ประยุทธ์ไปอุดรฯ เดือดร้อนนักกิจกรรมอีสานหลายจังหวัด ตร.เฝ้าถึงบ้าน-ขู่จับกุม กระทั่งแย่งโทรโข่ง-คุมตัว แตกต่างกับกลุ่มกองเชียร์

สืบเนื่องจากวันที่ 1 ธันวาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดการเดินทางไปจังหวัดอุดรธานี เพื่อประชุมและตรวจราชการ  ทำให้สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่เยาวชนและนักกิจกรรมในอุดรฯ รวมถึงจังหวัดอื่นในภาคอีสานหลายราย ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามไปถึงบ้าน ติดตาม สอบถาม เตือนครอบครัวห้ามลูกทำกิจกรรมการเมือง แม้กระทั่งไปเฝ้าถึงบ้าน ในระหว่างที่พลเอกประยุทธ์ลงพื้นที่

“พี่มาดีนะ ไม่ต้องกลัวอะไร เหลือบ้านอีกร้อยกว่าหลังที่ต้องไป”

เป็นคำพูดจากตำรวจอันสะท้อนถึงปฏิบัติการครั้งนี้  มากกว่านั้นเยาวชนบางรายยังถูกตำรวจใช้คำพูดเชิงขู่และถามเรื่องการใช้สารเสพติด ซึ่งแทบไม่เกี่ยวกับเหตุที่ไปพบเพราะอยากปรามการชุมนุมในวันที่ 1 ธันวา อันสร้างความหวาดวิตกให้กับเยาวชนรายนั้นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ในวันที่พลเอกประยุทธ์เดินทางมาถึง จังหวัดอุดรธานีประกาศให้พื้นที่บริเวณศูนย์การค้ายูดีทาวน์ ซึ่งเป็นจุดต้อนรับ เป็นเขตควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ประชาชนที่มาต้อนรับนายกฯ รักษาระยะห่าง แต่กลับมีการวางกำลังของหน่วยงานราชการและตำรวจสังกัดอื่นๆ หลายร้อยนายกระจายหนาแน่นโดยรอบ และไม่พบว่ามีการตั้งจุดคัดกรองโควิดแต่อย่างใด มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ห้ามประชาชนที่ไปต้อนรับตะโกนเสียงดังเพราะจะเข้าข่ายการชุมนุม ส่วนคนที่ถือป้ายข้อความลักษณะปลุกระดมให้ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด

“เขาไม่ชอบคุณจริงๆ ที่บริหารประเทศอย่างถดถอย”  ประโยคจากประชาชนรายหนึ่งที่ถูกคุมตัวออกจากพื้นที่ต้อนรับพลเอกประยุทธ์ หลังจากตะโกนด่าออกไประหว่างที่นายกฯ เดินทางมาถึง เธอพยายามสะท้อนว่าการที่พลเอกประยุทธ์มาเยือนจังหวัดนี้ก็ควรพร้อมที่จะรับมือทั้งการต้อนรับและการต่อต้าน และนำเอาคำวิจารณ์ไปปรับปรุงตัว 

ถึงที่สุดความอัดอั้นของประชาชนที่ถูกสกัดกั้นไม่ให้แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการมาเยือนของนายกฯ และคณะครั้งนี้ นำมาซึ่งเสียงก่นด่า “ไอ้เหี้ยตู่” ซึ่งพลเอกประยุทธ์อาจจะไม่ได้ยิน และท่ามกลางเสียงตะโกนให้กำลังใจของกองเชียร์ที่ได้รับอนุญาตเพียงฝ่ายเดียว เบื้องหลังคือความรู้สึกรำคาญ วิตก และรู้สึกไม่ปลอดภัยของนักกิจกรรมมากรายในหลายๆ พื้นที่ทั่วภาคอีสาน 
.

