27 ชั่วโมงของการคุมตัว “อานนท์-ภาณุพงศ์” คดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก ก่อนได้ประกัน

วันที่ 7 และ 8 ส.ค. 63 สถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นไปอย่างร้อนแรง หลังเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวอานนท์ นำภา และภาณุพงศ์ จาดนอก สองนักกิจกรรมทางการเมืองที่เข้าร่วมปราศรัยในการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 (ดูสรุปเหตุการณ์การชุมนุม) ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทั้งสองคนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ชวนทบทวนเหตุการณ์ในช่วงระยะเวลาทั้งหมดเกือบ 27 ชั่วโมงของการควบคุมตัวทั้งสองคน ถูกเร่งรีบแจ้งข้อกล่าวหา ถูกคุมตัว 3 สถานีตำรวจ ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังถึง 2 ครั้ง กระทั่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในที่สุด

 

ตำรวจแสดงหมายจับกุม 8 ข้อกล่าวหา “อานนท์ไมค์” ชุมนุมเยาวชนปลดแอก

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63 เวลาประมาณ 14.00 น. อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 8 นาย เข้าแสดงหมายจับบริเวณหน้าที่พักในกรุงเทพมหานคร กลุ่มเจ้าหน้าที่ได้เข้าแสดงหมายจับที่ 1176/2563 ออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 6 ส.ค. 63 โดยมีพ.ต.ท.หญิงจิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เป็นผู้ขอออกหมายจับ

 

.

หมายจับดังกล่าวออกจากกรณีการร่วมกิจกรรมชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 โดยระบุอานนท์เป็นผู้ต้องหาที่ 7

หมายจับระบุข้อกล่าวหาทั้งหมด 8 ข้อกล่าวหา ได้แก่

  1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
  2. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  5. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  6. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  7. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท
  8. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ในเวลาใกล้เคียงกัน ประมาณ 14.50 น. มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมตัวนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์ ระยอง”​ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาชิกกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 6 ส.ค.63 ในข้อหาเดียวกันกับอานนท์ จากกรณีการร่วมปราศรัยในการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เช่นเดียวกัน โดยระบุภาณุพงศ์เป็นผู้ต้องหาที่ 5

การออกหมายจับทั้งสองคนเกิดขึ้น โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยมีการออกหมายเรียกให้เข้าพบกับพนักงานสอบสวนมาก่อน

.

.

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 อานนท์ นำภา ยังได้ขึ้นปราศรัยเรื่องการขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และยังได้ประกาศจะเดินทางไปปราศรัยในประเด็นเดียวกันนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 9 ส.ค. 63 และที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 10 ส.ค. 63

ขณะเดียวกัน กลุ่มเยาวชนปลดแอกยังได้ประกาศยกระดับเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” และมีการแถลงข่าวประกาศจัดการชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 16 ส.ค. 63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกด้วย

ต่อมายังได้มีการเผยแพร่รายชื่อผู้ปราศรัยและผู้เข้าร่วมกิจกรรมของ “เยาวชนปลดแอก” ที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดีว่ามีทั้งหมด 31 คน มติชนรายงานว่าในจำนวนนี้ พนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์ได้มีการขอออกหมายจับไปแล้วจำนวน 15 คน แต่ไม่มีการระบุรายชื่อ ทั้งยังอ้างว่าทางตำรวจขีดเส้นตายว่าต้องจับผู้ต้องหาทั้งหมดให้ได้ภายในวันที่​ 10 ส.ค. นี้อีกด้วย ขณะที่อีก 16 คน ที่ยังไม่ถูกออกหมายจับ ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน​ ​

 

ตำรวจเร่งรีบแจ้งข้อกล่าวหา ไม่รอทนายความ ก่อนรีบนำตัวไปขอฝากขัง

หลังจากถูกแสดงหมายจับ อานนท์ นำภา ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวมายัง สน.สำราญราษฎร์ เพื่อจัดทำบันทึกการจับกุม โดยมีทนายความติดตามไปด้วย ก่อนที่เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวอานนท์ไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนที่ สน.บางเขน ซึ่งเจ้าหน้าได้จัดเตรียมสถานที่ในการสอบสวนเอาไว้ก่อนแล้ว

