ON THIS DAY: ชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ผ่านมา 4 ปี 23 คนถูกดำเนินคดี จนวันนี้คดียังไม่จบ

*อัปเดตข้อมูลล่าสุด 19 ก.ย. 2567

วันนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว (หรือวันที่ 19 ก.ย. 2563) กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ประกาศการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อเนื่องถึงสนามหลวง ในระหว่างวันที่ 19 – 20 ก.ย. 2563 นับได้ว่าเป็นการชุมนุมแบบค้างคืนครั้งแรกในปี 2563 และครั้งสำคัญที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดครั้งหนึ่งนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยช่วงหนึ่งแกนนำได้ประกาศว่ามีผู้ชุมนุมช่วงสูงสุดกว่า 2 แสนคน 

สามเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในการชุมนุมครั้งนี้คือการเคลื่อนเข้า “ขอคืนพื้นที่” สนามหลวงของเหล่าผู้ชุมนุม และเปลี่ยนมาเป็น “สนามราษฎร” โดยในการชุมนุมทั้ง 2 วัน บริเวณด้านในของสนามราษฎรมีการตั้งเวทีปราศรัย ฝั่งหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ยืนกั้นแนวอ้างเป็นเขตพระราชฐาน ขณะที่รอบนอกมีการตั้งร้านขายอาหาร เวทีย่อยที่มีผู้ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยประเด็นต่าง ๆ อย่างการแก้รัฐธรรมนูญ และซุ้มกิจกรรมรณรงค์ประเด็นทางสังคม รวมไปถึงการจัดแสดงงานศิลปะ 

เหตุการณ์ต่อมาที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมือง คือพิธีวางหมุดคณะราษฎรหมุดใหม่ ทว่ายังคงแฝงนัยยะเดิมของการต่อสู้ที่ไม่เคยเปลี่ยน หมุดที่ถูกออกแบบและหล่อขึ้นมาโดยมีจุดเด่นคือสัญลักษณ์สามนิ้ว ถูกจารึกลงพื้นสนามหลวงในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 20 ก.ย. 2563  ถึงแม้หมุดดังกล่าวจะถูกถอนออกไม่นานหลังจากเสร็จสิ้นการชุมนุม แต่ก็ได้ถูกผลิตซ้ำขึ้นอีกครั้งบนโลกออนไลน์และอีกหลายรูปแบบ อาทิ สติกเกอร์ เข็มกลัด ลายพิมพ์เสื้อผ้า ไปจนถึงงานศิลปะ สะท้อนความหวังของมวลชนที่ถูกผนวกรวมเข้ากับวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) ที่สามารถผลิตสร้างขึ้นได้ใหม่ในรูปแบบใหม่ ๆ แม้จะถูกรัฐถอนรื้อซักกี่ครั้งก็ตาม

เหตุการณ์สำคัญสุดท้ายของการชุมนุมคือการเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าของวันที่ 20 เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมยื่นหนังสือ 3 ข้อเรียกร้องและ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อประธานองคมนตรี แต่ได้มีการต่อรองจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขบวนจึงเคลื่อนไปหยุดอยู่บริเวณศาลฎีกา ทางผู้ชุมนุมได้ส่งตัวแทนคือ “รุ้ง” ปนัสยา ยื่นหนังสือ 10 ข้อเสนอให้กับ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตัวแทนผู้รับมอบ ไม่นานหลังจากนั้นแกนนำก็ได้ประกาศยุติการชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในการชุมนุมดังกล่าวทางภาครัฐได้ใช้มาตรการอย่างเข้มข้นทั้งในและนอกกฎหมายเพื่อจะยับยั้งการใช้สิทธิของประชาชนในการเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวง ไม่ว่าจะเป็นการบุกเยี่ยมบ้านนักกิจกรรมและชาวบ้านหลายราย บุกเข้ายึดป้ายผ้าของกลุ่มดาวดินที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อสกัดไม่ให้เดินทางมาร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือการตรวจตราเข้มงวดต่อผู้ชุมนุมที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ

แม้กระทั่งในวันที่มีการชุมนุมเกิดขึ้น พบว่ามีการสกัดกั้นรถเครื่องเสียง รถเครื่องปั่นไฟ หรือแม้แต่รถสุขา ทำให้เข้ามาในพื้นที่ชุมนุมได้ช้ากว่ากำหนด ตลอดจนช่วงค่ำที่รถดูดส้วมต้องเข้ามาถ่ายเทสิ่งปฏิกูลออกจากรถสุขาที่ประชาชนจัดหามา ถูกเจ้าหน้าที่กักรถไว้จึงไม่สามารถเข้ามาในที่ชุมนุมได้ รถสุขาได้ทยอยออกจากที่ชุมนุมเนื่องจากส้วมเต็มทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ และบางส่วนถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ออกจากพื้นที่ 

ส่วนรอบบริเวณชุมนุม บางพื้นที่มีกล้องติดไว้ที่แผงเหล็กในลักษณะคล้ายตั้งใจบันทึกภาพผู้ชุมนุม การนำแบร์ริเออร์คอนกรีต ลวดหนามหีบเพลง และรถเมล์สีครีมแดงมาปิดการจราจรโดยรอบสนามหลวง อีกทั้งมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ในหลายจุด แต่ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือการบุกบ้านของหนึ่งในสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในช่วงเช้าวันที่ 19 และยึดหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ทั้งหมดจำนวน 49,990 เล่ม ที่กำลังจะถูกนำไปแจกในที่ชุมนุม 

ย้อนอ่านเหตุการณ์ชุมนุม >> ประมวล #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร การชุมนุมที่ปักหมุดใหม่ให้ประวัติศาสตร์

แม้การชุมนุมจะเกิดขึ้นเป็นเวลาเพียง 2 วัน และถึงวันนี้จะผ่านพ้นไปแล้ว 4 ปี แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่จางหายไปตามกาลเวลาคือผลพวงที่เรียกว่า “คดีความ” ยังคงติดสอยห้อยตามกับผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมและผู้ปราศรัยจำนวนหนึ่งที่ยังคงต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม 

หลังเหตุการณ์การชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร พบว่ามีผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีอย่างน้อย 23 คน ในจำนวน 4 คดี ในจำนวนนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นจำนวน 9 คน  

  1. คดี “มหากาพย์” จากการปราศรัยและชุมนุมของแกนนำ – ผู้เข้าร่วมชุมนุม

คดีนี้มีจำเลยเป็นนักกิจกรรมทั้งสิ้น 22 ราย โดยในจำนวนนี้ 7 คน ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหลักตามมาตรา 112 คือ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา โดยอานนท์และพริษฐ์ถูกสั่งฟ้องสูงที่สุดถึง 11 ข้อกล่าวหา

ส่วนนักกิจกรรมอีก 15 คน อาทิ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, ณัฐชนน ไพโรจน์, “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาหลักตามมาตรา 116 และนอกจากนี้แล้วยังถูกฟ้องในข้อหาอื่น ๆ อีกหลายข้อหาแตกต่างกันไป อาทิ ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, พ.ร.บ.โบราณสถานฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งที่มีความสำคัญต่อขบวนการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 2563 จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “มหากาพย์” กล่าวคือ เป็นคดีแรกที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 กับแกนนำทั้ง 7 ราย ในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งนับว่าเป็นการนำข้อหามาตรา 112 กลับมากล่าวหาครั้งแรกในรอบหลายปี หลังจากมีการหยุดใช้เมื่อปี 2561

นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นคดีที่พนักงานอัยการใช้เวลาพิจารณาสำนวนคดีเพียง 15 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีคำสั่งฟ้องคดี ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเร่งรัดคดีอย่างผิดสังเกต ส่วนจำเลยที่เป็นแกนนำและผู้ปราศรัยทั้งเจ็ด ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น จนเมื่อวันนัดตรวจพยานหลักฐาน พริษฐ์ลุกขึ้นกลางห้องพิจารณาคดีและแถลงประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว

“ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาจะปลิดชีวิตของตน แต่จะขอทรมานตนเอง เพื่อให้ความทรมานที่เกิดกับข้าพเจ้าเป็นประจักษ์พยานแห่งความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น เป็นประกายไฟสะกิดมโนสำนึกของพวกท่าน และเป็นข้อพิสูจน์ว่าความจริงไม่เกรงกลัวต่อความทุกข์ทรมานใด ๆ” คำแถลงตอนหนึ่งของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์

การเริ่มต้นอดอาหารของเพนกวินในเรือนจำ ถูกนำมาเป็นหนทางต่อสู้ของผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่น ๆ ในช่วงถัดมา อาทิ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, พรชัย, “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา ตลอดจนประชาชนหลายคนร่วมประท้วงอดอาหาร จนกระทั่งมีกระแสเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง ศาลจึงทยอยให้ประกันตัวโดยกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. 2564

ปัจจุบันคดีนี้ฝ่ายอัยการโจทก์เริ่มนำสืบพยานปากตำรวจผู้กล่าวหายังไม่เสร็จสิ้น โดยถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง จากเหตุที่ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญบางส่วนตามที่ฝ่ายจำเลยร้องขอ และในพยานเอกสารที่ศาลออกหมายเรียกให้แล้ว หน่วยงานที่ครอบครองเอกสารก็ยังไม่จัดส่งเอกสารให้ 

อีกทั้งในนัดสืบพยานครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา พริษฐ์ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลเห็นว่ามีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ปรับตามสัญญาประกันเต็มจำนวน และออกหมายจับมาดำเนินคดีภายในอายุความ ก่อนมีคำสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 13 พ.ย. 2567 เวลา 09.00 น.

อ่านบทความ >> การแตกตัวของจักรวาลคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร: สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นหลังแกนนำราษฎรถูกขังกว่า 100 วัน

ฐานข้อมูลคดีนี้ >> ชุมนุม #19 กันยา ทวง อำนาจ คืน ราษฎร ถูก ดำเนินคดี ม.112, 116, 215

2. คดีติดสติกเกอร์ #กูkult : ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นฎีกา

“นรินทร์” (สงวนนามสกุล) ผู้เป็นจำเลยในคดีนี้ ถูกสั่งฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังถูกกล่าวหาว่านำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติดคาดตาบนรูปรัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563

คดีนี้มี พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม (ในขณะนั้น) เป็นผู้กล่าวหาภายหลังการชุมนุม  ต่อมาหลังต่อสู้คดี ศาลอาญาพิพากษาว่ามีความผิด เห็นว่าการที่นำสติกเกอร์ดังกล่าวไปติดทับพระเนตรทั้งสองข้างเป็นการสื่อว่ามีความยิ่งใหญ่เหนือกว่ากษัตริย์ แม้ไม่ได้เป็นการกระทำต่อตัวกษัตริย์โดยตรง แต่ก็แปลความหมายได้ในลักษณะเดียวกัน ลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 2 ปี เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ โดยไม่รอลงอาญา และได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์

หนึ่งปีถัดมา ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็น “ยกฟ้อง” เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีพิรุธสงสัย ว่าจำเลยได้เป็นผู้กระทำตามที่ถูกฟ้องหรือไม่ จึงยังไม่อาจรับฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด เห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย 

อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นอันสิ้นสุด เนื่องจากอัยการโจทก์ได้ฎีกาคำพิพากษาต่อมา 

ฐานข้อมูลคดีนี้ >> คดี 112 “นรินทร์” ติด สติ ก เกอร์ “กู kult” ระหว่าง ชุมนุม #19 กันยา ทวง คืน อำนาจ ราษฎร

