บ่มีไผเคลื่อนไหว: แต่ตำรวจคุกคาม ตามติด เยาวชน-นักกิจกรรม เพียงเพราะ ‘เจ้า’ เสด็จอุดรฯ 

กลางเดือน ม.ค. 2565 เว็บไซต์กลุ่มสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี ระบุว่า จังหวัดมีการเตรียมประชุมความพร้อมเพื่อรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ได้แก่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา, เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ และพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ในระหว่างวันที่ 25-31 ม.ค. 2565

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะของการรับเสด็จบรมวงศานุวงศ์ทั้งสามช่วง 1 สัปดาห์ ของปลายเดือน ม.ค. หรือย้อนไปก่อนหน้านั้น กลับมีประชาชนและเยาวชนกลุ่มหนึ่งถูกติดตามคุกคามจนถึงระรานชีวิตปกติประจำวันส่วนตัว เพียงเพราะเกรงว่าพวกเขาจะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือก่อกวนความสงบเรียบร้อยในระหว่างการประทับอยู่ที่อุดรธานี

“แน่นอนว่าผมถูกคุกคามและผมก็ยอมรับกับมันได้ ผมแค่ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ไปล้ำเส้นเพื่อนๆ” หนึ่งในนักกิจกรรมทางการเมืองกล่าวไว้ แม้การถูกรัฐติดตามครั้งนี้จะเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ เขาเพียงไม่อยากให้คนอื่นๆ ถูกกระทำดุจเดียวกัน โดยเฉพาะเพื่อน

ถึงที่สุดยังมีข้อเคลือบแคลงอีกมากทั้งจากนักเรียน ม.ปลาย รายหนึ่งที่พยายามถามรายละเอียดของการมาเยือน แต่ตำรวจที่มาบ้านเธอกลับขอตัวกลับก่อนโดยไม่อธิบายถึงสาเหตุของการมาครั้งนี้ หรือแม้แต่นักศึกษาที่ร่ำเรียนอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด แต่กลับโดนร่างแหของการหว่านภัยคุกคามถึงพ่อที่อยู่บ้านในหนองบัวลำภู จังหวัดที่อยู่ติดอุดรฯ อันสะท้อนถึงปัญหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญของประเทศและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปจังหวัดนั้นๆ โดยที่พวกเขาและเธอที่ถูกติดตามไม่ได้รู้เห็นหรือให้ความสำคัญต่อการมาเยือนในครั้งไหนใดๆ เลย 

การขอพบเจอใครสักคน มารยาทนัดแนะวันเวลาเป็นสิ่งสำคัญ

วันที่ 1 ก.พ. 2565 พชร สารธิยากุล หรือ ‘แม็ก’ นักกิจกรรมกลุ่มอุดรพอกันที วัย 25 ปี เดินทางไป สภ.เมืองหนองบัวลำภู เพื่อแจ้งความและให้ร้อยเวรลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 มีชาย 5 คน แต่งตัวคล้ายเจ้าหน้าที่ตํารวจนอกเครื่องแบบและพกพาอาวุธปืน เข้าไปสอบถามหาตัวเขาในที่ทํางานแห่งหนึ่งในตัวเมืองหนองบัวลำภู แต่ไม่พบตัวเขา พบเพียงพนักงานคนอื่น ก่อนเพื่อนร่วมงานของแม็กจะสอบถามกลุ่มชายดังกล่าวว่า เป็นใคร มีธุระอะไรกับแม็ก แต่ชายทั้งห้ารายกลับไม่แสดงตัวและไม่บอกสังกัด รวมถึงไม่แจ้งจุดประสงค์ที่มาหา แจ้งเพียงว่าต้องการพบและขอเบอร์ติดต่อแม็กไป 

แม็ก พชร ขณะไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.เมืองหนองบัวลำภู

นอกจากนั้นยังมีการถ่ายภาพ และพยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวของแม็ก แต่ทางเพื่อนร่วมงานไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ ไป เป็นเหตุให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวรู้สึกไม่พอใจ และเดินออกจากที่ทํางานแห่งนั้นไป แม็กแจ้งกับตำรวจผู้รับเรื่องว่า เขารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย รู้สึกถึงการถูกคุกคามจากกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่าย จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน

