5 นักกิจกรรม-หมอลำ รวม “ไผ่-เพนกวิน” ยืนยันไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ ปี 63 ทั้งผู้ชุมนุมสวมแมสก์-ไม่มีผู้ติดโควิด-ใช้สิทธิเรียกร้องรัฐบาล

15 ธ.ค. 2565 หลังต่อสู้คดีมากว่า 2 ปี 5 นักศึกษา-นักกิจกรรม-หมอลำ มีนัดฟังคำพิพากษาที่ศาลแขวงขอนแก่น ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากการเข้าร่วมชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ” ที่สวนรัชดานุสรณ์ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งแรกของขอนแก่นย้ำ 3 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ประกาศยุบสภา, หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ที่จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ เมื่อ 18 ก.ค. 2563

ในวันชุมนุมดังกล่าว “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาปริญญาโทและนักกิจกรรมกลุ่ม Unme of Anarchy และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาและนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเชิญให้ขึ้นปราศรัย ส่วน “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม ขอนแก่นพอกันที ขอขึ้นปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล ขณะธนภณ เดิมทำรัมย์ รองประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเชิญให้เป็นพิธีกร และ “แบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ศิลปินหมอลำ ได้รับการติดต่อว่าจ้างไปแสดงหมอลำ แต่ทั้ง 5 คน ถูกตำรวจและอัยการกล่าวหาว่า ร่วมกันจัดการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค ทั้งยังใช้ไมค์ประกาศเชิญชวนให้คนเข้าร่วมชุมนุมโดยไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง

การต่อสู้คดียืดเยื้อกว่า 2 ปี มีการเลื่อนคดีหลายครั้งทั้งจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดและการถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาในคดี 112 และคดีอื่นๆ ที่กรุงเทพฯ ของไผ่และเพนกวิน ทำให้คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมหลัง “เยาวชนปลดแอก” ที่จัดขึ้นในอีสานในช่วงเดียวกัน คือ การชุมนุม “อุดรสิบ่ทน” และ “อีสานสิบ่ทน” ล้วนมีคำพิพากษาไปแล้ว โดยศาลพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดี ในคดีแรกศาลชี้ว่า จำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมจึงไม่ต้องมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค ส่วนคดีหลังศาลวินิจฉัยว่า จําเลยใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญย่อมถือไม่ได้ว่ามีเจตนาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามที่โจทก์ฟ้อง 

ในวาระที่ศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ ซึ่งถือเป็นคดีจากการชุมนุมตั้งแต่ปี 63 คดีแรกของไผ่ที่จะมีคำพิพากษา จึงชวนย้อนดูเส้นทางต่อสู้คดีของพวกเขาทั้งห้า

จุดเริ่มต้นและการต่อสู้คดีที่ยืดเยื้อ

  • 23 ก.ค. 2563 ประชาชนขอนแก่นนัดรวมตัวชุมนุมทางการเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาล, เรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้หยุดคุกคามประชาชน มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก มีทั้งนักเรียนมัธยม นักศึกษา และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากรัฐบาลประยุทธ์ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย นอกจากตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบควบคุมพื้นที่โดยรอบจำนวนมาก มีรายงานด้วยว่าคนขับรถสองแถวรับส่งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมายังที่ชุมนุมถูกตำรวจโทรสอบถามข้อมูลส่วนตัว และคนที่ว่าจ้างรถ ภายหลังการชุมนุมยังมีนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุมถูกตำรวจคุกคามโดยโทรศัพท์ถึงครอบครัว
  • 10 ก.ย. 2563 นักศึกษา/นักกิจกรรมรวม 6 คน ซึ่งถูกออกหมายเรียกพร้อมด้วยประชาชนจำนวนหนึ่งเดินขบวนจากอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เมื่อถึง สภ. เมืองขอนแก่น ทั้งหกได้จุดไฟเผาหมายเรียกเพื่อแสดงออกถึงการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม 1 ใน 6 ผู้ได้รับหมายเรียกเปิดเผยว่า ในวันชุมนุมเธออยู่บ้านที่ จ.ชัยภูมิ ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด ทำให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพียง 5 คน ว่า “ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมในสถานที่แออัดเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยทั้งห้าไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม 

“รัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง”  

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 10 ก.ย. 2563
  • 25 ก.ย. 2563 พนักงานสอบสวนนัดหมายส่งตัวให้อัยการ หลังอัยการรับตัวได้นัดผู้ต้องหามาส่งฟ้องต่อศาลแขวงขอนแก่นในวันที่ 9 ต.ค. 2563
  • 9 ต.ค. 2563 หลังศาลรับฟ้องและอ่านฟ้องให้ฟัง จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ โดยจตุภัทร์แถลงว่า รู้สึกแปลกที่มานั่งฟังอัยการกล่าวหาว่าจัดการชุมนุมที่ไม่เว้นระยะห่าง ในห้องที่มีการนั่งโดยไม่เว้นระยะห่างเหมือนกัน ต่อมา ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยไม่ต้องวางหลักประกัน ระบุว่า คดีไม่ใช่ข้อหาร้ายแรง 

