ราษฎรอีสานคึกคัก 7 จังหวัด รำลึก 24 มิถุนา ตร.ทั้งตามถ่ายภาพ ขู่เอาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งไม่อยากให้แตะต้องสถาบันกษัตริย์

24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ในอดีตวันที่ 24 มิถุนา ของทุกปียังเป็นวันเฉลิมฉลองชาติไทยหรือวันชาติไทย ก่อนจะถูกยกเลิกไปในช่วงสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครองอำนาจ อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีการจัดกิจกรรมรำลึกและเฉลิมฉลองในทุกปี ทั้งในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่หลัก และในหลายจังหวัดทั่วประเทศ บ้างเป็นงานเสวนาหรือการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ตามหามรดกยุคคณะราษฎรที่หายไป ในอีกด้านหนึ่งกระแสการรำลึกวันที่ 24 มิถุนายน มาจากการที่รัฐพยายามลบความทรงจำเกี่ยวกับวัตถุและอุดมการณ์ในยุคคณะราษฎร กลุ่มประชาชนและนักเรียนนักศึกษาจึงใช้วิธีจัดกิจกรรมเพื่อโต้กลับสิ่งที่รัฐต้องการให้ลืม
.
ในช่วงปีหลังในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายๆ กลุ่มจึงจัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลรวมถึงให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เช่นเดียวกับปีนี้ที่หลายจังหวัดในภาคอีสานที่ ขอนแก่น, อุดรธานี, สกลนคร, อุบลราชธานี, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม และนครราชสีมา มีการจัดงานรำลึกควบคู่ไปกับการปราศรัยเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและประเด็นเรียกร้องทางสังคมร่วมสมัยในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย
.
++ ราษฎรขอนแก่นจัด “ทวงคืนวันชาติ หยุดผูกขาดรัฐธรรมนูญ”
ที่จังหวัดขอนแก่น มีการจัดชุมนุมโดยกลุ่มราษฎรขอนแก่น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรม นักศึกษาและนักเรียน ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 23 มิถุนายน 2564 บริเวณตึกคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มีกิจกรรมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ “ขอคนละชื่อรื้อระบบประยุทธ์” และให้นักศึกษา มข. ร่วมลงชื่อเรียกร้องการเยียวยาค่าเทอม 30 % จากมหาวิทยาลัย มีการปราศรัยในประเด็นหยุดระบอบ คสช. และวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงาน ตลอดจนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล รวมไปถึงการแสดง Performance Art ที่สะท้อนปัญหาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ในฐานะเครื่องสืบทอดอำนาจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของครูและนักเรียน
.
ทั้งนี้ ระหว่างจัดกิจกรรมตั้งแต่เวลา 17.00 – 20.00 น. มีเจ้าหน้าที่ รปภ.มข. พยายามสอบถามตลอดว่าจะจัดกิจกรรมเสร็จสิ้นช่วงไหน และไม่อยากให้ขยับเวทีเข้าใกล้ตัวตึกมาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 10 นาย คอยถ่ายภาพกิจกรรมและผู้คนที่เข้ามาร่วมชุมนุมอยู่ตลอด
วันถัดมา 24 มิถุนายน 2564 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มราษฎรขอนแก่นเริ่มตั้งเวทีปราศรัยตั้งแต่เวลา 17.00 น. โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายความมั่งคง ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ยืนสังเกตการณ์และถ่ายภาพผู้เดินทางมาร่วมชุมนุม
.
