ตร.ตามประกบ-ถ่ายภาพ 2 นักกิจกรรมอุดรฯ ทั้งงาน แม้เพียงไปร่วมยินดีงานรับปริญญาไกลถึงสกลนคร  

ระหว่างวันที่ 17 – 26 ก.ย. 2565 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีพิธีรับปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2565 โดยเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เป็นผู้มอบปริญญาบัตร กำหนดการระบุให้วันที่ 20 ก.ย. 2565 เป็นวันที่ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีจะเข้ารับปริญาบัตร  ในบรรยากาศที่สมควรจะแสดงความยินดีกับการเรียนจบของคนในครอบครัวและคนรู้จัก กลับมีนักกิจกรรมชาวอุดรธานีอย่างน้อย 2 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตามประกบความเคลื่อนไหว และคอยถ่ายภาพอยู่แทบตลอดเวลาที่อยู่ในงาน อ้างว่าอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง แม้นักกิจกรรม 2 ราย จะเปิดใจว่าอยากไปร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิต และไม่คิดเตรียมใจมาเพื่อเจอสถานการณ์ถูกคุกคาม

ไปจุดไหนก็พบตำรวจอยู่ในระยะสายตา

อาร์ม (นามสมมติ) เยาวชนนักกิจกรรมวัย 18 ปี จากกลุ่มกอผือรื้อเผด็จการ เดินทางจากอุดรธานีพร้อมกับรุ่นพี่คนหนึ่งไปที่จังหวัดสกลนคร ระยะทางราว 170 กิโลเมตร เพื่อไปงานรับปริญญา จัดอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อาร์มไปถึงตั้งแต่ช่วง 06.00 น. ขณะนั้นจุดตรวจค้นที่หน้างานยังตั้งไม่เสร็จ ก่อนที่รุ่นพี่ของอาร์มจะบอกว่า ลืมของไว้ในรถ อาร์มจึงอาสาเดินกลับไปเอาให้ 

อาร์มเดินกลับเข้ามาอีกรอบในขณะที่จุดตรวจค้นตั้งเสร็จแล้ว จึงยื่นบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่นำไปสแกนเพื่อจะผ่านจุดตรวจ แต่อาร์มก็พบสิ่งผิดสังเกต เมื่อเห็นว่าเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจใช้เวลากับบัตรของเขานานกว่าของประชาชนคนอื่นๆ ที่พอสแกนเสร็จก็จะได้สติ๊กเกอร์สีฟ้าติดไว้กับตัวและได้เข้างานเลย 

จากนั้นอาร์มจึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ส่งบัตรประชาชนของเขาต่อไปยังเจ้าหน้าที่ที่อาวุโสกว่า ก่อนที่จะเรียกตำรวจมาพบกับอาร์ม และตำรวจพาไปยังโต๊ะที่เอาไว้สอบสวน ซึ่งอาร์มสังเกตเห็นว่ามีคนเข้าแถวก่อนหน้าเขาอยู่หนึ่งคน และอาร์มได้ยินว่าบุคคลนั้นเคยถูกดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย อาร์มเห็นเจ้าหน้าที่สอบประวัติบุคคลดังกล่าวราว 5 นาที ก่อนตำรวจให้สติ๊กเกอร์สีแดง และอนุญาตให้เข้างานได้

พอมาถึงคิวของอาร์ม ตำรวจนอกเครื่องแบบมารุมล้อมราว 4-5 นาย  ก่อนเริ่มสอบว่า อาร์มเป็นนักกิจกรรมใช่หรือไม่ และทำกิจกรรมเกี่ยวกับอะไร อาร์มตอบไปว่า เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเมืองทั่วไปและประเด็นทางสังคม ตำรวจถามย้ำเพื่อให้แน่ใจว่าอาร์มไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมต่อต้านกษัตริย์ หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อาร์มก็ตอบไปตามตรงว่าพักหลังก็ไม่ได้ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์เท่าไหร่นัก