อัยการบรรยายคำฟ้องว่า

จําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมชุมนุมสาธารณะทางการเมืองโดยมีการประกาศเชิญชวนนัดหมายประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมกิจกรรม และมีการร่วมกันอภิปรายทางการเมืองบนเวที มีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมกันเป็นจํานวนมาก มีการรวมกลุ่มและร่วมกิจกรรมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยจําเลยทั้งห้ากับพวกไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 11) และไม่ปฏิบัติตามประกาศจังหวัดขอนแก่น (ฉบับที่ 8) จําเลยยังร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ในการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว 

ในท้ายคำฟ้อง อัยการได้ขอให้เพิ่มโทษจตุภัทร์และปติวัฒน์อีก 1 ใน 3 ตามกฎหมาย โดยระบุว่า ทั้งสองพ้นโทษในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มายังไม่ถึง 5 ปี

  • 2 ธ.ค. 2563 นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน เพนกวินขอเลื่อนนัดสอบคำให้การ เนื่องจากติดสอบ ส่วนอีก 4 คนยืนยันให้การปฏิเสธ พร้อมทั้งแถลงแนวทางในการต่อสู้คดีว่า กิจกรรมไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และมีมาตรการป้องกันโรคตามสมควรแล้ว ประกอบกับเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลระหว่างประเทศให้การรับรอง ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 15-19 มี.ค. 2564
  • 15-16 มี.ค. 2564 นัดสืบพยาน ไผ่, เพนกวิน และหมอลำแบงค์ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีชุมนุม 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ศาลจึงพิจารณาคดีผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไผ่เป็นตัวแทนแถลงต่อศาลว่า ประสงค์ที่จะให้สืบพยานต่อหน้าในห้องพิจารณา ไม่ยอมรับการพิจารณาคดีผ่านวีดีโอ เพราะไม่สะดวกในการปรึกษาคดี ศาลจึงให้ยกเลิกวันนัดสืบพยาน และให้นัดสอบคำให้การพริษฐ์ในวันที่ 14 มิ.ย. 2564 
  • 14 มิ.ย. 2564 จำเลยทั้งห้าเดินทางไปที่ศาลแขวงขอนแก่นในนัดพร้อมและสอบคำให้การ เพนกวินให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นทั้งสองฝ่ายกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 10-11, 13, 17-18 ส.ค. 2564
  • 10 ส.ค. 2564 ศาลให้เลื่อนการสืบพยานเนื่องจากสถานการณ์โควิด เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 27-28 ม.ค. 2565 สืบพยานจำเลยวันที่ 2-4 ก.พ. 2565
  • 27 ม.ค. 2565 ไผ่และเพนกวินถูกคุมขังอีกครั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีอื่น และทั้งสองยืนยันให้สืบพยานต่อหน้า ศาลจึงให้มีหนังสือถึงศาลอาญาขอให้แจ้งเรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ นำไผ่และเพนกวินมาควบคุมที่เรือนจํากลางขอนแก่นเพื่อสืบพยานในคดีนี้ โดยให้นัดพร้อมเพื่อกําหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 4 เม.ย. 2565 
  • 4 เม.ย. 2565 จำเลยทั้งห้าเดินทางมาศาล ก่อนศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 15, 20 มิ.ย. 2565 สืบพยานจำเลย 1,6,7 ก.ค. 2565

พยานโจทก์ชี้จำเลยทั้งห้าร่วมกันจัดชุมนุม แต่ไม่มีพยานหลักฐาน – ชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด แต่ไม่มีข้อมูลผู้ติดเชื้อจนถึง ธ.ค. 63

ในวันนัดสืบพยาน ศุภกร โกจารย์ศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงขอนแก่น ออกพิจารณาคดี อัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบได้ 6 ปาก คือ รอง ผกก.สส.สภ.เมืองขอนแก่น ผู้กล่าวหา และ สว.สส.สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งอยู่ในที่ชุมนุมและจัดทำรายงานการสืบสวน, นิติกรเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งไปสังเกตการณ์การชุมนุมประมาณ 10 นาที และตรวจสอบการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งให้ความเห็นเรื่องความเสี่ยงแพร่โรคจากภาพและวีดิโอบันทึกการชุมนุม และพนักงานสอบสวนซึ่งรวบรวมพยานหลักฐาน 

รองผู้กำกับสืบสวนผู้กล่าวหาเบิกความชี้ว่า จําเลยทั้งห้าเป็นผู้ร่วมกันจัดการชุมนุม โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทํา และพยานโจทก์ทั้งหมดเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในการชุมนุมมีการรวมกลุ่มในลักษณะแออัด ไม่เว้นระยะห่าง มีการวางแอลกอฮอล์ล้างมือไว้บริเวณทางเข้าที่ชุมนุม 3 จุดเท่านั้น ไม่มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ ทั้งผู้เข้าร่วมชุมนุมและผู้ปราศรัยบนเวทีบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย ถือว่าการชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นยืนยันว่า ช่วงเกิดเหตุพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีการระบาดของโควิด-19 ในช่วงขาขึ้น

