“เราไม่ได้เป็นอาชญากร เราแค่คิดไม่เหมือนรัฐ” คุยกับ ‘ณัฐชนน’ ก่อนพิพากษาคดี ‘112’ เหตุจากหนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า’

8 พ.ย. 2566 ศาลจังหวัดธัญบุรี นัดอ่านคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของ ณัฐชนน ไพโรจน์ นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกฟ้องจากกรณีถูกกล่าวหาว่าพิมพ์หนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” หรือหนังสือ “ปกแดง”

ย้อนไปวันที่ 19 ก.ย. 2563 ก่อนการชุมนุมใหญ่ #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร ขณะที่ณัฐชนนกับเพื่อนนั่งรถที่บรรทุกหนังสือเล่มดังกล่าวเตรียมนำไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็ถูกตำรวจสกัดไม่ให้ออกเดินทาง ก่อนยึดหนังสือร่วม 50,000 เล่ม ไปไว้ที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ภายหลังเหตุการณ์ตำรวจหยิบข้อความในหนังสือมาดำเนินคดีณัฐชนนในข้อหาตามมาตรา 112

ณัฐชนนสู้คดีว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของหนังสือ ไม่ได้เป็นคนผลิต ไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้จัดทำ ก่อนศาลจะสืบพยานโจทก์ในเดือนกรกฎาคม 2566 ไป 9 ปาก สืบพยานจำเลยเมื่อเดือนกันยายน 2566 อีก 1 ปาก

ก่อนจะถึงนัดชี้ชะตา จึงชวนณัฐชนนมาพูดคุยถึงเหตุในคดีความ ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์เขาเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นดีว่า การถูกดำเนินคดีครั้งนี้มาจากปัญหาทางการเมืองล้วน ๆ หากแก้การเมืองได้ ทางออกของเขาและใครหลายคนที่ถูกรัฐบังคับใช้มาตรา ‘112’ คงไม่ใช่การต้องเข้าไปถูกกักขังเสรีภาพอย่างแน่นอน

.

ชีวิตมหาลัย มองย้อนไปการต่อสู้กับเผด็จการแล้วชนะก็มี 

“ณัฐ” หรือณัฐชนน ย้อนเล่าว่า ใช้ชีวิตวัยเด็กที่ จ.สระบุรี เช่นเดียวกับเด็กต่างจังหวัดทั่วไป มีความสุขตามอัตภาพกับเพื่อนและครอบครัว ก่อนชีวิตมีจุดเปลี่ยนคือการเสียขาข้างขวาจากอุบัติเหตุทางรถขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย จึงทำให้กลายเป็นผู้พิการ นั่นอาจเป็นจุดเริ่มของการสนใจเรื่องราวทางสังคมและคนรอบตัว กระทั่งก่อนเข้ามหาวิทยาลัยณัฐเริ่มสนใจประเด็นทางการเมือง จึงพยายามสอบเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่ก่อนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว แต่การเมืองตอนนั้นเป็นเรื่องของการไม่อยากถาม ไม่อยากตอบ ตอนนั้นการไม่รู้เรื่องราวทางการเมืองจะเป็นคุณกับตัวเองมากกว่า แต่พอจะมาเรียนรัฐศาสตร์เลยค้นคว้าดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า หน้าตาเป็นยังไง ใครดี ใครไม่ดี ยังไง 

.

.

“ปี 2560-2561 เห็นว่า บ้านเมืองมีปัญหา ไม่ได้ดีขนาดนั้น มองย้อนไปเห็นการต่อสู้กับเผด็จการแล้วชนะก็มี ด้วยแรงบันดาลใจเหล่านั้นเลยอยากมาทำกิจกรรมทางการเมืองตอนเข้ามหาวิทยาลัย” ณัฐบอกเล่าถึงช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวเอง ก่อนเลือกเรียนต่อ 

เมื่อเริ่มชีวิตมหาวิทยาลัย เขาได้คบหากับเพื่อน ๆ ที่มีความสนใจทางการเมืองหลายคน เป็นสมาชิกพรรคโดมปฏิวัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคที่ให้ความสนใจประเด็นทางการเมือง และต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านใดด้านหนึ่งในมหาวิทยาลัย แต่ในขณะนั้นประเด็นทางการเมืองยังไม่ทันได้รับความสนใจในวงกว้างจากนักศึกษา

“ปี 2561 การเมืองยังเฉย ๆ บางคนที่เคร่งเครียดการเมืองถูกมองเป็นตัวประหลาด ไม่ได้มีใครเห็นด้วยมากนัก ตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ลงเลือกตั้งสภานักศึกษาในมหาวิทยาลัย ปีนั้นเป็นปีที่เพิ่งตั้งพรรค ได้คะแนนเสียงเพียง 9 คะแนน (ก่อนจะค่อย ๆ มากขึ้น) ตอนนั้นความสนใจทางการเมืองไม่ได้มีมากนัก” ณัฐกล่าวถึงสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น 

