ยกฟ้องอีก นิสิต มมส. ศาลชี้ชุมนุม #อีสานสิบ่ทน ใช้สิทธิเสรีภาพตาม รธน. ไม่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

21 ก.ค. 2565  “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตชั้นปีที่ 4 พร้อมรองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและกฎหมาย วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปฟังคำพิพากษาในคดีชุมนุม “อีสานสิบ่ทน” เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องพงศธรณ์ในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ประกอบ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ประมาณ 10.00 น. ดิลก พนอําพน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดมหาสารคาม เจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษายกฟ้องพงศธรณ์ในทุกข้อหา คำพิพากษามีรายละเอียดโดยย่อดังนี้

.

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทำผิดตามฟ้องหรือไม่ 

เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดให้มีกิจกรรม อีสานสิบ่ทน กลับปรากฏหลักฐานว่า กลุ่มบุคคลที่เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว คือ เพจแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า จำเลยเป็นแกนนำหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวอย่างไร  คงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์เพียงว่า จําเลยเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเข้าร่วมการชุมนุมในวันเกิดเหตุ โดยจําเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัย 2 ครั้ง

เมื่อได้ความว่า ลานแปดเหลี่ยมที่เกิดเหตุเป็นสถานที่โล่งกว้าง มีเนื้อที่หลายไร่ ผู้เข้าร่วมชุมนุมสามารถนั่งตามอัธยาศัย มีจุดบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย บริการเจลแอลกอฮอล์ และผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย อีกทั้งภายหลังกิจกรรมไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดจากการร่วมชุมนุม 

ยิ่งไปกว่านั้น พยานโจทก์ปากนางฉันทลักษณ์ ผู้อํานวยการกองอาคารสถานที่ของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังเบิกความว่า วันเกิดเหตุในช่วงบ่ายมีนักศึกษามายื่นบันทึกข้อความขออนุญาตจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีลายมือชื่ออาจารย์หรือคณบดีที่รับรู้การจัดกิจกรรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่งานธุรการจึงให้ไปทำเรื่องมาใหม่ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมได้พยายามขออนุญาตมหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัยแล้ว ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่า นักศึกษาที่จัดกิจกรรมไม่มีเจตนาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ทั้งยังปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม โดยการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ บริการเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการมั่วสุมประชุมกัน ในลักษณะใกล้ชิดหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย และถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดกิจกรรมในสถานที่แออัด

ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ความจากคำเบิกความของดาบตำรวจธวัชชัยที่ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการยุยงให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทำลายทรัพย์สินแต่อย่างใด 

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 44 บัญญัติรับรองว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุม “อีสานสิบ่ทน” บริเวณลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับบริหารประเทศของรัฐบาล และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ประกาศยุบสภา ยุติบทบาทสมาชิกวุฒิสภา จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษา มีลักษณะเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองภายในบริเวณมหาวิทยาลัย โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปยังสถานที่อื่น อันอาจทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนโดยทั่วไป

ถือเป็นการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองภายในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นการใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ การเข้าร่วมชุมนุมของจําเลยดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องพิเคราะห์พยานหลักฐานของจำเลย พิพากษายกฟ้อง

.

หลังการอ่านคำพิพากษา ศาลได้พูดคุยสอบถามพงศธรณ์ว่า จบคดีนี้แล้ว ยังเหลืออีกกี่คดี พงศธรณ์กล่าวตอบว่า เหลือคดี 112 จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมหน้า SCB เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 อีกคดีเดียว ซึ่งมีนัดสืบพยานเดือนธันวาคม 2566

นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมของนักกิจกรรมและประชาชนในจังหวัดต่างๆ คดีที่ 18 ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ซึ่ง “บอย” พงศธรณ์กล่าวอย่างพอใจว่า “คำพิพากษาในวันนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการยืนยันว่า การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนนั้นเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตย ทั้งสองสิ่งเป็นหลักการสากล ไร้พรมแดน ไม่ว่ารัฐจะกดขี่ ย่ำยีเราเพียงใด แต่ภายในกระบวนยุติธรรมเองก็ยังมีข้าราชการตุลาการที่เชื่อมั่น ยึดถือในหลักการดังกล่าว 

