สำหรับปี 2565 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป สถานการณ์การคุกคามละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ทั้งการเข้าติดตามคุกคามประชาชนและนักกิจกรรมถึงที่พักอาศัย ที่ทำงาน หรือแม้แต่สถานศึกษา การเฝ้าติดตามถ่ายภาพ ตลอดจนการเรียกตัวเข้าไปพูดคุยทั้งในและนอกสถานที่ราชการโดยปราศจากหมายเรียกหรือเอกสารใดๆ
จากการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวพบว่าเฉพาะช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 มีผู้ถูกติดตามคุกคามเพิ่มขึ้น 69 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 4 ราย และเมื่อพิจารณาตามรายภูมิภาคพบว่ามีผู้ถูกคุกคามในภาคเหนือ 32 ราย, ภาคกลาง 17 ราย, ภาคใต้ 10 ราย, ภาคอีสาน 9 ราย และไม่ระบุภูมิภาคอีก 1 ราย
ทั้งนี้ ตลอดปี 2565 มีจำนวนผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไม่น้อยกว่า 349 ราย ในจำนวนดังกล่าวเป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 24 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าสถิติในปี 2564 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามแต่ละภูมิภาคพบว่ามีผู้ถูกคุกคามในภาคกลางอย่างน้อย 140 ราย, ภาคเหนือ 97 ราย, ภาคอีสาน 67 ราย, ภาคใต้ 41 ราย และมีผู้ถูกติดตามคุกคามแจ้งข้อมูลโดยไม่ระบุภูมิภาคอีกอย่างน้อย 4 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ธ.ค. 2565)
อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวนี้ไม่ได้รวมกรณีเจ้าหน้าที่นำหมายเรียกไปส่ง หรือการเข้าจับกุมตามหมายจับเพื่อดำเนินคดี และยังเป็นจำนวนเท่าที่ได้รับการแจ้งข้อมูลเท่านั้น คาดว่าในความเป็นจริงอาจมีจำนวนมากกว่านี้
.
สาเหตุการติดตามคุกคาม: เกือบครึ่งมาจากบุคคลสำคัญลงพื้นที่
ตลอดปี 2565 ปฏิบัติการติดตามคุกคามประชาชนและนักกิจกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ มีสาเหตุที่สามารถจำแนกอย่างกว้างๆ ได้ ดังนี้
- กรณีการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ ทั้งพระมหากษัตริย์ ราชินี สมาชิกราชวงศ์ ตลอดจนนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างๆ ทำให้มีผู้ติดตามคุกคามอย่างน้อย 134 กรณี
- กรณีการติดตามคุกคามและหาข้อมูลความเคลื่อนไหวในช่วงก่อนและหลังการประชุม APEC2022 ซึ่งมีชาวบ้าน-นักกิจกรรม-เอ็นจีโอ ที่ทำงานในประเด็นด้านทรัพยากร ตลอดจนนักศึกษาหรือนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไม่น้อยกว่า 58 กรณี
- กรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองอื่นๆ ที่มิใช่การชุมนุม เป็นต้นว่า การชูป้าย ติดป้าย ตั้งโต๊ะลงชื่อยกเลิก 112 ทำโพลสำรวจความเห็น รวมทั้งการจัดการอบมรมอย่างน้อย 35 กรณี
- กรณีการแสดงออกออนไลน์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างน้อย 23 กรณี และกรณีการแสดงออกออนไลน์ที่ไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยทั่วไปอย่างน้อย 8 กรณี
- กรณีการติดตามคุกคามประชาชนผู้เคลื่อนไหวประเด็นทรัพยากรอย่างน้อย 26 กรณี และประเด็นแรงงานอย่างน้อย 1 กรณี
.
