1 ก.ค. 2565 ศาลจังหวัดลำพูนนัดฟังคำพิพากษาในคดีจากการชุมนุม “คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ลานเจ้าแม่จามเทวี เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 ซึ่งมี ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจำเลยที่ 1 และธนาธร วิทยเบญจางค์ หรือ “ฮ่องเต้” รองนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแกนนำกลุ่มพรรควิฬาร์ เป็นจำเลยที่ 2
คดีนี้จำเลยทั้งสองถูกอัยการฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยประเด็นในการต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลยในการสืบพยานที่ผ่านมา ได้แก่ การชุมนุมตามฟ้องเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่กว้าง โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค ไม่มีพฤติการณ์ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้มาร่วมกิจกรรมการชุมนุม ไม่ใช่ผู้จัด ผู้ชุมนุมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดจากกิจกรรม ทั้งในการชุมนุมได้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาตั้งจุดคัดกรองดูแลตามมาตรการป้องกันโรคแล้ว
เดิมคดีนี้ นัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 แต่ในวันดังกล่าว ร่างคำพิพากษาและสำนวนคดียังไม่ถูกส่งกลับมาจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ศาลจึงได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกมาเป็นวันนี้
อ่านเพิ่มเติม ไม่ใช่ผู้จัด-ไม่เสี่ยงแพร่โรค-ไม่ยุยงให้เกิดความไม่สงบ: บันทึกสืบพยานคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย”
.
.
ศาลได้วินิจฉัยโดยสรุป เห็นว่าการกระทำที่จะเป็นความผิดตามตามฟ้องนั้น จะต้องเป็นการชุมนุมอันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ตามนัยแห่งมาตรา 4 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) หรือต้องเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่า-2019 แต่หากเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธแล้ว การชุมนุมย่อมได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44 ประเด็นจึงต้องพิจารณาว่าการชุมนุมนั้นมีลักษณะเช่นใด และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่
เกี่ยวกับลักษณะการชุมนุมในคดีนี้ ได้ความจากพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสามปาก ว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีเหตุรุนแรง ไม่มีการพกพาอาวุธ เป็นการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา ที่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ในเรื่องการการแพร่ระบาดของโรค ได้ความจากพยานปากหัวหน้าส่วนงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน ว่าในพื้นที่จังหวัดลำพูน พบผู้ติดเชื้อโคโรน่า-2019 รายแรก เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2563 และพบรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2563 รวมผู้ติดเชื้อ 4 ราย โดยในเดือนกรกฎาคมและช่วงเวลาที่มีการจัดชุมนุม ไม่พบผู้ติดเชื้อ
เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานและภาพถ่ายในรายงานการสอบสวน พบว่าผู้ชุมนุมมีการสวมหน้ากากอนามัย มีการจัดมาตรการการคัดกรองโรค โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิ และจุดบริการเจลแอลกอฮอล์
จากพยานหลักฐานทั้งหมด จึงเห็นว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุมโดยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยของประชาชน การชุมนุมดังกล่าวจึงไม่ใช่การชุมนุมมั่วสุมที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และไม่ใช่การชุมนุมที่เสี่ยงต่อโรคด้วยเช่นกัน การเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยทั้งสองจึงสามารถกระทำได้
ในส่วนฟ้องเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลเห็นว่าในส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีการปราศรัยในการชุมนุม และไม่มีพยานหลักฐานว่าเกี่ยวข้องใดๆ กับการใช้เครื่องขยายเสียง จึงไม่ยังเป็นความผิดในข้อกล่าวหานี้
ส่วนจำเลยที่ 2 รับว่าใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุม แต่ได้ต่อสู้ว่า พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ไม่ได้ใช้บังคับเป็นเวลานานแล้ว เสมือนว่าได้ยกเลิกไปโดยปริยาย เห็นว่าหากยังไม่มีการตรากฎหมายใหม่มายกเลิก กฎหมายดังกล่าวก็ยังมีผลใช้บังคับ ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงยังฟังไม่ขึ้น
ส่วนเรื่องที่ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของเครื่องขยายเสียงดังกล่าว เห็นว่าตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดบุคคลที่กระทำความผิด คือผู้ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเครื่องขยายเสียงเป็นของผู้ใด เมื่อจำเลยใช้เครื่องขยายเสียงดังกล่าวโดยไม่ได้มีเอกสารขออนุญาต จึงไม่สามารถอ้างเหตุยกเว้นความผิดได้ พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ลงโทษปรับ 200 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
.
ทั้งนี้ ในคดีนี้มีข้อสังเกตด้วยว่า ในคำฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดลำพูน มีการบรรยายฟ้องในลักษณะที่แตกต่างจากคดีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน โดยระบุว่าการกระทำของจำเลยทั้งสอง ส่งผลให้มาตรการที่รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอศาลลงโทษจำเลยสถานหนัก เพื่อมิให้จำเลยกระทำความผิดซ้ำอีกซึ่งอาจเป็นภยันตรายแก่บุคคลและเพื่อความปลอดภัยของประชาชนโดยส่วนรวม
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีจากการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 15 แล้ว ที่มีการต่อสู้คดีและศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ขณะที่คดีที่มีการต่อสู้คดีในชั้นศาล แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่ามีความผิดมีจำนวน 2 คดีเท่านั้น ซึ่งศาลก็ลงโทษในอัตราโทษปรับ ชี้ให้เห็นแนวโน้มของการใช้กฎหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นเครื่องมือในการปราบปรามและควบคุมการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา
>> สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง
.