ยกฟ้อง ม.112 “ณัฐชนน” แต่ให้ริบหนังสือปกแดงเกือบ 5 หมื่นเล่ม ศาลชี้เนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่ไม่มีหลักฐานว่าณัฐชนนเป็นผู้ผลิตหรือครอบครอง

8 พ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ ณัฐชนน ไพโรจน์ บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” หรือ “หนังสือปกแดง”

โดยศาลพิพากษายกฟ้องณัฐชนน เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผลิตหรือครอบครองหนังสือ แต่ให้ริบหนังสือทั้ง 45,080 เล่ม เนื่องจากไม่มีเลข ISBN และที่ตั้งของโรงพิมพ์

เหตุในคดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ก่อนการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สภ.คลองหลวง, ตำรวจภูธรภาค 1 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้เดินทางไปที่บ้านของสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และตรวจยึดหนังสือปกแดงจำนวนเกือบ 50,000 เล่ม ซึ่งอยู่ในรถเตรียมไปแจกในงานชุมนุมดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แสดงหมายค้น อ้างว่าจะนำหนังสือไปตรวจสอบว่ามีเนื้อหาล้มล้างการปกครองหรือไม่ ต่อมา พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ออกหมายเรียกให้ณัฐชนนเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มาตรา 8

สำหรับหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” หรือหนังสือปกแดงเป็นหนังสือบันทึกคำปราศรัยของแกนนำ 4 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และคำปราศรัยของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในการชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น

อัยการสั่งฟ้อง ม.112 เหตุจำเลยผลิตหนังสือและมี 15 ข้อความ รวมถึง 10 ข้อเรียกร้องเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ก่อนศาลนัดสืบพยานทั้งสิ้น 4 นัด

ต่อมาในวันที่ 19 ม.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรียื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 เพียงข้อหาเดียว โดยบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จำเลยและพวกอีก 1 คนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ด้วยการร่วมกันผลิตหนังสือ ชื่อ “ฟ้ามืดเมื่อมีได้ ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์” จํานวน 45,080 เล่ม โดยอัยการได้หยิบยก 15 ข้อความในหนังสือ และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ระบุว่า เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 

ในคดีนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมด 4 นัด โดยสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 22 ก.ย. 2566 ทั้งนี้ อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งสิ้น 9 ปาก ส่วนทนายจำเลยได้นำพยานจำเลยเข้าสืบ 1 ปาก คือ ณัฐชนนผู้เป็นจำเลย 

ณัฐชนนต่อสู้คดีโดยยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือ รวมทั้งข้อความในหนังสือ หรือข้อความตามคำฟ้องก็ไม่ได้มีคำพูดของตน นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุที่มีการตรวจยึดหนังสือมีคนอยู่บนรถบรรทุกหลายคน แต่คนอื่นๆ ก็ไม่ได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด 

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน >> บันทึกการต่อสู้คดี 112 ของ “ณัฐชนน”: เมื่อคนปราศรัยใน ‘หนังสือปกแดง’ โดน ม.116 แต่คนนั่งหน้ารถบรรทุกหนังสือโดน ม.112

พิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 ชี้ การที่ณัฐชนนนั่งรถมากับหนังสือ ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นผู้ผลิตหรือครอบครอง

วันนี้ (8 พ.ย. 2566) ณัฐชนนและทนายความมาถึงศาลราว 08.45 น. มีเพื่อนนักกิจกรรม รวมถึงสื่ออิสระมาพูดคุยให้กำลังใจณัฐชนน ก่อนเดินขึ้นไปฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 โดยพร้อมเพรียงกัน 

เวลาประมาณ 09.55 น. ศาลออกพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลได้ถามกับผู้ที่นั่งอยู่ในห้องว่าใครมาฟังคำพิพากษาคดีณัฐชนนบ้าง คนทั้งห้องราว 15 คน ก็ยกมือและกล่าวว่ามาร่วมฟังคดีนี้ จากนั้น ศาลถามณัฐชนนว่า ต้องการให้อ่านอย่างละเอียดหรือแบบสรุป ณัฐชนนบอกศาลว่าต้องการฟังอย่างละเอียด ศาลบอกให้ณัฐชนนนั่งลงและเริ่มอ่านคำพิพากษา สรุปใจความสำคัญได้ดังนี้ 

หนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ซึ่งมีข้อความตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ นอกจากจำเลยแล้วก็มีบุคคลอีกหลายคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และถึงแม้ว่าจำเลยจะขึ้นปราศรัยในวันที่ 10 ส.ค. 2563 แต่ก็ไม่มีคำปราศรัยของจำเลยในหนังสือ และไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือ อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ตรวจยึดหนังสือมาจากจำเลย ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด แม้จำเลยจะนั่งรถมากับหนังสือ แต่พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ผลิตหรือครอบครองหนังสือดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อนึ่ง หนังสือเล่มนี้ไม่มีเลข ISBN และที่อยู่โรงพิมพ์ จึงให้ริบหนังสือของกลางทั้งหมด 45,080 เล่ม 

พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบหนังสือของกลางทั้งหมด

วิชาญ ชำนาญกุล และ ภูมิภัทร ลาภนิยม ผู้พิพากษาในคดีนี้

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า หลังจากมาตรา 112 ถูกนำกลับมาบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2563 เป็นต้นมา ในคดีมาตรา 112 ที่จำเลยยืนยันต่อสู้คดี ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง 16 คดี จากทั้งหมด 57 คดี ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว นอกจากนั้นศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 26 คดี, ลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 8 คดี, ยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่นๆ 6 คดี และ ยกฟ้องจำเลยบางคน แต่ลงโทษจำคุกจำเลยอีกราย 1 คดี (ข้อมูลวันที่ 8 พ.ย. 2566)

ทั้งนี้ ณัฐชนนถูกดำเนินคดีทางการเมืองในข้อหา มาตรา 112 ทั้งสิ้น 2 คดี ได้แก่ คดีพิมพ์หนังสือถอดเทปคำปราศรัย “ปรากฎการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ที่ฟังคำพิพากษาในวันนี้ และคดีจากกรณีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตาม “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมในยามวิกาลตามหมายจับคดีมาตรา 112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง ซึ่งยังอยู่ในชั้นสอบสวน

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

“เราไม่ได้เป็นอาชญากร เราแค่คิดไม่เหมือนรัฐ” คุยกับ ‘ณัฐชนน’ ก่อนพิพากษาคดี ‘112’ เหตุจากหนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า’

ยึดหนังสือวิจารณ์พระราชอำนาจ ฝ่าเข้าธรรมศาสตร์ สกัดรถอุปกรณ์ ครึ่งวันแรกชุมนุม 19 ก.ย.

X