ติดตามคุกคามก่อน-ระหว่างมีขบวนเสด็จและการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ
สถานการณ์ติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐตลอดปี 2565 มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ โดยประชาชน นักกิจกรรม เยาวชนที่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ที่อยู่ใน “รายชื่อบุคคลเฝ้าระวัง” ตลอดจนบุคคลใกล้ชิดของพวกเขาเหล่านี้ อาทิ สมาชิกในครอบครัว มักจะถูกฝ่ายเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามเพื่อสอบถามข้อมูลความเคลื่อนไหวทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และภายหลังการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ
ในช่วงปี 2565 นี้ การลงพื้นที่ของบุคลลสำคัญนั้นไม่เพียงแต่เป็นกรณีการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวง และราชินีเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสมาชิกราชวงศ์อื่นๆ อาทิ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ซึ่งมักเสด็จไปพระราชทานปริญญาที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้แล้ว ยังรวมไปถึงการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
การถูกติดตามคุกคามโดยสาเหตุนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปในทุกภูมิภาค ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมักใช้รูปแบบการโทรติดต่อหรือติดตามไปถึงที่บ้าน ที่ทำงาน ตลอดจนสถานศึกษาของบุคคลเป้าหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหว สั่งห้ามทำกิจกรรมการเมือง และขอถ่ายรูปเพื่อนำไปรายงาน “นาย” ด้วยในบางกรณี
.
กรณีการติดตามคุกคามจากเหตุการลงพื้นที่ของสมาชิกราชวงศ์และขบวนเสด็จ
สำหรับสถานการณ์การคุกคามที่เนื่องมาจากการเสด็จลงพื้นที่ต่างๆ ของรัชกาลที่ 10, ราชินี และสมาชิกราชวงศ์ เท่าที่ศูนย์ทนายฯ ได้รับรายงาน ได้แก่ กรณีการ “อุ้ม” เยาวชน อายุ 13 ปี และเพื่อนอีก 2, กรณีการติดตามและเข้าจับกุม (โดยมิชอบ) นักกิจกรรมที่จังหวัดอุบลราชธานี, กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจพากันไปเยี่ยมบ้านนักกิจกรรมอย่างน้อย 10 รายในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ในช่วงระหว่างมีขบวนเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 10 และราชินี และกรณีการยกกำลังเจ้าหน้าที่มาเป็นจำนวนกว่า 30 – 40 นาย เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้นักกิจกรรมเข้าใกล้ขบวนเสด็จของพระเทพฯ ที่จังหวัดนครสวรรค์
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการติดตามคุกคามนักศึกษาหรือบัณฑิตก่อนมีการรับปริญญาซึ่งสมาชิกราชวงศ์เสด็จไปพระราชทานปริญญา รวมถึงเสด็จในภารกิจอื่นเป็นการส่วนพระองค์ในอีกหลายจังหวัด เช่น พะเยา, พิษณุโลก, ชลบุรี, อุดรธานี, สกลนคร, และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น
.
กรณีการติดตามคุกคามจากเหตุการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล
ในส่วนการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล เช่น พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับรายงานว่ามีกรณีที่จังหวัดกำแพงเพชรที่นักกิจกรรมและทีมงานก้าวไกลในภาคเหนือตอนล่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปสอบถามข้อมูลถึงที่บ้าน, กรณีนักกิจกรรมในพื้นที่ภาคใต้อย่างน้อย 7 ราย ถูกตำรวจไปหาที่บ้าน โดยหนึ่งในนั้นถูกตำรวจควบคุมตัวไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง, กรณีนักกิจกรรมในจังหวัดอุบลราชธานี อย่างน้อย 6 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามคุกคาม และกรณีประชาชนและนักกิจกรรมในจังหวัดบึงกาฬ โดยเฉพาะกลุ่มคณะราษฎรบึงกาฬ ต่างถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามเพื่อปรามการออกมาเคลื่อนไหว เป็นต้น
ขณะที่การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ทำให้มีการติดตามคุกคามประชาชนและนักกิจกรรมเช่นกัน อาทิ กรณีที่จังหวัดชลบุรีที่ผู้ถูกคุกคามได้ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีรถยนต์มาจอดหน้าเป็นเวลา 2 วันติดกัน มีการสอบถามเพื่อนบ้านเพื่อตรวจสอบว่าบุคคลเป้าหมายอยู่บ้านหรือไม่ ทั้งยังได้เข้าไปในพื้นที่ของเพื่อนบ้านเพื่อชะโงกมองข้ามไปยังบ้านของเขาด้วย โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และกรณีการลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งส่งผลทำให้มีการคุกคามนักศึกษาและนักกิจกรรมอย่างน้อย 2 ราย
.
ข้อสังเกต
จากการติดตามสถานการณ์การคุกคามอันเนื่องมาจากการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะบุคคลในสถาบันกษัตริย์ คือ โดยทั่วไปผู้ถูกติดตามแทบทั้งหมดไม่ได้ทราบด้วยซ้ำว่าจะมีการเสด็จเกิดขึ้น เมื่อไร และอย่างไร รวมทั้งไม่ได้คิดจะไปแสดงออกทางการเมือง ดังนั้นในอีกทางหนึ่ง การติดตามคุกคามประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยสาเหตุเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบในแง่ความรู้สึกของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ได้เช่นกัน
.