อย่าให้ลูกไปชุมนุม เพราะไม่รับรองความปลอดภัย

เบลล์ (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี เคยเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่จัดขึ้นในอุดรธานี เล่าว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 เวลา 16.00 น. มีตำรวจแต่งชุดเป็นเสื้อกั๊กตำรวจ 2 นาย ไปที่บ้าน อ้างว่าเป็นรองสารวัตร แต่ไม่ได้แนะนำชื่อ และสอบถามเธอว่า เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ ไปด้วยความสมัครใจหรือไม่  เล่นยาเสพติดหรือหรืออย่างอื่นหรือไม่ โดยที่เบลล์ไม่ได้ตั้งตัวต่อคำถามทั้งหมดและไม่คาดคิดว่าจะมีตำรวจมาหา 

ตำรวจยังบอกบอกกับพ่อแม่ของเบลล์ว่า อย่าให้ลูกไปชุมนุมอีก เพราะตำรวจไม่รับรองความปลอดภัย ก่อนบอกด้วยว่า “พี่มาดีนะ ไม่ต้องกลัวอะไร เหลือบ้านอีกร้อยกว่าหลังที่ต้องไป” และยังกำชับพ่อแม่ให้ดูแลลูกให้อยู่ในลู่ในทาง

วันต่อมา เบลล์สังเกตเห็นรถตำรวจคันหนึ่งขับวนบริเวณบ้าน กระทั่งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 มีตำรวจในเครื่องแบบมาเฝ้าอยู่หน้าบ้านและคอยสังเกตตลอดว่ามีใครออกจากบ้านเธอหรือไม่ 

สำหรับเบลล์รู้สึกกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นและระแวงว่าจะมีคนติดตามหากไปไหนเพียงลำพัง ทำให้ช่วงที่พลเอกประยุทธ์ลงพื้นที่อุดรธานีเบลล์เลยไม่ได้ออกไปไหน และที่บ้านก็ไม่อยากให้เบลล์เจอเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับตำรวจอีกจึงขอให้เบลล์อยู่ที่บ้านก่อน 

วันเดียวกับที่ตำรวจไปบ้านเบลล์ เวลา 14.00 น. ฟิล์ม (นามสมมติ) อายุ 16 ปี อีกเยาวชนที่เคยเข้าร่วมคาร์ม็อบอุดรธานี ก็ถูกตำรวจไปพบถึงที่พักเช่นกัน ขณะนั้นฟิล์มอยู่ในห้องพักที่อพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่ง ตำรวจได้มาเคาะและเปิดประตูห้อง ถามว่าได้ไปชุมนุมไหม? เคยไปชุมนุมไหม? ก่อนจับไหล่ฟิล์มและลากออกมาจากห้อง ชี้ที่รถมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่ ถามว่าอันนี้รถมึงใช่ไหม? ตำรวจใช้เวลาพูดคุยกับฟิล์มราว 5 นาที ก็กลับออกไป โดยที่ฟิล์มยังคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเขา ต่อมา วันที่ 1 ธันวาคม ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าอยู่หน้าอพาร์ตเมนท์ ทำให้ฟิล์มไม่กล้าที่จะออกไปไหน

ส่วนอาร์ม (นามสมมติ) ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีประชาธิปไตยอุดร อายุ 18 ปี เล่าว่าช่วงเย็นของวันที่ 28 พฤศจิกายน เพื่อนบ้านที่อำเภอกุมภวาปี โทรมาบอกเขาว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาที่บ้าน แต่ไม่พบใครเพราะตอนนั้นอาร์มอยู่ในตัวอำเภอเมือง จากนั้นวันถัดมาอาร์มจึงไปที่บ้านหลังดังกล่าวเพื่อรอพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็มาทราบภายหลังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไปบ้านแม่ของเขาที่อำเภอหนองแสง จึงไม่ได้เจอตัวอาร์มอีกครั้ง 

