พนักงานขับรถส่งของในบึงกาฬถูกใส่กุญแจมือ-คุมตัว ขณะติดป้ายบนสะพานลอย นอกเครื่องแบบไม่แจ้งสาเหตุ ทั้งไม่ขอโทษสิ่งที่เกิดขึ้น

เมื่อคืนวันที่ 11 กันยายน 2564 คณะราษฎรบึงกาฬ นัดหมายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการโควิด-19 บริเวณสะพานลอยหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ อรัญ (สงวนนามสกุล) ชายอายุ 29 ปี พนักงานขับรถส่งสินค้า เห็นข้อความเชิญชวนจากหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรบึงกาฬ จึงเดินทางจากบ้านที่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 9 กิโลเมตร มาร่วมกิจกรรม 

อรัญเล่าว่าขณะไปถึงช่วงเวลาราว 18.00 น. มีนักกิจกรรมราษฎรบึงกาฬอยู่ 2 คน ขณะนั้นยังไม่มีใครอยู่รอบบริเวณดังกล่าว จึงเริ่มเอาป้ายที่มีข้อความวิจารณ์รัฐบาลไปติดบนสะพานลอย และมัดป้ายผ้าอยู่ได้ประมาณ 10 นาที จังหวะที่อรัญกำลังจะเอาไฟแช็กตัดเชือกที่ผูกป้ายผ้าผืนที่สอง ก่อนจะหย่อนป้ายลงมาจากสะพานลอยนั้น ปรากฏเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย วิ่งเข้ามาประชิดตัว โดยอรัญไม่ทราบว่ามาตั้งแต่เมื่อไหร่ นายหนึ่งเข้ามาล็อคตัวใส่กุญแจมือ อีกนายก็ยืนขวางทางไว้ โดยไม่มีการบอกอรัญว่าจับกุมด้วยข้อหาอะไร ทั้งยังพยายามถามชื่อ และถามด้วยว่าบ้านอยู่ที่ไหน

ตำรวจพยายามถามอีกหลายครั้ง แต่อรัญไม่ได้บอกข้อมูลอะไร บอกเพียงว่า มีอะไรให้ไปคุยข้างล่าง และให้นักกิจกรรมราษฎรบึงกาฬทั้งสองถ่ายภาพดังกล่าวไว้  แต่แล้วนอกเตำรวจพยายามข่มขู่ให้ปิดโทรศัพท์มือถือและให้อยู่พูดคุยบนสะพานเท่านั้น ก่อนมีความชุลมุนขึ้นเล็กน้อยเมื่อนักกิจกรรมราษฎรบึงกาฬ 2 คน พยายามร้องขอตำรวจเพื่อลงไปพูดคุยกันด้านล่าง เนื่องจากบนสะพานนั้นเป็นจุดเสี่ยงอันตรายและนักกิจกรรมไม่มีท่าทีที่จะหลบหนีไปไหน

จากนั้นตำรวจแต่งกายครึ่งท่อนที่อยู่ข้างล่างบอกให้นอกเครื่องแบบทั้งสองปลดกุญแจมือและพาตัวอรัญลงมา โดยอรัญถูกคุมตัวอยู่บนสะพานลอยราว 5 นาที

เมื่อลงมาด้านล่างทราบ ตำรวจที่แต่งกายครึ่งท่อนจึงแนะนำตัวว่าชื่อ ร.ต.ต.วัลลภ ภูผานี เป็นชุดสืบสวน สภ.เมืองบึงกาฬ แต่คนอื่นๆ ไม่มีการแนะนำตัว หรือแสดงบัตรตำรวจแต่อย่างใด โดย ร.ต.ต.วัลลภ อ้างว่า แสดงตัวคนเดียวก็พอแล้ว ก่อนจะเชิญให้กลุ่มนักกิจกรรมไปพูดคุยที่ สภ.เมืองบึงกาฬ แต่อรัญกับกลุ่มนักกิจกรรมยืนยันไม่ไป และพยายามเรียกร้องให้ตำรวจที่วิ่งมาใส่กุญแจมืออรัญและขวางไม่ให้นักกิจกรรมลงจากสะพานลอย ขอโทษในสิ่งที่เกิด แต่ไม่มีการขอโทษจากตำรวจนายนั้นแต่อย่างใด

