25 เม.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน “หิน” (นามสมมติ) เยาวชนวัย 19 ปี เหตุถูกกล่าวหาว่าร่วมกันปา “ลูกกระทบ” จำนวน 9 ครั้ง ในการชุมนุมวันที่ 21 พ.ย. 2564 บริเวณถนนราชปรารภ โดยให้วางหลักประกันจำนวน 30,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และมีผู้ปกครองเป็นนายประกัน หินถูกคุมขังที่บ้านเมตตา มาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2566 รวมระยะเวลาถูกคุมขังมา 32 วัน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวหินเป็นครั้งที่ 4 ระบุว่าพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง และศาลเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหลายครั้ง เกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวแล้วจะหลบหนี หรือไปก่อเหตุร้ายอีก ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 24 เม.ย. 2566 ทนายความจึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว โดยระบุเหตุผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สามารถสรุปได้ดังนี้
1. คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 108/1 และมาตรา 187 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากไม่ได้แสดงเหตุผลตามกฎหมายในการสั่งว่า เหตุใดเป็นเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือจะไปก่ออันตรายประการอื่น ผู้ต้องหาจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่ามีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดที่ศาลวินิจฉัยว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือจะไปก่ออันตรายประการอื่น ทำให้ไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ตามสมควร
นอกจากนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางก็มิได้วินิจฉัยเหตุผลตามข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายต่างๆ ที่ผู้ต้องหานำเสนอ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงในส่วนที่ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีมาตั้งแต่ต้น ผู้ต้องหาไม่เคยได้รับหมายเรียก และสถานที่ที่เจ้าพนักงานจับกุมเป็นบ้านที่ผู้ต้องหาพักอาศัยกับมารดาในปัจจุบันซึ่งเป็นที่อยู่หลักแหล่งแน่นอน ไม่ใช่สถานที่หลบซ่อนตน และหลังจากวันที่เกิดเหตุคดีนี้ผู้ต้องหาไม่เคยไปก่อเหตุร้ายอื่นอีกแต่อย่างใด
อีกทั้งคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางทำนองว่า และศาลเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหลายครั้ง เกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวแล้วจะหลบหนี หรือไปก่อเหตุร้ายอีก ไม่ใช่เหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา
.
2. การถูกดำเนินคดีในฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูง มิได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่าผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือไปก่อเหตุร้ายอีก
พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหายังเป็นเพียงการกล่าวหาฝ่ายเดียว ยังไม่ผ่านการพิจารณาคดีโดยศาล และคดีนี้ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยประสงค์จะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 40 (ข) (1), กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 (1) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) ที่ผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด รวมถึงหลักการควบคุมตัวต้องเป็นมาตรการสุดท้ายและใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหากเป็นไปได้ รัฐควรใช้มาตรการอื่นแทนการควบคุมตัวไว้พิจารณาคดี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 74
.
3.ข้อเท็จจริงไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะหลบหนี
หมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางระบุว่า ผู้ต้องหามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะหลบหนี คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง เนื่องจากผู้ต้องหาไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีนี้มาก่อน และผู้ต้องหาเป็นผู้มีภูมิลำเนาถิ่นฐานที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน โดยเป็นบ้านที่พักอาศัยอยู่กับมารดามาตั้งแต่ปี 2563 บ้านหลังดังกล่าวอยู่ใกล้กับโรงเรียน ระหว่างที่พักอาศัยที่บ้านหลังดังกล่าวผู้ต้องหาและมารดาใช้ชีวิตตามปกติ เปิดเผยตัวตน มิได้หลบหนีมาซ่อนตนแต่อย่างใด
ประการสำคัญ ในวันที่จับกุมผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 เจ้าพนักงานจับกุมผู้ต้องหาได้ที่บริเวณหน้าบ้านหลังดังกล่าวข้างต้น และในวันที่จับกุมผู้ต้องหาและผู้ปกครองได้ออกไปพบเจ้าพนักงานผู้จับที่บริเวณหน้าบ้านหลังดังกล่าวโดยมิได้หลบซ่อนหรือขัดขืน และได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ แม้ในคดีนี้พนักงานสอบสวนจะคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เหตุแห่งการคัดค้านนั้น ไม่ได้คัดค้านเพราะเกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวแล้วจะหลบหนีแต่อย่างใด
.
4.การใช้ดุลยพินิจว่าในอนาคตผู้ต้องหาจะไปกระทำการใดที่ผิดกฎหมายอีก เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าของพนักงานสอบสวนและศาล ถือว่าเป็นคำสั่งที่เกินจำเป็น
คำร้องขอตรวจสอบการจับระบุว่า พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา เนื่องจากได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีในพฤติการณ์และฐานความผิดลักษณะนี้พบว่า ผู้ต้องหาหลายรายเมื่อได้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้วได้กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันซ้ำอีก และที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เพราะเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้ายอีก
ผู้ต้องหาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากเป็นการใช้ดุลยพินิจพิจารณาไว้ในอนาคตว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำการใดที่ผิดกฎหมายอีก อันเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าของพนักงานสอบสวนและศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ถือว่าเป็นคำสั่งที่เกินจำเป็น และมิใช่เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 อย่างชัดแจ้ง
ประการสำคัญ ในสำนวนคดีนี้ระบุว่า ภายหลังจากเกิดเหตุคดีนี้ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาไปก่อเหตุร้ายหรือถูกดำเนินคดีอาญาอื่นใดอีก
.
5.พยานหลักฐานในคดีนี้อยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาเป็นบุคคลธรรมดาย่อมไม่อาจก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาลได้
ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา เป็นเพียงนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่ได้เป็นเยาวชนที่มีลักษณะหรือพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวม และอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวย่อมไม่อาจก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาลได้อย่างแน่นอน
.
นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังมีความจำเป็นต้องกลับไปแก้ผลการเรียนเพื่อขอจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสมัครศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตามความฝันที่อยากทำงานในวงการบันเทิง และยินยอมให้ศาลกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวตามดุลพินิจที่ศาลเห็นสมควร ไม่ว่าจะเป็นการรายงานตัวต่อเนื่อง หรือการแต่งตั้งผู้กำกับดูแล ผู้ต้องหาก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งศาลทุกประการ