อัยการพิษณุโลกสั่งฟ้อง คดี ม.112 นักศึกษาป.โท จากกรุงเทพฯ โพสต์ถึงการยิงแก๊สน้ำตา-ฉีดน้ำสลายชุมนุมปี 63 ก่อนศาลให้ประกัน

วันที่ 29 มี.ค. 2566 ที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก อัยการยื่นฟ้อง “เซ็นเตอร์” (นามสมมติ) นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ด้วยข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคม 2563 

.

ถูกเรียกสอบสวนโดยไม่มีหมาย ไม่มีการแจ้งสิทธิ ไม่รู้ว่าเป็นขั้นตอนใดทางกฎหมาย 

สำหรับเหตุการณ์ในคดีนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 เซ็นเตอร์ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพิษณุโลก ว่าเขาได้ถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 ข้อความ ให้เดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย 

เซ็นเตอร์ได้เดินทางไปยัง สภ.เมืองพิษณุโลก ด้วยตัวคนเดียว โดยไม่ได้มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจไปด้วย เขาได้ถูกตำรวจชุดสืบสวนพาเข้าไปยังห้องสืบสวนเพื่อทำการสอบประวัติ จากนั้นได้นำเอกสารยินยอมให้รหัสผ่านเข้าเฟซบุ๊กแก่ทางตำรวจมาให้ลงชื่อ พร้อมระบุว่า ถ้าหากให้ความร่วมมือ ก็จะทำให้คดีของเขาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เขาจึงยินยอมเซ็นเอกสารและให้ตำรวจตรวจสอบโทรศัพท์ส่วนตัว โดยไม่ได้มีหมายในการเข้าถึงข้อมูลแต่อย่างใด

หลังจากนั้น เซ็นเตอร์ได้ถูกส่งตัวต่อมายังห้องของพนักงานสอบสวน พร้อมกับเอกสารที่ตำรวจชุดสืบสวนจัดทำก่อนหน้านี้ ทางพนักงานสอบสวนได้พยายามสอบถามความหมายของถ้อยคำที่เขาโพสต์ในเฟซบุ๊กจำนวน 2 ข้อความ ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับเหตุการณ์ยิงกระสุนยางและฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563

เขาได้พยายามอธิบายให้กับพนักงานสอบสวนฟังถึงสาเหตุที่โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่ทางพนักงานสอบสวนพูดในทำนองว่าหากให้การอย่างนี้ ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ก่อนจะได้มีการแนะนำเรื่องคำให้การ ทำให้เซ็นเตอร์ให้การไปในทำนองที่ว่าไม่ได้มีเจตนาในการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด และได้สำนึกผิดในการกระทำของตนเองแล้ว 

จากนั้น ทางตำรวจได้มีการพูดคุยให้เซ็นเตอร์ไปกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เพื่อให้บันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานด้วย โดยมีตำรวจหนึ่งนายเป็นคนพาเขาไปและถ่ายภาพไว้ 

เซ็นเตอร์ให้ความเห็นว่า ในวันที่มีการเดินทางไปเข้าพบตำรวจเขาถูกสอบสวนตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น โดยเขาไม่เคยได้รับแจ้งให้ทราบมาก่อนว่าตนเองมีสิทธิใดบ้างตามกฎหมาย และไม่ทราบว่าขั้นตอนทางกฎหมายในวันดังกล่าวคืออะไร จนต่อมาภายหลังจึงได้รู้ว่าขั้นตอนที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการเรียกไปสอบสวนในฐานะ “พยาน”

หลังจากที่ได้ถูกเรียกสอบสวนครั้งแรกแล้ว ทางตำรวจ สภ.เมืองพิษณุโลก ยังได้ติดต่อทางโทรศัพท์ให้เซ็นเตอร์ไปให้การเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง และครั้งนี้ทางตำรวจได้ให้ติดต่อกับ ธรณินทร์ รักษ์ธนบดี ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนชั้นประถมและเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กของเขาเพื่อพูดคุยกันที่สถานีตำรวจอีก 1 ครั้ง ซึ่งทางผู้กล่าวหาได้ให้เขาสำนึกในการกระทำ โดยการโพสต์พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 อย่างละ 7 วัน วันละ 2 โพสต์ พร้อมกับแทคผู้กล่าวหา และ แน่งน้อย อัศวกิตติกร ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ใหญ่ของฝ่ายผู้กล่าวหาด้วย ซึ่งเขาก็ได้ยินยอมทำตาม

