11 ม.ค. 63 เวลา 10.00 น. ที่สภ.คลองหลวง นายณัฐชนน ไพโรจน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จากกรณีหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” หรือหนังสือ “ปกแดง” ตำรวจได้แจ้ง 2 ข้อหา ตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ โดยณัฐชนนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ก่อนหน้านี้ ทนายความได้รับการแจ้งจากพนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวง ว่าได้ออกหมายเรียกณัฐชนน ให้ไปรับทราบข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” จากเหตุการครอบครองและพิมพ์หนังสือ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ณัฐชนนพร้อมกับทนายความจึงได้ประสานเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันนี้
คดีนี้พบว่ามี พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง สารวัตรสืบสวนสภ.คลองหลวง เป็นผู้กล่าวหา และมีการตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 23 พ.ย. 63 นำโดย พ.ต.อ.จักริน พันธ์ทอง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และพ.ต.อ.สุชัย แสงส่อง รองผู้กำกับสอบสวน สภ.คลองหลวง เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อณัฐชนน
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ได้มีการจัดการชุมนุมของกลุ่มที่ใช้หัวข้อว่า #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยผู้ขึ้นปราศรัยมีเนื้อหาลักษณะพาดพิงและโจมตีรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีการพาดพิงหรือก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเกิดความรู้สึกเห็นด้วยหรือคล้อยตาม เกลียดชัง ต่อต้านรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ อันก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้านกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และมีการแจ้งนัดหมายเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมไปร่วมชุมนุมครั้งต่อไปในวันที่ 24 ส.ค. 63 และ 19 ก.ย. 63
ต่อมาวันที่ 19 ก.ย. 63 พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 เข้าทำการตรวจยึดหนังสือปกสีแดง “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” จำนวน 45,080 เล่ม ได้ที่ปากซอยทางเข้าออกหมู่บ้านในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ภายในรถบรรทุก 6 ล้อ และมีนายณัฐชนนนั่งคู่มากับคนขับ
จากการตรวจสอบพบว่าข้อความในหนังสือเล่มดังกล่าว มีเนื้อหาเดียวกันกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 และมีเนื้อหาเดียวกันกับการปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ปราศรัยที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 63 โดยมีเนื้อหากล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักในความมั่นคงของประเทศ ที่จะนำไปแจกจ่ายหรือเผยแพร่ให้กับผู้ชุมนุมที่สนามหลวง ในวันที่ 19 ก.ย. 63 และทราบว่ามีการแจกจ่ายให้กับผู้ชุมนุมไปบางส่วน
ต่อมามี นายพนมบุตร จันทรโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ มาตรวจสอบหนังสือดังกล่าว เห็นว่าเป็นเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือ ซึ่งมิได้ยื่นขอเลขมาตรฐานสากลการพิมพ์ต่อสำนักหอสมุดแห่งชาติ และภายในหนังสือ มิได้ปรากฏชื่อของผู้พิมพ์หรือที่ตั้งโรงพิมพ์ หรือชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณาแต่อย่างใด จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550
ในข้อกล่าวหายังมีการตัดตอนคำปราศรัยที่ปรากฏในหนังสือเล่มดังกล่าว มาเป็นแต่ละประโยค รวมทั้งเนื้อหาส่วนที่เป็นข้อเสนอ 10 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม และระบุว่าเนื้อหาดังกล่าว “เป็นการใส่ความหรือกล่าวหาพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และที่ 10 ซึ่งไม่เป็นความจริง การใส่ความดังกล่าวเมื่อบุคคลทั่วไปได้ทราบหรือได้อ่านแล้ว ทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนไม่ดี อาจทำให้ผู้อื่นประชาชนดูหมิ่นหรือเกลียดชัง พระมหากษัตริย์ได้” พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา
พนักงานสอบสวนสภ.คลองหลวงได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อณัฐชนนใน 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 จัดทำสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์และพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรโดยไม่แสดงข้อความ (1) ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์, (2) ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา และ (3) เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติได้ออกให้
ณัฐชนนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การเบื้องต้นว่าคดีนี้เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 63 เป็นระยะเวลาหลายเดือนแล้ว ประกอบกับคำปราศรัยที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดไม่ใช่คำปราศรัยของณัฐชนน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบก่อน และจำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดในหนังสือของกลางด้วย จึงจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 45 วันนับเข้ารับทราบข้อกล่าวหา
หลังการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนให้ณัฐชนนพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และให้ลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนให้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ พร้อมกับนัดหมายเพื่อมาส่งสำนวนให้พนักงานอัยการต่อไปในวันที่ 11 ก.พ. 64 เวลา 10.30 น.
ทั้งนี้ข้อหาตามมาตรา 112 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ขณะที่ข้อหาตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มาตรา 8 กำหนดโทษปรับทางปกครอง ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
สำหรับหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” (ปกสีแดง) เป็นหนังสือถอดเทปคำปราศรัยของแกนนำ 4 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และคำปราศรัยของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ในการชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 63
และในช่วงสายวันที่ 19 ก.ย. 63 ก่อนการชุมนุมใหญ่ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้นำกำลังเข้าตรวจยึดหนังสือดังกล่าวจำนวนกว่า 40,000 เล่ม จากบ้านพักของนักศึกษาใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การตรวจยึดดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายค้น เพียงแต่อ้างว่าจะนำหนังสือไปตรวจสอบว่ามีเนื้อหาล้มล้างการปกครองหรือไม่ ทำให้กลุ่มนักศึกษายังไม่ได้นำหนังสือเล่มดังกล่าวไปแจกจ่ายในที่ชุมนุม
ดูรายงานข่าวการตรวจยึดหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า”
>> สภ.คลองหลวง จับ น.ศ.มธ. แจ้งข้อหา ม.116 การจากชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน
>> ประมวล #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร การชุมนุมที่ปักหมุดใหม่ให้ประวัติศาสตร์
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณัฐชนนจะเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รายที่ 40 แล้ว หากนับตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เริ่มมีการนำข้อหานี้กลับมากล่าวหานักกิจกรรมและประชาชน
ขณะที่ณัฐชนนจะถูกดำเนินคดีทางการเมืองคดีนี้นับเป็นคดีที่ 5 ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ เขาได้ถูกควบคุมตัวร่วมกับ “เพนกวิน พริษฐ์” และ “รุ้ง ปนัสยา” ในคดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน มาแล้ว โดยณัฐชนนถูกคุมขังที่เรือนจำธัญบุรีเป็นเวลา 6 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64