3. คดีหนังสือปกแดง หรือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” 

ณัฐชนน ไพโรจน์ ผู้เป็นจำเลยในคดีนี้ ถูกสั่งฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” หรือ “หนังสือปกแดง”

เหตุการณ์ในคดีนี้ มีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากก่อนการชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้เดินทางไปที่บ้านของสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และตรวจยึดหนังสือปกแดง ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกคำปราศรัยวิจารณ์พระราชอำนาจจากเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 จำนวนเกือบ 50,000 เล่ม ซึ่งอยู่ในรถเตรียมนำไปแจกในงานชุมนุมดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะนำหนังสือไปตรวจสอบว่ามีเนื้อหาล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยไม่ได้แสดงหมายค้นและหมายจับ 

ต่อมา พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ออกหมายเรียกให้ณัฐชนนเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มาตรา 8

เมื่อเดือน พ.ย. 2566 ศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผลิตหรือครอบครองหนังสือ แต่ให้ริบหนังสือทั้ง 45,080 เล่ม เนื่องจากไม่มีเลข ISBN และที่ตั้งของโรงพิมพ์ และพิจารณาเห็นว่าข้อความในหนังสือมีความผิดตามมาตรา 112

อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นอันสิ้นสุด เนื่องจากอัยการโจทก์ได้อุทธรณ์คำพิพากษา

ฐานข้อมูลคดีนี้ >> คดี 112 “ณัฐชนน” พิมพ์หนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า” รวมคำปราศรัยข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์

4) คดีโพสต์ทุบหม้อข้าวเผด็จการ ถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ #แบนSCB 

“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยในคดีนี้ ถูกสั่งฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์รวม 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเสนอให้แบนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีข้อความพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 

กรณีนี้สืบเนื่องมาจากแกนนำประกาศแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการบนเวทีปราศรัยในคืนวันที่ 19 และก่อนยุติการชุมนุมในเช้าวันที่ 20 ก.ย. และหนึ่งในข้อเรียกร้องของพริษฐ์คือการชวนทุกคนช่วยกันทุบหม้อข้าวเผด็จการ ถอนทุกบาททุกสตางค์ออกจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ในขณะเดียวกันนั้นผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายโพสต์ข้อความสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว จนเกิดเป็นกระแสบนทวิตเตอร์ในแฮชแท็ก #แบนSCB ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 3 แสนครั้ง สูงสุดติดอันดับที่ 4 ของวัน

ในประเด็นการถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อปี 2563 BBC Thai รายงานถึงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งระบุว่าปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับที่ 1 คือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีจำนวน 793,832,259 หุ้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 23.38 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ในเวลาต่อมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบอำนาจให้ ศรัลก์ โคตะสินธ์ ไปกล่าวหาในคดีนี้ไว้ที่ บก.ปอท. หลังจากที่พริษฐ์ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก พนักงานอัยการก็มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565

ในเดือน พ.ค. 2567 หลังสืบพยานคดีนี้ไปได้หนึ่งนัด ในนัดถัดมา พริษฐ์ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลสั่งออกหมายจับ และจำหน่ายคดีในเวลาต่อมา

ฐานข้อมูลคดีนี้ >> คดี 112 “เพนกวิน” ถูก DE แจ้งความ เหตุโพสต์ชวนแบน SCB ปี 63

.

แม้ผ่านมากว่า 4 ปีแล้ว คดีดังกล่าวในบางส่วนทยอยขึ้นสู่ศาลชั้นที่สูงขึ้นไป และใกล้สิ้นสุดลง ขณะที่คดีใหญ่อย่างคดีมหากาพย์ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ยังคงต้องรอการสืบพยานในศาลอีกระยะใหญ่ต่อไป โดยประชาชนยังต้องร่วมกันติดตามสถานการณ์ทางคดีเหล่านี้ต่อไป

X