ศาลให้รอการกำหนดโทษ 2 ปี คดี ม.112 ‘นักศึกษาป.โท’ โพสต์ถึงการยิงแก๊สน้ำตา-ฉีดน้ำสลายชุมนุมปี 63

วันที่ 4 ต.ค. 2566 ศาลจังหวัดพิษณุโลกนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “เซ็นเตอร์” (นามสมมติ) นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถูกฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมโดยการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และฉีดน้ำแรงดันสูงในกรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 โดยจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลได้ให้รอการกำหนดโทษเอาไว้ มีกำหนด 2 ปี

.

คดีนี้มี ธรณินทร์ รักษ์ธนบดี เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก โดยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 เซ็นเตอร์เคยได้รับการติดต่อจากตำรวจให้ไปพบ โดยไม่ได้มีหมายเรียก ไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าร่วม เขาได้ถูกตำรวจสอบประวัติ และให้ลงนามยินยอมให้รหัสผ่านเข้าเฟซบุ๊ก โดยไม่ได้มีหมายศาลในการเข้าถึงข้อมูล ในครั้งนั้น เขาถูกสอบสวนในฐานะพยาน โดยไม่ได้มีการแจ้งสิทธิตามกฎหมายอย่างแน่ชัด

หลังจากนั้น ตำรวจยังติดต่อให้เขามาพบกับผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นเพื่อนชั้นประถมและเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กเพื่อพูดคุยกันที่สถานีตำรวจอีก ซึ่งทางผู้กล่าวหาได้ให้เขาสำนึกในการกระทำ โดยการโพสต์พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 อย่างละ 7 วัน วันละ 2 โพสต์ พร้อมกับแทคผู้กล่าวหา และ แน่งน้อย อัศวกิตติกร ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ใหญ่ของฝ่ายผู้กล่าวหาด้วย ซึ่งเขาก็ได้ยินยอมทำตาม โดยเซ็นเตอร์คิดว่าเรื่องราวทั้งหมดจะจบลง เพราะไม่ได้มีการติดต่อจากทางตำรวจมาอีกหนึ่งปีเศษ

จนกระทั่งช่วงต้นเดือนธันวาคม 2565 เขาได้รับหนังสือเชิญให้ไปพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก อีกครั้งในวันที่ 6 ธ.ค. 2565 เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม โดยไม่ใช่เป็นหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ในครั้งนี้เขาเดินทางไปพบตำรวจพร้อมกับทนายความ พร้อมปรากฏว่าได้ถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 ทันที และต่อมาวันที่ 27 ก.พ. 2566 ตำรวจยังเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) อีกด้วย

จนวันที่ 29 มี.ค. 2566 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีของเซ็นเตอร์ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก โดยบรรยายว่าโพสต์ของเซ็นเตอร์เป็นการโฆษณา ละเมิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังจากประชาชน และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

อ่านรายละเอียดความเป็นมาในคดี อัยการพิษณุโลกสั่งฟ้อง คดี ม.112 นักศึกษาป.โท จากกรุงเทพฯ โพสต์ถึงการยิงแก๊สน้ำตา-ฉีดน้ำสลายชุมนุมปี 63

.

ในวันนัดพร้อมคดี เซ็นเตอร์ได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และศาลสั่งให้สืบเสาะประกอบการจัดทำคำพิพากษา ก่อนจะกำหนดนัดฟังคำพิพากษาต่อมาในวันนี้ โดยส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ตรวจด้วย

เซ็นเตอร์ ญาติ และทนายความ เดินทางมาตามนัด โดยศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ก่อน และให้ผู้ที่เดินทางมาในคดีอื่นรอคอยอยู่ภายนอกห้อง 

ศาลอ่านคำพิพากษา โดยสรุปเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่เมื่อพิจารณาประวัติการทำงาน การศึกษา พฤติการณ์จากรายงานการสืบเสาะ พบว่าจำเลยทำคุณความดี และคุณประโยชน์ต่อสังคม แต่รับข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นความเท็จเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง โดยได้กระทำการขออภัยโทษต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ประกอบกับไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลย พิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี รายงานตัวต่อนักจิตวิทยาสังคมของศาล 4 ครั้งในระยะเวลา 1 ปี

คดีนี้ นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 เท่าที่ทราบข้อมูลในช่วงหลังการชุมนุมปี 2563 ซึ่งศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษเอาไว้ โดยก่อนหน้านี้ มีคดีของ “โอม” ชลสิทธิ์ ชาวสวนยาง ผู้ถูกกล่าวหาจากการโพสต์ภาพวาดล้อเลียนลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ และคดีของ “โจ” ช่างประจำอู่รถ ผู้ถูกกล่าวหาจากกรณีแชร์โพสต์จากเพจเยาวชนปลดแอก ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดลำปาง

.

X