วันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลักตาม “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ รวม 9 ข้อกล่าวหา จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563
คดีนี้มี พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ กับพวก เป็นผู้กล่าวหา ภายหลังจากเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ14ตุลา63 ซี่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ในวันดังกล่าวมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยในเหตุวันชุมนุมดังกล่าวด้วย แต่คดีของพริษฐ์ ปนัสยา และแกนนำ รวม 8 คน ถูกแยกฟ้องไปอีกคดีหนึ่งที่ศาลแขวงดุสิต เนื่องจากมีข้อหาหลักคือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขัดขวางจราจร ซึ่งคดีอยู่ระหว่างสืบพยานในช่วงปลายปี 2566 นี้
คดีนี้อานนท์ถูกพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สั่งฟ้องตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2564 ขณะที่อยู่ในระหว่างคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยอัยการบรรยายฟ้อง มีใจความสำคัญระบุว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 อานนท์ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนผ่านทางเฟซบุ๊กของตนเอง ให้ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่เผด็จการในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งร้านแมคโดนัลด์ โดยในการจัดการชุมนุมดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และเมื่อมีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล อานนท์กับพวกก็ไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบการดูแลการชุมนุมในพื้นที่นั้น ๆ
ทั้งมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมและฟังปราศรัยเป็นจำนวนมากกว่า 6,000 คน โดยยืนกันอยู่เต็มถนนราชดำเนิน ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้รถยนต์สัญจรผ่านไปมาได้ อีกทั้งเมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าแจ้งกับจำเลยและพวกให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากไม่อยู่ในกรอบของกฎหมาย และไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด จำเลยพวกได้รับทราบคำสั่งแล้ว แต่ไม่ยุติการชุมนุม
อัยการยังบรรยายฟ้องว่า อานนท์และพวกได้ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ นำกระถางต้นไม้ที่วางประดับโดยรอบฐานอนุสาวรีย์ออกไป ทำให้เกิดความเสียหายของกิ่งไม้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 รายการ รวมเป็นมูลค่า 273,700 บาท
นอกจากนี้ อัยการยังเห็นว่าอานนท์ปราศรัยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 โดยกล่าวคำปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงในพื้นที่ชุมนุมว่า “ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมีสามข้อเท่านั้น วันนี้ จะไม่เหมือนเมื่อวานเพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อยๆ และ นิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อยๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด”
“อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 10”
“อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ให้รู้ไว้เช่นนั้น”
ข้อความข้างต้น อัยการเห็นว่าไม่ใช่การกระทำหรือเป็นการแสดงความคิดเห็นและติชมโดยสุจริต เป็นการใส่ร้ายกษัตริย์ ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนหลงเชื่อข้อความที่จำเลยได้พูดออกไป ทำให้ไม่เป็นที่เคารพสักการะต่อกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
อัยการยังได้บรรยายฟ้องว่าอานนท์กับพวกได้นำรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียง ตั้งเวทีขนาดเล็ก บนถนนราชดำเนินฝั่งหน้าร้านแมคโดนัลด์ ซึ่งเป็นทางจราจรเพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีลักษณะกีดขวางทางจราจร ตลอดจนจำเลยได้ร่วมกันโฆษณา แสดงความคิดเห็นต่อประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม โดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
ย้อนอ่านคำฟ้องเพิ่มเติม >>> เปิดคำฟ้องคดี ม.112 “อานนท์” ปราศรัย #ม็อบ14ตุลา63 เดินขบวนเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
ภาพรวมการสืบพยาน : โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชน ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกเกลียดชัง ส่วนจำเลยสู้ว่าเจตนาที่กล่าวปราศรัยเป็นเพียงการปกป้องประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม ไม่ให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม จนอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดอันตรายถึงชีวิต
ในคดีนี้ ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมด 6 นัด โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 22 ปาก ในระหว่างวันที่ 20-23, 27–28 มิ.ย. 2566 และจำเลยอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความต่อสู้ด้วยตนเองในนัดสืบพยานวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566
โจทก์นำสืบว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย การเชิญชวนเข้าร่วมชุมนุมของแกนนำทำให้ทรัพย์สินของกรุงเทพมหาครเสียหาย อีกทั้งการกล่าวข้อความตามฟ้องของจำเลยสร้างความเสื่อมเสียต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อข้อความดังกล่าว และทำให้กษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพ ศรัทธาของประชาชน
ด้านจำเลยต่อสู้ว่า การปราศรัยข้อความตามฟ้องมีเจตนาเพียงต้องการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งมีมากกว่า 6,000 คน และไม่ได้มีเจตนาให้ร้ายต่อรัชกาลที่ 10 อย่างที่โจทก์กล่าวหา
ทั้งนี้ จำเลยตั้งข้อสังเกตว่า แม้ตำรวจประกาศจะสลายการชุมนุม แต่ก็ปล่อยให้การชุมนุมดำเนินไปจนยุติลงในเวลาหลังเที่ยงคืนของอีกวันหนึ่ง และเมื่อการชุมนุมยุติลง ผู้ชุมนุมทยอยเดินทางกลับบ้านแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงค่อยเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำรวมถึงผู้ชุมนุมบางส่วน
.
รองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้กล่าวหา เบิกความยอมรับว่ารู้เรื่องการชุมนุมก่อนวันจริง
พ.ต.ต.กฤติเดช เข็มเพชร์ ในขณะเกิดเหตุของคดีนี้เป็นรองผู้กำกับสืบสวน สน.สำราญราษฎร์
ในคดีนี้ พยานได้รับรายงานจากสายข่าวว่าจะมีการจัดชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยจะเริ่มต้นชุมนุมที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ ถนนราชดำเนิน ซึ่งหลังจากได้รับทราบข่าวการชุมนุม พยานได้ออกแผนกำหนดหน้าที่ของฝ่ายสืบสวน ฝ่ายบันทึกวิดีโอถอดเทป และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
พยานได้ประสานงานขอความร่วมมือกับกองกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และ 6 รวมถึงกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เพื่อประสานงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมและออกแผนการควบคุมพื้นที่ชุมนุม ซึ่งตัวของพยานเองก็ได้เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบควบคุมดังพื้นที่ดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ พยานได้อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องมีการประสานงานจากหลายหน่วยงาน เนื่องจากในวันดังกล่าวจะมีขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 ซึ่งเสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตัวพยานและพวกก็ต้องไปรับเสด็จด้วย
พ.ต.ต.กฤติเดช เบิกความต่อไปว่าในคดีนี้มีผู้กระทำผิดหลายคน ซึ่งถูกฟ้องหลายข้อหาต่างกัน และยอมรับว่าในวันที่ 6 ต.ค. 2563 กลุ่มคณะราษฎร ได้มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวบริเวณสนามหลวง เชิญชวนให้ผู้คนเข้าร่วมการชุมนุมในวันครบรอบเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 โดยในการแถลงข่าว พยานจำได้ว่ามีกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมราว 10 คน โดยมีอานนท์ จำเลยในคดีนี้เป็นหนึ่งในผู้แถลงการณ์การชุมนุมด้วย
จากการสืบสวน พยานได้ทราบว่าแถลงการณ์ในวันดังกล่าว ได้มีการเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เวลา 14.00 น. ซึ่งภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 18.00 น. ซึ่งในการชุมนุมดังกล่าว พยานเข้าใจว่ามีข้อเรียกร้อง 3 ประการคือ 1. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. เปลี่ยนแปลงกฎหมายรัฐธรรมนูญ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
นอกจากนี้ พ.ต.ต.กฤติเดช ยังได้ทราบว่าจำเลยมีการโพสต์เชิญชวนผ่านโซเชียลมีเดีย ‘ปลุกระดม’ ให้คนออกมา ส่วนข้อความที่โพสต์นั้นพยานจำไม่ได้ว่าจำเลยโพสต์ว่าอะไรบ้าง
ส่วนเหตุการณ์ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานกล่าวว่าในช่วงเวลา 08.40 น. จำเลยได้ขึ้นปราศรัยโดยมีการพูดที่เข้าข่ายการทำผิดมาตรา 112 โดยกล่าวในทำนองว่า หากมีการสลายการชุมนุมในวันนี้ คนที่จะสั่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 10
หลังจากการปราศรัยของจำเลย ก็มีการเวียนกันขึ้นมาพูด แต่อานนท์ได้ขึ้นปราศรัยอีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลาหลังเที่ยง เนื่องจากมีมวลชนจำนวนมาก จึงทำให้แกนนำประกาศเชิญชวนให้มวลชนนำกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ออก เพื่อให้มวลชนสามารถขึ้นไปยืนได้
และเมื่อเวลา 14.00 น. แกนนำได้เคลื่อนพามวลชนออกไปจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และในการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็มีการทับซ้อนกันในหลายพื้นที่ของสถานีตำรวจที่ดูแลท้องที่อยู่
