ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี คดี ม.112 ของ “ตี๋” เชื่อว่าเป็นแกนนำแจกหนังสือรวมคำปราศรัย แต่ให้รอการลงโทษ เหตุมีเพียงตำรวจได้รับแจก

วันที่ 29 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดพิษณุโลกนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ตี๋” (สงวนชื่อสกุล) นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา  ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหตุเกี่ยวข้องกับการแจกหนังสือ “รวมบทปราศรัยคัดสรรคดี 112 ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่กษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง” ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564

.

จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้แจกจ่ายหนังสือ และไม่ทราบเนื้อหาในหนังสือมาก่อน

เกี่ยวกับคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 เป็นวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัยนเรศวร มีกิจกรรมที่กลุ่มนักศึกษา NU-Movement จัดขึ้นที่บริเวณคณะสังคมศาสตร์ โดยมีการตั้งสแตนดี้รูปภาพของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พร้อมกับมีการตั้งโต๊ะแจกหนังสือ แผ่นพับ ที่คั่นหนังสือ โดยหนึ่งในหนังสือที่มีการวางไว้ คือหนังสือหน้าปกสีขาว ซึ่งมีเนื้อหารวมคำปราศรัยในพื้นที่ชุมนุมของ #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงเวทีการชุมนุมในช่วงปี 2563 แต่ถ้อยคำปราศรัยทั้งหมดในหนังสือ ไม่ใช่ข้อความที่ “ตี๋” เป็นผู้กล่าวแต่อย่างใด

ต่อมาหลังเกิดเหตุผ่านไปกว่า 1 ปี เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 พ.ต.ท.มนู หรศาสตร์ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ออกหมายเรียก ‘ตี๋’ เข้าให้การในฐานะพยาน แต่เมื่อ ‘ตี๋’ เข้าพบกลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ทันที โดยมี พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ บุญเยี่ยม เป็นผู้กล่าวหาว่าเขานำหนังสือดังกล่าวมาเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป

คดีนี้ ตี๋ให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยต่อสู้ว่าตนเพียงมาร่วมถ่ายภาพรับปริญญากับเพื่อน ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ผู้แจกหนังสือ ทั้งไม่เคยอ่านหนังสือปกสีขาวดังกล่าวมาก่อน โดยจำเลยช่วยรุ่นน้องถือกล่องสีขาวแดงมาวางบนสนามหญ้าและช่วยเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ไม่ทราบว่าในกล่องมีหนังสืออะไร และจากพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่มีภาพหรือคลิปว่าจำเลยเป็นผู้แจกหนังสือแต่อย่างใด

.

ศาลพิจารณาว่าพยานหลักฐานของตำรวจมีน้ำหนักมากกว่า และเนื้อหาในหนังสือผิดบางส่วน ลงจำคุก 3 ปี แต่เห็นว่ามีเพียงการแจกหนังสือให้ตำรวจ ไม่มีบุคคลทั่วไปได้รับ จึงให้รอการลงโทษ

วันนี้ เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 9 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก “ตี๋” พร้อมทนายจำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยมีเพื่อนนักศึกษาเดินทางมาให้กำลังใจประมาณ 4 คน 

ศาลออกนั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษา โดยสรุปเห็นว่าโจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 11 นาย เป็นพยานเบิกความประกอบกันได้ความว่า ในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มีหลายหน่วยงานดูแลความปลอดภัย โดยมีหน่วยงานจากส่วนกลาง ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร และฝ่ายปกครองร่วมด้วย

โจทก์เบิกความได้ว่า เจ้าพนักงานมีข้อมูลของสมาชิกกลุ่ม NU-Movement ประมาณ 15 คน โดยทางกลุ่มมีการเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยรวมกลุ่มกันในมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจำเลยก็เป็นสมาชิกในกลุ่มด้วย

ก่อนเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจหลายคนได้เฝ้าระวังสมาชิกแต่ละคน เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นเฟซบุ๊กเพจของกลุ่ม NU-Movement นัดหมายทำกิจกรรมบริเวณทางเชื่อมของคณะนิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงมีการเฝ้าระวังบริเวณดังกล่าว