ก่อนเริ่มงาน พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสารีกิจ ผู้กำกับ สภ.เมืองขอนแก่น พร้อมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และปลัดอำเภอเมืองขอนแก่น เข้าชี้แจงกับกลุ่มราษฎรขอนแก่นว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 ในจังหวัดขอนแก่นขณะนี้ อยากให้ผู้จัดชุมนุมกำชับผู้เข้าร่วมชุมนุมให้มีการเว้นระยะห่าง โดยให้แต่ละคนใช้พื้นที่ 4 ตารางเมตร ซึ่งจากการวัดพื้นที่ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สามารถจุคนได้ 93 คน หากมีผู้ร่วมชุมนุมมากกว่านั้น ต้องขยับออกจากบริเวณดังกล่าว และให้ทางราษฎรขอนแก่นตั้งจุดคัดกรอง และลงทะเบียนชื่อ นามสกุล และที่อยู่ ผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยทางกลุ่มผู้จัดตอบตกลงว่าจะทำตามคำชี้แจง
.
จากนั้น ผู้กำกับได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ว่าการชุมนุมวันนี้อาจเสี่ยงต่อความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ นอกจากนี้ตำรวจยังกำชับเรื่องป้ายและข้อความบนป้ายว่า ไม่ให้พาดพิงหรือโยงไปถึงสถาบันกษัตริย์
.
หลังจากนั้นกลุ่มราษฎรขอนแก่นเริ่มเปิดเวทีปราศรัย “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ขึ้นปราศรัยเป็นคนแรก พูดถึงระบอบประยุทธ์ที่เกี่ยวโยงกับอำนาจนิยมที่แฝงฝังในสังคมไทยมายาวนาน หลังการปราศรัย พ.ต.อ.ปรีชา และตำรวจอีกหลายนาย เดินมาแจ้งกับครูใหญ่ว่า ไม่อยากให้พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ และตำรวจต้องการให้เอาป้ายข้อความ “ลดงบกษัตริย์” ที่แขวนอยู่บริเวณที่ชุมนุมออก เพราะไม่อยากให้คนถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ด้านครูใหญ่ยืนยันไม่เอาป้ายดังกล่าวออก เพราะทางกลุ่มต้องการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องจัดชุมนุมวันนี้
นอกจากการปราศรัยกลุ่มราษฎรยังอ่านประกาศคณะราษฎร 2475 พร้อมประกาศยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร 63 โดยไม่มีการลดเพดาน ทั้งประกาศจะยกร่างรัฐธรรมนูญของชาวอีสาน ก่อนยุติกิจกรรมในเวลา 21.00 น.
.
++ โคราช ทำ Performance Art เฉลิมฉลองวันชาติและระลึกถึงคณะราษฎร ส่วนที่อุดรธานี ตามหาหมุดคณะราษฎร ปราบอำนาจประยุทธ์”
ที่จังหวัดนครราชสีมา เวลา 18.00 – 19.00น. ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี กลุ่ม Korat Movement จัด Performance Art เฉลิมฉลองวันชาติและระลึกถึงคณะราษฎร ในงานมีการประกาศคณะราษฎร การแสดงจุดยืนไม่เอารัฐธรรมนูญ 2560 มีการเผารัฐธรรมนูญ2560 เพื่อแสดงถึงการไม่เอารัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร ทั้งนี้ระหว่างกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยถ่ายภาพอยู่ราว 10 นาย
.
ส่วนที่จังหวัดอุดรธานี บริเวณอดีตอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเก่า (หน้าสถานีรถไฟอุดรธานี) กลุ่มอุดรพอกันทีจัดกิจกรรมตามหาหมุดคณะราษฎรที่ซ่อนอยู่ทั่ว “ทุ่งศรีเมือง” จำนวน 9 หมุด กิจกรรมถามตอบแลกเปลี่ยนความรู้ประชาธิปไตย และตั้งโต๊ะลงชื่อ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” โดยกิจกรรมเริ่มเวลา 17.00 น. เสร็จสิ้นราว 20.00 น. ทั้งนี้ที่อุดรธานีมีการชูป้ายผ้ายกเลิก 112 อีกด้วย โดยระหว่างกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์บันทึกภาพนิ่งและวีดีโอไว้อีกด้วย
.