อาร์มกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกกลัว เพียงแต่รำคาญ ไม่ไว้วางใจตำรวจ และหมดหวังกับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ส่วนเหตุที่ตำรวจลงพื้นที่คุกคามหนัก ก็เป็นที่แน่นอนว่าพวกเขากลัวการทำกิจกรรมลักษณะต่อต้านรัฐบาลชุดนี้ คาดว่าที่ตามหาตัวเขา คงเพราะเขาทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่อุดรธานีอยู่ตลอด จนเป็นที่เพ่งเล็งของเจ้าหน้าที่ อาร์มเคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้ ตอนที่พระเทพฯ เสด็จ อาร์มสะท้อนว่าวิธีปฏิบัติครั้งนั้นกับครั้งนี้ต่างกัน ครั้งนี้ดูมีมาตรการที่เด็ดขาดกว่า

.

ล็อคเป้าไว้ จะถูกจับตอนไหนไม่อาจทราบ

กี้ (นามสมมติ) อายุ 17 ปี เยาวชนนักกิจกรรมกลุ่มอุดรพอกันที  เล่าว่าเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน มีตำรวจไปที่บ้านของเธอที่อยู่แถบชานเมือง ขณะที่กี้ยังกลับจากโรงเรียนไม่ถึงบ้าน ตำรวจนายนั้นได้คุยกับย่า บอกว่ากี้มีชื่อติดอยู่ในบัญชีดำของส่วนกลาง ถ้ายังเคลื่อนไหวอยู่ก็อาจจะโดนคดีความ ก่อนหน้านั้นก็มีการโทรหาย่า 2-3 ครั้ง พยายามสอบถามว่า กี้อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ ได้ไปเรียนบ้างหรือไม่ 

กระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ก็มีตำรวจไปที่บ้านอีกครั้ง โดยที่กี้ไม่ได้อยู่บ้านเช่นเดิม เพราะเข้ามาเรียนในตัวเมือง ตำรวจจึงได้พบพ่อ และปู่กับย่า สร้างความตกใจให้ครอบครัวซึ่งไม่รู้จะรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร จากนั้นทางบ้านก็เริ่มปรามกี้เรื่องการแสดงออกทางการเมือง กี้เปิดเผยว่าส่วนตัวไม่ได้กังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะมีวิธีรับมือ แต่เป็นห่วงว่าจะเกิดการคุกคามกับคนในครอบครัวมากกว่า

สีน้ำ (นามสมมติ) อายุ 17 ปี อีกเยาวชนที่เคยออกไปเคลื่อนไหวบ้างกับกลุ่มอุดรพอกันที แต่ไม่เคยถูกคุกคามมาก่อน เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ว่า แม่ที่อยู่ที่บ้านในต่างอำเภอโทรมาบอกว่า มีตำรวจมาที่บ้าน ขณะนั้นแม่ของเธอมีอาการตกใจ สีน้ำจึงขอคุยสายกับตำรวจเอง โดยถามตำรวจว่ามาจากไหน จึงทราบว่ามาจาก สภ.บ้านผือ ตำรวจถามว่าสีน้ำเคยไปทำกิจกรรมการเมืองใช่ไหม แล้วพรุ่งนี้จะไปหรือไม่ ก่อนบอกแกมขอความร่วมมือว่า อย่าไปเลย 

ตำรวจยังให้แม่บอกสีน้ำว่าอย่าไปทำกิจกรรมเลย ให้ตั้งใจเรียน แม่จึงมาขอร้องสีน้ำว่า ยังไม่ต้องไปได้ไหม แต่สีน้ำก็ยืนยันว่าจะไปเข้าร่วม และพูดให้แม่คลายกังวลว่า จะพยายามทำตัวให้ไม่ถูกดำเนินคดี 

