ศาลอุทธรณ์ยังคงไม่ให้ประกัน ‘อานนท์’ คดี ม.112 ในการยื่นครั้งที่ 5 ระบุพฤติการณ์ร้ายแรง แม้ยืนยันไม่เคยหลบหนี-ต่อสู้คดีจนถึงที่สุด 

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว “อานนท์ นำภา” นักกิจกรรมและทนายความสิทธิมนุษยชน ต่อศาลอาญา ในคดีมาตรา 112 สองคดี ได้แก่ กรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 และกรณีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564 ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเป็นการยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่ 5 หลังเขาถูกคุมขังในรอบนี้

ต่อมา วันที่ 18 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์ในระหว่างอุทธรณ์ โดยระบุในคำสั่งว่า การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และนับโทษต่อ หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี 

สำหรับทั้งสองคดีนี้ อานนท์ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์เรื่อยมา และถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงวันนี้ (19 ก.พ. 2567) เป็นเวลา 147 วันแล้ว

คำร้อง ‘อานนท์’ ระบุ จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ศาลเคยอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศและกลับมาต่อสู้คดีต่อ 

โดยสรุปคำร้องในการยื่นครั้งนี้ จำเลยยืนยันว่าได้ต่อสู้คดีมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณา และไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้ง 2 คดี และจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด 

อีกทั้งศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา จำเลยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด และไม่เคยถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วครา ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า หากจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยจะไปก่อเหตุพยันอันตรายประการอื่นหรือหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งศาลนี้และศาลอาญากรุงเทพใต้ก็เคยให้จำเลยเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อร่วมงานรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwangju Prize for Human Rights) ในระหว่างวันที่ 12-22 พ.ค. 2566 เมื่อจำเลยเดินทางกลับมายังประเทศไทยตามกำหนดก็ได้มารายงานตัวต่อศาล ไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด 

กรณีนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงยืนยันและรับรองพฤติกรรมได้ว่าอานนท์ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี คดีนี้ยังไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใด ๆ ของจำเลยที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยแม้แต่น้อย

ศาลเคยให้ประกันในคดี ม.112 คดีอื่นที่มีอัตราโทษใกล้เคียงกัน 

คำร้องยังระบุถึงคดีอื่น ๆ ที่จำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ได้แก่ คดี “รัชนก ศรีนอก”  ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 6 ปี และเป็นฐานความผิดเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ ศาลอาญาก็ยังอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ศาลจึงควรมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นเดียวกับคดีนี้ด้วย

คำร้องขอประกันตัวยังระบุ ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของจำเลย 

ในทั้ง 2 คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 เพื่อให้จำเลยได้รับการประกันตัวและออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Right-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี จะต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าวว่าด้วยเรื่องทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้นการใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้จำเลยได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นไปตามหลักความชอบธรรม และได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีและสากล 

‘อานนท์’ มีภาระทางครอบครัวและในฐานะทนายความ 

ในส่วนสุดท้าย คำร้องระบุถึงการที่อานนท์มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดตามได้โดยง่าย การคุมขังตัวไว้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจำเป็นแก่กรณี และจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เนื่องจากอานนท์ประกอบวิชาชีพเป็นทนายความให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนรวมกว่า 38 คดีในหลายศาล ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ทำให้จำเลยและลูกความในแต่ละคดีได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในการประกอบวิชาชีพทนายความนั้น มีความจำเป็นต้องจัดเตรียมพยานหลักฐาน วางแผนแนวทางการต่อสู้คดีร่วมกับลูกความ ตลอดจนการทำงานเอกสารและเดินทางไปศาลในนัดต่าง ๆ การที่จำเลยถูกคุมขังไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคดีที่จำเลยเป็นทนายความอยู่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความของจำเลย

นอกจากนี้อานนท์ยังมีบุตรผู้เยาว์วัยจำนวน 2 คนที่จำเลยต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู คือบุตรสาวอายุ 7 ปี และบุตรชายซึ่งเป็นทารกอายุเพียง 1 ปีเศษ และมีบิดามารดาซึ่งอยู่ในวัยชราที่จำเลยต้องส่งเสียเลี้ยงดู 

อย่างไรก็ตาม หลังรับคำร้อง ศาลอาญาได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ก่อนเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2567 เวลา 13.46 น. ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์ โดยระบุในคำสั่งว่า การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และนับโทษต่อ หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ให้ยกคำร้อง

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

ศาลอุทธรณ์ใช้เวลา 5 วัน สั่งไม่ให้ประกันตัว “อานนท์” แม้คำร้องยันไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี-ปฏิบัติตามเงื่อนไขศาล-มีภาระว่าความกว่า 39 คดี 
X