อย่างไรก็ดี แม็กอดสงสัยไม่ได้ว่า กลุ่มชายคนดังกล่าวรู้ได้อย่างไรว่าเขากำลังจะย้ายที่ทำงานในเครือบริษัทเดียวกันจากสำนักงานประจำในเมืองอุดรธานีมาที่จังหวัดหนองบัวลำภู โดยวันนั้นแม็กพยายามจะติดต่อขอพบตำรวจสืบสวน สภ.เมืองหนองบัวลำภู และฝ่ายสืบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู แต่ตำรวจที่ สภ.เมืองหนองบัวลำภู กลับแจ้งว่า ชุดสืบทั้งของ สภ.เมืองหนองบัวลำภู และตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู อยู่ระหว่างการกักตัวเพื่อดูอาการติดเชื้อโควิด-19 หลังตำรวจสายสืบนายหนึ่งติดเชื้อโควิดจากการปฏิบัติภารกิจ

สำหรับแม็ก เมื่อมีกิจกรรมหรือการชุมนุมทางการเมืองในอุดรธานี ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มอุดรพอกันทีเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา เขามักตกเป็นเป้าในการติดตามคุกคามเสมอๆ แม้ในระยะหลังเขาไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากนัก 

“สำหรับเพื่อนร่วมงานของผมที่ได้เจอกับชายทั้ง 5 คน วันนั้น พวกเขาไม่ได้รู้สึกตกใจอะไร เพียงแค่สงสัยว่าการที่คนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะมาหาประชาชนสักคนควรจะต้องมีวิธีการเข้าหาบุคคลนั้นในลักษณะที่มีมารยาทกว่านี้หรือไม่ ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้รู้สึกเคืองโกรธอะไรนักกับสิ่งที่พบเจอ เพียงแต่อยากถามไปยังผู้บังคับบัญชาของกลุ่มคนเหล่านั้นว่า ทำไมปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ในบ้านเมืองเราการมาขอพบเจอใครสักคน มารยาทในการนัดแนะวันเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ผมคงไม่กล่าวไปมากกว่านี้”  

พี่มาหาหนูใช่ไหม วันนี้หนูไม่ได้ไปไหนหรอก

กี้ (นามสมมติ) อายุ 18 ปี นักเรียน ม.6 อีกสมาชิกกลุ่มอุดรพอกันที เล่าว่า ถูกติดตามตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2565 ก่อนที่จะมีการเสด็จ โดยวันดังกล่าวกี้ทราบจากปู่ที่อาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านย่านชานเมืองอุดรฯ ว่า มีตำรวจไปหาที่บ้าน แต่ขณะนั้นกี้รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล เนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ตำรวจจึงขอเบอร์โทรศัพท์ของปู่ไว้ และโทรติดตามสอบถามหากี้อยู่ตลอด ทั้งพยายามให้ปู่ส่งภาพให้ทางไลน์เพื่อเช็คความเคลื่อนไหวของกี้ว่า อยู่ที่บ้านหรือไม่ หรือไปที่ไหน โดยกำชับปู่ไม่ให้บอกเรื่องนี้กับกี้  แม้ว่าปู่ได้ย้ำกับตำรวจเสมอว่า กี้จะอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อรักษาโควิด 

จนถึงช่วงวันที่บรมวงศานุวงศ์ประทับที่อุดรฯ วันที่ 29 ม.ค. 2565 วันนั้นกี้ออกจากโรงพยาบาลมากักตัวดูอาการที่บ้านแล้ว ปรากฏมีรถยนต์คันหนึ่งขับมาจอดแถวหน้าบ้าน ตำรวจในเครื่องแบบนายหนึ่งเดินลงมา กี้จึงเดินลงไปถามว่า มาหาใคร ตำรวจนายนั้นบอกว่า มาจาก สภ.นาข่า โดยไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวหรือเอกสารราชการยืนยัน กี้ทราบภายหลังว่าทุกครั้งที่ตำรวจมาก็ไม่มีการแสดงเอกสารที่ระบุเหตุของการมาหาเธอที่บ้าน 

วันนั้นตำรวจตอบว่า มาหาปู่ของกี้ แต่กลับถามกี้ด้วยว่า ช่วงนี้ได้ไปเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไหนหรือไม่ กี้จึงตอบไปว่า “พี่มาหาหนูใช่ไหม วันนี้หนูไม่ได้ไปไหนหรอก” เมื่อกี้จะถามอะไรคืนไปบ้างเพื่อทราบรายละเอียด ตำรวจนายนั้นกลับรีบขอตัวกลับก่อน 

ก่อนหน้านี้ช่วงก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2564 กี้และเพื่อนเยาวชนนักกิจกรรมในอุดรธานีจำนวนหนึ่ง ถูกตำรวจติดตามเพื่อปรามการเคลื่อนไหวอย่างหนัก ตำรวจพยายามรุกไล่ถามคนในครอบครัวเยาวชนว่าอยู่ที่ไหน และจะทำกิจกรรมแสดงออกในระหว่างนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่หรือไม่ 

กี้เคยเปิดเผยว่าส่วนตัวไม่ได้กังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะมีวิธีรับมือ แต่เป็นห่วงว่าจะเกิดการคุกคามกับคนในครอบครัวมากกว่า

จะออกไปเคลื่อนไหวไหม จะไปก่อกวนคนที่มาอุดรฯ หรือไม่?