ก่อนวันที่พลเอกประยุทธ์เดินทางมาถึงอุดรฯ ยังมีนักกิจกรรมกลุ่มอุดรพอกันทีอีก 2 ราย ที่ถูกตำรวจคุกคามถึงบ้าน โดย สี (นามสมมติ) อายุ 17 ปี ซึ่งปกติเป็นสื่อคอยเก็บภาพและสังเกตการณ์ชุมนุม ให้ข้อมูลว่า มีตำรวจขับรถตามแม่ของสีไป เมื่อถึงบ้านได้เข้าไปสั่งแม่ให้บอกสีงดทำกิจกรรมการเมืองในวันที่ 1 ธันวาคม 

ส่วนบุ๊ค (นามสมมติ) อายุ 19 ปี มีตำรวจไปที่ร้านที่เขาทำงานอยู่ และทำทีเป็นลูกค้า ก่อนที่พ่อจะโทรบอกบุ๊คว่า อย่าเพิ่งออกจากร้านเพราะวันนี้มีตำรวจไปที่บ้าน แต่บุ๊คตัดสินใจปิดร้านและกลับไปที่บ้าน เพื่อสอบถามตำรวจถึงสาเหตุที่มาพบเขาถึงบ้าน ตำรวจชี้แจงว่า มาสอบถามว่าพรุ่งนี้บุ๊คจะไปชุมนุมหรือไม่ พร้อมทั้งระบุว่า มีการล็อคเป้าบุคคลไว้แล้ว และคนที่มีลิสต์ติดตามอยู่ก็อาจจะถูกจับกุมเมื่อไหร่ก็ได้ 

.

ห้ามตะโกนเสียงดัง เพราะเข้าข่ายการชุมนุม 

ช่วงเช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ตั้งแต่ 7.00 น. บริเวณหน้าหอประชุมมณฑาทิพย์ ย่านศูนย์การค้ายูดีทาวน์ มีการวางกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมถึงชุดตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) และหน่วยงานราชการอื่นๆ กระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ และมีการปิดถนนหน้าหอประชุมในรัศมี 1 กิโลเมตร เพื่อปิดทางเข้า-ออก

ช่วง 8.00 น. ประชาชน 300-400 คน ที่เดินทางมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด เพื่อชูป้ายให้กำลังใจและต้อนรับพลเอกประยุทธ์ รวมตัวอยู่บริเวณหน้าหอประชุมมณฑาทิพย์ ระหว่างนั้นเริ่มมีประชาชนในจังหวัดอุดรฯ เดินทางมาต้อนรับพลเอกประยุทธ์ด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเริ่มประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงห้ามประชาชนที่ไปรอต้อนรับตะโกนเสียงดัง เพราะจะเข้าข่ายการชุมนุม และประกาศอีกว่าพื้นที่ยูดีทาวน์เป็นพื้นที่ควบคุมโควิด-19 ให้ประชาชนที่มารวมกลุ่มกันรักษาระยะห่างและสวมใส่หน้ากากอนามัย 

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ตำรวจในพื้นที่แนะนำการปฏิบัติตัวระหว่างรอต้อนรับนายกฯ ให้ตรวจสอบคนที่ใส่เสื้อคลุมว่า เสื้อด้านในมีข้อความอะไรหรือไม่ รวมทั้งให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับบุคคลที่นำป้ายข้อความที่มีการปลุกระดมเข้ามาในพื้นที่ ส่วนคนที่ไลฟ์สดเพื่อปลุกระดมหากฝ่าฝืนให้ตรวจยึดอุปกรณ์ เมื่อมีประชาชนถามตำรวจว่าทำไมคนที่เตรียมป้ายมาต้อนรับนายก ถึงไม่ถูกตรวจสอบแบบประชาชนที่มาชูป้ายไล่นายกบ้าง พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จว.อุดรธานี กล่าวว่าคนที่มาต่อต้านเดินไปทั่วบริเวณงานไม่ได้ เพราะว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวาย

เวลา 9.00 น. กลุ่มนักกิจกรรมในอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง รวมตัวกันเพื่อที่จะยื่นหนังสือให้กับ พลเอกประยุทธ์ แต่ก็ถูกชุดกำลังคฝ. วางกองกำลังหลักร้อยนายล้อมไว้ และให้อยู่ห่างจากหน้าหอประชุมมณฑาทิพย์เป็นระยะทาง 400 เมตร  โดยอ้างว่ารักษาความปลอดภัย นักกิจกรรมเจรจากับตำรวจ วางเงื่อนไขให้ถอนกำลังออกแต่ไม่เป็นผล  ตำรวจกระชับกำลังเข้ายึดโทรโข่ง และควบคุมตัวฟลุ้ก (นามสมมติ) นักกิจกรรมรายหนึ่งเข้าไปในบริเวณพื้นที่ยูดีทาวน์ ทั้งยังพยายามอุ้มนักกิจกรรมหลายคนออกจากพื้นที่ตรงนั้น กลุ่มนักกิจกรรมจึงทำอารยะขัดขืนโดยการนอนลงกับพื้น หลังเหตุการณ์ชุลมุน ฟลุ้กได้รับการปล่อยตัวออกมา

หลังจากมีการเข้าล้อมเพื่อจับกุม กลุ่มนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งจึงไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บริเวณหน้า สภ.เมืองอุดรธานี และตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี โดยการสาดสี เขียนป้าย เทอาหารหมา ก่อนกิจกรรมเสร็จสิ้นไปราว 11.30 น.

.

ตะโกนด่า “ไอ้เหี้ยตู่” ท่ามกลางตำรวจและกองเชียร์ ก่อนถูกรวบตัวในทันที

บริเวณหน้าหอประชุมมณฑาทิพย์ ยังมีประชาชนอีก 1 ราย ถูกตำรวจจับกุมและคุมตัวออกจากพื้นที่ หลังยืนตะโกนด่าพลเอกประยุทธ์ ทราบภายหลังว่าชื่อ เอฟ (นามสมมติ) เป็นชาวจังหวัดอุดรธานี อายุ 24 ปี ประกอบอาชีพด้านการออกแบบสวน เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2563 แต่ไม่ได้สังกัดกลุ่มกิจกรรมใดๆ เอฟเล่าว่าเธอมาที่หน้าหอประชุมราว 10.00 น. โดยสงสัยว่าทำไมมีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาในพื้นที่ได้ แต่ประชาชนอีกกลุ่มกลับถูกกีดกัน เธอพยายามเดินไปสังเกตป้ายต้อนรับนายกฯ ว่ามีข้อความอะไรบ้าง ขณะนั้นพลเอกประยุทธ์และคณะเดินทางมาถึงหอประชุมพอดี และหันมาโบกมือทักทายกลุ่มคนที่มาต้อนรับ

เอฟจึงเริ่มตะโกนออกจากบริเวณนั้นด้วยประโยคว่า “ไอ้เหี้ยตู่”  และพยายามเดินเข้าไปใกล้พลเอกประยุทธ์ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ และกลุ่มคนที่มาให้กำลังใจ ทำให้ตำรวจเข้ารวบตัวเธอในทันที โดยการกระชากแขน ขา เอฟพยายามขัดขืนทั้งตะโกนและทิ้งน้ำหนักตัว เธอได้ยินตำรวจนายหนึ่งพูดว่าให้คุมตัวไปขึ้นรถผู้ต้องขัง แต่กลุ่มประชาชนที่อยู่ห่างออกไปราว 50 เมตร เข้ามาช่วยกันตัวเธอออกจากตำรวจ และพาไปนั่งพักที่ร้านกาแฟใกล้บริเวณนั้น 

จากนั้นตำรวจอีกกลุ่มเข้ามาพยายามสอบถามชื่อและเบอร์ติดต่อ และถ่ายรูปเธอเก็บไว้ แต่เอฟปฏิเสธให้ความร่วมมือและเดินออกมา ก่อนเดินทางไปที่ สภ.เมืองอุดรธานี เพื่อร่วมกิจกรรม  

