ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ จำคุก 2 ปี ‘ณัฐชนน’ เห็นว่าเป็นผู้สนับสนุนให้เผยแพร่หนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา’ ซึ่งมีข้อความผิดตาม ม.112 ก่อนได้ประกันตัว

17 ก.พ. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรี นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีของ ณัฐชนน ไพโรจน์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Thumb Rights และอดีตสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ผลิต “หนังสือปกแดง” หรือหนังสือ “ฟ้ามืดเมื่อมีได้ ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์”

ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานสนับสนุนให้มีการดูหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เห็นว่าจำเลยมีความผิดฐานมาตรา 112 ประกอบมาตรา 86 ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา 

ต่อมาในเวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวณัฐชนน โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 150,000 บาท 

.

เหตุในคดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ก่อนการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สภ.คลองหลวง, ตำรวจภูธรภาค 1 และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้เดินทางไปที่บ้านของสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และตรวจยึดหนังสือดังกล่าวจำนวนเกือบ 50,000 เล่ม ซึ่งอยู่ในรถเตรียมไปแจกในงานชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แสดงหมายค้น อ้างว่าจะนำหนังสือไปตรวจสอบว่ามีเนื้อหาล้มล้างการปกครองหรือไม่ 

ต่อมา พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ออกหมายเรียกให้ณัฐชนนเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ มาตรา 8 ก่อนพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรียื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในข้อหาตามมาตรา 112 ข้อหาเดียว โดยหยิบยกข้อความที่อยู่ในหนังสือจำนวน 15 ข้อความ และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ระบุว่าเข้าข่ายองค์ประกอบความผิด

.

15 ข้อความที่ถูกสั่งฟ้องว่ามีความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

.

ณัฐชนนยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดสืบพยานทั้งสองฝ่ายรวม 4 นัด โดยโจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และเป็นผู้ครอบครองหนังสือจากการที่นั่งบนรถบรรทุกที่ขนหนังสือ โดยในหนังสือระบุในคำนำว่า ‘กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ เห็นว่าในหนังสือมีเนื้อหาที่ดูหมิ่นกษัตริย์ มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองและล้มล้างสถาบันกษัตริย์

ส่วนจำเลยต่อสู้คดีว่า ถึงแม้จะเป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดพิมพ์และเผยแพร่หนังสือ รวมทั้งข้อความในหนังสือหรือข้อความตามคำฟ้องก็ไม่ได้มีคำพูดของจำเลย และข้อความดังกล่าวไม่มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์ฯ ส่วนผู้ที่ปราศรัยในวันดังกล่าวก็ไม่ใด้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุก็ไม่ได้มีเพียงจำเลยคนเดียวที่อยู่บนรถบรรทุก โดยในวันนั้นมี ชนินทร์ วงษ์ศรี ถูกพาตัวไป สภ.คลองหลวง และแจ้งข้อหามาตรา 116 ส่วนคนอื่นนอกจากนั้นก็ไม่ได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด

หลังจากการสืบพยานเสร็จสิ้น ในวันที่ 8 พ.ย. 2566 ศาลจังหวัดธัญบุรีได้พิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า หนังสือดังกล่าวที่มีข้อความตามฟ้องเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ไม่มีคำปราศรัยของจำเลยในหนังสือ และพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผลิตหรือครอบครองหนังสือ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 112 แต่ให้ริบหนังสือของกลางทั้ง 45,080 เล่ม เนื่องจากไม่มีเลข ISBN และที่ตั้งของโรงพิมพ์ 

ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาลงวันที่ 25 มี.ค. 2567 ระบุโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องจำเลย ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในวันนี้

.

วันนี้ (17 ก.พ. 2568) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 ณัฐชนนเดินทางมาศาลพร้อมด้วยผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลย และผู้สังเกตการณ์คดีจาก iLaw โดยมีเพื่อนนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจในวันนี้ด้วย 

ต่อมาในเวลาประมาณ​ 09.55 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์ ขานชื่อให้ณัฐชนนยืนขึ้นเพื่อฟังคำพิพากษาในบริเวณคอกพยาน โดยสรุประบุว่า

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยอัยการโจทก์ฟ้องในข้อหามาตรา 112 แก่จำเลย โดยคำว่า ‘หมิ่นประมาท’ แปลว่า เป็นการแสดงกิริยาดูหมิ่น ดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น ส่วนคำว่า ‘ดูหมิ่น’ หมายถึงการดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น และคำว่า ‘อาฆาตมาดร้าย’ แปลว่า พยาบาทอย่างรุนแรง