ติดตามคุกคามและหาข้อมูลความเคลื่อนไหวในช่วงก่อน-หลัง APEC2022
การประชุม APEC2022 ดำเนินไปท่ามกลางสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเพื่อปิดกั้นการแสดงออกอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการปิดกั้นการชุมนุมคัดค้านการประชุมของนักกิจกรรมและประชาชน จนกระทั่งมีการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง และการกวาดจับประชาชนดำเนินคดี
ปฏิบัติการติดตามข้อมูลของประชาชน นักกิจกรรม และการพยายามห้ามปรามการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมหรือชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการประชุมเอเปค 2022 ดำเนินไปอย่างเข้มข้นและกว้างขวาง จากการติดตาม #จับตาละเมิดสิทธิAPEC2022 ศูนย์ทนายฯ ได้รับรายงานกรณีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไม่น้อยกว่า 58 กรณี โดยเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 22 จังหวัด ทั่วประเทศ ซึ่งผู้ที่ถูกติดตามคุกคามส่วนใหญ่คือ กลุ่มชาวบ้านและนักกิจกรรมที่ทำงานด้านทรัพยากร โดยเฉพาะเครือข่ายสมัชชาคนจน, พีมูฟ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ
.
ติดตามคุกคามเนื่องจากการชูป้าย-ตั้งโต๊ะลงชื่อยกเลิก 112-ทำโพลสำรวจความเห็น
อย่างน้อย 35 กรณีของการติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในปี 2565 มีสาเหตุมาจากการแสดงออกทางการเมืองอื่นๆ เช่น การชูป้าย การติดป้าย ตั้งโต๊ะลงชื่อยกเลิก 112 และทำโพลสำรวจความเห็นในประเด็นต่างๆ
ช่วงต้นปีในพื้นที่ภาคอีสานมีกรณีการคุกคามสมาชิกกลุ่ม “นครพนมสิบ่ทน” เนื่องจากนักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าวตั้งโต๊ะเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ที่บริเวณหน้าตลาดอินโดจีนใน จ.นครพนม เช่นเดียวกับในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างที่ จ.นครสวรรค์ มีกรณีตำรวจกว่า 10 นาย เข้าคุกคามระหว่างนักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมอาชีวะนครสวรรค์ทำกิจกรรมล่ารายชื่อประชาชนเพื่อร่วมกันเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 โดยเจ้าหน้าที่พยายามสอบถามข้อมูลการลงชื่อ, สาเหตุที่ต้องยกเลิกมาตรา 112, ขอเอกสารการลงชื่อต่างๆ และติดตามถ่ายภาพอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่เป็นกิจกรรมเข้าชื่อประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญรับรอง
ในช่วงกลางปี ระหว่างที่มีงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ปรากฏว่ามีบัณฑิต ประชาชนทั่วไป และเยาวชน รวมกันอย่างน้อย 5 ราย ถูก “ห้าม” ไม่ให้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในทางการเมือง โดยมีการยึดเสื้อยืดที่มีข้อความ “ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และยึดป้ายข้อความ “ปริญญาศักดินา” และ “หยุดผลิตซ้ำพิธีกรรมศักดินา #ปริญญาศักดินา” นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่พยายามยึดคืนพื้นที่จากผู้ชุนนุมกลุ่ม NPO No Bill ที่หน้า UN เหตุเพราะอยู่ในเส้นทางเสด็จไปงานรับปริญญาด้วย
นอกเหนือจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งข้อมูลกรณีการถูกติดตามคุกคามที่สืบเนื่องมาจากการใช้ทำโพล (แบบสำรวจความเห็น) ในหลายกรณี เช่น กรณีของ “แบม” ถูกตำรวจติดตามตัวถึงบ้าน สืบเนื่องจากไปร่วมกิจกรรมทำโพลสำรวจความเห็นเรื่องเกี่ยวกับขบวนเสด็จของกลุ่มทะลุวัง, กรณีนักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ซถูกตำรวจนอกเครื่องแบบบุกไปหาถึงที่พักหลังร่วมทำโพลกับกลุ่มทะลุวังที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, กรณีนักกิจกรรมใน จ. สงขลา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรสอบถามข้อมูลหลังไปทำกิจกรรมสำรวจความเห็นเรื่องงบประมาณและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ตลาดกรีนเวย์ ใน อ.หาดใหญ่ และกรณีนักกิจกรรมหญิงวัย 18 ปี ถูกบุคคลอ้างตัวเป็นทหารบุกไปถึงที่บ้านแล้วพูดจาข่มขู่ทำนองว่าถ้าไม่เลิกทำกิจกรรม จะถูกทำให้กลายเป็นบุคคลสูญหาย เนื่องจากได้ทำกิจกรรมสำรวจความเห็นในประเด็นยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เป็นต้น
.
ติดตามคุกคามเพราะแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์สถาบันสถาบันกษัตริย์-รัฐบาลบนโลกออนไลน์
นับแต่ช่วงต้นปี 2565 ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งข้อมูลกรณีการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างน้อย 23 กรณี และการแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นอื่นๆ อีกอย่างน้อย 8 กรณี
ผู้ถูกคุกคามส่วนใหญ่ระบุว่าเมื่อโพสหรือแชร์ข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แล้ว มักจะมีเจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการติดตามคุกคามในรูปแบบโทรศัพท์ติดต่อ มาหาถึงที่บ้าน แล้วแจ้งว่าเนื้อหาของข้อความหรือรูปภาพที่โพส/แชร์นั้นเข้าข่ายการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตัวอย่างเช่น กรณีนักกิจกรรมเยาวชนใน จ.ภูเก็ต, กรณีของ “บังเอิญ” ศิลปินอิสระใน จ.ขอนแก่น ทั้งนี้ ในบางกรณีผู้ถูกคุกคามจะถูกขอความร่วมมือเชิงบังคับให้ลงนามในเอกสารรับรองว่าจะไม่โพสหรือแชร์ข้อความในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อีก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่แชร์ข้อความหรือรูปภาพจากเฟซบุ๊กเพจ KTUK – คนไทยยูเค เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ยังมีผู้ถูกติดตามคุกคามที่เนื่องมาจากการแสดงความเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ด้วย เช่น กรณีนักกิจกรรมเยาวชนหญิงในพื้นที่ภาคใต้โพสข้อความเป็นคำถามถึงอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในกรณีสลายการชุมนุมแยกราชประสงค์ปี 2553, กรณีสื่ออิสระใน จ. ลพบุรี ถ่ายทอดสดสถานการณ์การร้องเรียนของชาวบ้านที่ถูกทหารเวนคืนที่ดิน ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาถึงที่บ้าน และกรณีอดีตนักกิจกรรมทางการเมืองใน จ.แพร่ โพสข้อความตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนจะมีเจ้าหน้าตำรวจสันติบาลเข้าไปหาถึงที่พัก เป็นต้น
.
ติดตามคุกคามประชาชนผู้เคลื่อนไหวประเด็นทรัพยากร-แรงงาน
นอกเหนือจากประเด็นสถาบันกษัตริย์และการเมืองแล้ว ในปี 2565 ที่เพิ่งผ่านไปนี้มีกรณีการถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามเนื่องจากการเคลื่อนไหวในประเด็นทรัพยากรและแรงงานด้วย
จากการติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวประเด็นทรัพยากรพบว่า ในเดือน ก.ย. 2565 มีกรณีการพยายามปิดกั้นการทำกิจกรรม “12ปีแห่งการสู้เหมือง กลุ่มรักษ์บ้านแหง” ของกลุ่มนักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มรักษ์บ้านแหง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน เชียงใหม่ภาค 5 อย่างไรก็ดี สถานการณ์การติดตามคุกคามประชาชน-นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นนี้มีความเข้มข้นอย่างมากในช่วงก่อนการประชุม APEC2022 ดังที่รายงานไปแล้วข้างต้น
ส่วนด้านการเคลื่อนไหวในประเด็นแรงงาน ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งข้อมูลจากเยาวชนรายหนึ่งใน จ. ชลบุรี ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบสังกัดไปหาถึงที่บ้าน เพียงเพราะเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำแรงงาน
.
โดยสรุปแล้ว สถานการณ์การติดตามคุกคาม-ละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2565 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2566 ต่อไป
ประชาชนที่ถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในทุกช่องทาง
.