จนเวลา 17.35 น. หลังการแจ้งข้อกล่าวหาและอานนท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้รีบนำตัวอานนท์ออกจากสน.บางเขน ทันที เพื่อไปยื่นขออำนาจศาลอาญา รัชดาภิเษก ในการฝากขัง

ขณะเดียวกัน ภาณุพงศ์ จาดนอก หลังถูกควบคุมตัวมาถึง สน.สำราญราษฎร์ ในเวลาประมาณ 15.38 น. ได้ถูกนำตัวเข้าไปยังห้องอำนวยการในสถานีตำรวจ โดยบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยยืนกันไม่ให้นักข่าวได้บันทึกภาพ และยังไม่อนุญาตให้นักกิจกรรมหรือบุคคลใดเข้าไปอยู่กับภาณุพงศ์ในสถานีตำรวจ

 

(ภาพหน้าสน.สำราญราษฎร์ จากประชาไท)

.

ต่อมาพนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์ ได้ทำบันทึกการจับกุม และพยายามแจ้งข้อกล่าวหากับภาณุพงศ์ โดยเขาไม่ยินยอม เนื่องจากต้องการรอให้ทนายความที่ไว้วางใจมาเข้าร่วมกระบวนการก่อน ทั้งตำรวจยังพยายามจัดหาทนายความมาให้เอง แต่ภาณุพงศ์ยืนยันปฏิเสธเนื่องจากมีทนายความของตนเองอยู่แล้ว และกำลังเดินทางมา แต่พนักงานสอบสวนยังดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป พร้อมกับเร่งรีบจะนำตัวเขาไปขออำนาจศาลอาญาในการฝากขัง โดยภาณุพงศ์ได้ปฏิเสธจะเซ็นบันทึกการจับกุมและบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ

ต่อมาเวลา 17.40 น. พนักงานสอบสวนได้นำตัวภาณุพงศ์ออกจากสน.สำราญราษฎร์ โดยไม่รอทนายความให้เดินทางมาถึงก่อน จนเวลาประมาณ 18.00 น. ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสองคนถูกนำตัวไปถึงศาลอาญา

ขณะเดียวกันในช่วง 18.00 น. ทางกลุ่มนักศึกษาและประชาชนได้นัดหมายเดินทางกันไปชุมนุมที่หน้าสน.บางเขน เพื่อติดตามและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอานนท์และภาณุพงศ์

 

ศาลคืนคำร้องฝากขัง เลยเวลาราชการ ตำรวจหิ้วตัวอานนท์ภาณุพงศ์ กลับไปคุมตัวใหม่

ที่ศาลอาญา พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์และภาณุพงศ์เป็นระยะเวลา 12 วัน โดยอ้างเรื่องการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ต้องสอบพยานเพิ่มอีก 6 ปาก และรอผลตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา ทั้งยังขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสองคน ระบุเหตุผลว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งสองคนก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และคดีไม่มีความจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาเอาไว้ ทั้งยังยืนยันว่าคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ พร้อมกับยื่นคำร้องในการประกันตัวเตรียมไว้หากศาลอนุญาตให้ฝากขัง

อานนท์ นำภา ยังได้แถลงขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน โดยเห็นว่ากระบวนการฝากขังเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เกิดขึ้นนอกเวลาราชการ คือหลังเวลา 16.00 น. ทั้งยังเห็นว่าไม่ควรนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ต่อมาเวลา 20.35 น. อานนท์และภาณุพงศ์ได้ตัดสินใจยื่นขอถอนคำร้องขอประกันตัว ทำให้หากศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทั้งสองคนจะถูกนำตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทั้งสองคนยังเขียนข้อความแสดงจุดยืนในการไม่ขอประกันตัว

 

.