อาร์มเริ่มตกเป็นที่สนใจของประชาชนที่มางานรับปริญญาว่า ทำไมถึงมีตำรวจหลายนายเข้ามาพูดคุยด้วย ก่อนตำรวจจะคืนบัตรประชาชนให้กับอาร์มและให้อาร์มติดสติ๊กเกอร์สีส้ม อาร์มทราบภายหลังจากตำรวจว่าสติ๊กเกอร์ที่แจกบริเวณจุดตรวจค้นจะมีอยู่ 3 สี สีฟ้าหมายถึงบุคคลทั่วไป สีส้มคือบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง และสีแดงคือบุคคลอันตราย 

จากนั้นอาร์มจึงเดินเข้าไปบริเวณงาน โดยมีตำรวจ 3 นายเดินประกบ เมื่ออาร์มเดินเอาบัตรประชาชนไปยื่นให้รุ่นพี่ และคุยกับรุ่นพี่ราว 3 นาที ตำรวจที่เดินตามมาด้วย บอกอาร์มว่าให้ไปที่จุดอำนวยการ เมื่ออาร์มเดินไปถึงจึงพบตำรวจนอกเครื่องแบบที่น่าจะเป็นระดับผู้บังคับบัญชา ตำรวจนายนั้นกล่าวกับอาร์มว่า ขอโทษที่เจ้าหน้าที่เข้าใจผิดว่าต้องมาติดตามอาร์มทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำ เพราะในประวัติระบุว่าอาร์มเป็นนักกิจกรรมการเมืองทั่วไปไม่ได้มีลักษณะเป็นแกนนำ หรือเคลื่อนไหวต่อต้านมาตรา 112 อาร์มจึงทราบจากตำรวจว่าหากเป็นคนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ก็สามารถเข้ามาในงานนี้ได้ แต่จะมีตำรวจคอยตามประกบตลอดเวลา แต่สุดท้ายอาร์มก็ถูกติดตามอยู่ตลอดงาน

จากนั้นราว 20 นาที ขณะเดินคุยโทรศัพท์อยู่ในงาน มีตำรวจอีก 3 นาย เดินเข้ามาถึงตัวอาร์ม ก่อนแจ้งว่าให้ไปที่จุดอำนวยการอีกครั้ง ครั้งนี้พบกับตำรวจอีกนายก่อนจะถูกซักถามประวัติอยู่พักหนึ่งจึงปล่อยอาร์มออกมา ขณะนั้นอาร์มเริ่มรู้สึกอึดอัดเพราะเดินไปจุดไหนก็จะพบตำรวจอยู่ในระยะสายตาตลอด แม้แต่ตอนไปซื้อกาแฟก็ยังมีตำรวจคอยนั่งดูอยู่หลายนาย โดยอาร์มสังเกตว่าตอนแรกไม่มีคนในร้านเลย แต่พอสั่งกาแฟแล้วนั่งลงกินกลับมีตำรวจหลายนายมานั่งในร้าน

อาร์มรู้สึกระแวงและไม่ปลอดภัย รับรู้ได้ถึงการคุกคาม และรู้สึกว่าตนเป็นคนผิดปกติเพราะคงไม่มีใครที่จะเดินอยู่ในงานรับปริญญาแล้วมีตำรวจเดินตาม เมื่อรุ่นพี่เสร็จจากพิธีรับปริญญาในช่วง 14.00 น. อาร์มจึงเดินทางกลับบ้านที่ จ.อุดรธานี ทันที

สำหรับอาร์มเมื่อปีที่แล้วเคยไปงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ก็ไม่พบปัญหาแบบที่เกิดขึ้นที่สกลนครแต่อย่างใด  ปัจจุบันเขายังทำกิจกรรมกับกลุ่มกอผือรื้อเผด็จการ ในประเด็นทั้งสิ่งแวดล้อม ประเด็นปัญหาในพื้นที่ จ.อุดรธานี ร่วมไปกับการเป็นภาคีเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ทั่วประเทศ

