ผ่านไปปีกว่า ตร.ไม่เคยจับ นศ.ศิลปากรเข้ามอบตัวหมายจับคดี ม.116 เยาวชนปลดแอก ก่อนศาลให้ประกัน

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64 ที่ สน.สำราญราษฎร์ เนตรนภา อำนาจส่งเสริม หรือ “ไนซ์” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เดินทางเข้ามอบตัวตามหมายจับของศาลอาญา ในคดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หมายจับออกมาปีกว่า แต่ตำรวจไม่เคยจับกุม แม้เคยไปแสดงตัวให้จับ หลังแจ้งข้อกล่าวหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ตำรวจยื่นขอฝากขัง และศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีเงื่อนไข

ในคดีนี้ เนตรนภาทราบว่าเธอถูกออกหมายจับ แต่ไม่เคยเห็นหมายจับแน่ชัด หลังได้ร่วมขึ้นอ่านแถลงการณ์ในเวทีการชุมนุมเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ต่อมาตำรวจมีการเข้าจับกุมผู้ปราศรัยและนักดนตรีที่ขึ้นเวทีรวม 14 คน ไปแจ้งข้อหาดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ทั้งคดีนี้ก็ได้ถูกอัยการสั่งฟ้องต่อศาลอาญาไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่เคยจับกุมเนตรนภา

เธอเคยไปทวงถามหมายจับที่สถานีตำรวจร่วมกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ แต่ตำรวจก็ไม่แสดงหมายจับ เธอยังระบุว่าในช่วงนั้น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแจ้งมาทางครอบครัว ว่ามีหน่วยงานรัฐจากภายนอกติดต่อเข้ามาขอคุยกับครอบครัว แต่ทางครอบครัวปฏิเสธ รวมทั้งทีมเพจเยาวชนปลดแอกยังเคยโพสต์ระบุสถานที่อยู่ของเธอ เพื่อรอให้ตำรวจมาจับกุม แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยมาจับ ภาวะดังกล่าวส่งผลถึงความหวาดระแวงในชีวิตต่อมานับปี ว่าจะถูกตำรวจมาจับกุมเมื่อไร

จนเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2564 เธอได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ แจ้งเรื่องหมายจับที่คงค้าง และขอให้เข้ามอบตัว เธอจึงนัดหมายทนายความ เดินทางเข้าแสดงตัวที่สถานีตำรวจอีกครั้ง

หลังเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พ.ต.ท.ภาณุพงศ์ จินดาหลวง รองผู้กำกับสืบสวน และ พ.ต.ท.ดำเนินสฤษดิ์ คำแสน สารวัตรสืบสวน เนตรนภาจึงได้ทราบว่าหมายจับของเธอ ออกโดยศาลอาญา เลขที่ 1180/2563 ออกตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 หรือย้อนกลับไป 1 ปี 2 เดือนพอดี โดยหมายมี พ.ต.ท.หญิง จิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย

ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาเนตรนภา ในทั้งหมด 7 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายฯ โดยเป็นหัวหน้า” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสาม, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ร่วมกันวางตั้งสิ่งใดกีดขวางการจราจร, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

พฤติการณ์ที่เธอถูกกล่าวหาโดยสรุป ระบุเรื่องการได้โพสต์ข้อความชักชวนให้ประชาชนไปร่วมชุมนุมของกลุ่ม Free Youth เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยระบุการว่าจะมีการแจกพิซซ่า 112 ชิ้น และในวันชุมนุม เธอได้ขึ้นอ่านแถลงการณ์เยาวชนปลดแอกบนเวทีปราศรัย เรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากประชาชน ฟังเสียงประชาชน

เนตรนภาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 20 วัน โดยลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมว่า “คน 99% เป็นเจ้าของประเทศ” ก่อนตำรวจได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวันไว้

จากนั้น ในช่วงบ่าย ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พนักงานสอบสวน ได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยอ้างเรื่องการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น มีความจำเป็นต้องสอบพยานอีก 5 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา รวมทั้งยังคัดค้านการประกันตัว โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และยากแกการติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง

ทั้งนี้ น่าสนใจว่าคดีนี้สำนวนคดีของผู้ต้องหาคนอื่นๆ ถูกสอบสวนและสั่งฟ้องไปหมดแล้ว ทั้งตำรวจก็ไม่เคยติดตามตัวผู้ต้องหารายนี้ตลอด 1 ปี เศษที่ผ่านมา ทั้งที่ไม่เคยหลบหนี

ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นหลักประกัน ตีราคาประกันเป็นเงิน 45,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขในการประกันว่า “ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” คำสั่งลงนามโดย นายพลีส เทิดไทย ผู้พิพกษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด

ศาลกำหนดวันนัดให้มารายงานตัวต่อไปในวันที่ 23 พฤศจิกายน 64 เวลา 8.30 น.

.

.

ทั้งนี้การชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ นำไปสู่การชุมนุมเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของนักเรียนนักศึกษาในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เวทีดังกล่าวมีการเริ่มประกาศข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวม 3 ข้อ ได้แก่ เรียกร้องให้ยุบสภา, แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560  และหยุดคุกคามประชาชน 

แต่ภายหลังนักกิจกรรมที่ขึ้นปราศรัย นักดนตรีที่ขึ้นเล่นดนตรี และผู้เข้าร่วมบางส่วน ได้ถูกดำเนินคดีติดตามมา โดยจำนวน 15 คน ถูกออกหมายจับในคดีข้อหาหลักตามมาตรา 116 และอีก 15 ราย ถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อหาที่ สน.สำราญราษฎร์ ทั้งสองคดีถูกสั่งฟ้องต่อศาลอาญา และศาลแขวงดุสิต แยกกันไป

.

ดูฐานข้อมูลทั้งสองคดี #เยาวชนปลดแอก >> https://database.tlhr2014.com/public/case/1729/lawsuit/508/

.

X