ศาลเยาวชนฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี 5 วัน “ภูมิ ศศลักษณ์” คดีชุมนุมราษฎรอีสาน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งเข้าศูนย์ฝึกอบรม ก่อนอนุญาตให้ประกัน

วันที่ 13 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ภูมิ ศศลักษณ์” นักกิจกรรมเยาวชนวัย 19 ปี กรณีถูกสั่งฟ้องจากเหตุเข้าร่วมชุมนุมกับ #คณะราษฎรอีสาน ใน #ม็อบ13ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 

ในคดีนี้ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 เป็นผู้สั่งฟ้องทั้งหมด 8 ข้อกล่าวหา ประกอบไปด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวาย, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ทำให้เสียทรัพย์, มาตรา 368 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน, มาตรา 391 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น และมาตรา 140 ร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน 

คดีนี้มีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย เมื่อวันที่ 21 – 23 ก.ย. และ 28 ก.ย. 2565 โดยภูมิตัดสินใจสู้คดีถึงที่สุด โดยยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีความผิดตามฟ้อง และได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ในชั้นสอบสวน

ต่อมาเวลา 10.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ภูมิและครอบครัวเดินทางมาพร้อมที่ปรึกษาทางกฎหมาย แต่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย โดยแจ้งว่าเป็นมาตรการป้องกันโควิดและอนุญาตเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น

ศาลให้ภูมิและที่ปรึกษาทางกฎหมายเดินไปฟังคำพิพากษาที่บริเวณหน้าบัลลังก์ โดยศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดแยกเป็น 3 กรรม ได้แก่ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เห็นว่าเป็นการชุมนุมที่จำเลยและพวกร่วมกันจัดขึ้นเป็นการมั่วสุมที่มีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ลงโทษจำคุก 1 ปี, ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย กระทำการให้เกิดความวุ่นวาย และข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ลงโทษจำคุกรวม 1 ปี ตลอดจนข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ให้จำคุก 5 วัน รวมลงโทษจำคุก 2 ปี 5 วัน

ศาลเห็นว่าจากรายงานของสถานพินิจ จำเลยควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อขัดเกลานิสัยความประพฤติสักระยะหนึ่ง อาจจะเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่าโทษจำคุก อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้จำเลยเรียนต่อให้จบมัธยมศึกษาตอนต้น และจัดให้ฝึกอบรมวิชาชีพ 2 อย่าง

หลังฟังคำพิพากษา ครอบครัวของภูมิตกอยู่ในความเศร้า โดยทั้งหมดเปิดเผยว่าคำพิพากษาของศาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังเอาไว้ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ทั้งหมดจึงคิดว่าในคดีนี้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องให้กับภูมิ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศาลได้นำตัวภูมิไปที่ห้องควบคุม ซึ่งที่ปรึกษาทางกฎหมายได้ยื่นขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยแต่งตั้งให้ยายของภูมิเป็นนายประกันทันที

เวลา 15.00 น.ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวภูมิในระหว่างอุทธรณ์ โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าในกรณีจากการชุมนุมของคณะราษฎรอีสาน เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563  ก่อนหน้านี้อัยการศาลแขวงดุสิตได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของ 6 นักกิจกรรมที่เข้าร่วมติดตามสถานการณ์ในวันดังกล่าว ในข้อหาหลักเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ โดยเห็นว่าส่วนใหญ่ผู้ร่วมกิจกรรมได้มีการสวมใส่หน้ากากป้องกัน สภาพและพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่งกว้าง อากาศสามารถถ่ายเทได้ กลุ่มผู้ชุมนุม สามารถเว้นระยะห่างจากกันได้ในบริเวณที่เกิดเหตุ สภาพและพื้นที่เกิดเหตุจึงไม่มีสภาพแออัดที่จะก่อให้เกิดสภาพเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ขณะที่ยังมีคดีของผู้ชุมนุม 19 ราย ที่เป็นกลุ่มที่ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุและถูกสั่งฟ้องที่ศาลอาญา ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบพยานในศาล

X