++ อุบลราชธานี เช้าอ่านประกาศราษฎร เย็นจัดกิจกรรม “2475 สู่ราษฎรอุบลฯ”
ตั้งแต่ช่วงเช้าเวลา 6.00 น. บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีการอ่านประกาศราษฎร และชูป้าย “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง…”
จากนั้นในช่วงเย็นบริเวณศาลหลักเมืองคณะอุบลปลดเอกจัดกิจกรรม “89 ปี คณะราษฎร 2475 สู่ราษฎรอุบล 2564” เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. โดยมีการตั้งโต๊ะ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” และปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานรัฐบาล โดยเฉพาะการบริหารวัคซีคโควิด-19 จบด้วยกิจกรรมเปิดแฟลชร้องเพลงวันชาติ 24 มิถุนา และยุติกิจกรรมในเวลา 19.00 น.
ตลอดกิจกรรมมีตำรวจ สภ.เมืองอุบลราชธานี ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เฝ้าติดตามสังเกตการณ์กว่า 30 นาย และมีตำรวจนอกเครื่องแบบกระจายกันอยู่บริเวณรอบทุ่งศรีเมือง
.
++กาฬสินธุ์ จัดจิตวิญญาณคณะราษฎรไม่มีวันตาย มหาสารคามรำลึกครบรอบ 89 ปี อภิวัฒน์สยาม
บริเวณวงเวียนพระยาชัยสุนทร ตั้งแต่เวลา 16.00 น.-20.00 น. กลุ่มเสรีชนคนกาฬสินธุ์จัดกิจกรรม “จิตวิญญาณคณะราษฎรไม่มีวันตาย” มีการปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล และระบอบเผด็จการที่สืบทอดมาจาก คสช., ร้องเพลง และอ่านแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 ก่อนอ่านแถลงการณ์ราษฎร เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ทุกมาตรา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบคอยถ่ายภาพบริเวณรอบงานอยู่ราว 10 นาย
.
ขณะเดียวกันที่จังหวัดมหาสารคาม กลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. และพรรคชาวดิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อ่านแถลงการณ์รำลึกครบรอบ 89 ปี อภิวัฒน์สยาม และยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากการบริหารงานล้มเหลวของรัฐบาลในสถานการณ์โควิด -19 โดยใช้เวลาสั้นๆในช่วง 17.00 น. – 17.15 น.
.
นอกจากนี้ที่จังหวัดสกลนคร ระหว่างเวลา 17.45 – 18.30 น. บริเวณสวนสาธารณะหลังโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล ประชาชนรวมตัวกันในชื่อ ‘แดนดินถิ่นขบถ’ จัดกิจกรรมรำลึก 24 มิถุนายน ในรูปแบบแฟลชม็อบ มีการปราศรัยถึงความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ สว.250 คน ยุติการทำงาน นอกจากนี้ยังปราศรัยเล่าถึงนักต่อสู้ประชาธิปไตยชาวสกลนครที่ถูกรัฐบาลเผด็จการสั่งประหารชีวิต รวมทั้งมีนักเรียนร่วมปราศรัยถึงปัญหาในระบบการศึกษาและร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติฯ อีกด้วย
.
สำหรับการชุมนุมในทุกจังหวัด ทุกกลุ่มต่างทราบดีถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 จากการสังเกตการณ์และสอบถามข้อมูลจึงพบว่ามีการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีการตั้งจุดคัดกรองเพื่อลงทะเบียน และประกาศเน้นย้ำเรื่องการรักษาระยะห่าง งดการสัมผัสตัว รวมถึงกำชับให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลา
.
อย่างไรก็ดี การชุมนุมในหลายๆ ที่ยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมถึงที่ไม่ทราบสังกัดคอยบันทึกภาพและวีดีโอการชุมนุมวันที่ 24 มิถุนายน ไว้อยู่ตลอด รวมถึงคอยเตือนเรื่องการจะเอาผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาชุมนุมอื่นๆ ซึ่งภายหลังหากมีการดำเนินคดีในข้อหาลักษณะดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะติดตามและรายงานสถานการณ์ต่อไป
X