อรัญย้อนเล่าเหตุการณ์อีกว่า ตำรวจอ้างว่าขับรถผ่าน แต่ตัวอรัญบอกว่าฟังไม่ขึ้น น่าจะมีการติดตามมาก่อนหน้านี้  ขณะถูกใส่กุญแจมือนั้นกำลังติดป้ายสะท้อนการเมืองไปได้ 2 ป้าย จากที่เตรียมมา 3 ป้าย และเพิ่งแขวนหุ่นศพอีกหนึ่งตัวที่สะท้อนเรื่องคนตายกับโควิด-19  

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากเหตุการณ์ตำรวจยึดป้ายผ้าและหุ่นศพไปหมด นอกจากนี้ยังถ่ายภาพรถที่นักกิจกรรมขับมา และถ่ายภาพนักกิจกรรมด้วย 

อรัญสะท้อนความรู้สึกอีกว่า “ตำรวจไม่ควรทำแบบนี้ น่าจะถามกันก่อนว่าทำอะไร หรือทำแบบนี้มันผิดอย่างไร ทำเหมือนมีอำนาจแล้วอยากใช้กับประชาชนก็ใช้ไป หากการกระทำแบบนี้มันผิด ผมอยากให้ตำรวจขึ้นมาก็ตักเตือนกัน หรือพูดกันไปตามกฎหมาย อันนี้เหมือนมาทำแบบเถื่อนๆ ด้วย เพราะตัวผมเองก็พร้อมจะให้ความร่วมมือตามกระบวนการ กล่าวย้ำอีกว่า เราอยากให้เขาขอโทษ แต่ไม่มีคำขอโทษใดๆ เลย”

ก่อนหน้านี้อรัญเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง จากชุมนุมคาร์ม็อบที่บึงกาฬตั้งแต่ครั้งแรกในบึงกาฬเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564  สาเหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะไม่พอใจการบริหารรัฐบาลเรื่องสถานการณ์โควิด-19 และทนไม่ไหวกับการบริหารของรัฐบาล โดยเฉพาะการจัดสรรวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งหากคนทำอาชีพขับรถส่งของแบบเขา ถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนก็จะเดินทางไปส่งของลำบาก รวมถึงขับรถไปในที่ต่างๆ ไม่สะดวก ทางร้านค้าที่ไปส่งของก็จะถามเสมอๆ ว่า คนขับรถฉีดวัคซีนหรือยัง

วรางคณา แสนอุบล หนึ่งในนักกิจกรรมคณะราษฎรบึงกาฬกล่าวด้วยว่า สำหรับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เมื่อคืนวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนภาพคนตายจากการบริหารของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยขณะนี้ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การชุมนุมมีข้อจำกัดทางกลุ่มเลยอยากมาแสดงออกในรูปแบบนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนกันยายนมีการขึ้นป้ายลักษณะเดียวกันที่บึงกาฬ และป้ายได้ถูกยึดจากสะพานลอยนั้นไปด้วย 

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2564 ที่จังหวัดบึงกาฬมีการจัดคาร์ม็อบไปแล้ว 2 ครั้ง และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564  มีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นจากความพยายามขัดขวางของเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ตามไปเยี่ยมนักการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือการส่งเจ้าหน้าที่ไปคุกคามมวลชนที่จะออกมาร่วมแสดงออกในวันดังกล่าว นอกจากนี้การพยายามถ่ายภาพผู้เข้าร่วมขบวนของเจ้าหน้าที่ก็ได้นำมาสู่ความเสียหาย จากการที่เจ้าหน้าที่ไม่ทันระวัง ถอยรถชนรถที่มาจอดต่อท้ายในบริเวณดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและฝ่ายปกครองเร่งถอดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่ในเส้นทางที่ขบวนจะผ่านออก ก่อนที่จะมีการเคลื่อนขบวนออกจากจุดเริ่มต้นไม่กี่นาที 

และเมื่อย้อนไปในเดือนมีนาคม 2564  หลังปรากฏป้ายผ้า “ยกเลิก 112” ติดที่สะพานลอยบริเวณหน้าสำนักงานขนส่งจังหวัดบึงกาฬ ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์มีนักกิจกรรม “คณะราษฎรบึงกาฬ” 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบึงกาฬ และตำรวจไม่ทราบสังกัด ไปพบที่บ้านเพื่อขอให้เลิกทำกิจกรรมลักษณะดังกล่าวอีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจบึงกาฬไปบ้าน “คณะราษฎรบึงกาฬ” 2 ราย ก่อนและหลังป้าย “ยกเลิก 112” โผล่กลางเมือง อีกรายถูกขู่เช่นกัน

X