เวลาประมาณ 21.30 น. นายสุรจิตร เปลี่ยนขำ รองอธิบดีศาลอาญาได้มาเป็นผู้ไต่สวนคำร้องขอฝากขังด้วยตนเอง ร่วมกับผู้พิพากษาเวร หลังพนักงานสอบสวนให้การตามคำร้องขอฝากขัง ทนายความผู้ต้องหาได้ถามค้านว่าคำร้องขอฝากขังที่อ้างว่ามีเหตุในการฝากขังคือ รอสอบพยานเพิ่มอีก 6 ปาก, รอผลพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติอาชญากรนั้นไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา อีกทั้งพนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมหลักฐานซึ่งเป็นคลิปการปราศรัยได้อยู่แล้ว โดยผู้ต้องหาไม่สามารถยุ่งเหยิงพยานหลักฐานดังกล่าวได้ และการออกหมายจับโดยไม่มีการออกหมายเรียกก่อนทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในคดีอื่นของ สน.สำราญราษฎร์ ที่ผู้ต้องหาเป็นจำเลยอยู่นั้น ก็มีการออกหมายเรียกก่อน และผู้ต้องหาก็ให้ความร่วมมือตามกระบวนการไม่เคยหลบหนี จึงไม่มีความจำเป็นต้องออกหมายจับในคดีนี้

พนักงานสอบสวนตอบว่า เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงเกิน 3 ปี จึงสามารถออกหมายจับตามกฎหมายได้อยู่แล้ว

ทนายความถามอีกว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามาฝากขังต่อศาลหลังเวลาราชการ ทราบหรือไม่ว่าศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษายกคำร้องฝากขังแล้ว

ทนายความผู้ต้องหาถามพนักงานสอบสวนว่า เสรีภาพในการชุมนุมได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนสามารถชุมนุมได้ใช่หรือไม่ แต่ศาลแย้งว่า ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นไต่สวนฝากขัง จึงไม่บันทึกให้ แต่ทนายแถลงว่าเป็นประเด็นโดยตรงที่ผู้ต้องหาถูกออกหมายจับและนำตัวมาฝากขังและยืนยันให้ศาลบันทึก

เวลาประมาณ 21.50 น. ศาลอ่านคำสั่ง มีใจความว่าพิเคราะห์แล้วได้ความจากพนักงานสอบสวน ตอบทนายผู้ต้องหาถามค้านได้ความว่า นำตัวผู้ต้องหามาฝากขังหลังเวลา 16.00 น. จึงมีคำสั่งให้คืนคำร้องขอฝากขัง ให้ผู้ร้องรับตัวผู้ต้องหาคืน และยื่นคำร้องขอฝากขังภายใน 48 ชั่วโมงตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หลังศาลออกจากห้องพิจารณาไปแล้ว อานนท์และภาณุพงศ์ยังนั่งอยู่ในห้องพิจารณา ยืนยันว่าจะไม่ไปสถานีตำรวจ เนื่องจากตำรวจหมดอำนาจควบคุมตัวแล้ว แต่ทางตำรวจเห็นว่ายังมีอำนาจควบคุมตัวอยู่ ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องคำสั่งของศาลระหว่างพนักงานสอบสวน ทนายความ และผู้ต้องหา

เวลา 23.10 น. ทนายผู้ต้องหาแจ้งว่ารองอธิบดีศาลอาญาได้ลงมาชี้แจงว่าตำรวจยังมีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนอยู่ แต่ศาลจะไม่ออกหมายขัง

เวลา 23.20 น. ที่ใต้ถุนศาลอาญา ตำรวจไม่น้อยกว่า 30 นาย ตั้งแถวเพื่อรอรับตัวทั้งสองคนไปขังที่สถานีตำรวจ โดยมีรายงานว่าจะนำตัวไปควบคุมที่สน.ห้วยขวาง

 

.

แต่เวลา 23.30 น. เมื่ออานนท์และภาณุพงศ์ถูกนำตัวลงมาถึงใต้ถุนศาล ทั้งสองคนไม่ยินยอมให้ตำรวจพาไปขังที่สถานีตำรวจ เนื่องจากเห็นว่าตำรวจไม่มีอำนาจควบคุมตัวแล้ว จึงยืนเฉยๆ และกล่าวกับตำรวจว่า “ถ้าคิดว่ามีอำนาจจับก็จับไป” แต่ตำรวจพยายามผายมือเชิญ ไม่จับ ขณะที่ประชาชนที่มาให้กำลังใจบริเวณดังกล่าวตะโกนร้องว่า “ข้าราชการ ต้องรับใช้ ประชาชน” หลังพูดคุยกันครู่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงหิ้วตัวทั้งอานนท์​และภาณุพงศ์​​ ขึ้นรถตู้ตำรวจออกจากศาลอาญา ขณะประชาชนตะโกน​ “หยุดอุ้มประชาชน” ตามหลัง