ส่วนในเรื่องการควบคุมโรคในขณะนั้น พยานเบิกความว่าไม่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานต่าง ๆ ไม่ได้มีการตั้งจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่มีจุดบริการแอลกอฮอล์ ไม่มีการเว้นระยะห่าง
พ.ต.ต.กฤติเดช เบิกความต่อไปว่า ในส่วนของการติดเครื่องขยายเสียงตามรถยนต์ที่ใช้เคลื่อนขบวนชุมนุม ไม่มีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อมีจำนวนมวลชนที่มากขึ้น ก็เริ่มเกิดการกีดขวางทางจราจร ตลอดจนมีการตั้งเวทีอยู่บริเวณพื้นที่หน้าร้านแมคโดนัลด์
เมื่ออัยการโจทก์ถามกับพยานว่าในการที่จำเลยและพวกได้ประกาศให้มวลชนช่วยกันเคลื่อนย้ายต้นไม้ออกไปจากบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีความเสียหายมากน้อยเพียงใด พยานตอบว่า เชื่อว่าต้นไม้มีความเสียหายบางส่วน แต่ไม่สามารถตอบได้ว่ามูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด เนื่องจากว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ที่มีเทศกิจดูแลอยู่
อัยการโจทก์จึงถามว่า ในคดีนี้พยานได้รวบรวมสิ่งใดไว้เป็นพยานหลักฐานบ้าง พยานได้ตอบว่ารวบรวมคลิปวิดีโอต่าง ๆ เอาไว้ และพยานทราบว่าในคดีนี้ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้อง
อัยการจึงถามต่อไปว่าในการแจ้งการชุมนุมในคดีนี้ต้องไปแจ้งที่ใด พยานตอบว่าต้องเข้าไปแจ้งกับ สน.ชนะสงคราม เนื่องจาก สน.สำราญราษฎร์ มีท้องที่รับผิดชอบแค่พื้นผิวถนนเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมกับสถานีตำรวจท้องที่ใดเลยที่มีส่วนรับผิดชอบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อัยการถามต่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการประกาศให้เลิกการชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่ามีการประกาศให้ยุติการชุมนุม แต่แกนนำไม่ได้มีการปฏิบัติตามที่ผู้กำกับแจ้ง และยังคงมีการชุมนุมต่อไปจนถึงเวลา 14.00 น.
การกระทำของจำเลยและพวกเป็นการทำผิดกฎหมายหลายมาตรา โดยเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง ส่วนในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นข้อกล่าวหาแค่เฉพาะตัวจำเลยในคดีนี้
ทนายถามค้าน
ทนายถามพยานว่าในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานได้รับมอบหมายงานอะไรในที่ชุมนุม พยานตอบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว พยานเป็นรองผู้กำกับการสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ มีหน้าที่ควบคุมสั่งการ และรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย
พยานได้เดินทางไปถึงพื้นที่การชุมนุมเป็นเวลา 08.00 น. แต่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นประจำอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่เวรสืบสวนประมาณ 10 นาย แต่กองสนับสนุนจะมีจำนวนเท่าใด พยานจำไม่ได้ และยืนยันว่าพยานหลักฐานต่าง ๆ พยานไม่ได้เป็นผู้บันทึกหรือถ่ายด้วยตนเอง และไม่ได้เป็นผู้จัดทำสำนวนในคดีนี้ แต่เป็นเพียงผู้รวบรวมพยานหลักฐานส่งไปพนักงานสอบสวนเท่านั้น
แต่รายงานสืบสวนจากหน่วยอื่น ๆ พยานไม่รู้ในรายละเอียด เพราะเป็นการส่งไปที่ฝ่ายสอบสวนโดยตรง พยานในฐานะคณะทำงาน รับรู้เพียงว่ามีการส่งรายงานเข้ามา
ทนายถามต่อว่าตาม พ.ร.บ.การชุมนุม การชุมนุมในพื้นที่ใด ๆ ผู้ควบคุมสั่งการในท้องที่คือผู้กำกับการสถานีตำรวจ แต่หากมีการชุมนุมเชื่อมกันในหลายพื้นที่ ผู้สั่งการจะเป็นหน้าที่ในระดับผู้บังคับบัญชาการใช่หรือไม่ พยานตอบว่าอาจเป็นเช่นนั้นได้