แต่เมื่อทนายจําเลยถามค้าน พยานตำรวจรับว่า ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับเพจที่นัดหมายชุมนุมหรือร่วมกันเตรียมการชุมนุม พยานโจทก์ยังรับว่า สถานที่ชุมนุมโล่งกว้าง ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใส่แมสก์ ส่วนจำเลยซึ่งไม่ได้ใส่แมสก์ขณะอยู่บนเวทีนั้นอยู่ห่างจากผู้ชุมนุม แพทย์ยอมรับด้วยว่า เสี่ยงแพร่เชื้อไม่มาก ทั้งช่วงเกิดเหตุสถานการณ์โควิดไม่รุนแรง ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ และไม่มีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายจำเลยมีจำเลยทั้งห้าเข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง ยืนยันว่า ได้รับเชิญไปเป็นพิธีกร ปราศรัย รวมทั้งแสดงหมอลำในการชุมนุมดังกล่าว บางคนเข้าร่วมชุมนุมและขอขึ้นปราศรัยเอง โดยทั้งห้าไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นผู้จัดการชุมนุม หรือเป็นแอดมินเพจที่โพสต์นัดหมายชุมนุม ส่วนตัวแต่ละคนมีการป้องกันโควิดในการเข้าร่วมชุมนุมโดยการใส่แมสก์ แต่มีการถอดชั่วคราวขณะปราศรัยหรือร้องหมอลำ เนื่องจากมีระยะห่างจากคนอื่น และมีการทำความสะอาดไมค์ ที่ชุมนุมโล่งกว้าง และมีมาตรการป้องกันโควิด ขณะนั้นไม่มีการระบาดและผู้ติดเชื้อในประเทศ ประกอบกับการชุมนุมดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล จึงเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง  

คำเบิกความพยานทั้งสองฝ่ายมีรายละเอียดดังนี้

.

รอง ผกก.สส.ยืนยัน จำเลยทั้งห้าแบ่งหน้าที่กันทำ ร่วมกันจัดชุมนุม ตร.-หมอชี้ ชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด

พ.ต.ท.วิโรจน์ นาหนองขาม รอง ผกก.สส.สภ.เมืองขอนแก่น ผู้กล่าวหาและ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ งามชัด สารวัตรสืบสวน ซึ่งลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุม เบิกความถึงการชุมนุมในคดีนี้ว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 เฟซบุ๊กเพจขอนแก่นพอกันที, ดาวดิน สามัญชน และ KKU อะควาเรี่ยม โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมทางการเมืองที่สวนรัชดานุสรณ์ ในวันที่ 23 ก.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของเพจทั้งสาม 

ต่อมาวันที่ 23 ก.ค. 2563 ประมาณ 16.00 น. ชุดสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ไม่ต่ำกว่า 20 นาย ได้ไปที่สวนรัชดาฯ ขณะนั้นจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จําเลยที่ 1 กับพวกรวมประมาณ 5-6 คน กําลังร่วมกันปิดป้ายกระดาษที่กําแพงหลังอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ จากนั้นจตุภัทร์กับผู้จัดกิจกรรมได้ร่วมกันจัดตั้งเวทีปราศรัย เตรียมไฟ ติดป้ายผ้า และทดลองเครื่องขยายเสียง แล้วก็ยังดูแลความสงบเรียบร้อยของผู้ชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยบนเวทีในช่วงท้ายของการชุมนุม

ส่วนจําเลยที่ 2 คือ ธนภณ เดิมทํารัมย์ ทําหน้าที่เป็นพิธีกรตลอดกิจกรรม, จำเลยที่ 3 ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ขึ้นร้องหมอลำบนเวทีเพื่อให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมรู้สึกผ่อนคลาย จําเลยที่ 4 วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง และจําเลยที่ 5 พริษฐ์ ชิวารักษ์ ขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตํารวจ 

พ.ต.ท.วิโรจน์ เบิกความว่า นับคํานวณผู้เข้าร่วมชุมนุมในเวลา 18.00 น. มีประมาณ 1,200 คน ในช่วงเวลา 20.00 น. เพิ่มขึ้นเป็นจํานวนประมาณ 1,500 คน และในเวลาประมาณ 21.00 น. มีผู้เข้าร่วมชุมนุมลดลงเหลือประมาณ 800 คน ด้าน พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ระบุว่า กะประมาณด้วยสายตามีผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 500 คน 

ชุดสืบสวนทั้งสองเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ผู้ชุมนุมด้านหน้าเวทีรวมกลุ่มในลักษณะแออัด ไม่เว้นระยะห่าง มีการวางเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้บริเวณทางเข้าที่ชุมนุมรวม 3 จุดเท่านั้น แต่ไม่เห็นจุดตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่มีการพ่นฆ่าเชื้อหรือเช็ดถูบริเวณสถานที่ชุมนุมทั้งก่อนชุมนุม, ขณะชุมนุม และหลังการชุมนุม 

พ.ต.ท.วิโรจน์ ระบุด้วยว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนสวมหน้ากากอนามัย แต่ส่วนมากไม่ได้สวม ผู้ปราศรัยบนเวทีบางคนก็ไม่ใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงจําเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ร้องหมอลํา 

พ.ต.ท.วิโรจน์ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า จําเลยทั้งห้าได้ร่วมกันจัดชุมนุมในวันเกิดเหตุ ฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อโควิด-19 และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยทั้งห้าแบ่งหน้าที่กันทํา เหตุที่เชื่อว่าจําเลยทั้งห้าแบ่งหน้าที่กันทํานั้น เนื่องจากตนได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนเกิดเหตุ พบจําเลยทั้งห้าร่วมกิจกรรมด้วยกันหลายครั้ง 

