ตำรวจบึงกาฬไปบ้าน “คณะราษฎรบึงกาฬ” 2 ราย ก่อนและหลังป้าย “ยกเลิก 112” โผล่กลางเมือง อีกรายถูกขู่เช่นกัน

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ปรากฏป้ายผ้า “ยกเลิก 112” ติดที่สะพานลอยบริเวณหน้าสำนักงานขนส่งจังหวัดบึงกาฬ ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์มีนักกิจกรรม “คณะราษฎรบึงกาฬ” 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบึงกาฬ และตำรวจไม่ทราบสังกัด ไปพบที่บ้านเพื่อขอให้เลิกทำกิจกรรมลักษณะดังกล่าว รวมทั้งติดตามตัวเพื่อให้ลบโพสต์ด้วย

ต้อม (นามสมมติ) นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคชั้น ปวช. 3 ให้ข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 15.00 น. ตำรวจในเครื่องแบบ สภ.เมืองบึงกาฬ 4 นาย เดินทางไปที่บ้านแม่ของเขาที่อำเภอศรีวิไล หลังจากเวลาประมาณ 9.00 น. เฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาที่ใช้ชื่อจริงในภาษาอังกฤษ โพสต์ภาพป้ายดังกล่าว 

เมื่อตำรวจไม่พบต้อม เนื่องจากชื่อของต้อมอยู่ในทะเบียนบ้านหลังดังกล่าว แต่ตัวเขาอยู่ที่อำเภอเมือง ตำรวจไดเล่าให้แม่ฟังถึงพฤติกรรมของต้อม พร้อมทั้งตักเตือนแกมขู่ไม่ให้ต้อมยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 112 และไม่ให้ทำกิจกรรมลักษณะนี้อีก หลังใช้เวลาพูดคุยราว 10 นาที ตำรวจจึงกลับไป   

ต้อมทราบจากคนที่บ้านว่า ก่อนหน้านั้นในเวลา 14.00 น. ตำรวจได้โทรศัพท์สอบถามที่อยู่ของต้อมจากผู้ใหญ่บ้าน ทั้งยังทราบข่าวจากตำรวจที่รู้จักว่า เจ้าหน้าที่ได้เก็บป้ายผ้าดังกล่าวส่งพิสูจน์หลักฐานจังหวัดบึงกาฬให้ตรวจสอบลายนิ้วมือแฝง ดีเอ็นเอ และสำรวจกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เคียงเพื่อติดตามหาผู้ติดป้าย

ในช่วงปี 2563 ต้อมเคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองที่จังหวัดนครพนม ก่อนกลับมาจัดชุมนุมที่ริมโขงบึงกาฬในช่วงเดือนตุลาคม หลังตำรวจไปที่บ้าน ต้อมกล่าวว่า เขาและครอบครัวไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวการคุกคามที่เกิดขึ้น และหลังจากนั้นก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มาติดตามคุกคามเขาอีก

นักกิจกรรม “คณะราษฎรบึงกาฬ” อีกรายที่ถูกติดตามหลังปรากฏป้ายผ้า “ยกเลิก 112” ดังกล่าว คือ เปรียว (นามสมมติ) นักศึกษาปริญญาโท ด้านการท่องเที่ยว ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พื้นเพเปรียวเป็นคนบึงกาฬ ช่วงปี 2563 เปรียวได้ติดต่อกับเพื่อนในบึงกาฬและได้ร่วมกันตั้งกลุ่ม “คณะราษฎรบึงกาฬ” แต่ตัวเขาอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงได้แต่แชร์ข่าวสารการเมืองและการนัดหมายทำกิจกรรมในบึงกาฬ 

กรณีป้าย “ยกเลิก 112” ดังกล่าว เปรียวได้ทราบภายหลังว่า หลังจากมีคนมาติดที่สะพานลอยได้ไม่เกิน 5-6 ชั่วโมง ป้ายก็หายไป และทราบว่าตำรวจ สภ.เมืองบึงกาฬ ไปที่บ้านของต้อม เนื่องจากต้อมได้โพสต์ภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ในส่วนของเปรียว ก่อนหน้าวันที่ 26 มีนาคม 2564 ไม่กี่วัน หลังจากเพจ “คณะราษฎรบึงกาฬ” โพสต์ภาพพร้อมข้อความทำนองว่า ป้ายยกเลิก 112 จะไปปรากฏที่ไหนในบึงกาฬ? ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบึงกาฬ ไปหาแม่ของเปรียวที่บ้าน และสอบถามว่าเปรียวอยู่บ้านหรือไม่ แต่หลังจากนั้นยังไม่พบว่ามีตำรวจไปที่บ้านอีก 