พยานเบิกความว่าในการแจ้งการชุมนุม ไม่ได้มีการแจ้งกับ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งอาจเป็นเพราะเวทีปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ตั้งอยู่บนผิวถนน ซึ่งเป็นขอบข่ายความรับผิดชอบของ สน.สำราญราษฎร์ แต่เมื่อทนายถามว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการนำเวทีตั้งอยู่บริเวณใด หรือตั้งแต่เมื่อไหร่ พยานบอกว่าจำไม่ได้
ในวันเกิดเหตุพยานยอมรับตามที่ทนายจำเลยถามค้านว่า มีการออกแบบแผนรองรับการจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่การชุมนุม เนื่องจากตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ได้ระบุไว้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวก แต่พยานไม่ทราบในรายละเอียดเรื่องการจราจรในวันดังกล่าว เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่ของพยาน
ทั้งนี้ พ.ต.ต.กฤติเดช ไม่ทราบว่าในการรวมตัวของประชาชนในวันดังกล่าวจะเป็นการชุมนุมเพื่อกดดันหรือเรียกร้องต่อใคร แต่ยืนยันตามที่ทนายจำเลยถามว่าพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แม้จะมีคนร่วมชุมนุมกว่า 1,000 คน แต่ขบวนก็เดินกันไปได้โดยไม่มีความวุ่นวาย
พยานยืนยันตามที่ทนายจำเลยถามว่า บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นพื้นที่ที่ประชาชนมักจะใช้เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง แต่เรื่องที่มีการจัดต้นไม้ไปวางไว้บริเวณโดยรอบ จะเป็นการขวางไม่ให้ประชาชนเข้าทำกิจกรรมในบริเวณดังกล่าวหรือไม่ พยานไม่ทราบ และก็ไม่ทราบว่ากิจกรรมการชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จะมีกิจกรรมอะไรบ้าง เพราะประจำการอยู่ที่ สน.สำราญราษฎร์ มาเพียงหนึ่งปีเท่านั้น
ทนายจึงถามต่อไปว่า ในการประกาศของแกนนำ ที่ขอให้ผู้ชุมนุมช่วยกันเคลื่อนย้ายกระถางต้นไม้ออกไปวางไว้บนผิวถนนเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะที่ขอให้มีการขว้างปา หรือทำลายต้นไม้ดังกล่าวใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่
เกี่ยวกับเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง พยานจำไม่ได้ว่าจำเลยมีการขออนุญาตไปที่หน่วยงานใด แต่ในการชุมนุมวันดังกล่าว ได้มีการเคลื่อนย้ายขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมไปที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลในช่วงเวลาบ่ายโมง
ต่อมา พยานทราบว่ามีการประกาศยุติการชุมนุมในช่วงกลางดึก และไม่มีการเข้าสลายการชุมนุมหรือใช้ความรุนแรงใด ๆ กับประชาชนที่อยู่ในชุมนุมดังกล่าว
อัยการถามติง
อัยการถามต่อ พ.ต.ต.กฤติเดช ว่าที่เบิกความตอบทนายเรื่องการโพสต์เชิญชวนของจำเลยที่บอกว่าจำไม่ได้ แต่จำนวนคนในวันนั้นก็มีเป็นจำนวนมาก เกินกว่าบริเวณพื้นที่ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะรองรับได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ แต่ถึงจะมีคนเข้าร่วมไม่เยอะ แต่ในบริเวณดังกล่าวเมื่อมีการทำกิจกรรมชุมนุม คนก็มักจะนิยมลงถนนกันมากกว่าอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง
พยานยืนยันตามที่อัยการถามว่าในส่วนเรื่องการเคลื่อนย้ายกระถางต้นไม้ออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พบว่ามีการปราศรัยเชิญชวนกันในระหว่างการชุมนุม แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีการเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด
.
ผู้กำกับการ 4 สน. เบิกความเห็นว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายข้อหา
ผู้กำกับการ 4 สถานีตำรวจ ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกันของการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ได้แก่ พ.ต.ท.อิทธิพล พงษ์ธร ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์, พ.ต.อ.ประสพโชค เอี่ยมพินิจ ผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง, พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิฐบรรณกร ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม และ พ.ต.อ.วิวัฒนชัย บุญญานุพงศ์ ผู้กำกับการ สน.ดุสิต ทั้งหมดมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในท้องที่รับผิดชอบ เบิกความในลักษณะคล้ายคลึงกัน
ในวันที่ 8 ต.ค. 2563 พยานได้รับรายงานการสืบสวนทราบว่าแกนนำกลุ่มคณะราษฎร ตั้งโต๊ะแถลงการณ์เชิญชวนให้ประชาชนออกมาเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563
ในส่วนพฤติการณ์คดี พยานทั้งสี่คนเบิกความสอดคล้องกับ พ.ต.ต.กฤติเดช แต่เบิกความยืนยันว่าเวทีปราศรัยในช่วงเช้าของการชุมนุมอยู่บนฟุตปาธ ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ชนะสงคราม แต่พอผู้ชุมนุมเริ่มเยอะขึ้นก็มีการกระขยายตัวลงพื้นผิวถนน ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของ สน.สำราญราษฎร์ ทั้งนี้พยานบอกว่าเหตุการณ์ชุมนุมทั้งหมด รวมถึงคำปราศรัยของแกนนำกลุ่มคณะราษฎร มีการถอดเทปไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่พยานจำไม่ได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ถอดเทป แต่จำข้อความที่จำเลยพูดในคดีนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ศาลได้ถามต่อ พ.ต.ท.อิทธิพลว่าในขณะที่จำเลยขึ้นปราศรัย พยานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ทำหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมเท่านั้น ข้อความส่วนใหญ่ฟังไม่ถนัด ได้ยินเพียงเสียงเบา ๆ
สำหรับ พ.ต.อ.วรศักดิ์ ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่คาบเกี่ยวกันกับ สน.สำราญราษฎร์ ได้เบิกความว่าการชุมนุมถูกประกาศขอให้ยุติโดย สน.สำราญราษฎร์ แต่ในรายละเอียดของการชุมนุมพยานไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ถูกฟ้องนั้น พยานไม่ทราบว่าจะเป็นการพูดไปเพื่อไม่ให้เกิดการสลายการชุมนุมหรือไม่ แต่ยอมรับว่าทุกครั้งที่มีการชุมนุมในบริเวณราชดำเนินก็เป็นการชุมนุมด้วยความสงบตลอด
ส่วน พ.ต.อ.ประสพโชค มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ต่อเนื่องตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแยกนางเลิ้ง ได้ลงพื้นที่ดูแลและคอยสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาตลอด โดยในเวลา 14.30 น. ขบวนของผู้ชุมนุมได้มาที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แต่มีแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. อยู่ และมีการเจรจากับผู้ชุมนุมสักพักหนึ่งเพื่อขอไม่ให้ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นมุ่งหน้าผ่านสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งผลสรุปผู้ชุมนุมไม่ได้มีการฝ่าแนวกั้น และเลี้ยวขวาเดินไปเข้าที่บริเวณแยกนางเลิ้ง เพื่อไปให้ถึงจุดหมายคือทำเนียบรัฐบาล โดยปักหลักกันบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม
และ พ.ต.อ.วิวัฒนชัย ผู้กำกับ สน.ดุสิต ได้เบิกความในส่วนการดูแลในพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบว่า พยานเห็นผู้ชุมนุมมาที่สะพานชมัยมรุเชฐ ในเวลาประมาณ 17.30 น. ในการดำเนินงานต่าง ๆ ของ สน.ดุสิต ก็เป็นไปตามแผนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 พยานเพียงควบคุมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำตามแผนเท่านั้น
ในคดีนี้ พยานทั้งสี่คนอธิบายว่าตนเองเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยผู้บังคับบัญชากองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ลงความเห็นให้สั่งฟ้องคดีมาตรา 112 กับจำเลย ไม่ใช่เป็นความเห็นของพยานเพียงคนใดคนหนึ่ง ส่วนในฐานความผิดอื่น ๆ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ลงความเห็นว่าจำเลยได้ทำผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ด้วย ดังนี้
- จำเลยมีพฤติกรรมในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือการไม่จัดมาตรการให้เกิดความปลอดภัย
- จำเลยมีพฤติกรรมในข้อหา พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คือไม่มีการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยของการควบคุมโรค อันเป็นการฝ่าฝืนต่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ
- จำเลยฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ไม่มีการแจ้งการชุมนุม
- จำเลยฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะและกีดขวางทางจราจร ซึ่งเกิดจากการชุมนุมของจำเลย ไม่มีการดูแลหรือรับผิดชอบ อันทำให้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้เส้นทางสาธารณะ
- จำเลยฝ่าฝืน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง โดยมีการตั้งเวทีและติดลำโพงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขต
ส่วนในเรื่องความเสียหายของต้นไม้ พยานทุกคนเบิกความสอดคล้องกันว่าตีเป็นค่าความเสียหาย 200,000 บาท จากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมไปร่วมกันขนต้นไม้ออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเกิดจากการชักชวนของจำเลย และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปเจรจาให้แกนนำยุติการชุมนุม ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากจำเลย
หลังจากที่มีการชักชวนไปรื้อต้นไม้ ก็ได้มีการเคลื่อนขบวนออกไปหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในการเคลื่อนขบวนดังกล่าวก็ไม่ได้มีการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน แต่ พ.ต.อ.วรศักดิ์ เบิกความว่าในการเคลื่อนขบวนไม่ได้มีความวุ่นวาย และประชาชนก็ทยอยออกไปโดยใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากระหว่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับทำเนียบรัฐบาลห่างกันเพียง 2 กิโลเมตร
นอกจากนี้ อัยการได้ถามกับ พ.ต.ท.อิทธิพลว่านอกจากจำเลยในคดีนี้แล้ว แกนนำคนอื่น ๆ ได้ถูกฟ้องดำเนินคดีด้วยหรือไม่ พยานบอกว่าแกนนำคนอื่น ๆ มีการแยกฟ้องไปที่ศาลอื่น และที่แจ้งข้อหามาตรา 112 กับจำเลยในคดีนี้เพียงคนเดียวเนื่องจากจำเลยเป็นผู้ชักชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุม
ทนายถามค้าน
ทนายจำเลยถามกับผู้กำกับทั้งสี่ สน. ว่า การนัดหมายผู้ชุมนุม ในวันที่ 8 ต.ค. 2563 มีการนัดหมายให้ไปรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อจะเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาลใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่ทราบในรายละเอียดเรื่องนี้
พยานทุกคนไปสังเกตการณ์โดยรอบพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบเท่านั้น มีเพียง พ.ต.ท.อิทธิพลที่เบิกความว่าตนเองไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุม แต่ผู้กำกับอีกสาม สน. อ้างว่าสังเกตการณ์โดยรอบพื้นที่ชุมนุมตลอดเวลา
พ.ต.อ.ประสพโชค เบิกความว่าในส่วนพื้นที่ของตนช่วงสะพานผ่านฟ้าและแยกนางเลิ้ง การเจรจากับผู้ชุมนุมเป็นหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่เข้ามาบริหารเหตุการณ์เป็นหลักไม่ใช่หน้าที่พยาน
ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทนายถามต่อ พ.ต.ท.อิทธิพลว่า เมื่อผู้ชุมนุมเยอะขึ้น และมีการนำรถยนต์ส่วนตัวมาร่วมชุมนุม ก็ได้มีการจอดเทียบเลนซ้ายสุด ไม่ได้มีการกีดขวางทางจราจร พยานบอกว่าจำเลนถนนไม่ได้ แต่จำได้ว่าจอดกันไว้บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชดำเนิน
แต่สำหรับคำถามเรื่องความเกี่ยวพันกับสถานีตำรวจนครบาล พยานทั้งหมดไม่สามารถตอบได้ว่าพื้นที่การชุมนุมในคดีนี้จะเกี่ยวพันกับสถานีตำรวจใดบ้าง และไม่สามารถรับรองได้ว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานกำลังกันรับผิดชอบหลาย สน.