วันที่ 30 ธ.ค. 2564 กลุ่ม NU-Movement รวมกลุ่มกัน แต่ยังไม่เริ่มกิจกรรม จนกระทั่งจำเลยเข้ามารวมกลุ่มเวลา 12.00 น. จึงมีการเริ่มขนย้ายสิ่งของ โดยจำเลยถือกล่องไปด้วยจำนวน 1 กล่อง จากนั้นมีเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุย สมาชิกในกลุ่มพร้อมจำเลยยืนยันว่าจะจัดกิจกรรมต่อ โดยมีสแตนดี้รูปสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และมีการตั้งโพเดียมมีข้อความด้านล่างว่า “ไม่รับปริญญาก็เรียนจบได้” และเลข 112 มีเครื่องหมายขีดฆ่า 

นอกจากนี้มีการนำหนังสือออกมาจากกล่องที่วางบนโต๊ะ เจ้าพนักงานตำรวจอำพรางตัวและเข้ายึดหนังสือได้ โดยเจ้าพนักงานตำรวจถ่ายคลิปวิดีโอในขณะที่จำเลยกับพวกจัดกิจกรรมเอาไว้

ในเย็นวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา ต่อมามีคำสั่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ทำการตรวจสอบหนังสือดังกล่าวเป็นของกลาง พบว่าเป็นหนังสือรวมบทปราศรัยและมีข้อความที่น่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 112 จึงได้ส่งให้อาจารย์ภาษาไทย และกองกฎหมายและคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดหลายข้อความ ก่อนมีความเห็นร่วมกันว่ามีข้อความ 7 ข้อความ ที่เป็นความผิด

เห็นว่าในวันเกิดเหตุ นักศึกษานั่งรวมกันอยู่ แต่ยังไม่เริ่มจัดกิจกรรม แต่เมื่อจำเลยเข้ามารวมกลุ่มก็เริ่มจัดกิจกรรมทันที เมื่อมีอาจารย์เข้ามาพูดคุยกับจำเลย จำเลยก็ยืนยันไม่เลิกกิจกรรม จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นแกนนำ

เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ ให้การสอดคล้องกัน เป็นลำดับขั้นตอนไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยแจึงเชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลความเรียบร้อย โดยมีข้อมูลของกลุ่ม NU-Movement อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อาจมีการแสดงกิจกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งเจ้าหน้าที่ย่อมต้องเฝ้าระวังติดตามกลุ่มดังกล่าว

การที่เพจเฟซบุ๊ก NU-Movement โพสต์ก่อนเริ่มกิจกรรมเพียงหนึ่งวัน จึงเชื่อได้ว่าจะมีการจัดกิจกรรมในวันรับปริญญา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เฝ้าระวังติดตามจำเลย และพบรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่บ้านของกลุ่มดังกล่าว โดยบ้านเปิดผ้าม่านอยู่ จึงมองเข้าไปได้พบบุคคลจำนวน 4-5 คน โดยมีจำเลยอยู่ในกลุ่มดังกล่าวด้วย

จากพฤติการณ์ดังกล่าว และการที่กลุ่มนักศึกษารอให้จำเลยมาก่อน จึงเริ่มทำกิจกรรม จึงชี้ว่าจำเลยมีส่วนเป็นแกนนำในกิจกรรมดังกล่าว ทั้งกิจกรรมยังมีการใช้สแตนดี้เป็นรูปภาพบุคคลสองคนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 โดยการตั้งสแตนดี้ดังกล่าวในขณะที่สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานปริญญาบัตรอยู่ในมหาวิทยาลัย แสดงว่าผู้จัดกิจกรรมมีเจตนาล้อเลียนเสียดสี และมีการตั้งโต๊ะแจกหนังสือ โดยหนังสือดังกล่าวพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ชี้ให้เห็นว่าผู้จัดกิจกรรมต้องการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

จากนั้นศาลได้พิจารณาข้อความในหนังสือซึ่งฝ่ายโจทก์ยกข้อความ 7 ข้อความมากล่าวหาว่าเป็นความผิด โดยพิจารณาว่าข้อความน่าจะทำให้พระมหากษัตริย์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ 

จาก 7 ข้อความ ศาลเห็นว่ามีความผิดดังกล่าวใน 3 ข้อความ ได้แก่ ข้อความเกี่ยวกับการใช้เงินแผ่นดินของรัชกาลที่ 10, ข้อความเกี่ยวกับการโอนย้ายทรัพย์สินของแผ่นดินไปเป็นของส่วนพระองค์, ข้อความในจดหมายที่ยื่นถึงสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี

ส่วนข้อความที่ศาลเห็นว่าไม่มีความผิด เห็นว่ามีข้อความที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ มีลักษณะเป็นการตั้งคำถามในอนาคต ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง ไม่เข้าข่ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย, ข้อความที่กล่าวถึงการขยายพระราชอำนาจทางการทหาร แต่ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงกษัตริย์พระองค์ใด, ข้อความที่กล่าวถึง กอ.รมน. และบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ 

