ตร.บึงกาฬ ติดตามหนักประชาชน-นักกิจกรรม หวั่นทำกิจกรรมต้านประยุทธ์ขณะวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพ

28 ต.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดการเดินทางไปที่ จ.บึงกาฬ เพื่อวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) แต่แล้วช่วงสัปดาห์นั้น ประชาชนและนักกิจกรรมโดยเฉพาะคณะราษฎรบึงกาฬต่างก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามเพื่อหวังจะปรามการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ 

นาวินทร์ ลครแก้ว หรือ ทิม อดีตผู้สมัครสมาชิก อบจ.บึงกาฬ และสมาชิกกลุ่มราษฎรบึงกาฬ ให้ข้อมูลว่า เขาทราบถึงกำหนดการดังกล่าว เพราะส่วนตัวก็ทำงานอยู่ใกล้ที่นั่น แต่ไม่ได้สนใจ กระทั่งวันที่ 26 ต.ค. 2565 ตำรวจฝ่ายสืบสวนจากตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ ได้โทรศัพท์มาแสดงความกังวลว่าทิมจะไปชูป้ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จากนั้นตำรวจ สภ.ปากคาด ในพื้นที่บ้านของทิม ก็ติดต่อมาที่ทิมอีก บอกว่าต้องการมาพบ ก่อนเดินทางมาพบทิมในที่ทำงานและขอถ่ายภาพ อ้างว่าเอาไปส่งผู้บังคับบัญชา  

วันต่อมาตำรวจ สภ.ปากคาด ยังโทรมาสอบถามอีกหลายครั้งว่า ทิมอยู่ที่ไหน และให้เขาถ่ายรูปส่งเพื่อเช็คพิกัด คืนเดียวกัน อส.ที่อยู่ละแวกบ้านทิม โทรมาถามว่า คืนนี้เขาจะนอนที่ไหน  

ในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางมาบึงกาฬ ตั้งแต่เช้ามืดเวลา 05.00 น. ที่บ้านพักเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการแห่งหนึ่งซึ่งแฟนของทิมพักอยู่ มีชายแปลกหน้า 2 คน ขับรถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน วนในลักษณะสอดส่องตามหาคนอยู่หลายรอบ คนที่พักอยู่ละแวกนั้นเกิดความสงสัยและไม่ไว้ใจ จึงโทรไปแจ้งตำรวจ สภ.ปากคาด ก่อนติดต่อมาถามทิมว่า ชายแปลกหน้านั้นขับรถวนหาทิมหรือไม่ ขณะนั้นทิมพักอยู่ที่บ้านของตัวเองซึ่งห่างไปราว 2 กม. เมื่อทราบเหตุการณ์ทิมคาดว่าชายทั้งสองน่าจะเป็นชุดสืบจังหวัดที่มาตามหาเขา โดยที่ไม่ได้ประสานกับตำรวจ สภ.ปากคาด มาก่อน ทิมจึงโทรแจ้งกับสืบจังหวัดคนที่โทรมาหาเขาเมื่อวันก่อน ให้บอกตำรวจ 2 นายนั้นไปพบเขาที่บ้าน 

จนเมื่อได้พบกันจึงทราบจากบทสนทนาของตำรวจว่า นอกจากเขาที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม ยังมีประชาชนและนักกิจกรรมในบึงกาฬอีกราว 20 คน ถูกติดตามในช่วงเดียวกันนี้ด้วย ตำรวจ 2 นาย คุยอยู่กับทิมอยู่กับราว 20 นาที เมื่อทิมยืนยันว่า ในวันนั้นเขาไม่มีธุระเดินทางออกจากบ้านไปไหน ตำรวจจึงกลับออกไปจากบ้านของทิม  

ยังมีต้อม (นามสมมติ) นักกิจกรรม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเล่าเหตุการณ์เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 ต.ค. 2565 ว่า ขณะทำงานอยู่ที่วัดท่าไคร้ ใน อ.เมือง มีตำรวจและข้าราชการทั้งในและนอกเครื่องแบบ ประมาน 40 นาย ไปพบตัวเขาในลักษณะรุมล้อม สอบถามและพูดปรามไม่ให้เขาเคลื่อนไหวทางการเมือง ตลอดสัปดาห์นั้นก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมาถึงบึงกาฬ ต้อมก็ถูกตำรวจติดตามมาถ่ายภาพที่ทำงานตรงวัดอยู่แทบทุกวัน 

