วันนี้ (12 พ.ย. 63) เวลา 10.00 น. ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน 6 นักศึกษาและนักกิจกรรมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากการชุมนุมหน้าสน.บางเขน เพื่อให้กำลัง “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และอานนท์ นำภา ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับคดีการชุมนุมเยาวชนปลดแอกในคืนวันที่ 7 ส.ค. 63 โดยในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและส่งสำนวนสอบสวนให้กับอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 9 (ดอนเมือง) แล้ว ในวันที่ 30 ก.ย. และ 22 ต.ค. 63 ตามลำดับ แต่ได้มีการส่งสำนวนกลับมาให้พนักงานสอบสวนใหม่
ผู้ต้องหาในคดีนี้ ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ต้องหาที่ 1, ชาติชาย แกดำ ผู้ต้องหาที่ 2, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ผู้ต้องหาที่ 3, สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ผู้ต้องหาที่ 4, สุวรรณา ตาลเหล็ก ผู้ต้องหาที่ 5, ศุกรียา วรรณานุวัฒน์ ผู้ต้องหาที่ 6 และภัทรพงศ์ น้อยผาง ผู้ต้องหาที่ 7 ในวันนี้ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนมาที่สน.บางเขน ยกเว้นพริษฐ์ เนื่องจากพนักงานสอบสวนสน.บางเขนได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตั้งแต่ช่วงที่พริษฐ์ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพแล้ว
เดิมเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 63 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหานักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 7 คน 4 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่
- ฝ่าฝืนมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ “ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต”
- ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
- ร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร
- ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 “ฝ่าฝืนขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน” จากการปฏิเสธพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยผู้ต้องหาได้ให้การเพิ่มเติมว่าการพิมพ์ลายนิ้วมือสำหรับคดีที่มีลหุโทษถือเป็นการสร้างภาระให้ผู้ต้องหาเกินสมควร ซึ่งควรจะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
>> 7 นักกิจกรรมรับทราบ 3 ข้อหาคดีชุมนุมหน้าสน.บางเขน แถมข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเหตุไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ
ต่อมา วันที่ 22 ต.ค. 63 พนักงานสอบสวนสน.บางเขนส่งสำนวนคดีนี้ พร้อมกับ 5 ใน 7 ของผู้ต้องหา ให้กับอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 9 และอัยการนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่วันที่ 30 ต.ค. 63 เวลา 10.00 น.
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 ต.ค. 63 เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 6 คน เว้นพริษฐ์ที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เดินทางมารายงานตัวและฟังคำสั่งที่สำนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนกลับแจ้งว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม แม้ว่าผู้ต้องหาไม่ได้เดินทางมาพร้อมกับทนายความ พนักงานสอบสวนก็ยืนยันว่าจะจัดหาทนายอาสาจากสภาทนายความมาให้ ระหว่างการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งผู้ต้องหาไม่ยินยอม หลังการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย พนักงานสอบสวนจึงแจ้งให้ทั้ง 6 คน มาสอบคำให้การเพิ่มเติมที่สน.บางแขน ในภายหลัง
ภาพเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 63 ที่สำนักอัยการแขวงดอนเมือง
วันนี้ พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี สารวัตร (สอบสวน) สน.บางเขน ได้สอบคำให้การเพิ่มเติม ชี้แจงพฤติการณ์และแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาเพิ่ม 2 อีกข้อหา ตามหนังสือสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 9 ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
พ.ต.ท.สราวุธ ได้อธิบายพฤติการณ์ที่มีเหตุจำเป็นให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมโดยสรุปว่า ผู้ต้องหาและพวกที่เป็นแกนนำและเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้นำมวลชนมาชุมนุมที่บริเวณหน้าสน.บางเขน ผ่านการชักชวนผ่านโซเชียลมีเดีย การชุมนุมนี้ถือเป็นการกีดขวางจราจรและทางเข้าออกด้านหน้าสน. ทำให้ประชาชนที่มาติดต่อไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ผู้จัดกิจกรรมยังไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเวลาชุมนุมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
ดังนั้น จึงแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 6 อีก 2 ข้อหา คือ ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8 (1) “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออก รบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการของสน.บางเขน ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ” โดยข้อหานี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ขณะข้อหาตามมาตรา 10 จะมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทเท่านั้น
ทั้ง 6 ได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน และพนักงานสอบสวนจะนัดหมายส่งสำนวนให้อัยการต่อไปในภายหลัง
ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาครั้งแรกวันที่ 30 ก.ย. 63
ทั้งนี้ ในการแจ้งข้อกล่าวหาครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 63 ทนายความของผู้ต้องหาได้เคยทักท้วงว่าข้อกล่าวหาในพฤติการณ์ ซึ่งระบุว่าผู้ต้องหาไม่ได้แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 ไม่ตรงกับข้อหาที่แจ้งในข้อกล่าวหา คือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 14 ซึ่งระบุว่า “ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
พนักงานสอบสวนจึงชี้แจงว่า เนื่องจากการสอบสวนนั้นไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุม ทำให้ไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 14 แต่จะนำไปโยงกับมาตรา 10 และให้ลงโทษตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 28 ได้ หากแต่ต่อมาพนักงานอัยการกลับมีหนังสือให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
อีกทั้ง การแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 10 ของพ.ร.บ.ชุมนุม “ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเวลาชุมนุมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง” อาจสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ของไทย ที่อาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมหรือรวมตัวของประชาชน โดยเฉพาะการชุมนุมลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน คล้ายกับกรณีในคดีนี้ที่การชุมนุมเกิดขึ้นทันทีหลังอานนท์และภาณุพงศ์ถูกจับกุม จึงทำให้ไม่สามารถแจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมงได้