#วันเด็กแห่งชาติ ปีที่ 3 ที่เด็กเยาวชนยังถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง 283 ราย

วันเด็กแห่งชาติ ปี 2566 นับเป็นปีที่สามแล้ว ที่เด็กและเยาวชนที่ออกมาชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ยังคงอยู่ภายใต้สถานการณ์การถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง รอบปี 2565 ที่ผ่านมา แม้คดีจะไม่เพิ่มขึ้นมากเท่าปี 2564 ที่มีเด็กและเยาวชนนับร้อยถูกดำเนินคดี แต่ก็ยังคงมีคดีใหม่เกิดขึ้นเป็นระยะ รวมทั้งคดีจากปีก่อนหน้าที่ยังไม่สิ้นสุดก็ทยอยมีความเคลื่อนไหว ทั้งการถูกสั่งฟ้องคดี การสืบพยาน หรือแม้แต่การมีคำพิพากษา

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2566 พบเด็กและเยาวชนที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 283 คน ในจำนวน 210 คดี 

ในจำนวนนี้แยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 40 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

สถิติเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีปี 2565 นับได้ว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จำนวน 12 คน (นับเฉพาะผู้ที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน บางรายถูกดำเนินคดีใหม่เพิ่มอีก) คิดเป็นจำนวน 21 คดี

หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนคดีจากการแสดงออกทางการเมืองทั้งหมดหลังการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” เป็นต้นมา พบว่าสัดส่วนผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นเด็กและเยาวชนคิดเป็นราวร้อยละ 15 ของคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบข้อมูล

ในจำนวนเยาวชนทั้งหมด มีเยาวชนรายหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือรวมจำนวนถึง 22 คดี 

ขณะที่เด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดี ได้แก่ “เอีย” เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี โดยขณะเกิดเหตุคดีแรกที่เขาถูกจับกุมที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 เขามีอายุเพียง 12 ปี 4 เดือนเศษ

ควรกล่าวด้วยว่า แม้ในคดีจากการแสดงออกทางการเมืองในรอบสามปีที่ผ่านมา ที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็น “ผู้ใหญ่” แล้ว ก็พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีที่อยู่ในช่วงวัย 18-20 ปี คือเพิ่งเลยวัยเยาวชนมาเล็กน้อย เป็นจำนวนมากเช่นกัน 

.

.

ในจำนวนเด็กเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด ยังแยกเป็นเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 17 คน ใน 20 คดี โดยมี “เพชร ธนกร” ที่ถูกดำเนินคดีข้อหานี้มากที่สุดถึง 3 คดี และมีเด็กที่อายุต่ำที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ได้แก่ อายุ 14 ปี

เฉพาะในช่วงปี 2565 มีเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 คน ใน 5 คดี

ขณะที่มีเยาวชนถูกดำเนินคดี “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 3 คน ใน 3 คดี โดยทั้งหมดเป็นคดีที่เยาวชนถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 ร่วมด้วย

.

.

หากพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นแยกไปตามภูมิภาค พบว่าคดีส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก คือจำนวน 195 คดี หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 93 ของคดีเด็กและเยาวชนทั้งหมด 

ขณะที่ในภูมิภาคอื่นๆ แยกเป็นคดีในภาคอีสานอย่างน้อย 8 คดี คดีในภาคใต้ 6 คดี และคดีในภาคเหนือ 1 คดี โดยที่คดีในต่างจังหวัดเหล่านี้ เป็นคดีที่ถูกเปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ รวม 6 คดี ทำให้ในภูมิภาค มีคดีดำเนินอยู่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับคดีในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ทั้งนี้หากไม่นับกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในพื้นที่ภาคใต้เป็นเพียงภูมิภาคเดียวที่มีรายงานการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อเยาวชน ในอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่ คดีของ “เบลล์” ในจังหวัดพัทลุง, คดีของ “ปูน” ธนพัฒน์ และเยาวชนอีกรายหนึ่งที่ทราบว่าถูกกล่าวหาที่จังหวัดนราธิวาส

.

หากพิจารณา ความคืบหน้าทางคดีทางการเมืองของเด็กและเยาวชนถึงช่วงต้นปี 2566 โดยภาพรวมแยกได้เป็น

  • คดีที่สิ้นสุดแล้ว 46 คดี ในจำนวนนี้แยกเป็น
    • คดีที่เด็กเยาวชนถูกตำรวจเปรียบเทียบปรับในชั้นสอบสวนจำนวน 18 คดี เนื่องจากข้อหาที่ถูกกล่าวหามีอัตราโทษปรับ
    • คดีที่เด็กเยาวชนเข้าสู่มาตรการพิเศษก่อนฟ้องคดีจำนวน 9 คดี
    • คดีที่เด็กเยาวชนเข้าสู่มาตรการพิเศษก่อนมีคำพิพากษาจำนวน 13 คดี
  • คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน 125 คดี
  • คดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น 34 คดี 
  • คดีที่อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ 5 คดี

เท่ากับว่ายังมีคดีของเด็กและเยาวชนอีกไม่น้อยกว่า 164 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในวันเด็กแห่งชาติปีนี้

ทั้งนี้ ยังไม่พบว่ามีคดีเด็กและเยาวชนแม้แต่คดีเดียว ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อศาล แม้แต่คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งพบว่าคดีของผู้ใหญ่ในหลายคดี อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว แต่กลับไม่พบว่ามีคดีของเด็กและเยาวชนที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเป็นตัวอย่างไว้แต่อย่างใด

.