ด้านสมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และวัฒนา นิลบรรพต นักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งให้ความเห็นจากการดูภาพถ่ายและคลิปการชุมนุม เบิกความคล้ายกับชุดสืบสวนว่า การชุมนุมถือว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด เนื่องจากบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่าง ไม่ได้เป็นไปตามประกาศจังหวัดขอนแก่น วัฒนายังระบุว่า ตนไม่เห็นจุดตรวจวัดอุณหภูมิ และจุดวางเจลแอลกอฮอล์สําหรับล้างมือ 

สมชายโชติชี้ว่า สำหรับจังหวัดขอนแก่นในช่วงเกิดเหตุถือว่ามีการระบาดในช่วงขาขึ้น มีจํานวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น มีการเปิดโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยขอนแก่น 

นอกจากนี้ พศวัต ธรรมวงศา รักษาการหัวหน้าฝ่ายปกครองเทศบาลนครขอนแก่น ยังเบิกความเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงว่า ตนได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุม เห็นมีคนปราศรัยบนเวทีโดยใช้เครื่องขยายเสียง แต่จากการตรวจสอบ ไม่พบว่าในวันที่ 23 ก.ค. 2563 มีผู้ใดขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจากสํานักงานเทศบาลนครขอนแก่น

สุดท้าย ร.ต.อ.ปิยะศักดิ์ พ้องเสียง หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวน เบิกความว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐาน ตนมีความเห็นควรสั่งฟ้องจําเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ต่อศาล ฐานร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมในลักษณะมั่วสุมกัน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือแพร่ระบาดออกไป และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

. 

ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับเพจที่นัดหมายชุมนุมหรือร่วมกันเตรียมการชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย พยานตำรวจ 3 นาย ทั้ง พ.ต.ท.วิโรจน์ ผู้กล่าวหา และ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ชุดสืบ และ ร.ต.อ.ปิยะศักดิ์ พนักงานสอบสวน เบิกความรับว่า จากการสืบสวนสอบสวนไม่มีหลักฐานว่าจําเลยทั้งห้าเกี่ยวข้องเป็นแอดมินเพจทั้งสามที่โพสต์นัดหมายชุมนุม หรือเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารที่เปิดรับบริจาคในเพจขอนแก่นพอกันทีแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ พ.ต.ท.วิโรจน์ ยังรับว่า ที่ตนเบิกความตอบโจทก์ว่า จําเลยทั้งห้าแบ่งหน้าที่กันทํานั้น ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจําเลยทั้งห้าได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกันมาก่อนวันเกิดเหตุ และ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ตอบทนายจำเลยว่า เพจขอนแก่นพอกันทีได้โพสต์ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเตรียมอุปกรณ์และป้ายมาให้พร้อม ดังนั้น ผู้เข้าร่วมชุมนุมจึงเป็นผู้จัดหาแผ่นป้ายที่ใช้ในการชุมนุมมาเอง 

.

สถานที่ชุมนุมโล่งกว้าง ผู้ชุมนุมไม่แออัด 

พยานโจทก์ทุกปากตอบทนายจำเลยเช่นเดียวกันว่า สวนรัชดาฯ เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึงโดยตลอด มีต้นไม้ขึ้นมาบางส่วน เป็นสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปมานั่งเล่น ออกกําลังกายในช่วงเย็น เทศบาลนครขอนแก่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ก็ไม่ได้นําเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิมาตั้งคัดกรองประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ เนื่องจากเป็นสถานที่เปิดโล่ง  และโดยธรรมชาติแล้วความร้อนจากแสงแดดสามารถฆ่าทําลายเชื้อโรคได้ 

ตำรวจชุดสืบ 2 นาย ระบุว่า บริเวณดังกล่าวหากมีการจัดแสดงดนตรีสามารถจุคนได้ประมาณ 10,000 – 30,000 คน ซึ่งในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมทยอยกันเดินทางเข้ามา ช่วงที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมสูงสุดคือประมาณ 20.00 น. มีผู้ชุมนุมประมาณ 1,500-1,800 คน แสดงว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมเข้าและออกจากที่ชุมนุมไม่พร้อมกัน บางคนอยู่ในสถานที่ชุมนุมไม่นาน ลักษณะคล้ายกับประชาชนไปห้างสรรพสินค้า พศวัต ฝ่ายปกครองเทศบาลฯ ระบุด้วยว่า ผู้ชุมนุมนั่งและยืนกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของสวนรัชดาฯ 

เพจ “ขอนแก่นพอกันที” โพสต์แจ้งให้ผู้ชุมนุมเตรียมตัวป้องกันโควิด และระดมทุนซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิดบริการผู้ชุมนุม

พ.ต.ท.วิโรจน์ และ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ รับกับทนายจำเลยว่า ในการประกาศนัดหมายชุมนุมนั้น เพจขอนแก่นพอกันทีได้โพสต์แจ้งให้ผู้มาร่วมชุมนุมเตรียมตัวให้พร้อม โดยการสวมหน้ากากอนามัย และพกสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งเป็นการแนะนำให้ทําตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ ทั้งยังมีข้อความประกาศระดมทุนเพื่อเตรียมซื้อหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และน้ำดื่ม และเปิดรับอาสาสมัครช่วยบริการด้านพยาบาล 

พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ยังเบิกความว่า วันเกิดเหตุตนเดินสํารวจโดยรอบบริเวณภายนอกเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปในบริเวณที่กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัว จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีเจลแอลกอฮอล์บริการอยู่ด้านหน้าเวทีหรือจุดอื่นอีก เกี่ยวกับการทําความสะอาดสถานที่นั้น น่าจะเป็นการทําความสะอาดบริเวณอุปกรณ์หรือจุดที่มีการสัมผัสเป็นประจำ เช่น ลูกบิดประตู หรือราวบันได ที่อาจมีสารคัดหลั่งติดอยู่ ซึ่งในที่ชุมนุมไม่มี 

พยานโจทก์ทั้งหมดยังตอบทนายจำเลยว่า สวนรัชดาฯ มีห้องน้ำสาธารณะ แต่ไม่ยืนยันว่า จะมีเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ล้างมือให้บริการอยู่ภายในห้องน้ำหรือไม่ ขณะหัวหน้าฝ่ายปกครองเทศบาลฯ เองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีพนักงานของเทศบาลฯ หรือเทศบาลฯ จะว่าจ้างบุคคลใดให้มาทําความสะอาดห้องน้ำดังกล่าวหรือไม่  

ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใส่แมสก์ ส่วนจำเลยไม่ใส่แมสก์ขณะอยู่บนเวที เพราะไม่สะดวกต่อการพูดใส่ไมค์ – อยู่ห่างจากคนอื่น เสี่ยงน้อย  

พยานตำรวจชุดสืบสวนตอบทนายจำเลยว่า ในชั้นสอบสวนตนเคยให้การไว้ว่า กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย รายงานการสืบสวนก็ปรากฏภาพของจตุภัทร์ขณะติดแผ่นป้ายในที่ชุมนุม ซึ่งสวมหน้ากากอนามัย ส่วนที่มีภาพถ่ายที่จำเลยทั้งห้าไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยนั้นเป็นภาพขณะอยู่บนเวที ซึ่งอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 3-4 เมตร

รอง ผกก.สืบสวน ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาเบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า ตามรายงานการสืบสวนที่มีภาพการประชุมของตํารวจในวันที่ 23 ก.ค. 2563 ตํารวจบางคนในภาพสวมหน้ากากอนามัยในลักษณะที่ดึงลงไว้ใต้คาง และบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย พยานเห็นว่า ในขณะประชุมบางครั้งต้องพูดใส่ไมค์ การถอดหน้ากากอนามัยก็เพื่อความสะดวก แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นกรณีคล้ายกับจําเลยทั้งห้าขณะขึ้นปราศรัยโดยใช้ไมค์หรือไม่

รอง ผกก.สืบสวน รับด้วยว่า ที่เบิกความตอบโจทก์ว่า จําเลยทั้งห้าร่วมกันจัดกิจกรรมขัดต่อประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 8 ซึ่งให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้านนั้น ข้อเท็จจริงคือประกาศของจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 8 ประกาศเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 ต่อมาได้มีประกาศของจังหวัดขอนแก่นในเรื่องการควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิดอีกหลายฉบับ ฉบับที่ใกล้เคียงกับวันเกิดเหตุในคดีนี้คือ ฉบับที่ 17 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 1 ก.ค. 2563 

ด้านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็รับกับทนายจำเลยเช่นกันว่า ตามภาพถ่ายเหตุการณ์ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ส่วนภาพที่ผู้ปราศรัยบนเวทีไม่สวมหน้ากากอนามัยก็น่าจะคล้ายกับลักษณะของรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตขณะเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไม่มาก เนื่องจากอยู่ห่างจากบุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม นพ.สมชายโชติ เห็นว่า กรณีรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตใช้น้ำเสียงในการพูดได้เป็นโทนเสียงปกติ แตกต่างจากการปราศรัยบนเวทีซึ่งค่อนข้างที่จะใช้เสียงหรือน้ำหนักเสียงมากกว่า

กรณีที่งานสัมมนาดังกล่าวมีภาพ นพ.สมชายโชติ นั่งอยู่โดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย นพ.สมชายโชติ อธิบายว่า ในการถ่ายภาพใช้ระยะเวลาน่าจะไม่เกิน 10-15 วินาที และมีข้อตกลงในการถ่ายภาพร่วมกันว่าจะต้องกลั้นหายใจ ซึ่งการกระทําดังกล่าวก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออยู่ แต่ว่าเป็นความเสี่ยงที่ตนยอมรับและสามารถที่จะป้องกันได้ในเบื้องต้น ส่วนภาพผู้เข้าร่วมการสัมมนาในห้องประชุมที่ปิดทึบนั้นมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิดมากกว่าการชุมนุมในที่โล่ง 

.

