศร้อน และมีผู้มาชุมนุมที่เป็นคนแก่ ส่วนเต็นท์ของตำรวจนั้นอยู่ไกล โดยตนไม่ทราบว่าเต็นท์ดังกล่าวเป็นของบุคคลใด และไม่ได้มีส่วนร่วมในการกางเต็นท์ด้วย ผู้ที่มาชุมนุมช่วยกันกาง 

.

จำเลยที่ 1-3: จับไมค์พูดวิจารณ์รัฐบาลและให้กำลังใจผู้ต้องหา ไม่ทราบเครื่องเสียงเป็นของใคร

ดวงทิพย์, ณัฐพร และมัฑณา จำเลยที่ 1 -3 เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะเดินทางมายังที่เกิดเหตุนั้น ตนเห็นมีเครื่องขยายเสียงอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ทราบว่าเป็นของใคร และมีบุคคลอื่นพูดอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นผู้ที่ถือไมค์พูดได้ประกาศว่า ใครอยากจะพูดแสดงความเห็นก็ให้ออกมาพูดได้ ดวงทิพย์จึงได้เดินไปจับไมค์พูดวิจารณ์รัฐบาลและพูดถึงความไม่เป็นธรรมที่มีคนถูกดำเนินคดี หลังจากนั้นก็มีผู้ชุมนุมอีกหลายคนออกมาหมุนเวียนกันจับไมค์พูด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยณัฐพรได้พูดในเรื่องผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่ก่อให้เกิดปัญหากับประชาชนและพูดให้กําลังใจกับผู้ต้องหา และมัฑณาพูดให้กําลังใจผู้ต้องหาเท่านั้น ใช้เวลาพูดเพียง 3 – 4 นาที  

ส่วนจำเลยอีก 4 คน เบิกความว่า ตนไม่ได้จับไมค์พูดหรือนําบุคคลอื่นทํากิจกรรมอื่นใด ในวันเกิดเหตุมีผู้เดินทางไปให้กําลังใจหลายคน แต่มีเพียงจําเลย 7 คนในคดีนี้เท่านั้นที่ถูกดําเนินคดี 

จำเลยทั้งเจ็ด: ใส่แมสก์ พกแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่างแล้ว ผู้ชุมนุมไม่ได้รวมกลุ่มแออัด

จำเลยทั้งเจ็ดกล่าวถึงการป้องกันตนเองเกี่ยวกับโควิดว่า ในวันดังกล่าวตนได้ใส่แมสก์ตลอดเวลา และพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัว ดวงทิพย์และกุลธิดาเบิกความด้วยว่า ตนระมัดระวังไม่อยู่ใกล้บุคคลอื่นเกินไปหรือเป็นเวลานาน เช่นเดียวกับมัฑณาที่ระบุว่า ตนเดินไปเดินมาไม่ได้อยู่นิ่งๆ และธนสิทธิ์ที่กล่าวว่า ตนไม่ได้ยืนรวมกลุ่มกับผู้ที่มาชุมนุมคนอื่น 

ดวงทิพย์และณัฐพรเบิกความอีกว่า ผู้ที่มาให้กำลังใจส่วนใหญ่จะเดินไปเดินมาทั้งในและนอกเต็นท์ ไม่ได้รวมกลุ่มกันในลักษณะแออัด ทาคายูกิระบุด้วยว่า มีการกระจายตัวกันอยู่ทั้งบริเวณรั้วด้านหน้า สภ.เมืองขอนแก่น และบริเวณฝั่งตรงข้าม สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นร้านขายของและห้างสรรพสินค้า 

ก่อนและหลังการไปร่วมชุมนุมไม่ได้ใครมีอาการผิดปกติในลักษณะเหมือนคนป่วยด้วยโรคโควิด 

.

จำเลยทั้งเจ็ด: ยืนยันไม่ใช่ผู้จัดให้มีการชุมนุม เพียงร่วมแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลระหว่างประเทศรับรอง 

จำเลยเบิกความยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมขึ้น เพียงแต่ไปร่วมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดี ณัฐพรระบุว่า ตนก็เคยเดินทางไปให้กําลังใจกับผู้ต้องหาคดีอื่นๆ มาก่อน โดยเจ้าหน้าที่ตํารวจอนุญาตให้เข้าไปใช้พื้นที่ในเขต สภ.เมืองขอนแก่นได้ 

จำเลยทั้งเจ็ดยังยืนยันว่า การชุมนุมให้กําลังใจในวันเกิดเหตุนั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ หรือความรุนแรงใดๆ เป็นสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 และกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รับรองไว้ ซึ่งในชั้นสอบสวนพยานได้ทําหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการชี้แจงในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว

.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

X