27 ธ.ค. 2565 ศาลแขวงขอนแก่นนัดนักศึกษา-นักกิจกรรมอีสาน 8 ราย ฟังคำพิพากษาในคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 หลังการสืบพยานรวม 3 วัน ในเดือน ก.ค. และ ก.ย. 2565 เสร็จสิ้นลง โดยทั้งแปดถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในสถานที่แออัด หรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และร่วมกันจัดกิจกรรมในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยไม่ดำเนินการตามมาตรการที่จำเป็น”
นักกิจกรรมทั้ง 8 ราย ที่ตกเป็นจำเลย ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “เซฟ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง, ศิวกร นามนวด, พชร สารธิยากุล, นิติกร ค้ำชู, ธนศักดิ์ โพธิเตมิย์, เจตสฤษฎ์ นามโคตร และอิศเรษฐ์ เจริญคง ซึ่งหลายคนถูกดำเนินคดีในคดีนี้เป็นครั้งแรก
.
ชุมนุมเรียกร้องปล่อย 4 นักกิจกรรม-ยุติคดี 112 ก่อนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ไม่มีโควิดระบาดในขอนแก่น
ย้อนกลับไปการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 กลุ่ม “ราษฎร โขง ชี มูล” นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เพื่อเรียกร้อง “ปล่อยหมู่เฮา” หรือ 4 นักกิจกรรม คือ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาตรา 112, ย้ำ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่ม “ราษฎร” รวมถึงให้ยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 กับพริษฐ์ จากการปราศรัยที่ขอนแก่น จากนั้นมีการเคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่สวนเรืองแสง ก่อนเคลื่อนไปหน้า สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อ ผบช.ภ.4
การชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองกลับกลายเป็นคดีความ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียกผู้ต้องหากับผู้ร่วมชุมนุมภายในไม่กี่วัน มีการแจ้ง 4 ข้อกล่าวหา ทั้งร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย, จัดกิจกรรมซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป, เดินขบวนกีดขวางจราจร และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
อย่างไรก็ดี อีกกว่า 1 ปี พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงขอนแก่น ทำให้ข้อหากีดขวางจราจรและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีเพียงโทษปรับ หมดอายุความไปแล้ว
คำฟ้องของพนักงานอัยการระบุการกระทำที่ฟ้องนักกิจกรรมทั้ง 8 ราย ว่า
จําเลยทั้งแปดร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยประกาศนัดหมายประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมกิจกรรม มีการจัดเวที ติดตั้งเครื่องขยายเสียง และร่วมกันปราศรัย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ศาลหลักเมือง), สวนสาธารณะประตูเมืองขอนแก่น (สวนเรืองแสง) และ สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งมีคำสั่ง ศบค.ให้จังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะแออัด มั่วสุม เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยจำเลยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคแก่ผู้เข้าร่วมตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 18), ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 3) และประกาศจังหวัดขอนแก่น (ฉบับที่ 28) อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
ทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ และชั้นศาล นักกิจกรรมทั้งแปดยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีข้อต่อสู้ว่า ตนไม่ใช่ผู้จัดให้มีการชุมนุม อีกทั้งการเข้าร่วมชุมนุมไม่ได้ทําให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด และเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
พยานโจทก์กล่าวหาจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม ทั้งชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด แต่พยานหลักฐานขัดแย้ง
ในวันที่ 8 ก.ค. และ 7, 14 ก.ย. 2565 ซึ่งศาลนัดสืบพยาน อัยการนำพยานโจทก์เข้าเบิกความรวม 5 ปาก ได้แก่ สารวัตรและรองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งลงพื้นที่หาข่าวและถ่ายรูป, ร้อยเวรจราจร ซึ่งได้รับคำสั่งให้ไปอำนวยความสะดวกด้านการจราจรช่วงที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปหน้า สภ.เมืองฯ, นักวิชาการสาธารณสุข จากสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ซึ่งให้ความเห็นเรื่องความเสี่ยงต่อการแพร่โรคจากภาพเหตุการณ์ และพนักงานสอบสวนในคดี
โจทก์นำสืบพยานเหล่านี้ให้เห็นว่า จำเลยทั้งแปดร่วมกันจัดการชุมนุมในวันที่ 20-21 ก.พ. 2564 โดยแบ่งหน้าที่กันทำ โดยที่การชุมนุมมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โควิด และจำเลยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกัน ทั้งยังก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และทำให้การจราจรไม่สะดวก แม้พยานโจทก์ทั้งหมดจะเบิกความไปในทิศทางเดียวกัน แต่นักวิชาการสาธารณสุขเบิกความตอนหนึ่งว่า การชุมนุมมีความเสี่ยงที่จะแพร่โควิดต่ำ เนื่องจากชุมนุมในที่โล่ง แต่ศาลไม่ได้จดคำเบิกความดังกล่าว
ด้านทนายจําเลยได้ถามค้านจนได้ความจากพยานโจทก์เหล่านี้เช่นกันว่า ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยทั้งแปดเป็นแอดมินเพจหรือเป็นผู้โพสต์นัดชุมนุม ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งแปดถึงที่ชุมนุมพร้อมกันและร่วมกันจัดกิจกรรม นอกจากนี้ จำเลยบางคนเพียงขึ้นปราศรัยหรือไลฟ์สด ไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นผู้จัดชุมนุม อีกทั้งที่ชุมนุมเป็นที่โล่งแจ้ง ไม่เสี่ยงแพร่เชื้อมาก และไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม การชุมนุมยังปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินและบุคคลใดๆ
คำตอบของพยานโจทก์ต่อคำถามค้านของทนายจำเลย สอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยทั้งแปดที่เบิกความเป็นพยานให้ตนเอง ยืนยันว่าไม่ได้เป็นแอดมินเพจที่มีการโพสต์นัดหมายชุมนุม ทั้งไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม โดยต่างคนต่างเดินทางไปชุมนุมคนละช่วงเวลา แม้ว่าบางคนจะปราศรัย แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความเห็นเช่นเดียวกับผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้การชุมนุมยังเป็นไปโดยไม่แออัด มีสาธารณสุขมาคัดกรองโควิด และแต่ละคนมีการป้องกันขณะร่วมชุมนุม โดยไม่มีใครติดเชื้อภายหลังจากนั้น
คำเบิกความของพยานทั้งสองฝ่ายมีรายละเอียดดังนี้
.
ตำรวจชุดสืบกล่าวหา จำเลยทั้งแปดร่วมจัดการชุมนุม โดยแบ่งหน้าที่กันทำ
พ.ต.ต.ธีรภัทร สารวัตรสืบสวน ผู้กล่าวหา และ ร.ต.อ.ประยุทธ เมณกุล ชุดสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น อีกราย เบิกความถึงพฤติการณ์ในคดีนี้ว่า ก่อนเกิดเหตุมีเพจเฟซบุ๊ก ขอนแก่นพอกันที, ดาวดิน สามัญชน, ภาคีนักเรียน KKU และเสรีชนคนกาฬสินธุ์ โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมที่ศาลหลักเมืองขอนแก่น และร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่มีชื่อของอรรถพล, ศิวกร และบุคคลอื่น เป็นเจ้าของบัญชี