ทั้งนี้ พ.ต.ท.อิทธิพลยืนยันตามที่ทนายจำเลยถามว่า สน.ชนะสงคราม และ สน.นางเลิ้ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 โดยอธิบายเพิ่มว่าในการชุมนุมสาธารณะ ในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง ผู้กำกับสถานีจะต้องเป็นคนดูแลการชุมนุมในพื้นที่นั้น ๆ และในกรณีนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ด้วย เนื่องจากมีอำนาจการดูแลการชุมนุมจึงถูกโอนย้ายไปเป็นของผู้บังคับบัญชาการกองบังคับการตำรวจนครบาลทั้งสองกอง
ทนายถามผู้กำกับทั้งสี่คนว่าในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้สัญจรผ่านพื้นที่ชุมนุมใช่หรือไม่ พยานบอกว่าใช่ และในวันดังกล่าวได้มีการอำนวยความสะดวกทางจราจรแล้วและยืนยันว่าหลัง 14.06 น. ผู้ชุมนุมก็ได้เคลื่อนตัวออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนย้ายสิ่งของทั้งหมดออกไปด้วย
ในส่วนประเด็นคำปราศรัยของจำเลย ทนายได้ถามต่อ พ.ต.อ.วรศักดิ์ และ พ.ต.ท.อิทธิพลว่า จำเลยไม่ได้เพียงบอกให้ขนต้นไม้ออกจากบริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ก่อนจะเดินขบวนชุมนุมก็ได้บอกผู้เข้าร่วมชุมนุมขนต้นไม้ออกจากบริเวณฟุตปาธด้วย เพื่อให้การเคลื่อนตัวเป็นไปด้วยความสะดวก พยานทั้งสองบอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวพยานจำไม่ได้ เพราะรายงานที่ได้รับส่วนใหญ่มาจากผู้ใต้บังคับบัญชา
นอกจากนี้ พ.ต.ท.อิทธิพลยังยอมรับตามที่ทนายถามว่า ตัวเองไม่ได้อยู่ในพื้นที่การชุมนุม และไม่ได้เดินเข้าไปในบริเวณเวทีปราศรัย ทำให้จำไม่ได้ว่าในการประกาศยุติการชุมนุมจะใช้เวลากี่นาที หรือใครจะปราศรัยอยู่บนเวทีบ้าง และจำเลยจะทำอะไรอยู่ที่ไหน
ในวันดังกล่าว พ.ต.ท.อิทธิพลได้ยอมรับตามที่ทนายถามว่า ผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล และอยู่กันจนดึกดื่น ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุม แต่ยืนยันตามที่ทนายถามว่าในวันดังกล่าวไม่มีการสลายการชุมนุม หรือความรุนแรงเกิดขึ้น
ส่วนในท้องที่รับผิดชอบของ สน.ดุสิต พ.ต.อ.วิวัฒนชัย ที่ดูแลพื้นที่การชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลตอนช่วงค่ำ เบิกความว่าจำเลยได้ประกาศให้ชาวบ้านพักผ่อนและปักหลักกันอยู่ที่บริเวณดังกล่าว แต่ในเช้าวันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เตรียมเข้าสลายการชุมนุมจริงอย่างที่ทนายถาม และยอมรับว่าจำเลยได้ประกาศยุติการชุมนุมจริง ก่อนที่จะมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น
และยอมรับว่าภายหลังเวลา 05.00 น. ยังมีผู้ชุมนุมบางคนหลงเหลืออยู่ในพื้นที่และยังมีแกนนำกับจำเลยในคดีนี้อยู่ในพื้นที่จึงทำให้เกิดการจับกุม และสลายการชุมนุมเกิดขึ้นในภายหลังด้วย
อัยการถามติง
อัยการถามต่อ พ.ต.ท.อิทธิพลว่าที่เบิกความตอบทนายจำเลยไปเรื่องไม่สามารถรับรองการชุมนุมในวันดังกล่าวได้ เนื่องจากเวทีการชุมนุมเริ่มต้นขึ้นบนฟุตปาธ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของ พ.ต.อ.วรศักดิ์ ผู้กำกับการของ สน. ชนะสงคราม พยานบอกว่าใช่
.
