ศาลอาญาพิพากษาคดี ม.112 จำคุก “อานนท์” 4 ปี ปรับ 20,000 บาท ไม่รอลงอาญา พร้อมไม่สั่งประกัน แม้ไม่เคยหลบหนี ก่อนศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ประกัน

วันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 09.30 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลักตาม “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ รวม 9 ข้อกล่าวหา จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563

 ในคดีนี้ ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอ พิเคราะห์แล้วมีความผิดใน 2 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี และลงโทษปรับ 20,000 บาท ไม่รอลงอาญา 

ในคดีนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมด 6 นัด โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 22 ปาก ในระหว่างวันที่ 20-23, 27–28 มิ.ย. 2566 และจำเลยอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความต่อสู้ด้วยตนเองในนัดสืบพยานวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน >>> “การออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้มีราคาที่ต้องจ่าย (ติดคุกแน่ๆ) แต่ก็คุ้มค่าแล้วที่การชุมนุมของผม ไม่พาใครไปตาย”: บันทึกการต่อสู้และการเผชิญหน้าคดี ม.112 คดีแรกที่จะมีคำพิพากษาของ ‘อานนท์ นำภา’ 

.

ก่อนฟังคำพิพากษา: ประชาชนเรียกร้องเจ้าหน้าที่ศาล ขอเข้าห้องพิจารณาคดีเพื่อฟังคำพิพากษา

เวลา 08.40 น. บริเวณหน้าศาลอาญา อานนท์เดินทางมาพร้อมครอบครัว โดยมีสื่อมวลชนจำนวนมากมารอสัมภาษณ์ในช่วงเช้าวันนี้ 

ต่อมา 08.50 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 811 เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้ทำการล็อกประตูห้องพิจารณาคดี ภายหลังประชาชนเริ่มทยอยเดินทางมาเพื่อร่วมฟังคำพิพากษาเป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) และตำรวจศาลร่วมเฝ้าอยู่หน้าห้องพิจารณาคดีด้วย 

ในช่วงเวลา 09.00 น. นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ได้นำหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญา เรื่องสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของอานนท์ นำภา โดยไม่ต้องรอให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา รวมทั้งผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมืองอื่น ๆ  โดยได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าต้องการยื่นต่ออธิบดีโดยตรง 

อย่างไรก็ตาม อธิบดีแจ้งผ่านเจ้าหน้าที่ศาลว่าขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ และไม่ขอมารับหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด แม้จะมีคำร้องขอเป็นจำนวน 2 ครั้งก็ตาม 

ในวันนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วยเป็นจำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ สถานทูตเยอรมนี, สถานทูตสวีเดน และสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์  โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกลมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้แก่ OHCHR, FIDH, iLAW และผู้สื่อข่าวข่าวจากสำนักข่าว The Momentum และ AP News เข้าร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดีด้วย 

แต่ในเวลา 09.20 น. การฟังคำพิพากษายังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่ต้องการเข้าร่วมฟัง จึงมีการเจรจาของให้เจ้าหน้าที่ศาลเปิดห้องพิจารณาคดีที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อรองรับประชาชนที่เดินทางมาในวันนี้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าไม่สามารถทำแบบนั้นได้ และได้จำกัดให้เฉพาะคู่ความ และทนายความของจำเลย ตลอดจนเจ้าหน้าที่สถานทูตและเจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิที่มีการขออนุญาตมาแล้วเท่านั้นที่จะสามารถเข้าห้องพิจารณาคดีได้

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเพื่อนทนายความของอานนท์ได้สอบถามต่อเจ้าหน้าที่ศาลว่า เหตุใดถึงไม่ยอมให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี ในเมื่อห้องพิจารณายังมีที่ว่างเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก ขอให้ประชาชนได้เข้าไปจนเต็มห้องก่อนได้หรือไม่ การเจรจาดังกล่าวใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าจะเปิดห้องพิจารณาคดี 812 เพื่อให้ประชาชนเข้าไปนั่งดูถ่ายทอดสดร่วมกันได้ 

.

