7 นักกิจกรรมรับทราบ 3 ข้อหาคดีชุมนุมหน้าสน.บางเขน แถมข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเหตุไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ

30 ก.ย. 63 เวลา 13.00 น. ที่สน.บางเขน นักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 7 คน ซึ่งได้รับหมายเรียกจากสน.บางเขน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีการรวมตัวกันหน้าสน.บางเขน เมื่อช่วงคืนวันที่ 7 ส.ค. 63 โดยผู้ได้รับหมายเรียกจากคดีนี้ ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ต้องหาที่ 1, ชาติชาย แกดำ ผู้ต้องหาที่ 2, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ผู้ต้องหาที่ 3, สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ผู้ต้องหาที่ 4, สุวรรณา ตาลเหล็ก ผู้ต้องหาที่ 5, ศุกรียา วรรณานุวัฒน์ ผู้ต้องหาที่ 6 และภัทรพงศ์ น้อยผาง ผู้ต้องหาที่ 7 

 

มูลเหตุของคดีนี้คือเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเข้าจับกุมอานนท์ นำภา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ตามหมายจับในคดีการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 ทำให้มีกลุ่มประชาชนเดินทางมารวมตัวกันชุมนุมอยู่ในสน.บางเขน และมีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งสองคน ก่อนที่พ.ต.ท.อนันต์ วรสาตร์ รอง ผกก.สส.สน.บางเขน จะแจ้งความกล่าวหาผู้ชุมนุมและร่วมปราศรัยจำนวน 7 คน และพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกโดยระบุพฤติการณ์ว่าผู้รับหมายเรียกได้ “ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต”​

เวลา 12.30 น. ผู้ได้รับหมายเรียกบางส่วนมาถึงหน้าสน. และแถลงข่าวกับสื่อมวลชน โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจ  ขณะเดียวกันมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 3 นาย คอยถ่ายรูปและวีดีโอทั้งผู้ที่ได้รับหมายเรียกและประชาชนในละแวกนั้นด้วย

ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถ่ายรูปและวิดีโอที่สน.บางเขน

13.00 น. ผู้ได้รับหมายเรียกทั้ง 7 ราย มาถึงหน้าสน.บางเขน ก่อนเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา พริษฐ์แถลงข่าวชี้ว่าคดีนี้เป็นตัวอย่างของการใช้กฎหมายเพี่อกลั่นแกล้งทางการเมือง และได้แสดงออกโดยการเผาหมายเรียกเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม พร้อมชูสามนิ้วพร้อมประกาศว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”

 

ในห้องสอบสวน ก่อนแจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี พนักงานสอบสวน บรรยายพฤติการณ์คดีของผู้ต้องหาว่า

“เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับของศาลอาญาที่ 1176/2563 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ของสน.สำราญราษฎร์ ทำการจับกุมตัว นายอานนท์ นำภา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยได้มีการนำตัวมาสอบปากคำที่สน.บางเขน จนถึงเวลาประมาณ 17.30 น. พนักงานสอบสวนจึงได้นำตัว นายอานนท์ฯ ไปฝากขังที่ศาลอาญา ครั้งที่ 1 ในขณะเดียวกันนายพริษฐ์​ ชิวารักษ์ พร้อมด้วยมวลชนประมาณ​ 150-200 คน ได้พากันเดินทางมาที่บริเวณลานจอดรถด้านหน้าสน.บางเขน

“จากนั้นได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง ชนิดที่เคลื่อนย้ายได้ ทำการปราศรัยที่บริเวณอาคารเอนกประสงค์ด้านหน้า สน.บางเขน จนทำให้กีดขวางทางเข้าออก ด้านหน้าสน.บางเขน ทำให้ประชาชนที่จะมาแจ้งความหรือติดต่อราชการไม่ได้รับความสะดวก 

“กรณีนี้ผู้ต้องหาได้ร่วมกันมาชุนนุมที่บริเวณด้านหน้าสน.บางเขน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการที่จะมาชุมนุมได้นั้น ต้องมีการขออนุญาตจากผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางเขนเสียก่อนเพื่อจะได้กำหนดระยะเวลาการชุมนุม พื้นที่การชุมนุม และจำนวนผู้ชุมนุม แต่ปรากฎว่าผู้ต้องหากับพวกไม่ได้ขออนุญาตเพื่อจัดการชุมนุมแต่อย่างใด และมีการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางทางเข้าออก ด้านหน้าสน.บางเขน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดทางกฎหมาย”​

ภาพการชุมนุมที่สน.บางเขน เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63 จากประชาไท

จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 3 ข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ได้แก่ 

  1. ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  2. ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
  3. ร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร

ทนายความของผู้ต้องหาได้ทักท้วงว่าข้อกล่าวหาในพฤติการณ์ ซึ่งระบุว่าผู้ได้รับหมายเรียกนั้นไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10  ไม่ตรงกับข้อหาที่แจ้งในข้อกล่าวหา คือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 14 ซึ่งระบุว่า “ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” 

พนักงานสอบสวนจึงชี้แจงว่า เนื่องจากพนักงานสอบสวนนั้นไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุม ทำให้ไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 14 แต่จะนำไปโยงกับมาตรา 10 และให้ลงโทษตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 28 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 มาตรา 12 มาตรา 17 หรือมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” 