ต่อมาวันที่ 20 ก.พ. 2564 ประมาณ 10.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีประชาชนทยอยเดินทางมาร่วมกิจกรรม มีการปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง ในขณะเดียวกันนั้นผู้กํากับการ สภ.เมืองขอนแก่น ได้ประกาศแจ้งให้ชุมนุมด้วยความสงบและไม่ละเมิดกฎหมาย
ประมาณ 15.00 น. มีการเคลื่อนขบวนด้วยการเดินตามถนนไปที่สวนเรืองแสง ระยะทางประมาณ 500 ม. เมื่อไปถึงสวนเรืองแสงมีการตั้งเวทีปราศรัย จนถึงเวลา 22.00 น. ผู้ชุมนุมซึ่งมีประมาณ 100 คน ได้เคลื่อนขบวนไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น มีการปราศรัยบนรถยนต์บริเวณทางเข้า สภ.เมืองฯ โดยมีตํารวจควบคุมฝูงชนตั้งแนวกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปด้านใน ผู้ชุมนุมจึงอยู่บริเวณฟุตบาท โดยรถยังสามารถแล่นไปมาบนถนนได้ การชุมนุมยุติในเวลา 02.00 น. วันที่ 21 ก.พ. 2564
ชุดสืบสวนทั้งสองนายเบิกความชี้ว่า ในการชุมนุมดังกล่าวจําเลยทั้งแปดเป็นแกนนําในการจัดชุมนุม ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทํา โดยนอกจากประกาศเชิญชวนชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กแล้ว แต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้องดังนี้
อรรถพล พ.ต.ต.ธีรภัทร ระบุว่า เป็นผู้กล่าวชักชวนให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่สวนเรืองแสง ขณะ ร.ต.อ.ประยุทธ์ เบิกความว่า อรรถพลปรากฏตัวครั้งแรกที่สวนเรืองแสงเวลา 20.37 น. และขึ้นปราศรัย ทั้งยังชักชวนคนเคลื่อนขบวนไป สภ.เมืองฯ, เจรจาและส่งข้อเรียกร้องให้กับผู้กำกับ สภ.เมืองฯ รวมทั้งเป็นผู้แจ้งให้ผู้ชุมนุมกลับไปที่สวนเรืองแสง
วชิรวิทย์ ปราศรัยชักชวนให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสวนเรืองแสง, กําหนดทิศทางของกิจกรรม, เจรจากับรองผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดขอนแก่น และผู้กํากับ สภ.เมืองฯ โดยอยู่ในที่ชุมนุมตลอดการชุมนุม ส่วนศิวกร เป็นผู้ดําเนินรายการชักชวนผู้ชุมนุมให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งให้เคลื่อนขบวนไปที่สวนเรืองแสง และเป็นผู้ฉีดสีสเปรย์ลงบนถนนด้วย
พชร มีชื่อในบัญชีระดมทุนจัดกิจกรรม, เป็นผู้ดําเนินรายการ, ชักชวนผู้ชุมนุมให้เคลื่อนขบวนไปที่หน้า สภ.เมืองฯ และปราศรัยบนรถหน้า สภ.เมืองฯ ด้านธนศักดิ์ นำคนในกลุ่มเสรีชนคนกาฬสินธุ์ประมาณ 20 คน เข้าร่วมชุมนุม, ขึ้นกล่าวปราศรัยและประกาศรับสมัครการ์ดรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม ลักษณะคล้ายเป็นหัวหน้าการ์ด
นิติกร เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กดาวดิน สามัญชน ทำหน้าที่ไลฟ์สดตลอดการชุมนุม โดยพูดชักชวนผ่านไลฟ์สดให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมด้วย ทั้งยังเป็นเจ้าของรถยนต์ 1 ใน 8 คันที่บรรทุกเครื่องขยายเสียง และดัดแปลงเป็นเวทีปราศรัย ส่วนเจตน์สฤษฎ์และอิศเรษฐ์ เป็นหัวหน้าการ์ดรักษาความปลอดภัยและดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับผู้ชุมนุม
.
นักระบาดวิทยาชี้ ชุมนุมในที่โล่งเสี่ยงแพร่โควิดต่ำ ขณะชุดสืบระบุ เสี่ยงแพร่เชื้อ-ไม่จัดมาตรการ ทั้งไม่สงบ
พ.ต.ต.ธีรภัทร และ ร.ต.อ.ประยุทธ ยังเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย และร่วมกันชุมนุมในลักษณะใกล้ชิดกันจํานวนมากในพื้นที่จํากัด รวมทั้งไม่มีการตรวจวัดอุณหภูมิ นอกจากนั้น พ.ต.ต.ธีรภัทร ยังระบุว่า การชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีการพยายามผลักดันแถวของตํารวจควบคุมฝูงชนเพื่อเข้าไปในบริเวณ สภ.เมืองฯ แต่ไม่ได้มีการทำร้ายบุคคลหรือทำลายทรัพย์สิน