ถึงอย่างนั้นณัฐก็ได้ร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง และออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นที่เขาต้องการผลักดันให้เกิด แม้ว่าบางครั้งจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนใกล้ตัว

เขาเล่าว่า “เข้ามาเรียนก็เจอคนที่เคลื่อนไหว หนึ่งในนั้นคือ เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) เจอหลายคนที่คิดเหมือนเรา เป็นสังคมที่คุยเรื่องการเมืองจริงจัง แต่บางทีก็พูดแล้วจะรู้สึกอึดอัด แล้วมีรุ่นพี่บางคนทัดทานว่า ทำไปทำไม หมดอนาคตนะ สู้ในระบบดีกว่าคือจะให้เราเข้ารับราชการ” 

“ตอนเข้ามาเป็นสิงห์แดง ปี 1 เฉย ๆ กับนักกิจกรรม ปี 2 รู้สึกนักกิจกรรมก็ดี ปี 3 ปี 4 ค่อย ๆ เพิ่มความคุ้นเคยขึ้น และคุยการเมืองมาตลอด บรรยากาศสังคมทำให้ทุกคนต้องคุยกันเรื่องนี้ เรียนไป 5 ปี ติดคุกไป 2 รอบ” เขาเล่าถึงสิ่งที่เขาและเพื่อนนักศึกษาต้องเผชิญ ขณะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง 

 .

หนังสือ “การิทัตผจญภัย”: คำถามที่ดีนำไปสู่คำตอบที่น่าสนใจ 

ขณะที่นักศึกษาหลาย ๆ คน หลีกเลี่ยง เขากลับสนใจที่จะลงเรียนวิชาปรัชญาการเมือง ของ ศ.เกษียร เตชะพีระ เพราะด้วยสาระวิชาและผู้สอน ทำให้ณัฐเห็นความสำคัญกับการตั้ง “คำถาม” ต่อสิ่งรอบตัว เพราะคำถามเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อการเรียนรู้ 

“สิ่งที่เรียนรู้คือ อาจารย์ไม่สอนอะไรเลย ให้ไปอ่านหนังสือ แล้วให้ตั้งคำถาม แล้วมาถามอาจารย์ อาจารย์จะตอบ มีคำถามคือ อย่างนักปรัชญาที่ถกเถียงกันมีคนได้คำตอบอยู่ตลอดไหม อาจารย์บอกว่าได้มั่งไม่ได้มั่ง เลยถามกลับไปว่า งั้นเรามาเรียนทำไม อาจารย์บอกว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่คำตอบ หรือใครตอบ สิ่งสำคัญคือคำถาม เลยเข้าใจทันทีว่า ทำไมต้องเรียนกับคำถาม คำถามสำคัญอย่างนี้เอง คำถามเปลี่ยนโลกมากกว่าคำตอบ คำถามพาให้เห็นโลกมากกว่าคำตอบ” 

ณัฐรับเอาหลักคิดจากการเรียนวิชานี้ นั่นก็คือ การตั้งคำถามต่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว มาปรับใช้กับการทำกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะเขาเชื่อว่า คำถามที่ดีนำไปสู่คำตอบที่น่าสนใจ 

“การิทัตผจญภัย” (เขียนโดย Steven Lukes) เป็นหนึ่งในหนังสือนิยายปรัชญาการเมืองที่เขาชื่นชอบ คำถามเบื้องหลังคือเราจะอยู่กันยังไง เมื่อมีคนคนหนึ่งเดินทางออกไป เพื่อจะหาระบบการเมืองการปกครองที่ดีที่สุดมาใช้ ซึ่งการเดินทางของการิทัตก็บอกว่า ไม่มีระบอบการเมืองที่สมบูรณ์แบบ แต่มันเป็นเรื่องที่พิจารณาว่า สิ่งไหนที่เหมาะกับเราในภาวะนั้น ๆ ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาคลาสสิคคือ ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน คนจะรู้สึกว่าประเทศตนมีปัญหา ซึ่งประเทศไทยก็รู้สึกเหมือนกัน เรามีอุดมการณ์ที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นในแบบของเรา” เขาอธิบายที่มาที่ไปของความชื่นชอบเพิ่มเติม 

.

