สืบเนื่องจากงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงระหว่างวันที่ 27 – 29 พ.ค. 2565 ปรากฏว่ามีรายงานสถานการณ์ผู้แสดงออกทางการเมืองไม่น้อยกว่า 5 ราย ถูก “ห้าม” มิให้สามารถแสดงทางการเมือง แม้แต่ในเชิงสัญลักษณ์
ในวันที่ 27 พ.ค. ซึ่งเป็นวันแรกในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรากฏว่ามีผู้แสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 2 ราย โดยทั้งสองต่างถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าห้ามปรามขณะทำกิจกรรม
เข้าห้ามบัณฑิตและประชาชนไม่ให้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่เว้นกระทั่งเนื้อหาจากชั้นเรียนวิชารัฐศาสตร์
ในช่วงก่อนที่จะมีการมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา บัณฑิตจากรั้วธรรมศาสตร์คนหนึ่งได้พยายามแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในประเด็นยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 โดยจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “ประเทศไทยมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่” ที่บริเวณใกล้ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฝั่งท่าพระอาทิตย์ ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุยด้วยเกี่ยวกับการแสดงออกดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีการควบคุมตัวแต่อย่างใด
อีกรายหนึ่งเป็นผู้เดินทางมาร่วมงานรับปริญญาในช่วงเวลาประมาณ 14:21 น. โดยสวมเสื้อยืดมีข้อความ “ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเมื่อมาถึงที่ทางเข้ามหาวิทยาลัย ก็ได้ถูกกักตัวไว้ที่บริเวณเตนท์ทางเข้าฝั่งท่าพระอาทิตย์ และมีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมาบอกให้เปลี่ยนเสื้อก่อน จึงจะเข้าไปด้านในได้ ทั้งยังได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายนายเข้ามาถ่ายรูป สอบถามข้อมูลส่วนตัว รวมถึงได้มีการขอตรวจค้นกระเป๋าด้วย
อย่างไรก็ตาม เจ้าของเสื้อยืดที่มีข้อความดังกล่าวปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับทั้งเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและตำรวจ และยืนยันสิทธิของโดยการนั่งเฉยๆ จึงได้ถูกควบคุมตัวไว้ ณ บริเวณทางเข้าฝั่งประตูท่าพระอาทิตย์ และไมไ่ด้รับอนุญาตให้เข้ามหาวิทยาลัย
จนกระทั่งเวลาประมาณ 15:40 น. ผู้สวมเสื้อที่มีข้อความยกเลิก 112 จึงตัดสินใจออกจากบริเวณประตูท่าพระอาทิตย์ แต่กระนั้นก็ยังมีกลุ่มชายสวมเสื้อสีเหลืองหลายคนที่พกวิทยุสื่อสาร คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ได้ขับรถจักรยานยนต์ติดตามมา และได้หยุดติดตามเมื่อเวลาประมาณ 16:00 น.