“ตอนแรกอยากไปดูว่ามีใครมาต้อนรับนายกฯ บ้าง เป็นการจัดตั้งกันขึ้นมาตามที่มีข่าวหรือไม่ ที่สำคัญคือไปเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง อยากทำให้เขาได้รับรู้ว่าคนที่ไม่ชอบเขาก็สามารถขึ้นมายืนดูและแสดงจุดยืนได้ว่า เขาไม่ชอบคุณจริงๆ ที่บริหารประเทศอย่างถดถอย” 

สำหรับการตัดสินใจแสดงออกไปเช่นนั้น เอฟเปิดเผยว่า ต้องใช้ความกล้า และความอัดอั้นต่อหลายๆ เรื่องทางการเมือง รวมทั้งเมื่อเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นและวิธีปฏิบัติที่กลุ่มอุดรพอกันทีถูกคุกคามจึงอยากร่วมต่อสู้ด้วย 

เอฟกล่าวเสริมว่า ก่อนที่เธอจะตะโกนด่าพลเอกประยุทธ์ ตำรวจนายหนึ่งบอกกับเธอว่า ไม่อนุญาตให้อยู่ในบริเวณดังกล่าวเพราะไม่มีสติ๊กเกอร์สีชมพูที่แสดงว่าผ่านจุดคัดกรอง เธอจึงพยายายามถามหาและเดินหาจุดคัดกรองดังกล่าวว่าอยู่บริเวณไหน แต่กลับไม่พบจุดคัดกรองที่ว่านั้นเลย 

.

ประยุทธ์ไปอุดรฯ เดือดร้อนทั่วอีสาน

ไม่เพียงแต่ประชาชนและนักกิจกรรมในจังหวัดอุดรธานี ที่ถูกติตตามจากเจ้าหน้าที่อย่างหนัก ในจังหวัดนครพนม บึงกาฬ และมหาสารคาม แม้กระทั่งบุรีรัมย์ ที่อยู่ห่างไกลออกไปยังถูกคุกคามทั้งก่อนและระหว่างพลเอกประยุทธ์จะลงพื้นที่ในครั้งนี้ 

พิศาล บุพศิริ หรือเบียร์ อุษาคเนย์ นักกิจกรรมและสมาชิกพรรคก้าวไกล ที่อาศัยอยู่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ให้ข้อมูลว่าก่อนการมาเยือนอุดรธานีของนายกรัฐมนตรีแม้ตัวเขาจะอยู่ไกลจากพื้นที่นั้นกว่า 200 กิโลเมตร ก็ยังถูกตำรวจไปหาที่บ้านเพื่อเช็คว่า เขาจะเคลื่อนไหวอะไรในวันนั้นหรือไม่ โดยมีตำรวจมาที่บ้านตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน แต่พบเพียงแม่ 2 วันต่อมาตำรวจก็มาอีกครั้งเพื่อตรวจดูว่าเขาอยู่ที่บ้านหรือไม่ ทำให้เบียร์ได้รู้ว่าพลเอกประยุทธ์จะมาตรวจราชการที่อุดรธานี จากนั้น รอง ผกก.สืบสวน สภ.บ้านแพง ได้บอกกับเขาว่าในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 จะมาขอถ่ายรูปทุกชั่วโมง จนถึงเวลา 16.00 น. 

ยังมีนักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม “นครพนมสิบ่ทน” อีก 2 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปพบถึงในบริเวณบ้านโดยไม่ได้ขออนุญาต ในกรณีของประกอบ วงศ์พันธ์ นอกเครื่องแบบหลายชุดไปพบถึง 3 ครั้ง ใน 2 วัน สอบถามว่าจะไปอุดรฯ หรือไม่ พร้อมข้ออ้างซ้ำๆ เดิมว่า “นายสั่งมา” ก่อนถ่ายรูปกับประกอบแล้วกลับไป ส่วนวารียา นอกเครื่องแบบไปพบ 2 ครั้ง ในช่วงที่พลเอกประยุทธ์เดินทางถึงอุดรฯ แล้ว และตอบวารียาถึงเหตุผลในการมาพบว่า หน้าตาเหมือนน้องสาวที่เสียชีวิตจึงแวะมาเยี่ยมพร้อมนำขนมและอาหารมาฝาก ทั้งยังขอถ่ายรูปไปให้แม่ดูด้วย