พ.ต.ต.ธีรภัทร ชี้ด้วยว่า การชุมนุมจัดขึ้นในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยไม่มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 11 และประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 28
ขณะที่วัฒนา นิลบรรพต นักวิชาการสาธารณสุขด้านระบาดวิทยา ให้ความเห็นว่า จากการดูภาพถ่าย การชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด เนื่องจากผู้ชุมนุมอยู่ใกล้ชิดกัน และบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย แต่ความเสี่ยงอาจจะต่ำ เนื่องจากชุมนุมในที่โล่ง นอกจากนี้ ตามภาพไม่ปรากฏว่ามีการจัดมาตรการป้องกันโควิด
ด้าน ร.ต.อ.กฤตนัน รัตนกิ่งธรรม ร้อยเวรจราจร ซึ่งเบิกความว่า วันเกิดเหตุได้รับคำสั่งให้ไปดูแลการจราจรและปิดถนนบริเวณหน้า สภ.เมืองฯ ให้ความเห็นทำนองเดียวกับ พ.ต.ต.ธีรภัทร ว่า การเคลื่อนขบวนและการชุมนุมหน้า สภ.เมืองฯ ทําให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ
ผู้กล่าวหารับ ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเป็นแอดมินเพจหรือผู้โพสต์นัดชุมนุม
ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลยนั้น พ.ต.ต.ธีรภัทร ผู้กล่าวหา รับว่า รายงานการสืบสวนซึ่งเป็นพยานหลักฐานในการกล่าวหาจำเลยทั้งแปดนั้น ไม่ปรากฏว่า ใครเป็นแอดมินเพจหรือผู้โพสต์เชิญชวนประชาชนร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ
ส่วนบัญชีธนาคารที่เปิดรับบริจาคซึ่งมีชื่ออรรถพล, ศิวกร และพชร เป็นเจ้าของบัญชีนั้น ผู้กล่าวหารับว่า ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีอีก 2 คน ไม่ได้ถูกดําเนินคดีด้วย ทั้งที่ 1 ใน 2 คน ก็มีภาพถ่ายว่าเข้าร่วมชุมนุม ขณะที่พนักงานสอบสวนก็รับว่า ในชั้นสอบสวน ไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับการที่จําเลยทั้งสามมีชื่อในบัญชีธนาคารที่เปิดรับบริจาคด้วย
.
ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยทั้งแปดถึงที่ชุมนุมพร้อมกันและร่วมกันจัดกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ต.ธีรภัทร ยืนยันว่า จําเลยทั้งแปดไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเวลา 10.00 น. และร่วมกันจัดการชุมนุม รวมทั้งชักชวนให้ผู้ชุมนุมเดินขบวนไปที่สวนเรืองแสง แต่เมื่อทนายจำเลยให้ดูรายงานการสืบสวน พ.ต.ต.ธีรภัทร รับว่า ปรากฏภาพวชิรวิทย์, ธนศักดิ์ และอิศเรษฐ์ เข้าร่วมชุมนุมในช่วงบ่าย และภาพพชรที่สวนเรืองแสงในช่วงค่ำ ทั้งไม่มีภาพจำเลยถือไมค์ประกาศเชิญชวน แต่ พ.ต.ต.ธีรภัทร ยังยืนยันว่า อรรถพลร่วมชุมนุมตลอดเวลา แม้จะมีรูปอรรถพลในเวลา 09.45 น. จากนั้นมีรูปอีกครั้งเวลา 20.37 น. อีกทั้งมีรายงานข่าวว่า เวลา 16.00 น. อรรถพลปราศรัยอยู่ที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ในการเบิกความของตำรวจชุดสืบทั้งสองรายซึ่งระบุความเกี่ยวข้องของจำเลยแต่ละคนในการชุมนุม เช่น ศิวกรพ่นสีสเปรย์ลงบนถนน, ธนศักดิ์นํากลุ่มเสรีชนคนกาฬสินธุ์มาร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัย, นิติกรไลฟ์สดและเป็นเจ้าของรถยนต์ที่บรรทุกเครื่องขยายเสียง แต่เมื่อทนายจำเลยให้ยืนยันหลักฐานจากรายงานการสืบสวน ชุดสืบทั้งสองก็รับว่า ไม่มีภาพหรือข้อมูลตามที่พยานเบิกความ ในส่วนของเจตน์สฤษฎ์ก็ไม่พบว่ามีการติดสัญลักษณ์การ์ดโดยเฉพาะ
ด้านพนักงานสอบสวนก็ตอบทนายจำเลยเช่นเดียวกันว่า ในชั้นสอบสวนที่แจ้งข้อกล่าวหาธนศักดิ์ว่า เป็นผู้ดำเนินรายการและประกาศรับสมัครการ์ด และแจ้งอิศเรษฐ์ว่าเป็นการ์ดของผู้ชุมนุมนั้น รายงานการสืบสวนไม่ได้ระบุข้อมูลดังกล่าว
.