ช่วงเกิดเหตุสถานการณ์โควิดไม่รุนแรง ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ ทั้งไม่มีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม 

วัฒนา นักวิชาการสาธารณสุขเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุการระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นช่วงขาลง มีการติดเชื้อลดลง รัฐบาลได้ผ่อนคลายให้กระทํากิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยมีการปลดล็อคเฟส 5 โรงเรียนได้เปิดเทอม รถไฟฟ้ายกเลิกเว้นที่นั่ง ผับ บาร์เปิดให้บริการได้ สอดคล้องกับที่พยานตำรวจและฝ่ายปกครองตอบทนายจำเลย  

ด้าน นพ.สมชายโชติ รับตามข้อมูลที่ ศบค.โพสต์แจ้งในเฟซบุ๊กว่า ช่วงวันที่ 16-23 ก.ค. 2563 มีผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศเป็น 0 ที่ตนตอบโจทก์ไปว่า ช่วงเกิดเหตุมีการตั้งโรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นเป็นการคลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงเป็นตามข่าวที่ทนายจำเลยให้ดูคือ โรงพยาบาลสนามในมหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2564 และตนไม่มีข้อมูลว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดหลังการชุมนุมในคดีนี้ สอดคล้องกับวัฒนาที่ยืนยันว่า จังหวัดขอนแก่นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสุดท้ายในวันที่ 12 เม.ย. 2563 และไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่อีกจนถึงวันที่ 22 ธ.ค. 2563 

พนักงานสอบสวนไม่แน่ใจว่าผู้ว่าฯ ส่งคําสั่งพนักงานควบคุมโรคติดต่อให้จําเลยทั้งห้าทราบหรือไม่ 

กรณีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 นั้น พนักงานสอบสวนตอบทนายจำเลยว่า มาตรา 34 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ บัญญัติให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่มีอํานาจในการออกคําสั่งให้บุคคลใดๆ ดําเนินการเพื่อไม่ให้โรคติดต่อแพร่ออกไป และประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้การออกคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อฯ ดังกล่าวนั้นต้องทําเป็นหนังสือไปยังบุคคลนั้นๆ ให้ปฏิบัติตาม แต่สําหรับการสอบสวนในคดีนี้นั้น พนักงานสอบสวนไม่แน่ใจว่าผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ส่งคําสั่งตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขไปยังจําเลยทั้งห้าแล้วหรือไม่

เทศบาลไม่แน่ใจว่าเจ้าของเครื่องเสียงมาขออนุญาตใช้เครื่องเสียงเองหรือไม่

หัวหน้าฝ่ายปกครองเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งตอบโจทก์ว่า การชุมนุมในคดีนี้ไม่พบว่ามีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ได้ตอบทนายจำเลยว่า ตนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดทําใบลงชื่อขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และเซ็นให้อนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง อีกทั้งแม้ในใบลงชื่อนั้นไม่มีชื่อของจําเลยทั้งห้ามาขออนุญาต แต่จะมีบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องขยายเสียงหรือได้รับมอบหมายจากเจ้าของเครื่องขยายเสียงมาขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในวันเกิดเหตุหรือไม่ พยานก็ไม่แน่ใจ 

.

ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

ตำรวจสืบสวนและพนักงานสอบสวนเบิกความว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้สิทธิประชาชนในการชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุนั้น ไม่ปรากฏว่ามีความรุนแรงหรือการใช้อาวุธในสถานที่ชุมนุม รายงานการสืบสวนก็ระบุว่า ไม่ปรากฏการกระทําความผิดแต่อย่างใด เช่นเดียวกับหัวหน้าฝ่ายปกครองเทศบาลฯ ที่เบิกความว่า สถานการณ์ในการชุมมนุมถือว่ามีความสงบเรียบร้อย ไม่วุ่นวาย ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงหรือความเสียหายเกิดขึ้น เนื้อหาการปราศรัยก็ชอบด้วยเหตุผลและรัฐธรรมนูญ

5 จำเลยยืนยัน ไม่ใช่ผู้จัด ร่วมชุมนุมเพราะสนใจ-ได้รับเชิญปราศรัย ส่วนตัวป้องกันโควิดแล้ว แค่ถอดแมสก์ชั่วคราวขณะปราศรัย-ร้องหมอลำ

“ในการชุมนุมสมัยใหม่เปิดให้ผู้ชุมนุมมีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็นที่สนใจ สาเหตุของการชุมนุมเนื่องจากประชาชนรู้สึกอึดอัดกับการบริหารงานของ คสช. และรัฐบาล เป็นการชุมนุมโดยไม่มีแกนนําที่ชัดเจน” 

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรม 

จตุภัทร์เบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า ขณะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นตนได้ร่วมเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชนกับกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

วันเกิดเหตุตนได้รับเชิญให้ไปปราศรัย แต่ไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดการชุมนุม ผู้ที่ประชาสัมพันธ์การชุมนุมคือ เพจขอนแก่นพอกันที และดาวดิน สามัญชน ซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้ดูแลเพจดังกล่าว โดยกลุ่มดาวดินเป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อตนจบมาแล้วจึงไม่ได้เกี่ยวข้องอีก แต่สื่อต่างๆ ยังคงเรียกตนว่า “ไผ่ ดาวดิน” 

เพจขอนแก่นพอกันทีมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเตรียมป้ายข้อความไปด้วย ซึ่งในการชุมนุมสมัยใหม่เปิดให้ผู้ชุมนุมมีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็นที่สนใจ ขณะนั้นมีบุคคลที่ถูกบังคับสูญหาย ตนต้องการนําเสนอประเด็นดังกล่าว จึงได้นําภาพบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายไปติดที่บริเวณสวนรัชดาฯ ด้วย ขณะรอการชุมนุม ตนเห็นผู้จัดกิจกรรมติดป้ายและติดตั้งเครื่องเสียงจึงไปช่วยดําเนินการ 