หากจำเลยกระทำผิด ต้องเป็นการกระทำที่แสดงถึงกิริยาดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น และพยาบาทอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่าในหนังสือจะมีข้อความ อย่างเช่น “เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้ คือต้องการให้พระมหากษัตริย์ อยู่ในที่ที่เหมาะสมและสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนคนไทยได้ และที่บอกว่าการอยู่เหนืออำนาจอธิปไตย คือการอยู่เหนืออำนาจของประชาชน โดยการที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้ เพราะถ้าใครแตะ ต้องโดนมาตรา 112” (ข้อความที่ 6 ตามฟ้อง) เป็นการกล่าวอ้างแสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ได้ความว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยนั่งมากับรถบรรทุกที่ขนหนังสือของกลางดังกล่าว แม้โจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด แต่พฤติการณ์ของจำเลยเป็นเพียงการนั่งรถบรรทุกขนหนังสือมา แต่หากจำเลยรับรู้ว่าเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์ และจำเลยช่วยเหลือ ส่งเสริมการกระทำดังกล่าว ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต้องระวางโทษสองในสามของความผิดนั้น ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีพยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยเป็นแกนนำคนหนึ่ง และได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.​ 2563  ย่อมรับรู้ได้ว่า บุคคลที่ขึ้นปราศรัยและมีข้อความปรากฏในหนังสือตามฟ้องคดีนี้ ปราศรัยเรื่องใด จึงฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยรับรู้ว่าหนังสือดังกล่าวข้อความดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์ก่อนอยู่แล้ว

ต่อมาในวันที่ 19 ก.ย. 2563 จำเลยนั่งหน้ารถบรรทุกหนังสือ 45,080 เล่ม เพื่อที่จะนำไปแจกจ่ายให้ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แสดงว่าจำเลยและพวกประสงค์จะนำหนังสือที่มีข้อความดังกล่าวไปแจกจ่ายให้ผู้ที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2563 รู้ข้อความคำปราศรัยอีกรอบ

การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมให้มีการดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 ประกอบมาตรา 86 ให้จำคุก 2 ปี เห็นว่ากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ บำเพ็ญเพียรพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์ของทุกคน ส่วนจำเลยนั้นศึกษาในสถาบันสำคัญและมีชื่อเสียงของประเทศ ย่อมมีความรู้ แต่กลับไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงไม่สมควรให้รอการลงโทษ

หลังมีคำพิพากษา ณัฐชนนถูกควบคุมตัวไปยังใต้ถุนศาลระหว่างรอผลประกันตัวในชั้นฎีกา ต่อมาในเวลา 13.30 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 150,000 บาท ไม่กำหนดเงื่อนไขประกันใด ๆ  ซึ่งหลักทรัพย์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้ในวันนี้ณัฐชนนจึงได้เดินทางกลับบ้านตามปกติ

.

สำหรับหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” หรือหนังสือปกแดงที่ถูกนำมาฟ้องในคดีนี้ เป็นหนังสือบันทึกคำปราศรัยของแกนนำ 4 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และคำปราศรัยของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในการชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า กรณีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน นั้น ไม่มีผู้ปราศรัยที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แต่อย่างใด แต่ถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก

ส่วนหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ถูกนำมาดำเนินคดีคือหนังสือ “รวมบทปราศรัยคัดสรรคดี 112 ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่กษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง” มีเนื้อหารวมคำปราศรัยในพื้นที่ชุมนุมของ #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงเวทีการชุมนุมในช่วงปี 2563 โดยในกรณีนี้มี “ตี๋” นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ถูกดำเนินคดีเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการแจกหนังสือดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันศาลชั้นต้นพิพากษาว่าหนังสือเล่มนี้มีความผิดตามมาตรา 112 ใน 3 ข้อความ (จากที่อัยการโจทก์สั่งฟ้องทั้งสิ้น 7 ข้อความ) โดยคดีศาลให้รอลงอาญาไว้

ส่วนณัฐชนนนั้นถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งสิ้น 2 คดี ในคดีแรกคือคดีนี้ และในคดีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้าสภ.คลองหลวง ซึ่งอัยการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรีแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2567

.

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ณัฐชนน: 

“เราไม่ได้เป็นอาชญากร เราแค่คิดไม่เหมือนรัฐ” คุยกับ ‘ณัฐชนน’ ก่อนพิพากษาคดี ‘112’ เหตุจากหนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า’

ฐานข้อมูลคดีนี้

คดี 112 “ณัฐชนน” พิมพ์หนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า” รวมคำปราศรัยข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์

.

X