กฎหมายที่ใช้บังคับไม่นิยาม “ผู้จัดการชุมนุม” อีกทั้งจำเลยไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นผู้จัด บางคนเพียงขึ้นปราศรัย
ในการกล่าวหาจำเลยทั้งแปดว่า เป็นผูู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะในลักษณะแออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น ตำรวจชุดสืบสวนและพนักงานสอบสวนยอมรับว่า ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่ใช้บังคับในคดีนี้ ไม่ได้นิยามคําว่า “ผู้จัดการชุมนุม” “สถานที่แออัด” หรือ “เสี่ยงต่อการแพร่โรค” ไว้ การตีความจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
ผู้กล่าวหาตอบทนายจำเลยด้วยว่า ผู้ร่วมปราศรัยไม่จําเป็นต้องเป็นผู้จัดกิจกรรม เพราะตามรายงานการสืบสวน มีคนอื่นที่ขึ้นปราศรัย แต่ไม่ถูกดำเนินคดีว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม อีกทั้งผู้ที่ปราศรัย เช่น ศิวกร, พชร นอกจากจะร่วมปราศรัยแล้วไม่ปรากฏว่ามีการจัดเตรียมอย่างอื่นเพื่อการชุมนุมอีก กรณีนิติกรที่ไลฟ์สดนั้น ตำรวจชุดสืบก็รับว่า แม้จะไม่มีการไลฟ์สดการชุมนุมก็สามารถดําเนินต่อไปได้ อีกทั้งการที่มีผู้ดูไลฟ์สดก็ถือเป็นการลดการมาร่วมชุมนุมในที่เกิดเหตุได้
ที่ชุมนุมเป็นที่โล่ง ไม่แออัด กฎหมายบังคับเฉพาะการชุมนุมที่แออัด ให้เจ้าของสถานที่จัดมาตรการป้องกันโรค
เกี่ยวกับสถานที่ชุมนุมนั้น ชุดสืบและนักวิชาการสาธารณสุข ตอบทนายจำเลยว่า ทั้ง 3 แห่ง เป็นที่โล่งกว้าง ตำรวจยังระบุว่า จุคนได้มากกว่า 1,000 คน แต่ผู้ร่วมชุมนุมมีประมาณ 120 คน ซึ่งถือว่าไม่แออัด ผู้ชุมนุมสามารถเดินเคลื่อนย้ายไปมาได้อย่างอิสระ
วัฒนารับกับทนายจำเลยด้วยว่า ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 15 ห้ามการชุมนุมเฉพาะในสถานที่แออัด แต่ที่เกิดเหตุเป็นสถานที่โล่งแจ้ง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อต่ำ แม้ผู้ร่วมชุมนุมจะไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยก็ไม่เสี่ยงแพร่เชื้อมาก และหากผู้ชุมนุมมีการใช้เจลแอลกอฮอล์หรือมีมาตรการป้องกันโควิด ก็เป็นไปได้ที่ฝ่ายสืบสวนจะไม่ถ่ายรูปดังกล่าวมา
นอกจากนีั ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการชุมนุม นอกจากนี้ในช่วงนั้น การแพร่ระบาดของโควิดจะอยู่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง ส่วนพื้นที่อื่นๆ ไม่มีผู้ติดเชื้อ
ด้าน ร.ต.อ.ประยุทธ ก็เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 3 บังคับเฉพาะกรณีการชุมนุมที่แออัดและเสี่ยงแพร่โรคที่ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกัน ส่วนประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 28 ก็ระบุให้เจ้าของสถานที่เป็นผู้จัดมาตรการ แต่ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่ได้เตรียมมาตรการป้องกันโควิด มีเพียงการประกาศแจ้งเตือนผู้ชุมนุม
.
ไม่มีการแจ้งประกาศขอนแก่นเป็นหนังสือ-ชั้นสอบสวนไม่ได้แจ้งว่าทำผิดกฎหมายฉบับใด
ทนายจำเลยยังได้ถามค้านตำรวจสืบสวนและพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับข้อกฎหมาย โดยทั้งหมดรับว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 3 ซึ่งห้ามการชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค เป็นการประกาศเกินไปจากที่ข้อกำหนดฯ ให้อำนาจไว้ อีกทั้งคําขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 1 ด้วย
ส่วนประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 28 ก็กำหนดมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิดเกินกว่าในข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 11 อีกทั้งในวันเกิดเหตุมีเพียงผู้กํากับ สภ.เมืองฯ แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบถึงประกาศจังหวัดขอนแก่นทางโทรโข่งเท่านั้น ไม่มีเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีหนังสือแจ้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ การแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้แจ้งให้จําเลยทราบว่า ได้กระทําความผิดตามกฎหมายฉบับใด
.