ต่อมาขณะผู้ต้องหารอลงบันทึกประจำวัน พนักงานสอบสวนแจ้งว่าทั้งหมดต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ เดิมนั้น พนักงานสอบสวนได้ชี้แจงตอนต้นว่าไม่จำเป็นต้องพิมพ์ลายนิ้วมือเนื่องจากเป็นคดีลหุโทษ มีเพียงแค่โทษปรับ

พนักงานสอบสวนได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากอัยการแขวง 9 (ดอนเมือง) กำชับมาว่าผู้ต้องหาต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ อ้างอิงจากระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อ 1.1.1 ของ บทที่ 1 การปฏิบัติเกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือฯ โดยอัยการอ้างว่าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือนั้นต้องเป็นลหุโทษที่เปรียบเทียบปรับแล้ว ซึ่งคดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้เปรียบเทียบปรับในชั้นสอบสวน ถ้าหากฝ่าฝืนจะถือว่าเป็นการคำขัดสั่งเจ้าพนักงาน

14.20 น.  ผู้ต้องหาทั้งหมดตัดสินใจไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา “ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 และสอบคำให้การผู้ต้องหาเพิ่มเติม

หลังจากแจ้งข้อกล่าวหา  ทางฝั่งผู้ต้องหาได้ชี้แจงในคำให้การถึงเหตุผลของการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ดังนี้ 

  1. การพิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นนี้จะถูกบันทึกตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน ว่าผู้ต้องหาเคยถูกดำเนินคดีอาญามาก่อนในสารบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นภาระและผลร้ายกับผู้ต้องหาเกินสมควรซึ่งควรจะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
  2. คดีนี้เป็นคดีที่มีเพียงอัตราโทษปรับเท่านั้น ไม่มีโทษจำคุก จึงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรมหรือประวัติการต้องโทษ เพื่อนำไปบวกโทษหรือนับโทษต่อตามกฎหมาย
  3. ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการพิมพ์ลายนิ้มือ ก็ได้ระบุข้อยกเว้นในคดีความผิดลหุโทษ หรือคดีที่มีโทษไม่สูงกว่าลหุโทษ หรือความผิดตามกฎหมายจราจรทางบก
  4. หากพนักงานสอบสวนต้องการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิด หรือประวัติการต้องโทษ ก็สามารถตรวจสอบได้จากหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยตรวจสอบจากฐานข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  5. ผู้ต้องหาขอยืนยันเจตนาที่บริสุทธิ์โดยจะขอไปขอตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ แล้วนำมายื่นให้กับพนักงานสอบสวน
  6. คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการกล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้ชุมนุมสาธารณะ พนักงานสอบสวนแจ้งเพียงว่า มีความจำเป็นต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อตรวจสอบประวัติการต้องโทษ ไม่ใช่กรณีที่พนักงานสอบสวนได้สั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือไปตรวจสอบว่า ใช่ผู้ต้องหาที่กระทำความผิดหรือไม่ หรือนำไปตรวจเปรียบเทียบกับของกลางในคดีว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหารหรือไม่ คำสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือจึงไม่ใช่คำสั่งที่กระทำไปหรือได้สั่งให้พิมพ์ เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 ประกอบมาตรา 132 (1)

15.30 น. กระบวนการเสร็จสิ้น โดยพนักงานสอบสวนนัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่สำนักอัยการแขวง 9 

ขณะสอบสวนนั้น “หนุ่ย” อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ นักกิจกรรมซึ่งเข้าร่วมฟังการสอบสวนในฐานะผู้ไว้วางใจ ได้ถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ เพิ่มเติมอีกด้วย เนื่องจากก่อนการเข้ามาในสถานีตำรวจ เขานำสติกเกอร์ภาพหมุดคณะราษฎร 2 ไปติดที่ป้ายหน้าสน.บางเขน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1,000 บาท 

ภาพจากเฟซบุ๊ก “หนุ่ย อภิสิทธิ์”

นอกจากนี้ หลังเสร็จสิ้นการรับทราบข้อหา พริษฐ์ยังได้นำสติกเกอร์หมุดคณะราษฎร 2 ไปติดที่ประตูสน.บางเขนอีกเช่นกัน โดยติดทับบนตราสัญลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้พริษฐ์ถูกตำรวจเรียกตัวไปเสียค่าปรับตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นเงิน 1,000 บาท เช่นเดียวกับอภิสิทธิ์ 

สรุป ในวันนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 7 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 4 ข้อหา จากเดิมที่มีทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหา จากการชุมนุมหน้าสน.บางเขน โดยเพิ่มข้อหาฝ่าฝืนขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน จากการปฏิเสธพิมพ์ลายนิ้วมือ 

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นที่น่าจับตาว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากการกิจกรรมที่สน.บางเขนนั้นเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที ภายหลังไมค์-อานนท์ถูกจับ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงได้ ลักษณะการชุมนุมแบบที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันเช่นนี้ อาจชี้ถึงข้อจำกัดของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ของไทย และการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดขึ้น อันส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมหรือรวมตัวของประชาชนในที่สุด

X