รถกระบะจอดเปิดไฟสาดใส่ซอยบ้าน นักกิจกรรม “นครพนมสิบ่ทน” คาดถูกตำรวจสายสืบคุกคาม หลังตั้งโต๊ะลงชื่อยกเลิก ม.112

2 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 18.45 น. ขณะ “ต้นน้ำ” วารียา โรจนมุกดา นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม “นครพนมสิบ่ทน” ขี่รถมอเตอร์ไซค์กลับเข้าบ้านที่อยู่ในตัวเมืองนครพนม พร้อมประกอบ วงศ์พันธ์ และพร (นามสมมติ) เพื่อนนักกิจกรรม ทั้งหมดสังเกตเห็นรถกระบะ 4 ประตู ทะเบียนมุกดาหาร จอดอยู่ปากทางเข้าซอยซึ่งมีเครื่องหมายห้ามจอด พร้อมกับเปิดไฟหน้ารถสาดเข้าไปในซอยที่มีเพียงบ้านของวารียาอยู่ที่ก้นซอยเพียงหลังเดียว ทำให้วารียาและเพื่อนรู้สึกผิดสังเกต

หลังจากเข้าในบ้านซักพักรถคันดังกล่าวก็ยังจอดเปิดไฟอยู่ พรจึงเดินออกไปดูว่าเป็นรถของใคร แต่เป็นเพราะกระจกรถมืดทำให้เขามองไม่เห็นอะไร หลังจากพรยืนจ้องมองเข้าไปในรถอยู่นาน คนในรถจึงเปิดกระจกลง พรมองเห็นชายหัวเกรียน 3 คน ใส่เสื้อยืดลักษณะเหมือนตำรวจสายสืบนั่งอยู่ในรถ คนนั่งด้านข้างขับรถยิ้มแห้งๆ พรถามไปว่า มาซื้อของหรืออะไรครับ ชายหัวเกรียนตอบกลับมาว่า มาจอดเฉยๆ 

พรไม่ได้ถามอะไรต่อ ชายคนนั้นจึงปิดกระจก แต่ยังคงไม่ขยับรถไปไหน กระทั่งอีกพักใหญ่จึงเคลื่อนรถออกไปจากปากซอย

ก่อนหน้านี้ 1 วัน เมื่อเย็นวันที่ 1 ม.ค. 2665 กลุ่มนครพนมสิบ่ทน ได้ไปสวัสดีปีใหม่ประชาชนชาวจังหวัดนครพนมบริเวณหน้าตลาดอินโดจีน ขณะที่เปิดเป็นตลาดนัดถนนคนเดิน พร้อมทั้งได้ตั้งโต๊ะเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 

ประกอบเล่าว่ามีประชาชนทุกกลุ่มอายุ ทั้งรุ่นผู้ใหญ่และคนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจร่วมลงชื่อทั้งในแบบฟอร์ม และสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อลงชื่อออนไลน์จำนวนมาก ตลอดเวลามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย มานั่งเฝ้าอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามของถนน 1 ในนั้นได้ข้ามมาขอดูแบบฟอร์มเปล่าและสแกนคิวอาร์โค้ดไปด้วย ประกอบคาดว่า ทั้งสองก็คงถ่ายรูปพวกตนขณะทำกิจกรรมไปบ้าง แต่ยังไงพวกตนก็มีการไลฟ์อย่างเปิดเผยอยู่แล้ว เพราะคิดว่าเป็นการทำตามกฎหมาย ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) 

การที่มีชายหัวเกรียนลักษณะคล้ายตำรวจสายสืบมาจอดรถเปิดไฟเข้าไปยังประตูบ้านของวารียา นักกิจกรรมนครพนมสิบ่ทนคาดว่า มีสาเหตุมาจากการไปจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะการเปิดไฟทิ้งไว้ก็เพื่อดูทะเบียนรถของวารียาที่จะวิ่งเข้าบ้าน และถ่ายรูป รวมทั้งน่าจะเป็นการข่มขู่คุกคามไม่ให้ไปพวกเขาไปตั้งโต๊ะให้ประชาชนลงชื่ออีก 