จำเลยยืนยัน ไม่ได้โพสต์นัดหมายชุมนุม และไม่ได้ร่วมกันจัดการชุมนุมตามฟ้อง
ด้านจำเลยทั้งแปดเบิกความว่า ไม่ได้เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กที่โพสต์นัดหมายชุมนุม แต่ทราบว่าจะมีการชุมนุมจากเพจดังกล่าว และตนเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของการชุมนุมที่เรียกร้องให้ปล่อย 4 นักกิจกรรม รวมทั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกหรือยุบสภา, แก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงเข้าร่วมชุมนุม
ส่วนบัญชีธนาคารที่เปิดรับบริจาคซึ่งมีชื่ออรรถพล, ศิวกร และพชร เป็นเจ้าของบัญชีด้วยนั้น ทั้งสามเบิกความว่า เคยมีการเปิดไว้ระดมเงินบริจาคในช่วงที่น้ำท่วมและมีการระบาดของโควิด โดยมีผู้ร่วมเปิดบัญชี 5 คน แต่อีก 2 คน ไม่ได้ถูกดําเนินคดีแม้ว่ามาร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุด้วย นอกจากนี้ ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่า ทั้งสามมีชื่อในบัญชีธนาคารที่เปิดรับบริจาคด้วย
นอกจากไม่ได้เป็นผู้โพสต์นัดหมายชุมนุมแล้ว จำเลยทั้งแปดยังยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม โดยแต่ละคนต่างเดินทางไปเพียงลำพัง และถึงที่ชุมนุมในเวลาแตกต่างกัน อรรถพลเดินทางไปถึงศาลหลักเมืองเวลาประมาณ 09.00 น. และอยู่จนถึงประมาณ 11.00 น. ก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ด้วยเครื่องบินเพื่อไปร่วม “อภิปรายซักฟอกนอกสภา” ที่หน้ารัฐสภา ในเวลา 15.00 น. เจตน์สฤษฎ์และอิศเรษฐ์ต่างไปถึงที่ชุมนุมก่อนหน้าอรรถพล ส่วนศิวกรไปถึงประมาณ 11.00 น.
ด้านวชิรวิทย์และนิติกรเข้าร่วมชุมนุมที่ศาลหลักเมืองในช่วงบ่าย เช่นเดียวกับธนศักดิ์ที่เดินทางมาจาก จ.กาฬสินธุ์ ขณะพชรมาจาก จ.อุดรฯ ถึงที่ชุมนุมบริเวณสวนเรืองแสงในช่วงเย็น
นอกจากนี้ แต่ละคนยังเบิกความว่า เมื่อไปถึงศาลหลักเมืองและสวนเรืองแสงก็พบว่า มีเต็นท์และเครื่องเสียงจัดเตรียมไว้แล้ว ตนไม่ได้มีส่วนในการจัดเตรียม หลังจากนั้น บางคนก็ร่วมพูดแสดงความเห็นในช่วงที่มีการเปิดให้ผู้ชุมนุมแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของการชุมนุม แต่ก็เป็นเพียงการแสดงความเห็นหรือปราศรัยเท่านั้น ไม่ได้มีบทบาทอย่างอื่นในการเป็นผู้จัดชุมนุม รวมถึงมีผู้ปราศรัยหลายคน ซึ่งก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีทุกคน
อรรถพลระบุว่า หลังจากตนไปอภิปรายนอกสภาที่กรุงเทพฯ แล้วได้นั่งเครื่องบินกลับมาถึงขอนแก่นประมาณ 20.00 น. และทราบข่าวว่า การชุมนุมย้ายมาที่สวนเรืองแสงจึงไปเข้าร่วม และได้รับโอกาสให้ขึ้นปราศรัย จากนั้นเมื่อมีการเคลื่อนขบวนไปที่ สภ.เมืองฯ ตนก็เพียงเดินตามคนอื่นไป จนเมื่อมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างตํารวจกับผู้ชุมนุม ผู้กํากับ สภ.เมืองฯ ซึ่งรู้จักกับตน ได้เข้ามาขอให้ไปพูดกับผู้ชุมนุม เนื่องจากเชื่อถือว่าตนอาจจะพูดให้ผู้ชุมนุมใจเย็นลงได้
ด้านวชิรวิทย์เบิกความว่า เมื่อตนไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รอง ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ได้เดินมาทักทายในฐานะคนรู้จัก ไม่ใช่เจรจาเกี่ยวกับการชุมนุม ส่วนผู้กำกับ สภ.เมืองฯ ได้ขอให้ตนไปบอกให้ผู้ชุมนุมถอดผ้าพันคอสีเขียวเหลืองคล้ายผ้าพันคอของจิตอาสาออก แต่ตนปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม อีกทั้งผ้าพันคอดังกล่าวไม่ได้ผิดกฎหมาย ขณะเคลื่อนขบวนไปที่สวนเรืองแสง ตนก็เดินอยู่ด้านหน้า ไม่ได้อยู่ใกล้เครื่องเสียงที่จะสั่งการขบวนได้ จากนั้นตนได้เดินทางไปกินเลี้ยงวันเกิดกับครอบครัวช่วง 17.00-19.00 น. ซึ่งหากเป็นผู้จัดการชุมนุม ตนก็ต้องอยู่ในที่ชุมนุมตลอดเวลา
ศิวกรเบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสวนเรืองแสงมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจคู่ขนานกับการอภิปรายในสภา โดยใครอยากพูดแสดงความเห็นผ่านไมค์ที่ตั้งไว้ก็ได้ มีผู้ชุมนุมขึ้นพูดหลายคน หลายช่วงอายุ นอกจากการร่วมพูดแสดงความเห็น ตนก็เพียงแต่ร่วมชุมนุมและเคลื่อนขบวนไปพร้อมคนอื่น ไม่ได้มีอำนาจสั่งการใคร ผู้ชุมนุมต่างก็มาร่วมชุมนุมด้วยความสมัครใจ โดยทราบถึงข้อเรียกร้องในการชุมนุมมาก่อนแล้ว
เช่นเดียวกับพชร นักกิจกรรมจากอุดรฯ ซึ่งเบิกความว่า หลังจากเดินทางถึงสวนเรืองแสง ตนได้ขึ้นปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล เนื่องจากเวทีเปิดให้ผู้ร่วมชุมนุมจับไมค์พูดได้ จากนั้นตนได้ยินผู้ชุมนุมพูดคุยกันว่า จะเคลื่อนขบวนไปที่หน้า สภ.เมืองฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง ตนจึงร่วมเดินไปด้วย แต่ที่หน้า สภ.เมืองฯ ตนรู้สึกปวดขาจึงนั่งอยู่ที่รถเครื่องเสียงโดยไม่ได้ปราศรัย
สำหรับธนศักดิ์เบิกความว่า ตนเดินทางไปชุมนุมเพียงคนเดียว และได้ร่วมแสดงความเห็นวิจารณ์รัฐบาล ก่อนจะเห็นว่าผู้ชุมนุมซึ่งมีทั้งผู้สูงอายุและนักเรียน ไม่มีคนให้ความช่วยเหลือในการข้ามถนน จึงได้ประกาศรับอาสาสมัครมาทําหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นเพียงการร่วมมือกันดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่ใช่การทําในฐานะแกนนําการชุมนุม
ด้านนิติกรระบุว่า เมื่อตนเดินทางด้วยรถส่วนตัวไปถึงที่ชุมนุมในช่วงบ่าย ได้มีทีมผู้จัดการชุมนุมมาให้ตนช่วยถือกล้องไลฟ์สด ด้วยความที่ตนเป็นสื่ออิสระจึงได้ช่วยไลฟ์สดในลักษณะเป็นอาสาสมัคร โดยมีสำนักข่าวอีก 3-4 แห่ง และสื่ออิสระทำการไลฟ์สดการชุมนุมด้วยเช่นกัน ทีมผู้จัดชุมนุมยังได้ขอใช้รถยนต์ของตนบรรทุกเครื่องเสียง ตนก็ให้ยืมแต่ไม่ได้ขับเอง โดยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งเหตุการดำเนินคดีในเรื่องที่ตนเป็นเจ้าของรถที่บรรทุกเครื่องเสียงด้วย
เจตน์สฤษฎ์เบิกความว่า ตนเข้าร่วมเป็นผู้ชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้ปราศรัย ระหว่างชุมนุมมีการประกาศรับอาสาสมัครอำนวยความสะดวกด้านจราจรให้ผู้ชุมนุม ตนเคยเรียน รด. และทำหน้าที่โบกรถหน้าโรงเรียนเป็นประจำ จึงได้อาสาและทำหน้าที่ขณะผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวน สมัยเรียนตนก็ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านจราจรให้ขบวนพาเหรด ซึ่งตนเห็นว่าไม่ต่างกัน ที่โจทก์กล่าวหาว่าตนเป็นหัวหน้าการ์ด ที่จริงเป็นลักษณะที่ต่างคนต่างอาสาให้ความร่วมมือในการชุมนุมเท่านั้น
สุดท้ายอิศเรษฐ์เล่าถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า ตนเพียงแต่ฟังคนอื่นปราศรัยเท่านั้น และเนื่องจากเคยอบรมลูกเสือจราจรมาก่อน จึงร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ชุมนุม ทั้งดูแลความปลอดภัยและคอยโบกรถไม่ให้ผู้ชุมนุมได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุ
.