ส่วนในวันที่ 28 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สองของงานรับปริญญา ปรากฏว่ามีผู้ถูกห้ามไม่เข้าไปยังภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยถูกกักตัวไว้ที่บริเวณประตูทางเข้าเช่นเดียวกัน เนื่องจากสวมใส่เสื้อยืดที่มีข้อความว่า “ทะลุฟ้า” อันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง
สำหรับในวันที่ 28 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่สองของงานรับปริญญา ปรากฏว่ามีผู้ถูกห้ามไม่เข้าไปยังภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยถูกกักตัวไว้ที่บริเวณประตูทางเข้า (ไม่ทราบฝั่ง) เนื่องจากสวมใส่เสื้อยืดที่มีข้อความว่า “ทะลุฟ้า” อันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีสมาชิกเช่น ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา เป็นต้น
ต่อมา ในช่วงเวลาบ่ายของวันที่ 29 พ.ค. คณะกรรมการบัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าห้ามบัณฑิตท่านหนึ่ง คือชลธิศ โชตสวัสดิ์ และกลุ่มเพื่อนซึ่งได้แก่ รุ้ง ปนัสยา และเบนจา อะปัญ ซึ่งกำลังเตรียมถ่ายรูปที่ระลึกพร้อมกับถือป้ายกระดาษ โดยในป้ายนั้นมีข้อความเป็นภาษาละตินว่า “Salus populi suprema lex esto” ซึ่งมีความหมายว่า “The health (welfare, good, salvation, felicity) of the people should be the supreme law” หรือ สุขภาพ (สวัสดิการ ความดี ความรอด ความสุข) ของประชาชนควรเป็นกฎหมายสูงสุด อันเป็นคติพจน์หรือหลักการที่พบได้ใน Cicero ‘s De Legibus
ทั้งนี้ เมื่อมีการเจรจากัน ทางคณะกรรมการฯ กล่าวกับชลธิศและเพื่อนๆ ว่า “เข้าใจว่าธรรมศาสตร์ของเรามีสิทธิและเสรีภาพอยู่แล้ว แต่วันนี้เราขอช่วงเวลาหนึ่ง” คำพูดดังกล่าวทำให้ฝ่ายชลธิศและเพื่อนเกิดความสงสัยพร้อมกับพยายามถามถึงสาเหตุว่าทำไมจึงไม่สามารถถ่ายรูปและถือป้ายกระดาษแผ่นนี้ได้ โดยที่ชลธิศเองได้ยืนยันกับทางคณะกรรมการฯ ด้วยว่าข้อความนี้เป็นข้อความที่ตนได้เรียนมาชั้นเรียนรัฐศาสตร์ แต่ทางคณะกรรมการฯ ก็ไม่มีคำตอบอื่นใดอีก นอกจากพยายามห้ามไม่ให้ถือป้ายดังกล่าว
พาตัวนักกิจกรรมเด็กวัย 13 ตัวออกนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย เหตุใส่เสื้อมีข้อความ “ยกเลิก 112” โดยกรรมการบัณฑิตระบุว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่พื้นที่แสดงออกทางการเมือง”
ศูนย์ทนายฯ ยังได้รับแจ้งจากนักกิจกรรมเด็กวัย 13 ปี ว่าในวันที่ 28 พ.ค. เธอไปร่วมงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แม้จะมีความกังวลว่าจะไม่สามารถเข้าพื้นที่จัดงานได้ เพราะได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งไปติดตามและเฝ้าถึงที่พักตั้งแต่ยังไม่ได้ออกเดินทาง และต่อมาในเวลาประมาณ 15:50 น. ขณะที่กำลังเดินทางไปที่ มธ. ท่าพระจันทร์ เธอสังเกตว่ามีรถกระบะ 4 ประตูสีดำขับติดตามอยู่ตลอด ซึ่งสงสัยว่าอาจเป็นรถของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกลุ่มที่มาเฝ้า
เวลา 16:14 น. โดยประมาณ นักกิจกรรมเด็กวัย 13 เดินทางไปถึงประตูฝั่งท่าพระอาทิตย์ สังเกตว่ามีเตนท์จุดคัดกรอง แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่ไม่ได้เดินผ่านจุดดังกล่าว เธอจึงเดินตามเข้าประตูไป แต่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ติดตามมาก็ตะโกนให้ตำรวจที่บริเวณจุดคัดกรองทำการตรวจบัตรประชาชนของเธอ เมื่อได้ยินดังนั้นเธอจึงรีบวิ่งเข้าไป แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่หญิงล็อคตัวไว้ไม่ให้เข้าไปภายในมหาวิทยาลัย