กูล (นามสมมติ) อายุ 20 ปี นักศึกษาสาขาช่างยนต์ของวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอุดรธานี และเป็นนักกิจกรรมกลุ่มดึงดิน เล่าว่า เขาเริ่มต้นทำกิจกรรมตั้งแต่กลางเดือนเมษายนปี 2564 กับกลุ่มกอผือรื้อเผด็จการ ก่อนมาปักหลักกับกลุ่มดึงดิน เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหว ตั้งแต่นั้นมากูลเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในอุดรฯ ทุกครั้ง 

ภาพกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองที่กลุ่มดึงดินเคยจัด ภาพจากเฟซบุ๊กดึงดิน

กูลเปิดเผยว่า เขารู้สึกว่าน่าจะถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐในหลายๆ ครั้งที่มีบุคคลสำคัญของประเทศมาเยือนอุดรฯ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่เห็นชัดที่สุดและมีการเผชิญหน้ากันอย่างเป็นทางการ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 24 ม.ค. – 1 ก.พ. 2565 กูลถูกชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบมาติดตามแบบที่เขารู้ตัว มีการถ่ายภาพบ้านของเขาในหมู่บ้านที่ห่างจากอำเภอเมืองราว 25 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของ สภ.โนนสูง 

วันที่ 24 ม.ค. 2565 หลังเผชิญหน้ากับชายที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาถ่ายภาพที่บ้านและมาสอบถามหากูลถึง 4 ครั้ง โดยไม่เคยแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ ทำให้พ่อของกูลไม่สบายใจ และอยากให้เขาไปคุยกับตำรวจเพื่อทำข้อตกลงว่า จะไม่มาที่บ้านอีก กูลเล่าอีกว่า “ท่าทีคือมาดูว่าผมอยู่บ้านหรือไม่ จะออกไปเคลื่อนไหวไหม จะไปก่อกวนคนที่มาอุดรฯ หรือไม่” 

โดยวันนั้นกูลเข้าไปวิทยาลัยเพื่อทำเอกสารเรื่องฝึกงาน พ่อจึงโทรบอกกูลให้ไปพูดคุยกับตำรวจ ต่อมาช่วงเย็น กูลและพ่อจึงไปที่ สภ.โนนสูง หลังพูดคุยกัน ตำรวจตกลงด้วยวาจาว่าจะไม่ไปอีก แต่หากจะไปจะโทรศัพท์แจ้งล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม ตำรวจแจ้งว่า จะไปที่บ้านจนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2565 เพื่อถ่ายภาพรายงานผู้บังคับบัญชา 

กูลบอกที่บ้านตลอดเวลาจะทำกิจกรรมทางการเมือง และเป็นพ่อและแม่ที่ไม่ค่อยสบายใจหากมีตำรวจไปที่บ้าน กลัวว่าวันใดวันหนึ่งกูลอาจถูกกระทำด้วยความรุนแรง ส่วนตัวกูลเองเขายอมรับความเสี่ยงได้เพราะเชื่อว่าการแสดงออกทางการเมืองที่ผ่านมานั้น เขายังไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมายเลย

เพชร (นามสมมติ) อายุ 20 ปี  อีกหนึ่งผู้ก่อตั้งกลุ่มดึงดิน เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองปี 2563 กับกลุ่ม Korat Movement ขณะเรียนอยู่ที่นครราชสีมา และกับกลุ่มอุดรพอกันที เมื่อย้ายกลับมาอุดรฯ เพชรเล่าว่า ขณะเขาไปที่ สภ.โนนสูง กับกูลและพ่อ เขาได้ทราบจากตำรวจว่า ช่วงวันที่ 23-24 ม.ค. ที่ผ่านมา มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปที่บ้านของเขาใน ต.โนนสูง อ.เมือง ซึ่งเพชรพักอาศัยอยู่คนเดียว ตำรวจอ้างว่าคนที่ไปเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ โดยไปถ่ายภาพส่งให้ผู้บังคับบัญชา

เพชรคาดว่าตลอดสัปดาห์นั้นตำรวจน่าจะมาที่บ้านเขาในลักษณะคล้ายกับที่ไปบ้านของกูล เพื่อจับความเคลื่อนไหวว่าเขาอยู่ที่ไหน แต่เป็นเพชรเองที่ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน เพราะเดินทางไปทำกิจกรรมลงพื้นที่ในที่อื่นๆ อยู่ตลอด

สำหรับเพชรครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาทราบว่าถูกติดตามคุกคามจากตำรวจ เขาสะท้อนความรู้สึกออกมาว่า “ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน แต่กลายเป็นว่าชินกับมัน ทั้งที่ไม่ควรรู้สึกชินชากับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องไม่ปกติ แน่นอนว่าผมถูกคุกคามและผมก็ยอมรับกับมันได้ ผมแค่ไม่อยากให้ไปล้ำเส้นของเพื่อน ยกตัวอย่างของกูล ในเมื่อพ่อแม่ของเขาไม่อยากให้ไปที่บ้าน ก็ไม่ควรไป เมื่อคุยตกลงกันแล้วก็ควรต้องจบตรงนั้น ไม่งั้นเราก็จะออกมาแสดงออกเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ถูกกระทำ วันนั้นจบด้วยว่า ถ้าจะไปต้องแจ้งกับที่บ้านก่อน ส่วนของผมถ้าจะไปก็ไปเลย เพราะบ้านไม่มีใครอยู่”

สำหรับกลุ่มดึงดินทั้งกูลและเพชรเล่าว่า เป็นกลุ่มนักกิจกรรมในจังหวัดอุดรธานี มีกิจกรรมหลักๆ ทำเรื่องปัญหาชาวบ้าน คนจนเมือง คนไร้บ้าน เน้นไปทางประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานเฉพาะถิ่น รวมทั้งเรียกร้องตามข้อเสนอทางการเมืองในปัจจุบันในประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปด้วย 

สมาชิกดึงดินเล่าอีกว่า กลุ่มเกิดจากความต้องการดึงคนที่อยู่ใต้ดินออกมาให้สังคมรู้ถึงความจริงและดึงให้พ้นจากสภาพที่เผชิญอยู่ คือดึงดินให้สูงขึ้น พวกเขาตอบตรงกันต่อการถูกคุกคามว่า “สำหรับการมีคนมาตามที่บ้านทำให้ไม่สบายใจ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็พร้อมเผชิญ เพราะกิจกรรมก็ต้องทำต่ออยู่แล้ว” 

ผมเกี่ยวอะไร! ไม่ได้ว่างพอจะมาใส่ใจใครเดินทางไปอุดรฯ  

วันที่ 28 ม.ค. 2565 คิว (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลว่า ช่วงบ่ายวันดังกล่าวพ่อของเขาซึ่งอยู่ที่บ้านที่หนองบัวลำภู โทรมาสอบถามว่า ช่วงนี้ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองอะไรหรือไม่ เพราะมีตำรวจไปหาและสอบถามว่าช่วงนี้คิวได้ไปชุมนุมหรือมีกิจกรรมที่ไหนหรือไม่ 

วันต่อมา หลังคิวกลับมาถึงหอพัก เจ้าของหอพักมาสอบถามว่า ช่วงนี้ได้ไปทำกิจกรรมที่ไหนหรือไม่ เพราะเมื่อวานนี้ (28 ม.ค. 2565) มีตำรวจไม่ระบุสังกัดมาตามหาคิวแล้วไม่เจอตัว เลยฝากถามว่าอยู่ที่ไหน 

ภาพคิว อีกหนึ่งนักศึกษาที่ถูกติดตามจากตำรวจในครั้งนี้

ย้อนไปเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ในระหว่างพระเทพฯ เสด็จไปที่จังหวัดร้อยเอ็ด คิวและนักกิจกรรมหลายคนในจังหวัดร้อยเอ็ดก็เคยถูกตำรวจติดตาม เพราะไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นคิวกล่าวว่า คนที่บ้านเขารู้สึกชินและเฉยๆ อยากให้เหตุการณ์ลักษณะนี้ผ่านๆ ไปเสียมากกว่า

“ผมอยู่ร้อยเอ็ด แต่ส่งตำรวจไปบ้านที่หนองบัวลำภู เพียงเพราะจะมีใครสักคนที่ผมไม่ได้มีเวลาว่างพอจะมาใส่ใจเดินทางไปอุดรฯ ถามหน่อย ผมเกี่ยวอะไรด้วย?”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประยุทธ์ไปอุดรฯ เดือดร้อนนักกิจกรรมอีสานหลายจังหวัด ตร.เฝ้าถึงบ้าน-ขู่จับกุม กระทั่งแย่งโทรโข่ง-คุมตัว แตกต่างกับกลุ่มกองเชียร์

ตำรวจอุดรฯ เกรงนักเรียน-นักกิจกรรม ชู 3 นิ้ว ระหว่างเสด็จ ปรามถึงโรงเรียน-บ้าน

 

X