อย่างไรก็ตาม วารียากล่าวว่า กิจกรรมวันก่อนทำให้เห็นว่าคนนครพนมตื่นตัวกันมากและสนใจที่จะร่วมลงชื่อยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นธรรม และทำให้มีคนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องอนาคตที่ดีของคนไทย พวกเราจึงยังคงจะเปิดล่ารายชื่อต่อไป แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้จะเป็นการข่มขู่คุกคาม พวกเราก็จะไม่ถอย 


“การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมของทุกๆ คน”

วารียา โรจนมุกดา นักกิจกรรม “นครพนมสิบ่ทน”

ช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ก่อนสิ้นปี 64


ประกอบกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปกติไม่ว่ากลุ่มนครพนมสิบ่ทนจะจัดกิจกรรมหรือมีบุคคลสำคัญมาที่นครพนม แม้แต่มีกิจกรรมในจังหวัดอื่นซึ่งพวกตนไม่รู้เรื่องมาก่อน ก็จะมีตำรวจไปพบตนเอง บางครั้งไปบ้านวารียา รวมถึงคนในกลุ่มอีกอย่างน้อย 2 คน เพื่อสอบถามและถ่ายรูป บางครั้งมานั่งเฝ้าเขาอยู่ครึ่งวันก็มี อย่างเมื่อครั้งประยุทธ์ไปอุดรฯ วันที่ 1 ธ.ค. 2564 และเมื่อพระเทพฯ เสด็จมาพระราชทานปริญญาที่มหาวิทยาลัยนครพนม วันที่ 15 ธ.ค. 2564 จนกลายเป็นความเคยชินที่จะต้องมีตำรวจมาที่บ้านของเขาเดือนละ 1-2 ครั้ง ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องปกติ 

“ครั้งนี้ก็รู้สึกแปลกใจที่ไม่มีตำรวจไปหาผมก่อนกิจกรรม แต่หลังกิจกรรมกลับมาเปิดไฟรอหน้าบ้านต้นน้ำ ซึ่งผมคิดว่าเขาน่าจะติดตามเรา ถึงได้มารอได้ตรงจังหวะที่พวกเรามาบ้านต้นน้ำ ตำรวจที่ไปหาผมเคยพูดกับผมว่า เขาขอร้องเรื่องเดียวคือเรื่องที่เกี่ยวกับ 112 แต่เรื่องล่ารายชื่อยกเลิก 112 นี่ผมยืนยันว่าเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ประชาชนสามารถทำได้” ประกอบย้ำอย่างหนักแน่น

ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 กลุ่มนครพนมสิบ่ทนจัดกิจกรรมคาร์ม็อบรวม 3 ครั้ง เพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน รวมทั้งเรียกร้องให้เร่งหาวัคซีนคุณภาพมาให้ประชาชน แต่ประกอบ ผู้ส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมถึงตำรวจ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย ทั้งยังประสาน อสม.มาคัดกรองที่จุดเริ่มต้น ประชาสัมพันธ์ให้เว้นระยะห่างตลอดเวลา ก็ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทั้ง 3 ครั้ง รวม 3 คดี 

อีกทั้งวารียายังถูกดำเนินคดีในฐานะเป็นแอดมินเพจ “นครพนมสิบ่ทน” ในข้อหา ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากโพสต์ในเพจรวม 4 โพสต์ ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ ส.ส.และนักการเมืองท้องถิ่นในนครพนม ได้แก่ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.จังหวัดนครพนม พรรคภูมิใจไทย, ศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม และอลงกต มณีกาศ รองนายก อบจ.นครพนม ทำให้ถูกทั้งสามแจ้งความดำเนินคดี

>> นักกิจกรรม “นครพนมสิบ่ทน” ถูกแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวดเดียว 3 คดี หลังจัดคาร์ม็อบ ตามด้วยแอดมินเพจวัย 18 ถูกรองประธานสภาฯ แจ้งความหมิ่นประมาทฯ

>> นศ.แอดมินเพจ “นครพนมสิบ่ทน” ถูกแจ้งข้อหา ดูหมิ่น – หมิ่นประมาท – พ.ร.บ.คอมฯ จาก 4 โพสต์ วิจารณ์รองประธานสภาผู้แทนฯ

X