ฟ้อง 6 น.ศ.- นักกิจกรรม ชุมนุมให้กำลังใจ “ไมค์-อานนท์” หน้า สน.บางเขน ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

 

5 ก.พ. 2564 พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 9 (แขวงดอนเมือง) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 6 นักศึกษาและนักกิจกรรม ต่อศาลแขวงดอนเมือง จากกรณีชุมนุมหน้า สน.บางเขน คืนวันที่ 7 ส.ค. 2563 เพื่อให้กำลังใจ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และอานนท์ นำภา ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับในคดีการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก”

 

นักกิจกรรมและนักศึกษาทั้งหก ได้แก่ ชาติชาย แกดำ นักกิจกรรม, สุวรรณา ตาลเหล็ก นักกิจกรรม, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักศึกษานักศึกษามหาวิทยาลัยมหานคร, สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ศุกรียา วรรณานุวัฒน์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภัทรพงศ์ น้อยผาง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกอัยการฟ้องเป็นจำเลย กล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดฐาน เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม, เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐ, กีดขวางการจราจร, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงาน โดยบรรยายฟ้องแยกเป็น 5 กรรม ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 จําเลยทั้งหกกับพวก รวมทั้งพริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้ร่วมกันโพสต์เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ โดยพริษฐ์ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ “เพนกวิน -พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chivarak” ข้อความว่า “ตอนนี้ทนายอานนท์ถูกนําตัวไปที่ สน. บางเขน ขอให้พี่น้องไปรวมตัวที่หน้า สน.บางเขน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่ถอยไม่ยอม” และทวิตเตอร์ชื่อ “เพนกวิน – Parit Chiwarak” ข้อความว่า “ออกไปม็อบที่ สน. บางเขนกันครับ เดี๋ยวนี้ ตอนนี้ ไม่ต้องมีอะไรกั้น save ทนายอานนท์” รวมทั้งมีผู้โพสต์ผ่านเพจชื่อ “สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย – Student Union of Thailand” “มอกะเสด – Kased Movement” และ “คณะประชาชนปลดแอก – Free People” ด้วยข้อความเชิญชวนให้มาพบกันหน้า สน.บางเขน ซึ่งยังไม่ทราบว่าผู้โพสต์เป็นผู้ใด

ต่อมาเวลาประมาณ 17.30 น. ของวันดังกล่าว จําเลยทั้งหกกับพวก พร้อมมวลชนประมาณ 150-200 คน ได้สอบถามความคืบหน้าของการประกันตัวอานนท์ในชั้นศาล และรอฟังผลการยื่นประกันตัวอยู่ที่บริเวณลานด้านหน้า สน.บางเขน จนถึงวันที่ 8 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 00.30 น. จําเลยทั้งหกกับพวกจึงร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยเชิญชวนและนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุม จําเลยทั้งหกกับพวกยังได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยแสดงจุดยืนทางการเมือง แสดงความไม่พอใจในกระบวนการยุติธรรม กรณีที่อานนท์และไมค์ถูกเจ้าหน้าที่ตํารวจจับกุม และแสดงความไม่พอใจการทํางานของรัฐบาล อันเป็นการจัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจําเลยทั้งหกกับพวกไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวต่อหัวหน้าสถานีตํารวจนครบาลบางเขน ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

2. ภายหลังจากการเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว จําเลยทั้งหกกับพวกได้เดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่บริเวณด้านหน้า สน.บางเขน อันเป็นสถานที่ทําการหน่วยงานของรัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมฟังการปราศรัยของจำเลยทั้งหกกับพวกเป็นจำนวนมาก กีดขวางเข้าออก สน.บางเขน ทําให้ประชาชนที่จะมาแจ้งความได้รับความเดือดร้อน อันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

3. ระหว่างการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว ซึ่งจําเลยทั้งหกกับพวกได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารประเทศของรัฐบาล ได้มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมชุมนุมฟังการปราศรัย ร้องเพลง และตะโกนให้ปล่อยตัวอานนท์ ทําให้การจราจรด้านหน้า สน.บางเขน ติดขัดเป็นอย่างมาก อันเป็นการกีดขวางการจราจรของประชาชนโดยทั่วไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร

4. ระหว่างการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว จําเลยทั้งหกกับพวกได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงในการปราศรัย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

5. เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ภายหลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี พนักงานสอบสวน ได้จัดให้จําเลยทั้งหกพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อนําไปเป็นหลักฐานประกอบในสํานวนการสอบสวน ซึ่งจําเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว โดยไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร

ทั้งนี้ อัยการถือว่าการกระทําดังกล่าวของจําเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 8(1), 10, 14, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