เวลา 23.50 น. ตำรวจควบคุมตัวอานนท์และภาณุพงศ์ ถึงสน.ห้วยขวาง โดยมีกลุ่มประชาชนทยอยเดินทางติดตามไปที่หน้าสถานีตำรวจ บางส่วนเดินทางมาจากหน้าสน.บางเขน พร้อมกับมีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งสองคนในช่วงกลางดึกของคืนนั้น และมีประชาชนบางส่วนนอนเฝ้าอยู่หน้าสน. จนถึงรุ่งเช้าด้วย

.

ตำรวจพาไปขอฝากขังใหม่ ศาลอนุญาต ก่อนให้ประกันตัว แบบกำหนดเงื่อนไข

เช้าวันถัดมา (8 ส.ค. 63) เวลาประมาณ 8.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวอานนท์และภาณุพงศ์ออกจากสน.ห้วยขวาง ไปยังศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อยื่นขอฝากขังใหม่อีกครั้ง

 

.

ในวันนี้ที่บริเวณบันไดหน้าทางขึ้นศาล เจ้าหน้าที่ศาลมีการตั้งแผงรั้วเหล็กกั้นทางขึ้น โดยไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าไปภายในพื้นที่ศาล ทั้งมีการตรวจสอบรถที่จะเข้าออกอย่างเข้มงวด โดยตำรวจระบุว่าเป็นคำสั่งของศาล หากไม่มีธุระในบริเวณศาล ก็จะไม่อนุญาตให้เข้า นอกจากนั้นยังมีการปิดรั้วบริเวณด้านหลังศาล ไม่ให้เข้าไปในบริเวณที่เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหาเข้าออก รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมากกว่า 50 นาย อยู่รอบศาล และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย อยู่บริเวณใต้ถุนศาล

ในช่วงเช้านี้ มีประชาชนทยอยเดินทางมาราว 80-100 คน เพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งสองคน นำโดย “เพนกวิน” นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยทั้งหมดได้เข้าไปนั่งรออยู่บริเวณหน้ารั้วเหล็กที่กั้นบันไดทางขึ้นศาล โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ศาลคอยตรึงกำลังไว้ไม่ต่ำกว่า 30 นาย และยังมีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกภาพและวิดีโอเอาไว้ รวมทั้งมีการนำป้ายข้อกำหนดศาลเรื่องการละเมิดอำนาจศาลมาตั้งบริเวณบันไดศาลอีกด้วย

 

.

เวลาราว 10.20 น. พริษฐ์ได้พยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่ขอเข้าไปในศาล เพื่อร่วมสังเกตการณ์คดี หลังมีกระแสข่าวลือว่าอาจมีการนำตัวอานนท์และภาณุพงศ์ไปควบคุมที่เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง (เดิมคือเรือนจำชั่วคราวแขวงนครไชยศรี ซึ่งใช้คุมขังผู้ต้องขังคดีความมั่นคง) หลังการเรียกร้องกว่า 20 นาที เจ้าหน้าที่ศาลจึงยินยอมให้ส่งตัวแทนประชาชน 2 คนเข้าไปในศาลได้ ขณะเดียวกันยังมีการนำกำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 1 กองร้อย เข้ามาเสริมบริเวณด้านหลังศาลอีกด้วย

ในส่วนกระบวนการขอฝากขัง พ.ต.อ.หญิงจิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์ ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังเป็นเวลา 12 วัน เช่นเดียวกับเมื่อวานนี้ โดยอ้างเหตุเรื่องการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องรอสอบพยานเพิ่มอีก 6 ปาก รอผลพิมพ์ลายนิ้วมือและประวัติอาชญากร แต่คำร้องในวันนี้พนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาเหมือนกับเมื่อวานนี้ แต่ได้ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขไม่ให้ผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก

ขณะที่ทนายความผู้ต้องหาทั้งสองคนได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยยืนยันว่าคดีนี้ไม่มีความจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาเอาไว้ ผู้ต้องหาทั้งสองคนถูกสอบสวนเสร็จแล้ว มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี ไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ คดียังเกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ทั้งการอ้างเหตุของพนักงานสอบสวนว่าเกรงผู้ต้องหาจะไปทำกิจกรรมหรือชุมนุมต่อไปในอนาคต เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าเอา และยังเป็นการมุ่งแทรกแซงยับยั้งการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง ในส่วนของนายอานนท์ หากถูกฝากขัง ยังจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ทนายความซึ่งมีนัดหมายคดีอยู่อีกด้วย

 

.