“ผมไม่ว่างไปไล่ประยุทธ์หรอกครับ ไร้สาระ ยังมีงานท้องที่ที่ต้องลงพื้นที่สำรวจปัญหาชาวบ้าน ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาเวนคืนที่ดินสนามบิน ชาวบ้านต้องได้รับความเป็นธรรม” ต้อมสะท้อนถึงเหตุการณ์ดังกล่าว 

ขณะที่ วรางคณา แสนอุบล บัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในนักกิจกรรมพรรคปฏิวัติมอดินแดง ปัจจุบันทำงานที่เทศบาลแห่งหนึ่งใน จ.บึงกาฬ เล่าให้ฟังว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่สายสืบของตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ โทรหาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ จนกระทั่งช่วงเช้าวันที่ 28 ต.ค. 2565 จึงเห็นว่ามีรถยนต์คันหนึ่งจอดอยู่หน้าบ้าน ก่อนจะเลื่อนกระจกลงมาถ่ายรูปและขับออกไป 

ก่อนหน้านั้น 1 วัน วรางคณายังพบเห็นบุคคลไม่ทราบสังกัดไปถ่ายรูปป้ายหน้าที่ทำงาน เธอคาดว่า ชายดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูปและระบุพิกัดว่าเธอทำงานในที่แห่งนั้น นอกจากนั้นทั้งสัปดาห์ยังพบเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่คุ้นโทรมาสอบถามที่อยู่ และถามว่ามีแผนจะทำอะไรบ้างในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมาบึงกาฬ

วรางคณากล่าวถึงความรู้สึกของเธอต่อเหตุการณ์คุกคามนี้ว่า “ปกติเราก็ทำงานอยู่เบื้องหลังอยู่แล้ว และครั้งนี้การมาของประยุทธ์ เราก็ไม่ได้รู้สึกอยากออกไปทำอะไร เพราะประเมินอยู่แล้วว่าน่าจะมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อสกัดกั้นประชาชนไว้เยอะ ถึงที่สุดแม้เราย้ำกับตำรวจตลอดว่า จะไม่ออกไปทำกิจกรรมที่ไหน เพราะมีงานประจำทำอยู่แล้ว พวกเขาก็ยังมาติดตาม ซึ่งไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องทำขนาดนี้” 

ภาพเหตุการณ์คาร์ม็อบบึงกาฬ 7 ส.ค. 2565

จากการติดตามยังพบการเคลื่อนไหวของสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกใน จ.บึงกาฬ โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 เฟซบุ๊กเพจราษฎรบึงกาฬได้โพสต์ภาพเอกสารของ สภ.เมืองบึงกาฬ คาดว่าส่งให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เข้าให้ความเห็นกับตำรวจเกี่ยวกับเหตุการณ์คาร์ม็อบที่ตัวอำเภอเมืองบึงกาฬ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 

เอกสารดังกล่าวระบุรายละเอียดว่า การกระทำของ สำรวย ศรีทิน อดีตผู้สมัคร ส.ส.จ.บึงกาฬ เขต 2 พรรคอนาคตใหม่ กับพวก ที่เข้าร่วมคาร์ม็อบในวันดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกความตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดย พ.ต.ท.จรูญศักดิ์ ลำพุทธา ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีสำรวยกับพวก และพนักงานสอบสวนได้รับไว้เป็นคดีแล้ว คาดว่า หลังจากนี้สำรวยและนักกิจกรรมที่เข้าร่วมคาร์ม็อบดังกล่าวจะถูกออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา แม้ว่ากิจกรรมจะผ่านไปกว่า 1 ปีแล้ว และปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อีกทั้งโควิดถูกประกาศลดจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจบึงกาฬไปบ้าน “คณะราษฎรบึงกาฬ” 2 ราย ก่อนและหลังป้าย “ยกเลิก 112” โผล่กลางเมือง อีกรายถูกขู่เช่นกัน

พนักงานขับรถส่งของในบึงกาฬถูกใส่กุญแจมือ-คุมตัว ขณะติดป้ายบนสะพานลอย นอกเครื่องแบบไม่แจ้งสาเหตุ ทั้งไม่ขอโทษสิ่งที่เกิดขึ้น

X