  เปรียวเล่าอีกว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ปี 2563 ที่มีการจัดชุมนุมทางการเมืองบริเวณศาลาริมแม่น้ำโขง ถนนข้าวเม่าที่บึงกาฬ ลุงของเขาที่เป็นตำรวจ สภ.เมืองบึงกาฬ ก็เริ่มตักเตือนเปรียวเรื่องการแสดงออกทางการเมือง พร้อมระบุว่าเขาเป็นหนึ่งในรายชื่อที่เจ้าหน้าที่ติดตามตัว 

กระทั่งหลังการชุมนุมวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ตำรวจ สภ.เมืองบึงกาฬ เดินทางไปที่บ้านของเปรียวที่อยู่ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬราว 10 กิโลเมตร แต่ก็ไม่พบเปรียว เพราะเจ้าตัวอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ พบเพียงแม่ของเปรียว ก่อนจะมีการถามในลักษณะว่า บ้านหลังนี้มีคนชื่อเปรียวอยู่ใช่หรือไม่ และพูดในลักษณะเหมือนมาตักเตือน 

เปรียวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในทุกครั้งที่มีกิจกรรมทางการเมืองในต่างจังหวัด เช่น การติดป้ายแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือป้ายยกเลิก 112 เจ้าหน้าที่ก็จะไปพบแม่ทุกครั้ง ไม่ว่าป้ายนั้นจะปรากฏที่บึงกาฬหรือไม่ ซึ่งทำให้เขารู้สึกไม่พอใจที่แม่ถูกรบกวน แต่ไม่ได้ถึงกับกังวลเรื่องความปลอดภัย ทุกวันนี้เปรียวก็ยังเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ ทุกครั้งที่มีโอกาส 

บรรยากาศการแสดงออกทางการเมืองของจังหวัดบึงกาฬที่ ถนนข้าวเม่า ริมโขง

รายที่สาม คือ แซม (นามสมมติ) อายุ 25 ปี เป็นคนบึงกาฬ ปัจจุบันมาประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่สมุทรปราการ แต่ได้ร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองกับ “คณะราษฎรบึงกาฬ” โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของกลุ่ม 

แซมให้ข้อมูลว่า 2-3 วัน ก่อนหน้าวันที่ 26 มีนาคม 2564 เพจ “คณะราษฎรบึงกาฬ” ได้โพสต์ในทำนองว่า ป้ายยกเลิก  112 จะไปโผล่ที่ไหนในบึงกาฬ? วันต่อมา ก็มีบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ปอท.บึงกาฬ โทรศัพท์มาหาเขา พูดคุยว่าได้ไปทำอะไรในโซเชียลหรือไม่ เพราะทราบว่าเป็นแอดมินเพจ แซมกล่าวกับอีกฝ่ายว่า ไม่ได้ทำอะไร แต่ก็บอกว่า เป็นแค่ฝ่ายประสานงานของเพจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการโพสต์ในเพจเลย 

จากนั้น ชายที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่บอกให้แซมลบโพสต์ดังกล่าวออกเพราะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีการพูดในลักษณะขู่ว่า เขารู้จักบ้านของแซมดี แซมเจรจาว่า ไม่ลบได้หรือไม่ โดยขอคุยกับเพื่อนในกลุ่มราษฎรบึงกาฬก่อน ระหว่างพูดคุยอีกฝ่ายพยายามถามว่า ใครเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แซมจึงตั้งคำถามกลับว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่ ปอท.จริง น่าจะรู้ว่าใครเป็นผู้โพสต์

เย็นวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองบึงกาฬ โทรศัพท์ไปหาผู้ใหญ่บ้าน กระทั่งผู้ใหญ่บ้านไปตามแม่ของแซมถึงบ้าน บอกว่าตำรวจจะมาพบที่บ้าน แม่จึงโทรมาถามแซมว่า ได้ไปโพสต์อะไรหรือไม่ ทำให้แซมรู้สึกไม่พอใจ เพราะบอกกับคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่แล้วว่า ลบให้ไม่ได้ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องมายุ่งกับที่บ้าน เพราะเขาไม่อยากให้คนในครอบครัวมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

แต่ท้ายที่สุดในวันนั้นก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปที่บ้าน แล้วหลังจากนั้นมายังไม่มีใครโทรมาที่เบอร์ของแซมในลักษณะนี้อีกเลย 

แซมกล่าวว่า เขาไม่ได้กังวลเรื่องการถูกคุกคามในระดับนี้ แค่รู้สึกว่าถูกรบกวนจิตใจ แต่รู้สึกได้ว่า น่าจะถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่เขามั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ทั้งนี้ คนในครอบครัวทราบดีว่าแซมทำกิจกรรมทางการเมืองและไม่ได้ห้ามปราม เพราะที่บ้านมีแนวคิดทางการเมืองไปในทางเดียวกัน 

 

X