.

ในส่วนคดีที่เยาวชนเลือกที่จะต่อสู้คดี ไม่ยินยอมเข้าสู่มาตรการพิเศษ พบว่ามีคดีที่ศาลเยาวชนฯ มีคำพิพากษาแล้ว 5 คดี โดยมีคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด 3 คดี และคดีที่ศาลยกฟ้อง 2 คดี

คดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด ได้แก่ คดีมาตรา 112 ของ “เพชร” ธนกร” ในสองคดี ทั้งคดีจากการปราศรัยในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 ที่พิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และคดีจากการปราศรัยที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ที่พิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี

สำหรับคดีแรกนั้น ศาลได้พิพากษาโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนแทน โดยกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน  ส่วนคดีที่สองของเพชรนั้น ศาลลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และให้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความประพฤติ 

คำพิพากษาคดีของเพชร โดยเฉพาะคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนั้น ยังมีปัญหาอย่างมาก เมื่อศาลวินิจฉัยไปในลักษณะว่าแม้คำปราศรัยไม่ได้เอ่ยพระนามกษัตริย์องค์ใด แต่มาตรา 112 คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดคำถามต่อการตีความกฎหมายมาตรานี้ อย่างขยายความเกินขอบเขตของตัวบทไปมากของศาล

.

.

อีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของภูมิ ศศลักษณ์ กรณีร่วมการชุมนุม #คณะราษฎรอีสาน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางวินิจฉัยว่าภูมิมีความผิด ลงโทษในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 ปี, ข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษจำคุกรวม 1 ปี, ข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ลงโทษจำคุก 5 วัน รวมลงโทษจำคุก 2 ปี 5 วัน โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุก เป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 6 เดือน 

ทั้งสามคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

ในส่วนอีกสองคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องหลังการต่อสู้คดี เป็นคดีที่เยาวชนร่วมการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ และถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แก่ 

คดีของมีมี่ ร่วมปราศรัยการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2563 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเห็นว่าจำเลยเพียงร่วมขึ้นปราศรัย และถ้อยคำปราศรัยก็มิได้ผิดกฎหมายใด จึงนับเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งพยานโจทก์ที่มาขึ้นเบิกความก็ไม่มีปากใดยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม และขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 16 ปีเศษ ไม่มีศักยภาพพอที่จะจัดการชุมนุมได้ อาศัยเพียงพฤติการณ์การขึ้นปราศรัยเพื่อบอกว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมนั้นยังฟังไม่ถนัด 

คดีของแซน ร่วมชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องให้ตำรวจขอโทษจากการคุกคามนักเรียน กรณีจัดค่าย “ราษฎรออนทัวร์” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิเห็นว่าจำเลยเป็นผู้มาร่วมชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตและไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันโควิด ส่วนสถานที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ไม่แออัด เป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมเต็มสถานที่ จึงไม่น่าจะมีการแพร่เชื้อในวงกว้าง

.

.

สถานการณ์การติดตามสังเกตการณ์คดีเด็กและเยาวชนในพื้นที่ศาล ทั้งโดยองค์กรสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไป ยังเป็นข้อถกเถียงสำคัญสำหรับกรณีเยาวชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง แม้ภายใต้หลักการคุ้มครองสิทธิเด็ก การพิจารณาคดีของเด็กและเยาวชนจะถูกกระทำเป็นการลับ เฉพาะผู้เกี่ยวข้องที่จะเข้าร่วมการพิจารณาได้ 

แต่ในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวพันกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก และไม่ใช่คดีในลักษณะ “อาชญากรรมโดยแท้” อีกทั้งตัวเด็กและเยาวชนที่เป็นนักกิจกรรมผู้เปิดหน้าแสดงออกเอง รวมทั้งผู้ปกครองเอง ก็ยืนยันอยากให้มีผู้สังเกตการณ์ติดตามความเคลื่อนไหวคดีของตน โจทย์สำคัญที่เกิดขึ้น คือการเข้าติดตามสังเกตการณ์พิจารณาคดีของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ควรทำได้หรือไม่ อย่างไร 

ในปี 2566 คดีเด็กและเยาวชนจำนวนมากยังมีนัดต่างๆ ในศาลเยาวชนฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่เยาวชนเลือกจะต่อสู้คดี จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาสำหรับความเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเด็กในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน นอกจากสถานการณ์การดำเนินคดีแล้ว ในรอบปี 2565 ยังมีรายงานเยาวชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามด้วยเหตุจากการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ทั้งในรูปแบบการไปพบที่บ้าน การติดตามสอดแนม หรือห้ามปรามการแสดงออก ไม่น้อยกว่า 24 ราย 

สถานการณ์ติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่กระบวนการตามกฎหมาย จึงยังเป็นอีกความเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิเด็กและเยาวชนที่ต้องจับตาในปีนี้

.

X