นอกจากนี้ กันต์ (นามสมมติ) เยาวชนนักกิจกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแจ้งว่าวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีคนโทรศัพท์มาอ้างว่าเป็นตํารวจสืบสวนจังหวัดนครพนม และพยายามซักถามถึงการเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่าจะไปที่ไหนต่อและจะไปทางนครพนมมั้ย โดยที่กันต์ไม่รู้ว่าเขาไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองที่จังหวัดนครพนมเมื่อไหร่ และเจ้าหน้าที่รู้เบอร์โทรศัพท์ของเขาได้ยังไง

“สิทธิในความปลอดภัยของผมถูกละเมิดจากรัฐ พฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง ในขณะที่ตํารวจมีหน้าที่ปกป้องประชาชน แต่ในความเป็นจริงตํารวจกลับเป็นผู้ก่ออันตรายแก่ประชาชน”

วรางคณา  แสนอุบล นักกิจกรรมกลุ่มขอนแก่นพอกันที ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านในจังหวัดบึงกาฬ  เธอไลฟ์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ถึงเหตุการณ์ที่มีตำรวจอ้างว่าอยู่กองสืบจังหวัดบึงกาฬแต่ไม่บอกชื่อ มาที่บ้านเพื่อมาดูว่า วรางคณาอยู่ที่บ้านหรือไม่  และพยายามจะถ่ายรูปเธอ โดยอ้างว่าขออนุญาตเจ้าบ้านคือพ่อของเธอแล้ว ก่อนกลับไปโดยบอกว่าจะไปรายงานว่า วรางคณาอยู่บ้านไม่ได้ไปไหน 

ยังมี สหัสวรรษ นักกิจกรรมและนักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ขณะที่เขาอยู่หอพักในมหาวิทยาลัย แม่ซึ่งอยู่ที่บ้านในอำเภอชื่นชมได้โทรมาบอกเขาว่ามีตำรวจไปถามหาเขา และสอบถามว่าสหัสวรรษจะไปชุมนุมที่จังหวัดอุดรธานีในวันที่ 1 ธันวาคมหรือไม่ โดยตำรวจนอกเครื่องแบบที่อ้างตัวว่ามาจาก สภ.ชื่นชม มีการถ่ายภาพบ้านของสหัสวรรษไป ทั้งยังกำชับคนในครอบครัวให้ปรามสหัสวรรษไม่ให้ไปร่วมชุมนุมในวันที่ 1 ธันวาด้วย

เช่นเดียวกับจตุพร นักกิจกรรม “ทะลุฟ้า” ซึ่งมีนอกเครื่องแบบหลายนายไปที่บ้านในมหาสารคาม สอบถามเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นบ้านของเธอ ก่อนถ่ายรูปกับพ่อโดยแจ้งเพียงว่าเอาไปรายงานนาย สร้างความกังวลให้กับจตุพรและครอบครัวว่าจะเกี่ยวข้องกับคดีความอะไรหรือไม่ แต่เมื่อทราบว่ามีนักกิจกรรมในหลายจังหวัดของอีสานถูกติดตามเช่นเดียวกันนี้จากเหตุที่พลเอกประยุทธ์ไปอุดรฯ จึงคาดว่าตำรวจมาบ้านของเธอด้วยสาเหตุเดียวกัน

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง  

เฝ้าถึงบ้าน-ขู่ถอนประกัน-กดดันครอบครัว นักกิจกรรมและประชาชนอุบลฯ ถูก จนท.คุกคามหนักก่อนประยุทธ์ลงพื้นที่

.

X