หลังศาลแขวงดอนเมืองรับฟ้อง นักกิจกรรมทั้ง 6 คน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยให้ทำสัญญาประกันและสาบานตน และนัดพร้อมจำเลยทั้งหกเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 5 เม.ย. 2564

 

คดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.บางเขน ได้แจ้งข้อกล่าวหานักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 7 คน นอกจาก 6 คนที่ถูกยื่นฟ้องในวันนี้แล้ว อีก 1 คน คือ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยครั้งแรกพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางการจราจร ทั้ง 7 คน ให้การปฏิเสธ และไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากคดีมีเพียงอัตราโทษปรับเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ทำให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงาน เพิ่มอีก 1 ข้อหา

>> 7 นักกิจกรรมรับทราบ 3 ข้อหาคดีชุมนุมหน้าสน.บางเขน แถมข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเหตุไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ

ต่อมา เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการ และผู้ต้องหา 6 คน ยกเว้นพริษฐ์ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เดินทางเข้าฟังคำสั่งอัยการว่าจะฟ้องหรือไม่ในวันที่ 30 ต.ค. 2563   พนักงานสอบสวนกลับแจ้งว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม แต่ผู้ต้องหาไม่ยินยอมเนื่องจากไม่มีทนายความที่ไว้ใจเข้าร่วม

พนักงานสอบสวนจึงนัดหมายแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในเวลาต่อมา โดยแจ้งเพิ่มอีก 2 ข้อหา คือ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และกีดขวางทางเข้าออก รบกวนการใช้บริการของ สน.บางเขน ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา ก่อนอัยการยื่นฟ้องในวันนี้

>> แจ้งเพิ่มอีก 2 ข้อหา 6 น.ศ.-นักกิจกรรม กรณีชุมนุมให้กำลังใจไมค์-อานนท์หน้าสน.บางเขน

ในส่วนของพริษฐ์ พนักงานสอบสวนได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม 2 ข้อหาเช่นเดียวกันนี้ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่เขาถูกฝากขังอยู่ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จากนั้น อัยการศาลแขวงดอนเมืองได้ยื่นฟ้องพริษฐ์ต่อศาลแขวงดอนเมืองในวันที่ 30 ต.ค. 2563 โดยไม่ได้นำตัวพริษฐ์ไปส่งศาลด้วย เนื่องจากยังถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำ

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 ศาลได้นัดสอบคำให้การ พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ระบุในคำให้การเป็นเอกสารว่า การกระทำตามข้อกล่าวหาเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการแสดงออก ตามที่พันธกรณีระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญให้การรับรอง จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย คําสั่งของพนักงานสอบสวนที่สั่งให้จําเลยพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติการต้องโทษทางอาญาเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการดําเนินคดีจําเลยเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวและยับยั้งการใช้สิทธิในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

พริษฐ์ยังได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีลับหลังเนื่องจากจำเลยยังเป็นนักศึกษา และคดีมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี รวมทั้งได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวโดยไม่มีหลักประกัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย และให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้ทำสัญญาประกันไว้ หากผิดสัญญาประกันให้ปรับเป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมทั้งนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 5 เม.ย. 2564

ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาในคดีนี้มีอัตราโทษดังนี้ ไม่แจ้งการชุมนุม ปรับไม่เกิน 10,000 บาท, ชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, กีดขวางการจราจร ปรับไม่เกิน 500 บาท, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 200 บาท และข้อหาไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงาน จำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

การชุมนุมหน้า สน.บางเขน ในวันที่ 7 ส.ค. 2563 เกิดจากการนัดหมายรวมตัวกันอย่างฉับพลัน หลังมีข่าวว่า อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ นักกิจกรรม ถูกจับกุมตัวตามหมายจับ ทั้งนี้ เพื่อให้กำลังใจและเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งสอง การที่ผู้ชุมนุมทั้งเจ็ดถูกดำเนินคดีและยื่นฟ้องต่อศาลในข้อหา “ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเวลาชุมนุมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง” สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเช่นนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่า ผู้จัดชุมนุมจะสามารถแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมงได้

 

อ่านเพิ่มเติมเหตุการณ์การจับกุมอานนท์-ไมค์ จนนำสู่การชุมนุมหน้า สน.บางเขน เหตุแห่งคดีนี้

>> 27 ชั่วโมงของการคุมตัว “อานนท์-ภาณุพงศ์” คดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก ก่อนได้ประกัน

>> ไทม์ไลน์ 24 ชม. รวบ ‘อานนท์-ภาณุพงศ์’

 

X