หากมีการเคลื่อนไหวในจังหวัดขอนแก่น ตํารวจจะเพ่งเล็งมาที่ตนเป็นอันดับต้นๆ สาเหตุของการชุมนุมในคดีนี้เนื่องจากประชาชนรู้สึกอึดอัดกับการบริหารงานของ คสช. และรัฐบาล เป็นการชุมนุมโดยไม่มีแกนนําที่ชัดเจน  

สวนรัชดาฯ เป็นสวนสาธารณะที่โล่งกว้าง ในช่วงเย็นจะมีประชาชนมาทํากิจกรรมสันทนาการ สามารถจุคนได้หลักหมื่น แต่ในวันเกิดเหตุมีประชาชนมาร่วมชุมนุมหลักพันคน มีนักศึกษาตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างานและมีโต๊ะบริการเจลล้างมือ ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย บางคนนําแอลกอฮอล์มาด้วยตนเอง

ก่อนปราศรัยมีทีมงานของผู้ชุมนุมทําความสะอาดไมโครโฟน เหตุที่ตนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยขณะปราศรัยเนื่องจากต้องการให้เสียงพูดชัดและเวทีอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมในระยะปลอดภัย แต่ในช่วงเวลาอื่นตั้งแต่ออกจากบ้านตนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

“เข้าร่วมชุมนุมเนื่องจากไม่พอใจการรัฐประหาร การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งครอบครัวของผมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ รายได้ลดลง มีหนี้สิน จึงเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเรียกร้องต่อรัฐบาล”

ธนภณ เดิมทํารัมย์ (ขณะเกิดเหตุ) รองประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ธนภณเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนยังเป็นนักศึกษา นอกจากเป็นสมาชิกสภานักศึกษาแล้ว ยังทํากิจกรรมทางสังคม เช่น ค่ายอาสา และเป็นพิธีกรระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งรับเป็นพิธีกรในงานอีเวนท์ต่างๆ ด้วย 

ตนไม่ได้เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมที่สวนรัชดาฯ แต่ได้รับทราบผ่านเพจขอนแก่นพอกันทีขณะออกไปทำกิจกรรมกับโรงเรียน จึงสนใจเข้าร่วมชุมนุม ในฐานะสมาชิกสภานักศึกษาตนก็เข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นประจํา เพื่อคุ้มครองสิทธิของนักศึกษา เมื่อไปถึงที่ชุมนุม ผู้จัดงานเห็นว่าตนมีประสบการณ์ในการเป็นพิธีกร จึงเชิญให้เป็นพิธีกรช่วยพิธีกรหญิง โดยไม่ได้มีการนัดหมายกันมาก่อน 

พยานใส่หน้ากากอนามัยเข้าร่วมชุนนุม แต่เมื่อขึ้นเป็นพิธีกรผู้จัดบอกให้ถอดได้ เนื่องจากเป็นที่โล่งแจ้ง มีระยะห่างจากผู้อื่น และมีการทําความสะอาดไมค์ ในขณะนั้นยังไม่พบการระบาดของโควิดในภาคอีสาน แต่การแพร่ระบาดเกิดจากการที่รัฐบาลให้ทหารอียิปต์เข้ามาซ้อมรบที่ระยอง

มีการบีบเจลแอลกอฮอล์ให้กับนักศึกษาที่จะมาร่วมชุมนุมตั้งแต่ก่อนขึ้นรถที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งมีการแจกหน้ากากอนามัย และสเปรย์แอลกอฮอล์ ตนไม่เห็นว่ามีใครถอดหน้ากากอนามัย แต่ที่มีภาพผู้ร่วมชุมนุมบางคนถอดหน้ากากนั้น อาจจะเป็นการถอดชั่วคราวขณะกินอาหาร ผู้ชุมนุมขยับเดินไปมาได้ ไม่ได้แออัด หลังการชุมนุมไม่มีข้อมูลว่านักศึกษาที่เข้าร่วมติดเชื้อโควิด 

สาเหตุที่ตนเข้าร่วมชุมนุมเนื่องจากไม่พอใจการรัฐประหาร การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งครอบครัวของตนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ รายได้ลดลง มีหนี้สิน ตนจึงเห็นว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเรียกร้องต่อรัฐบาล และเมื่อได้รับเชิญเป็นพิธีกร ตนเห็นว่าจะสามารถเป็นปากเสียงให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นนิสัยของตนที่ทํามาตลอด

“มีคนโทรมาว่าจ้างให้ไปแสดงหมอลํา เวทีที่แสดงอยู่ห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุม 5 – 10 เมตร ผมจึงไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยขณะร้องหมอลํา เนื่องจากไม่สะดวกต่อการร้อง และจะทำให้ผู้ฟังได้ยินไม่ชัด ” 

ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หมอลำ

ปติวัฒน์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตนประกอบอาชีพหมอลําเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยมีวงชื่อว่า สะเวินใจ รับจ้างแสดงในงานบุญ งานบวชทั่วประเทศ ก่อนเกิดเหตุมีคนโทรมาว่าจ้างพยานให้ไปแสดงหมอลําในการชุมนุมวันที่ 23 ก.ค. 2563 เป็นเวลา 30 นาที พยานไม่ได้เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม และไม่ได้เป็นผู้ดูแลเพจทั้งสามที่มีโพสต์นัดหมายชุมนุม 