ขณะเดียวกัน อานนท์ นำภา ยังได้เขียนคำร้องคัดค้านฝากขังเพิ่มเติมใน 4 ประเด็นด้วยว่า

  1. คดีนี้ไม่มีเหตุผลออกหมายขัง-ควบคุมตัวผู้ต้องหา
  2. พนักงานสอบสวนได้เคยยื่นคำร้องขอฝากขังแล้วเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63 การฝากขังโดยหมายจับฉบับเดียวกัน 2 ครั้ง เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
  3. ยืนยันว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
  4. การฝากขังครั้งนี้ ยังเป็นการจงใจใช้ศาลเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุม มีการดึงเวลาให้ฝากขังในยามวิกาล ตั้งข้อหาเกินจริง กระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ย่อมนำความเสื่อมเสีย และความเสื่อมศรัทธามาสู่กระบวนการยุติธรรม

ในการไต่สวนคำร้อง แยกพิจารณาสำนวนคดีของอานนท์และภาณุพงศ์ออกจากกัน โดยไต่สวนพยานสำนวนคดีละ 1 ปาก แล้วเสร็จในเวลาประมาณ 11.55 น. โดยศาลนัดฟังคำสั่งต่อไปในเวลา 13.30 น.

 

แต่หลังผ่านไปกว่า 3 ชั่วโมงครึ่ง เวลา 15.25 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์และภาณุพงศ์ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าป.วิอาญา มาตรา 78 ได้วางหลักเกณฑ์การควบคุมตัวไว้เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนรับตัวผู้ต้องหาวันที่ 7 ส.ค. 63 เวลา 16.00 น. ต่อมานำตัวผู้ต้องหาและคำร้องมายื่นต่อศาลอาญาในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 16.45 น. ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังพ้นกำหนดเวลาราชการ จึงมีคำสั่งคืนคำร้อง และให้รับตัวผู้ต้องหาคืน และให้ยื่นคำร้องภายใน 48 ชั่วโมง ตามกฎหมาย

วันนี้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องมายื่นคำร้องขอฝากขังเวลา 8.52 น. ยังอยู่ในระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ตามป.วิอาญา มาตรา 87 วรรคสาม จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ส่วนที่จำเลยคัดค้านว่าผู้ต้องหามีถิ่นที่อยู่และประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ ซึ่งมีข้อหาอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ซึ่งตามกฎหมายเมื่อเป็นกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อการสอบสวน พนักงานสอบสวนชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายขังได้

พนักงานสอบสวนอ้างเหตุขออนุญาตฝากขังว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกจำนวน 6 ปาก และรอผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือ และผลการตรวจประวัติการต้องโทษ ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจขอสอบสวนพยานดังกล่าวได้ เมื่อเป็นการร้องฝากขังครั้งที่ 1 ซึ่งพนักงานสอบสวนมีเวลาสอบสวนเพียง 48 ชั่วโมง กรณีจึงมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนต่อไป ส่วนข้อคัดค้านอื่นไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา

 

.

จากนั้น ทางทนายความได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสองคน โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของสมาชิกพรรคก้าวไกล 2 คน ได้แก่ นายคารม พลพรกลาง และนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล เป็นนายประกัน

จนเวลา 16.35 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวอานนท์และภาณุพงศ์ กำหนดวงเงินคนละ 100,000 บาท โดยยังไม่ต้องวางหลักประกันในวันนี้ เมื่อผิดสัญญา จึงจะบังคับเอาหลักประกัน ศาลยังกำหนดเงื่อนไขว่าห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก มิฉะนั้นจะให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน

เวลา 16.50 น. ทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัว และได้เดินทางมาพบประชาชนที่มาให้กำลังใจด้านหน้าศาลอาญา พร้อมกับให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว

 

X