คำพิพากษานี้ยังชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยเรายังมีโอกาสในการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่านี้ต่อไปได้ ซึ่งผมก็อยากจะเรียกร้องให้รัฐคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งประชาชนคนอื่น ๆ ที่ถูกรัฐรังแกจากการใช้กฎหมายปิดปาก (SLAPP) เพื่อยุติความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไทย ให้กลับมายืนยันในหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักการประชาธิปไตย”

บอยกล่าวไปถึงคดีของเพื่อนนักกิจกรรมที่ไม่ได้รับความยุติธรรมเหมือนเขาในคดีนี้ “คนอื่นๆ ที่ถูกศาลเล่นงาน ไม่ให้ประกันตัวก็ดี หรือตัดสินให้การแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องที่ผิด ผมคิดว่ารัฐมีความพยายามในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมให้มันไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ออกมาต่อสู้กับรัฐ ซึ่งผมว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามากๆ ในขณะที่ผมต่อสู้คดีชนะ และคดีผมก็เป็นเรื่องการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองโดยสงบเหมือนกันกับคนอื่นๆ แต่สหายที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองด้วยกันบางคนก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสู้คดี 

รวมทั้งองค์กรศาลก็อาจถูกแทรกแซงมากจนบุคลากรค่อนข้างลดทอนความเป็นมนุษย์ในตัวเองลงไป จนลืมไปว่าสิ่งที่ตนทำไปมันคือการใช้กฎหมายเพื่อรักษาอำนาจรัฐมากกว่ารักษาความยุติธรรมในสังคม” 

ในมุมมองนักศึกษาด้านรัฐศาสตร์ บอยให้ความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอีกว่า “ผมว่ากระบวนการยุติธรรมบ้านเราไม่มีอิสระมากพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับอำนาจรัฐส่วนกลาง ซึ่งจากที่เราเห็นในข่าวก็ดี และจากคำสั่งไม่ให้ประกันหรือคำตัดสินจำคุกประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง ด้วยการอ้างเหตุผลที่ไร้หลักการ ใช้วิธีการแบบสองมาตรฐานในการพิจารณาคดีทางการเมือง ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ยิ่งทำมันก็จะยิ่งเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของบุคลากรศาลเอง และทำให้บ้านเมืองเราก็จะยังคงอยู่ในวังวนของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ผู้มีอำนาจรัฐแน่นอน” 

แม้ว่าศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง ทำให้บอยไม่ต้องถูกลงโทษในคดีนี้ไม่ว่าจะปรับ หรือจำคุก หรือรอลงอาญา แต่ดูเหมือนบอยก็ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีไปแล้วล่วงหน้าแล้ว การที่ต้องเดินทางไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ ศาล เกือบ 10 ครั้ง ในเวลา 2 ปี “ผมต้องสละเวลาเรียน เวลาสอบบางช่วง เพื่อไปตามนัดในคดี ส่งผลให้เรียนได้น้อยลง และทำให้ผมต้องลงทะเบียนเรียนช้าเพราะว่าต้องเผื่อเวลาว่างไว้ขึ้นศาลในแต่ละเทอม 

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอ้อม ในช่วงระหว่างทางของการต่อสู้คดี ผมต้องต่อสู้ทางความคิดกับญาติๆ ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผมเลย ทุกครั้งที่ผมกลับไปเยี่ยมพวกเขา ผมเลยต้องพยายามอธิบายให้พวกเขาเห็นว่า การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด และเป็นหน้าที่หนึ่งของประชาชนในฐานะพลเมืองของรัฐ ที่ต้องรักษาหลักการเหล่านี้ไม่ให้รัฐมาละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเรา”

.

X