เวทีที่แสดงหมอลําอยู่ห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 5 – 10 เมตร ตนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยขณะร้องหมอลําเนื่องจากไม่สะดวกต่อการร้อง และจะทำให้ผู้ฟังได้ยินไม่ชัด เวทีกว้างประมาณ 10 เมตร ระหว่างแสดงสมาชิกในวง 4 คน ยืนอยู่ห่างกัน นอกจากแสดงหมอลํา ตนไม่ได้มีหน้าที่อื่นในการชุมนุม ภายหลังการแสดงตนกับสมาชิกในวงไม่ได้ติดเชื้อโควิด 

ปติวัฒน์ได้ตอบคำถามอัยการด้วยว่า ปกติตนรับงานแสดงทั่วไปผ่านทางเฟชบุ๊ก ที่ไปแสดงในการชุมนุมทางการเมืองด้วย เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงแพร่ระบาดโควิด การจ้างงานมีน้อย ผู้ว่าจ้างในครั้งนี้ก็ติดต่อตนทางเฟชบุ๊ก วันเกิดเหตุตนเตรียมการแสดงที่ด้านหลังเวที ได้พูดคุยกับพิธีกรก่อนเริ่มการแสดง จากนั้นแสดงประมาณ 2-3 กลอน เช่น ลำเพลินไล่เผด็จการ ลําเพลินฟ้าบ่กั้นหยังคือว่าห่างกัน หลังแสดงเสร็จก็เดินทางกลับ 

“ในที่ชุมนุมมีการประกาศเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมขึ้นไปปราศรัยได้ ผมจึงขอขึ้นปราศรัยวิจารณ์การทํางานของรัฐบาล และพูดถึงการสูญหายของวันเฉลิม ยังมีบุคคลอื่นขึ้นปราศรัย ซึ่งไม่ได้ถูกฟ้องคดี” 

วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วชิรวิทย์เบิกความว่า ตนมีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน และต่อต้านเผด็จการ โดยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร ซึ่งขณะนั้นตนยังเป็นนักเรียน 

ตนทราบข่าวการชุมนุมครั้งนี้จากเพจขอนแก่นพอกันที, ดาวดิน และเพจสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตนสนใจจึงชวนเพื่อนในคณะไปเข้าร่วมชุมนุมภายหลังเลิกเรียน โดยนั่งรถยนต์ส่วนตัวไป บริเวณสวนรัชดาฯ เป็นพื้นที่โล่งกว้าง ไม่มีรั้วกั้น จุผู้ชุมนุมได้เป็นจํานวนมาก บริเวณทางเข้าที่ชุมนุมมีเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัยบริการ

ในที่ชุมนุมมีการประกาศเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมขึ้นไปปราศรัยได้ ตนจึงขอขึ้นปราศรัยเอง โดยไม่ได้นัดหมายกันไว้ล่วงหน้า วิจารณ์การทํางานของรัฐบาล และพูดถึงการสูญหายของวันเฉลิม ใช้เวลาประมาณ 10 นาที

พยานรู้จักจตุภัทร์และพริษฐ์ เนื่องจากเป็นคนที่มีชื่อเสียง นอกจากจําเลยทั้งห้าในคดีนี้แล้ว ยังมีบุคคลอื่นที่เข้าร่วมชุมนุมขึ้นไปปราศรัย ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป นักแสดง ซึ่งไม่ได้ถูกฟ้องคดี 

“ผมเห็นเพจขอนแก่นพอกันทีโพสต์แจ้งให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมใส่หน้ากากอนามัย ที่ชุมนุมเป็นที่โล่ง มีจุดบริการแอลกอฮอล์ เนื้อหาการปราศรัยเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการชุมนุมโดยสงบซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรอง”

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พริษฐ์เบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ตนจึงสนใจการเมือง และทํากิจกรรมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องปฏิรูปการศึกษา เรียกร้องประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 

ก่อนเกิดเหตุตนไปหาเพื่อนที่จังหวัดมหาสารคาม ขณะมาที่ขอนแก่นเพื่อเดินทางกลับโดยใช้สนามบินขอนแก่น ได้ทราบจากเพจขอนแก่นพอกันทีว่าจะมีการชุมนุมทางการเมืองที่บริเวณสวนรัชดานุสรณ์ จึงเดินทางไปร่วม โดยไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัด

เมื่อไปถึงที่สวนรัชดาฯ มีคนเข้าร่วมชุมนุมอยู่แล้ว ขณะตนเดินดูบรรยากาศได้มีคนมาชวนให้ขึ้นไปปราศรัยในฐานะประชาชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งผู้ชุมนุมคนอื่นก็สามารถขอขึ้นปราศรัยได้ 

ตนเห็นเพจขอนแก่นพอกันทีโพสต์แจ้งให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมใส่หน้ากากอนามัย และบริเวณสวนรัชดาฯ เป็นที่โล่ง เห็นจุดบริการแอลกอฮอล์ เวทีอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 4 – 5 เมตร เหตุที่ตนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยขณะปราศรัยเนื่องจากพูดไม่สะดวก และเห็นว่ามีระยะห่างจากผู้ชุมนุม

ตนไม่ทราบว่าการชุมนุมจะมีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เนื้อหาที่ตนปราศรัยเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ บรรยากาศในการชุมนุมไม่มีความรุนแรง ไม่มีการใช้อาวุธ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรอง

.

X