เมื่อถูกล็อคตัวแล้วนักกิจกรรมเด็กวัย 13 จึงพยายามไลฟ์สดเพื่อรายงานสถานการณ์ โดยเจ้าหน้าที่หญิงที่กำลังล็อคตัวอยู่ ก็ได้ถามเพื่อนเจ้าหน้าที่ด้วยกันทำนองว่าจะยึดโทรศัพท์หรือไม่ จากนั้นได้มีบุคคลที่ระบุว่าเป็นกรรมการบัณฑิตเข้ามาพูดคุยกับนักกิจกรรมเด็ก โดยในการพูดคุยได้มีทางเลือกให้คือ การเปลี่ยนเสื้อผ้าที่มีข้อความ “ยกเลิก 112” ออก แล้วจึงเข้าไปภายในงานได้ หรือหากไม่เปลี่ยนเสื้อผ้าก็ต้องกลับออกไป
อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมเด็กวัย 13 ได้ยืนยันว่าการสวมเสื้อผ้าเป็นเสรีภาพ ก่อนจะพยายามต่อรองว่าจะเอาสติกเกอร์มาปิดข้อความ แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเพราะเกรงว่าเมื่อเข้าไปด้านในแล้ว เธอจะนำสติกเกอร์ออก เธอจึงเสนอไปอีกทางหนึ่งว่าเพื่อนของเธอมีเสื้อที่มีข้อความ “ปริญญาศักดินา” ซึ่งถ้าทางกรรมการบัณฑิตยินดีก็จะให้เพื่อนนำเสื้อมาให้ทันที แต่กระนั้นก็ไม่สามารถตกลงกันได้ และตลอดการพูดคุยทางกรรมการบัณฑิตได้พยายามพูดให้นักกิจกรรมเด็กวัย 13 นึกถึงอนาคตของตนเอง ทั้งยังบอกด้วยว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่พื้นที่สำหรับแสดงออกทางการเมือง”
ในวันที่ 29 พ.ค. เธอได้ไปร่วมงานรับปริญญาอีกครั้ง โดยในครั้งนี้เธอได้ชูป้ายที่มีข้อความว่า “ปริญญาศักดินา” และ “หยุดผลิตซ้ำพิธีกรรมศักดินา #ปริญญาศักดินา” ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามายึดป้ายไป และพยายามเจรจาให้เธออยู่ห่างจากหอประชุม
ทั้งนี้ นักกิจกรรมเด็กวัย 13 ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในวันที่ 27 พ.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามไปเฝ้าเธอถึงที่หน้าโรงเรียนด้วยโดยไม่ทราบสาเหตุ
“ปรับปรุงทัศนียภาพ” ถนนราชดำเนินที่เป็นพื้นที่ชุมนุม ก่อนมีขบวนเสด็จผ่าน
นอกเหนือจากงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์แล้ว อีกฝากหนึ่งที่ถนนราชดำเนินบริเวณด้านหน้าที่ทำการสหประชาชาติ เชิงสะพานมัฆวานฯ ได้มีประชาชนปักหลักชุมนุมเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม โดยทางเพจ NPO No Bill ได้รายงานว่า ในวันที่ 26 พ.ค. ได้ปรากฏว่ามีตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเจรจา “ขอคืนพื้นที่” จากกลุ่มผู้ชุมนุม และทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีความพยายามที่จะยึดคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุนนุมที่หน้า UN ด้วย เหตุเพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางเสด็จไปงานรับปริญญาในช่วงระหว่างวันที่ 27 – 29 พ.ค.
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้ชุนนุมยืนยันที่ปักหลักต่อไปแม้จะถูกสลายการชุมนุมก็ตาม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงใช้วิธีการปรับปรุงทัศนียภาพสองฝั่งถนนราชดำเนินในระหว่างที่มีขบวนเสด็จ โดยการนำรถบัสมาจอดเรียงกันเป็นกำแพง ทั้งยังมีการตั้งแผงกั้น และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากยืนเข้าแถวเป็นแนวกั้นขวางเป็นกำแพงบังกลุ่มผู้ชุนนุมไว้