วันที่ควรจะรู้สึกยินดี แต่กลับพบเจอเรื่องรบกวนจิตใจ 

กูล (นามสมมติ) อายุ 22 ปี จากกลุ่มดึงดิน  เล่าว่าขณะไปงานรับปริญญาของพี่ชายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเช่นกัน โดยเขาไปถึงจุดตรวจค้นในช่วง 12.00 น. หลังจากยื่นบัตรประชาชนไปพบว่าเจ้าหน้าที่สแกนบัตรไม่ได้ เจ้าหน้าที่จึงตามตำรวจมาตรวจสอบ ตำรวจดูรายชื่อและดูใบหน้ากูลแล้วแจ้งว่า ชื่อนี้อยู่บัญชีของบุคคลเฝ้าระวัง และให้ติดสติกเกอร์สีส้ม ก่อนจะให้ตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่ง เดินไปกับกูลในขณะที่เข้าไปงาน ตอนนั้นคนในครอบครัวของกูลที่ไปด้วยรวมกัน 7 คน เริ่มรู้สึกถึงบรรยากาศที่ไม่ดี จากที่ตำรวจมาเข้ามา 1 นาย เพิ่มเป็น 2 นาย 3 นาย จนกูลเริ่มนับจำนวนไม่ได้ว่ามีตำรวจตามประกบและคอยถ่ายภาพเขาและครอบครัวรวมทั้งหมดกี่นาย กูลรู้สึกได้ว่าถูกติดตามอยู่ตลอด เหมือนมีสายตาหลายคู่คอยจดจ้องเขา

นอกจากนั้นกูลยังรู้สึกว่าตัวเองถูกทำให้เป็นคนไม่ปกติ ตั้งแต่มีตำรวจมาบอกว่าเป็นบุคคลเฝ้าระวัง และยังต้องติดสติ๊กเกอร์ที่แตกต่างจากคนอื่นอีก ทั้งที่เป็นวันที่คนในครอบครัวควรจะรู้สึกยินดี แต่กลับมาพบเจอเรื่องรบกวนจิตใจจากการถูกคุกคามติดตาม ขณะที่คนที่บ้านก็พูดเชิงตำหนิกูลว่า เพราะไปทำอะไรมา ถึงต้องมาถูกติดตามแบบนี้

หลังถ่ายภาพร่วมกัน กูลและครอบครัวกลับบ้านที่ จ.อุดรธานี ไปในช่วงเวลา 14.00 น. อย่างไรก็ตามระหว่างนั่งรถกลับบ้านมีตำรวจจาก สภ.โนนสูง โทรศัพท์มาหาพ่อของกูลเพื่อสอบถามว่าจะกลับกันหรือยัง กลับกันตอนไหน พ่อของกูลจึงโต้ตอบไปว่าลูกชายไม่ได้ทำอะไร ทำไมต้องมาตามกันด้วย มันทำให้เสียบรรยากาศ และเป็นการรบกวนจิตใจกัน

ปัจจุบันกูลยังทำกิจกรรมกับกลุ่มดึงดินในประเด็นการเมือง ล่าสุดเป็นกิจกรรมชูป้ายจับตาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ประยุทธ์พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 ก.ย. 2565 ควบคู่ไปกับทำงานที่ร้านขายเครื่องดนตรี ในตัวเมืองอุดรธานี 

แทบทุกครั้งที่มีงานรับปริญญาบัตร ก็มักจะมีข่าวทั้งการติดตามคุกคามนักกิจกรรมและประชาชนที่เคยออกมาเรียกร้องทางการเมืองในพื้นที่นั้นๆ อยู่เสมอๆ เพื่อปรามการแสดงออกในช่วงพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จ มากกว่านั้นที่วันรับปริญญายังพบเห็นการตั้งจุดตรวจ ที่มีการคอยติดตามดูว่ามีนักกิจกรรมหรือบุคคลที่เคลื่อนไหวตรงข้ามกับรัฐเข้ามาอยู่ในงานหรือไม่ มีหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ตำรวจตามประกบบุคคลที่ตั้งใจจะไปร่วมแสดงความยินดีกับญาติหรือคนรู้จักที่จบการศึกษา โดยที่พวกเขาเองก็ไม่มีความคิดจะไปแสดงออกหรือเคลื่อนไหวแต่อย่างใด  เหล่านี้นับได้ว่าเป็นสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ

X