รวมแล้ว 3 ครั้งที่เซ็นเตอร์ต้องเดินทางไปยัง สภ.เมืองพิษณุโลก โดยไม่มีการออกหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด ใช้เพียงการติดต่อทางโทรศัพท์เท่านั้น ซึ่งเขาก็ยอมทำตามเนื่องจากไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิใดบ้าง หรือหากปฎิเสธอาจได้รับผลเสียต่อตนเอง 

.

.

คดี ม.112 ไม่สามารถยุติได้ สุดท้ายตำรวจเรียกแจ้งข้อกล่าวหา อัยการส่งฟ้องต่อศาล 

หลังเหตุการณ์เรียกสอบสวนของตำรวจและการที่เขาได้โพสต์ตามที่ผู้กล่าวหาต้องการ ผ่านไปแล้วประมาณหนึ่งปีกว่า โดยเซ็นเตอร์คิดว่าเรื่องราวทั้งหมดจะจบลงแล้ว เพราะไม่ได้มีการติดต่อจากทางตำรวจมาอีก

จนกระทั่งช่วงต้นเดือนธันวาคม 2565 เขาได้รับหนังสือเชิญให้ไปพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลกอีกครั้งในวันที่ 6 ธ.ค. 2565 เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม โดยไม่ใช่เป็นหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ในครั้งนี้ เขาจึงได้ติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อขอความช่วยเหลือในคดี 

เมื่อเดินทางไปยัง สภ.เมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยทนายความ พ.ต.ท.มนู หรศาสตร์ พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อเซ็นเตอร์ทันที จากพฤติการณ์การโพสต์ข้อความดังกล่าว โดยเขาให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้เรียกเขาไปพบอีกครั้งในวันที่ 27 ก.พ. 2566 เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมด้วยข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ก่อนจะรวบรวมสำนวนและส่งตัวผู้ต้องหาไปยังอัยการจังหวัดพิษณุโลก 

จากนั้นวันที่ 29 มี.ค. 2566 ประจวบ ศรีสวัสดิ์ พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก ได้ยื่นฟ้องเซ็นเตอร์ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีการบรรยายคำฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 15 -17 ต.ค. 2563 ต่อเนื่องกัน จำเลยได้หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาใส่ความพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อบุคคลที่สามและประชาชนทั่วไป ด้วยการประกาศโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพหรือตัวอักษร ที่ทำให้ปรากฏทางเฟซบุ๊ก ประชาชนสามารถเปิดเข้าไปดูอ่านและทราบข้อความดังกล่าวได้

อัยการกล่าวหาว่าข้อความเป็นการโฆษณา ละเมิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังจากประชาชน และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

ตอนท้ายของคำฟ้องโจทก์ขอคัดค้านการประกันตัวของจำเลย เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ 

ด้านจำเลยเมื่อเข้ารายงานตัวและรับคำฟ้องที่ศาลจังหวัดพิษณุโลกแล้ว เวลาประมาณ 10.00 น. ได้ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในห้องขังของศาล ระหว่างนั้นศาลจังหวัดพิษณุโลกได้ทำการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาสอบถามว่าจำเลยมีทนายความหรือไม่ จำเลยระบุว่ามีทนายความแล้ว ศาลจึงได้สอบถามว่าจะให้การอย่างไร จำเลยระบุว่าขอให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ 

จากนั้นทนายความได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยด้วยหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาตามคำร้องขอ ในเวลา 11.45 น. โดยไม่มีเงื่อนไขการปล่อยตัวเพียงแต่ให้มาตามนัดหมาย และกำหนดวันนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 มิ.ย. 2566 ต่อไป 

.

X