วันที่ 12 ก.ย. 2565 เวลา 10.00 น. ศาลแขวงดอนเมืองนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 7 นักกิจกรรม กรณีชุมนุมให้กำลังใจ “ไมค์-อานนท์” หน้าสถานีตำรวจนครบาลบางเขน เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563
จำเลยในคดีนี้ ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ (จำเลยที่ 1), “บอย” ชาติชาย แกดำ (จำเลยที่ 2), “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (จำเลยที่ 3), “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ (จำเลยที่ 4), “ลูกตาล” สุวรรณา ตาลเหล็ก (จำเลยที่ 5), “มายมิ้น” ศุกรียา วรรณานุวัฒน์ (จำเลยที่ 6) และ “สมาร์ท” ภัทรพงศ์ น้อยผาง (จำเลยที่ 7)
เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการจับกุมตัวอานนท์ นำภา และ ภาณุพงษ์ จาดนอก ในคดีจากการชุมนุมเยาวชนปลดแอก โดยทั้งสองคนถูกนำตัวมาที่ สน.บางเขน จึงมีการนัดหมายรวมตัวอย่างฉับพลัน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งสองคนที่หน้าสถานีตำรวจ
ต่อมามีมวลชนประมาณ 150-200 คน เข้าร่วมการชุมนุม และเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 7 คนในคดีนี้ได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยแสดงจุดยืนทางการเมือง แสดงความไม่พอใจในกระบวนการยุติธรรม จนถึงวันที่ 8 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 00.30 น. จึงยุติการชุมนุม
ทั้งหมดถูกฟ้องร้องในข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 และมาตรา 14, เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8 (1), กีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงาน (ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ) ตาม ป.อ. มาตรา 368
ย้อนอ่านรายละเอียดการฟ้อง >>> ฟ้อง 6 นศ. – นักกิจกรรม ชุมนุมให้กำลังใจ “ไมค์ – อานนท์” หน้าสน.บางเขน ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
.
ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1, 2, 3 และ 6 เป็นผู้จัดการชุมนุม ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับคนละ 11,300 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 4, 5 และ 7 ปรับคนละ 3,000 บาท
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 5 เวลา 10.31 น. ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาคดีนี้ โดยสรุปเห็นว่าจำเลยทั้ง 7 เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมได้ จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะ ตามคำนิยามของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 4 ดังนั้นการชุมนุมนี้ จึงต้องอยู่ใต้บังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากนั้นศาลได้พิจารณาแยกข้อกล่าวหาออกมาได้ 5 ประเด็น ดังนี้
1. ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ
ศาลชี้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 โพสต์เชิญชวนผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์, จำเลยที่ 2 โพสต์เชิญชวนผ่านเฟซบุ๊ก, จำเลยที่ 3 กดแชร์ให้เห็นข้อความเชิญชวนของคณะประชาชนปลดแอก และจำเลยที่ 6 กดแชร์ให้เห็นข้อความเชิญชวนของคณะประชาชนปลดแอก อีกทั้งยังมาร่วมในที่ชุมนุมและพูดปราศรัย จึงเข้าข่ายเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ เมื่อไม่มีการแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 14 จึงมีความผิดในฐานนี้
ส่วนจำเลยที่ 4, 5 และ 7 เพียงแต่เป็นผู้ร่วมปราศรัยเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการชุมนุมสาธารณะ พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักพอจะฟังได้ชัดว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีความผิดฐานในฐานนี้
.
2. ข้อหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง
ศาลฟังว่าจำเลยทั้ง 7 ผลัดกันใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้มีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อน ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ดังนั้นจึงเป็นผู้ใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าทั้งหมดไม่ใช่ผู้จัดหาเครื่องขยายเสียงมานั้น ไม่มีเหตุผลให้รับฟังได้
ดังนั้นจำเลยที่ 1, 2, 3 และ 6 จึงมีความผิด ส่วนจำเลยที่ 4, 5 และ 7 ไม่มีความผิดในฐานนี้
.
3. ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8 (1) การชุมนุมกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
ศาลวินิจฉัยว่า กลุ่มผู้ชุมนุมปิดทางขาเข้าของ สน.บางเขน แต่มิได้ปิดทางขาออก มีจำนวนผู้มาร่วมชุมนุม สูงสุด 100 คน แม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะมิได้ปิดล้อมหรือขัดขวางไม่ให้เข้า สน.บางเขน แต่รบกวนการเข้าใช้ ทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงไม่เข้าใช้สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้สถานที่ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8 (1) ดังนั้นจำเลยที่ 1, 2, 3 และ 6 ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม จึงมีความผิดตามข้อหานี้ ส่วนจำเลยที่ 4, 5 และ 7 ไม่มีความผิดฐานนี้
.
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก
ศาลเห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทำให้ช่องทางเดินรถจากสองเลนเหลือเพียงเลนเดียว และเมื่อเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเตรียมตัวและบอกประชาชนได้ แม้มิได้มีวัตถุประสงค์กีดขวางการจราจร แต่ก็ส่งผลโดยตรงทำให้เกิดการกีดขวางเส้นทางที่ประชาชนทั่วไปใช้ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำด้วยการใดทำให้กีดขวางการจราจร ดังนั้นจำเลยที่ 1, 2, 3 และ 6 จึงมีความผิดตามข้อหานี้ ส่วนจำเลยที่ 4, 5 และ 7 ไม่มีความผิดฐานนี้
.
5. ข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน จากการปฏิเสธไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ
ศาลเห็นว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจในการรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่จะสามารถทำได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 131 รวมทั้งการพิมพ์ลายนิ้วมือตาม ป.วิ.อ. มาตรา 132 (1) โดยพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือในคดีอาญาทุกประเภท ยกเว้นคดีลหุโทษ (คดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) คดีที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าลหุโทษ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก รวมทั้งความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่ได้เปรียบเทียบปรับแล้ว
คดีนี้ไม่มีการเปรียบเทียบปรับ และข้อหาของจำเลยมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน (จากข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุม มาตรา 8 (1) กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ) จึงไม่ใช่คดีลหุโทษ
เมื่อการรวบรวมพยานหลักฐานเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และคำสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือก็เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการกระทำที่จำเลยทั้ง 7 ปฏิเสธไม่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 368 วรรค 1
.
ศาลลงโทษจำเลยที่ 1, 2, 3 และ 6 ในฐานะเป็นผู้จัดการชุมนุมที่ไม่แจ้งการชุมนุม ปรับคนละ 6,000 บาท, กีดขวางสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ จำคุก 3 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท, กีดขวางการจราจร ปรับ 300 บาท, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 150 บาท และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ปรับคนละ 4,500 บาท เนื่องจากทั้งสี่ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงเหลือโทษปรับรวมคนละ 11,300 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี
ส่วนจำเลยที่ 4, 5 และ 7 ลงโทษปรับ 4,500 บาท เฉพาะฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือโทษปรับคนละ 3,000 บาท
รวมทั้งหมดต้องจ่ายค่าปรับ 54,200 บาท โดยเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
.
คำพิพากษานี้ มีประเด็นที่น่าพิจารณาอย่างมาก ทั้งในเรื่องการตีความว่าบุคคลใดจะถือเป็นผู้จัดการชุมนุม ตามนิยามใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 4 โดยเฉพาะในกรณีของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 6 ที่เพียงแค่กดแชร์ข้อความของบุคคลอื่น และในเรื่องการตีความว่าพฤติการณ์แบบใด จึงจะเป็นการกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8 (1) เนื่องจากในข้อเท็จจริงแม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะชุมนุมบริเวณหน้า สน.บางเขน และลงไปบนพื้นที่ถนนประมาณหนึ่งเลน แต่ สน.บางเขน นี้มีทางเข้าออกทางอื่นอีก และกลุ่มผู้ชุมนุมก็มิได้ขัดขวางไม่ให้ยานพาหนะเข้าออก พื้นที่ถนนอีกหนึ่งเลนก็กว้างพอที่จะให้รถยนต์วิ่งสวนกันถึงสองคัน และการที่ประชาชนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงไม่เข้าใช้งาน สน.บางเขน ก็มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถเข้าใช้งานได้แต่อย่างใด
.