ศาลพิจารณาต่อว่า เมื่อจำเลยกับพวกทำกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมพิจารณาแล้วว่าหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ชี้ให้เห็นว่าจำเลยต้องทราบเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวแล้ว จากพฤติการณ์ที่จำเลยเป็นแกนนำ และทางกลุ่มได้แจกหนังสือให้กับ ส.ต.ท.วสันต์ ชัยอ่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันแจกจ่ายหนังสือดังกล่าวแล้ว

ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่ามีรุ่นน้องขอให้มาช่วยยกของและเจรจากับเจ้าหน้าที่นั้น เป็นการเบิกความลอย ๆ ส่วนที่พยานจำเลย 2 ปาก เบิกความให้ความเห็นว่าการแจกหนังสือไม่เป็นความผิดนั้น พยานทั้งสองไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง จึงเป็นความเห็นส่วนบุคคล ส่วนพยานจำเลยปากที่อยู่ในวันเกิดเหตุนั้น พบว่าไม่ได้อยู่ตลอดกิจกรรม จึงยังไม่อาจหักล้างพยานโจทก์

พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แล้วจำเลยอายุ 22 ปี กิจกรรมที่จำเลยจัดอาจเป็นไปตามความคิดของตน โดยสภาพสังคมในขณะนั้นมีการชุมนุมจำนวนมาก และมีเพียงการแจกหนังสือให้กับเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่ปรากฏว่ามีการแจกให้กับบุคคลทั่วไป จึงยังไม่เกิดความเสียหายมากนัก มีเหตุอันควรปรานี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้ริบหนังสือของกลาง (จำนวน 1 เล่ม) 

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้ ได้แก่ ชัยวัฒน์ ทรงศิริศิลป์ และ ชยสร ตันทวีวงศ์

.

จำเลยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีช่องโหว่ ส่วนการถูกดำเนินคดีส่งผลกระทบต่อการเรียน

ตี๋กล่าวให้ความเห็นหลังฟังคำพิพากษาว่า รู้สึกผิดหวังนิดหน่อย แม้ศาลจะให้รอการลงโทษ เนื่องจากทางฝ่ายจำเลยก็พยายามต่อสู้ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม ทั้งที่พยานหลักฐานโจทก์ก็ยังมีช่องโหว่หลายอย่าง วิดีโอต่าง ๆ ที่ตำรวจถ่ายในกิจกรรมถูกตัดเป็นคลิปสั้น ไม่ได้ถ่ายยาว มีการเลือกบางช่วงมา เฉพาะที่ที่มีภาพตน แต่ศาลก็ไม่ได้พิจารณาช่องโหว่พวกนี้ และมองตามพยานฝ่ายตำรวจ ก่อนชี้ไปเลยว่ามีพฤติการณ์เป็นแกนนำ และกลายเป็นความผิด แต่ก็ยังดีที่ไม่ได้ติดคุก

ตี๋ระบุว่า ก่อนมาฟังคำพิพากษา ก็คาดหวังเยอะ เพราะในมุมของตน จากการดูการสืบพยาน ก็เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่ได้รับฟังได้ขนาดนั้น ตนแม้เคยทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ไม่ได้ถึงขั้นเป็นแกนนำ แต่คดีนี้ กลับถูกพิพากษาคนเดียวว่าเป็นแกนนำไปเลย

ตี๋ระบุว่าการถูกดำเนินคดีนี้ ก็สร้างความเครียดให้กับตน มีภาวะนอนไม่กลับและวิตกกังวล ส่งผลกระทบต่อการเรียนปริญญาโท ทำให้ต้องถอยจากการเรียนมาก่อน และพยายามไปโฟกัสกับอย่างอื่นแทน 

ตี๋ยังกล่าวถึง การรณรงค์เรื่องนิรโทษกรรมประชาชน เห็นว่าเป็นความหวังหนึ่งของคนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งคดีมาตรา 112 เพื่อให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ตอนนี้ แม้รู้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่เขาก็ยืนยันว่าการแสดงออกที่ทำให้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้นั้น เป็นคดีการเมืองแน่นอน 

.

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน 

บันทึกการต่อสู้คดี ม.112 ของ ‘ตี๋’ นักศึกษา มน. ถูกกล่าวหาแจกหนังสือรวมบทปราศรัยในงานรับปริญญา แม้ยืนยันไม่ใช่คนแจก

.

X