ไม่ได้เป็นอาชญากร เพียงแค่คิดไม่เหมือนรัฐ

เนื่องจากเป็นคนมีบุคลิกชอบพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองกับคนรอบข้าง ประกอบกับเริ่มมีเพื่อนนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ทำให้ณัฐได้เข้าร่วมจัดม็อบทางการเมืองร่วมกับเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัย, รับตำแหน่งเป็นรองประธานสภานักศึกษา ขณะเรียนชั้นปีที่ 1, หัวหน้าพรรคโดมปฏิวัติ (ปัจจุบัน พรรคนี้ก็ยังดำเนินการอยู่), เคยขึ้นปราศรัยประเด็นทางการเมือง ในนามสหภาพนิสิตนักศึกษาประเทศไทย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ภายหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ 

จากนั้นก็เดินทางไปร่วมปราศรัยในเวทีต่าง ๆ ก่อนจำเป็นต้องได้หยุดไปเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 เมื่อณัฐได้แสดงตัวออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยครั้ง ส่งผลให้คนในครอบครัวรู้สึกไม่สบายใจ และเป็นห่วงเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในอนาคตของเขา

.

.

“ที่บ้านก็กังวลมีคำถามมาหาเราเยอะ เช่น ทำไปนี่ดีแล้วเหรอ อย่าให้มันมีผลต่ออนาคต หนักเข้าคือ ไปรับเงินใครมาใช่ไหม ก็ค่อย ๆ ปรับความเข้าใจกันเรื่อยมา เริ่มจูนกันติด ถ้ามีปัญหาก็เป็นเรื่องของผม อายุ 20 กว่าเจอหลายคดี คิดว่าไม่หนัก ตอนอยู่ในคุกเจอคนหลากหลาย ที่ส่วนใหญ่โดนคดีเดียว แต่ผมโดนสิบกว่าคดี คนอื่นเลยตกใจ” เขาเล่าเสริม 

แต่อย่างไรก็ตาม ณัฐกลับไม่ได้กังวลใจมากนัก เพราะเขามองว่า “ประเด็นที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องคดีความ ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ทำผิดกฎหมายไหมยังไม่รู้ แต่คิดว่าผิดระบอบการเมือง ปัญหาที่เจอคือการเมือง ถ้าการเมืองเปลี่ยนทุกอย่างจะต้องเปลี่ยน เราไม่ได้เป็นอาชญากร เราแค่คิดไม่เหมือนรัฐ แล้วถ้าเราจัดการเรื่องพวกนี้ได้ก็จะจบ เพราะฉะนั้นทางออกของเราเรื่องนี้ไม่ใช่คุก” 

“การนิรโทษกรรมที่ไม่ควรมองว่าเป็นอาชญากร คิดว่าสู้ไปมันมีทางออก แต่พอพูดไปเรื่อย ๆ ก็เหมือนขึ้นหลังเสือ ความหมายหนึ่งคนอาจจะคิดว่าลงยาก แต่อีกความหมายหนึ่งมันเข้าถึงอำนาจได้ง่าย ได้มองเห็นมุมมองชีวิตของคนที่ก้าวเข้ามาในการเมืองว่าเป็นยังไง บางคนลงยาก พูดเรื่องนี้แล้วต้องพูดไปตลอดชีวิต” ณัฐขยายความเพิ่ม 

.

ครอบครอง “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า” = ผิด ม.112?

สำหรับหนังสือ “ปรากฎการณ์สะท้านฟ้าฯ” ณัฐเล่าว่า “เล่มนี้พูดถึงการปฏิรูปการเมือง ตอนนี้ควรทำยังไง สถาบันกษัตริย์เป็นอุปสรรคต่อการไปสู่ประชาธิปไตยยังไง เป็นปัญหากับประเทศยังไง เป็นไอเดียของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตอนนั้นพิมพ์ 50,000 เล่ม อยู่ใน Lazada เล่มละ 2,000 บาท” 

“เขากล่าวหาว่า เราครอบครองหนังสือซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นฯ เท่ากับเราหมิ่นฯ ผิดมาตรา 112 เลย (1) สู้ว่าไม่ได้ครอบครองหนังสือ ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ (2) สู้ว่าเนื้อหาในหนังสือไม่ได้หมิ่นฯ เป็นการแสดงความคิดเห็นที่สุจริต มีเจตนาในการพัฒนาประเทศ และ (3) ต่อให้ครอบครองก็ไม่ผิด หรือเนื้อหาหมิ่นก็ไม่ผิด เพราะเนื้อหาไม่ได้มาจากปากเรา เราไม่ได้เป็นคนพูดเอง และตัวผมไม่ใช่คนพิมพ์และไม่ใช่คนเผยแพร่” ณัฐเล่าถึงคดีความที่เขาต้องเผชิญ 

เขาเล่าเพิ่มเติมว่า “พอถึงสืบพยานจริง ๆ เขาก็บอกว่า ผมครอบครองหนังสือ แต่ไม่มีชื่อผมในหนังสือ ไม่มีเอกสารยืนยัน เหตุการณ์วันนั้นรถโดนดักที่ปากซอย ก็มีการเถียงกัน ยื้อกัน ก่อนตำรวจยึดหนังสือราว 50,000 เล่มไป ขนหนังสือตั้งแต่เช้า ขับรถไม่ถึง 50 เมตร โดนดัก ตำรวจจากไหนไม่รู้เยอะแยะเต็มไปหมด” ก่อนจะมี “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี ติดตามไปกับหนังสือ และโดนคดี มาตรา 116 โดยตำรวจโยงกับเหตุชุมนุม 10 สิงหาฯ ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต

สำหรับพยานโจทก์ ณัฐชนนพูดถึง อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ พยานโจทก์คดี 112 หลายคดี “สืบพยานงัดกันในเรื่องเนื้อหาว่า คิดเห็นยังไง ทำไมการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถึงทำได้ ทำไมคนถึงสนใจ อานนท์เคยโพสต์สนับสนุนรัฐประหารจริงไหม แต่ก็ถามต่อว่า กษัตริย์ห้ามเซ็นรับรองรัฐประหาร อานนท์บอกว่า กษัตริย์ก็โดนบังคับ ถามว่า สนับสนุนรัฐประหารไหม คือการสนับสนุนคนที่รัฐประหารไหม อานนท์ก็อึ้งไป มาลุ้นกันว่าศาลจะเห็นยังไง” เขาเล่าถึงเหตุการณ์การต่อสู้คดีเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือ  

.

หากต้องเข้าคุก โจทย์คือต้องไม่เป็นบ้า ออกมาให้ปกติที่สุด

กับชีวิตที่อาจเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีก ณัฐเล่าย้อนไปถึงประสบการณ์ถูกขังที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต ตอนถูกฝากขังในคดี #ม็อบ2สิงหา ว่า “เคยโดนขังเดี่ยวช่วงโควิด ตอนนั้นทีวี นาฬิกาไม่มี ต้องหาวิธีเยียวยา เขียนบันทึก คิดว่าถ้าพรุ่งนี้ทนายมาเยี่ยมจะฝากข้อความอะไรถึงใครดี เขียนว่าวันนี้ทำอะไร อ่านอะไรบ้าง แต่งกลอนไว้ให้กำลังใจตัวเอง ตกเย็นออกกำลังกายวิ่งในคุก อาบน้ำครั้งละชั่วโมง ทั้งตึกไม่มีใครมายุ่ง บางทีดีดหนังยางเล่น รอทุกวันที่ทนายมา เป็นช่วงเวลาที่ดีใจ ได้คุยกับใครสักคน”

“มีช่วงเหงามากคือ เสาร์อาทิตย์ บางทีต้องจินตนาการว่าคุยกับเพื่อน ไม่งั้นผมตายทางจิตใจ ต้องพยายามทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ 20 กว่าวันที่ถูกขังเดี่ยว อยู่กับเพื่อนแค่ 10 กว่าวัน ที่บ้านมาเยี่ยมไม่ได้ เป็นเรือนจำที่เขาเอาไว้กักตัว เวลากินข้าว กินชั่วโมงหนึ่ง ดื่มด่ำกับชีวิต เราโชคดีที่มีคนซื้อข้าวให้ตลอด เพราะอาหารเรือนจำแย่มาก ผักสีเหลือง เนื้อสัตว์ก็อาจไม่สุก คือคนทำกับข้าวได้แย่แค่ไหน ก็ไม่ได้แย่เท่านี้ ฟังเสียงคนตัดหญ้า ฟังเสียงนกดนตรี”

.

.

เขาเล่าต่อถึงการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองจะไม่เป็นที่ประสงค์ของใครหลายคน แต่เป็นเรื่องที่ณัฐชนนกลับไม่กังวลมากนัก “ไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่ อย่างที่บอก มันเป็นเรื่องการเมือง มีทางออกสำหรับเรื่องนี้อยู่แล้ว มีไม่กี่คนที่ติดเต็ม เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผมคิดว่า คนรอดนานคือคนชนะ เวลาเข้าคุก ผมไม่ได้คิดว่าโจทย์คือการออกมาเฉย ๆ เราต้องไม่เป็นบ้า ให้เราออกมาปกติที่สุด” เขากล่าว 

“ผมอยากทำเยอะไปหมด อยากเป็นช่างไม้ ช่างเหล็ก หลอมอุปกรณ์สักอย่าง หลอมมีดขึ้นมาใช้ อยากมีความรู้เรื่องรถ แต่งรถ อยากทำยูทูบ อยากเล่นกับเพื่อน อยากเลี้ยงแมว มีสารพัดอย่างในชีวิตที่อยากทำมาก ๆ แต่มาทำการเมืองก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ตั้งเป้าว่า อายุ 50 ปี ก็จะยกเลิกทำทุกอย่างทางการเมืองแล้ว” ณัฐชนนทิ้งท้ายเกี่ยวกับความตั้งใจในอนาคต 

X