ศาลชี้อานนท์ทำผิด ม.112 – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การปราศรัยของจำเลยมีเจตนาสร้างความเสื่อมเสียให้กษัตริย์ รับฟังเป็นอย่างอื่นไม่ได้

เวลา 09.53 น. ศาลนั่งพิจารณาคดี โดยเรียกให้อานนท์ลุกขึ้นรายงานตัวและขานชื่อตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา ซึ่งมีสรุปว่าจำเลยกระทำผิด 2 ข้อหาตามฟ้องคือ มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยกฟ้องจำเลยใน 7 ข้อกล่าวหา ได้แก่ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ, ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ (มาตรา 358) และกีดขวางทางสาธารณะ (มาตรา 385) 

ศาลพิเคราะห์เห็นว่า จำเลยเป็นนักกฎหมาย และเป็นแกนนำการชุมนุมย่อมรู้ว่าจะต้องทำสิ่งใดไม่ให้กระทบกับข้อกฎหมายและสิทธิของบุคคลอื่น และในฐานะแกนนำย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อปฏิบัติใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

ส่วนเรื่องคำปราศรัยของจำเลย ศาลเห็นว่าการควบคุมความสงบของการชุมนุมเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต้องควบคุมให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย แต่หากผู้ชุมนุมมีการกระทำใด ที่เป็นความรุนแรง วุ่นวายต่อบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมมีความจำเป็นในการเข้าสลายการชุมนุม และสามารถใช้กำลังได้ตามสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น หาใช่กระแสรับสั่งของกษัตริย์ไม่

ข้ออ้างของจำเลย ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ และพยานของโจทก์มีน้ำหนักที่รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง 

ในข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การจัดการชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างไร และตามมาตรา 112 การกระทำของจำเลยเป็นการทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย เจตนาของจำเลยรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการป้องกันผู้ชุมนุม หรือป้องกันเหตุการณ์สลายการชุมนุมอย่างไร พิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 จำคุก 4 ปี และลงโทษปรับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 20,000 บาท ไม่มีเหตุให้รอลงอาญา 

ส่วนคำร้องขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่น เนื่องจากศาลเห็นว่าในคดีอื่นศาลยังไม่มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย คำขอส่วนนี้ศาลเห็นว่าให้ยกไป 

คดีนี้มี ธรรมสรณ์ ปทุมมาศ เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา อานนท์ได้บอกกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่าขอให้เขาได้อุ้มลูกชายวัย 10 เดือนของตัวเองก่อนเดินออกจากห้องพิจารณาได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้อานนท์ได้กอดลูกชายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะนำตัวไปโดยไม่มีการคล้องกุญแจมือเขาแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ตลอดทางเดินไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ประชาชนได้ตะโกนอย่างพร้อมเพรียงกันว่า “สู้ ๆ อานนท์” ไปตลอดทาง ก่อนจะสิ้นสุดจุดสายตาที่ทุกคนจะมองเห็นเขาได้

.

คำร้องขอประกันระบุชัด อานนท์ปฏิบัติตามเงื่อนไขตลอด ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำสั่งโดยไม่ต้องส่งศาลอุทธรณ์

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทันที โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน  200,000 บาท ในคำร้องมีใจความสำคัญระบุว่า ภายหลังจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างสอบสวน และพิจารณาคดี จำเลยไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว และไม่เคยถูกเพิกถอนประกันตัวในคดีนี้เลยสักครั้ง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหากจำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันแล้วจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือหลบหนีแต่อย่างใด 

และในคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จำเลยได้รับการประกันตัวมาตลอด จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 เพื่อให้จำเลยได้รับการประกันตัวและออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องส่งคำร้องขอประกันตัวของจำเลยไปยังศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง 

นอกจากนี้ จำเลยมีบุตรเป็นผู้เยาว์จำนวน 2 คนที่ต้องเลี้ยงอุปการะ โดยเป็นบุตรสาวอายุ 8 ปี และบุตรชายอายุเพียง 10 เดือน รวมทั้งมีพ่อแม่ที่แก่ชรา หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวย่อมส่งผลต่อบุตรและบิดามารดาของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาในเวลา 16.16 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวของอานนท์ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่งประกัน คำสั่งโดย ปริญญา สิตะโปสะ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาอีก 2 – 3 วัน ก่อนจะทราบผล

ขณะเดียวกัน ทนายความยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนคำร้องขอประกันตัวก่อนมีคำสั่ง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอด้วย

ผลของคำสั่งศาลอาญาในวันนี้ ทำให้อานนท์จะต้องนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทำให้มีผู้ต้องขังคดีการเมืองที่อยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีเป็นจำนวน 24 ราย แต่หากรวมผู้ต้องขังคดีที่สิ้นสุดแล้วจะมีทั้งหมด 34 ราย

ดู รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2566 

.

ศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ประกันตัว อ้างเกรงจะหลบหนี

(เพิ่มเติมข้อมูล) วันที่ 30 ก.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวอานนท์ คำสั่งระบุว่า

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

“ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนพยานผู้ร้องก่อนมีคำสั่งในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนั้น เนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานผู้ร้องอีก ให้ยกคำร้องในส่วนนี้”

.

X