ที่ชุมนุมโล่งกว้าง ผู้ชุมนุมไม่แออัด มีสาธารณสุขมาคัดกรอง ทั้งไม่มีผู้ติดเชื้อ
เกี่ยวกับสถานที่และลักษณะการชุมนุมนั้น นักกิจกรรมทั้งแปดเบิกความว่า ที่ชุมนุมทั้งสามแห่งเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้ชุมนุมมีจํานวนไม่มากและนั่งกระจัดกระจาย ทั้งยังเดินเข้าเดินออกตลอดเวลา ทําให้การชุมนุมไม่แออัด
ส่วนมาตรการป้องกันโควิดนั้น วชิรวิทย์, ศิวกร และพชร เบิกความว่า ที่สวนเรืองแสง มีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดมาตรวจวัดอุณหภูมิ ส่วนเทศบาลนครขอนแก่นก็นำรถสุขามาบริการ 2 คัน ศิวกรยังกล่าวว่า ในความเข้าใจของตน เจ้าของสถานที่หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ที่มีหน้าที่จัดเตรียมมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นก็ได้จัดเจ้าหน้าที่มาตั้งจุดคัดกรองแล้ว
นอกจากนี้ เกือบทุกคนยืนยันว่า ขณะร่วมชุมนุมได้สวมหน้ากากอนามัย พกแจลแอลกอฮอล์ และไม่ได้อยู่ใกล้คนอื่น ธนศักดิ์กล่าวว่า ตนทํางานเกี่ยวกับสถานพยาบาล มีการตรวจเช็คสุขภาพทุกวัน ด้านอรรถพลยังระบุว่า ในวันนั้นตนผ่านการตรวจคัดกรองที่สนามบินขอนแก่นและสุวรรณภูมิแล้ว และที่ตนมั่นใจเข้าร่วมการชุมนุมเนื่องจากขณะนั้นจังหวัดขอนแก่นไม่มีโควิดระบาด หลายคนเบิกความยืนยันอีกว่า หลังร่วมชุมนุมไม่ได้ติดโควิด ทั้งไม่ทราบข่าวว่า มีผู้ชุมนุมคนอื่นติดโควิด
ใช้สิทธิแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมสงบ ปราศจากอาวุธ ตำรวจปิดกั้นจราจรเอง
จำเลยทั้งหมดยืนยันด้วยว่า ในวันเกิดเหตุไม่มีผู้ชุมนุมพกพาอาวุธหรือใช้ความรุนแรง จึงเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งชั้นสอบสวนพวกตนได้ยื่นคําให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ยืนยันในเรื่องดังกล่าวไปแล้ว
ส่วนที่โจทก์กล่าวหาว่า การชุมนุมทำให้การจราจรไม่สะดวกนั้น วชิรวิทย์, เจตน์สฤษฎ์ และอิศเรษฐ์ เบิกความว่า ผู้ชุมนุมเดินบนฟุตบาทฝั่งซ้ายและถนนเลนซ้ายสุดเพียงครึ่งเลน รถยนต์ยังสามารถแล่นไปมาได้ตามปกติในช่องจราจรที่เหลือ แต่มีตำรวจตั้งแถวกั้นผู้ชุมนุม และปิดการจราจรทั้งหมด
.