ฝ่ายสืบสวน รับว่าถอดเทปด้วยวิธีการใช้รายการข่าวที่ไปถ่ายทอดสดในพื้นที่ชุมนุม และหนึ่งในเจ้าหน้าที่ยอมรับว่าเมื่อฟังคำปราศรัยแล้วก็คงไม่กล้าสลายการชุมนุม กลัวทำพระองค์เสื่อมเสีย
ในการถอดเทปและบันทึกเทปในพื้นที่ชุมนุม มี ส.ต.อ.เผ่าพัชร บรรจงดวง พนักงานสืบสวน, ส.ต.ท. อนุชา บริสุทธ์ ผู้บังคับหมู่ปราบปราม สน.สำราญราษฎร์ และ ร.ต.อ.ปฐมพงษ์ ศรีหาพล เจ้าหน้าที่สายตรวจ สน.พญาไท เข้าเป็นพยาน
เกี่ยวกับคดีนี้ พยานทั้ง 3 คน ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ในการถอดเทปคำปราศรัยการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยไม่ได้ลงสังเกตการณ์พื้นที่ชุมนุม เป็นการได้รับเทปมาจากตำรวจคนอื่นอีกที แต่มีเพียงคนเดียวที่ลงพื้นที่คือ ส.ต.อ.อนุชา ซึ่งพยานทั้งหมดได้ถอดเทปจากรายการข่าว และคลิปวิดีโอจากตำรวจนอกเครื่องแบบที่ปะปนอยู่กับฝูงชน
จากการถอดเทป ส.ต.อ.เผ่าพัชรเห็นว่าจำเลยขึ้นปราศรัยในเวลา 11.00 – 12.00 น. โดยบางส่วนของคำปราศรัยของจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 แต่ ส.ต.ท.อนุชาเบิกความไม่สอดคล้องกันโดยกล่าวว่าข้อความตามฟ้องของจำเลยเป็นการกล่าวในช่วงเวลา 13.00 น. ไม่ใช่ช่วงเช้า และมีการบันทึกเทปตลอดทั้งวัน ตามรายงานการถอดเทปของพยานมีทั้งส่วนที่บันทึกด้วยตนเอง และจากที่อื่น
ทั้งนี้ ศาลถามต่อ ส.ต.ท.อนุชาว่าเหตุใดบันทึกการถอดเทปในสำนวนคดีนี้ถึงไม่ใช้วิดีโอของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลงพื้นที่ทั้งหมด พยานบอกว่าเพราะมีการถ่ายสลับกัน ส่วนมากเห็นภาพเหตุการณ์ไม่ชัด จึงต้องใช้วิดีโอของสำนักข่าวมาถอดเทปเป็นหลัก
ส่วน ร.ต.อ.ปฐมพงษ์ เบิกความว่าพยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา โดยทำหน้าที่ถอดเทป ได้รับคลิปวิดีโอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นที่ปฏิบัติอยู่หน้างาน โดยถอดเทปเฉพาะส่วนคำปราศรัยของอานนท์ ถอดเฉพาะสาระสำคัญ ประเด็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง การนัดหมายชุมนุม และการปราศรัยทั่ว ๆ ไป
จำเลยถามค้าน
จำเลยแถลงต่อศาลขอถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ด้วยตนเอง โดยถามต่อ ส.ต.อ.เผ่าพัชร ว่า ในการสืบสวน พยานไม่ได้ทำความเห็นเกี่ยวกับข้อความไว้ในสำนวนของคดีนี้ พยานตอบว่าใช่
ส่วน ส.ต.ท.อนุชา ตอบจำเลยว่าจำไม่ได้แล้วว่าตัวเองเคยให้ความเห็นเรื่องข้อความไว้ในชั้นสอบสวนหรือไม่ และในเรื่องขบวนเสด็จช่วงเย็นที่ผ่านเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม พยานก็ไม่ทราบว่าตำรวจอ้างขบวนเสด็จเพื่อสลายการชุมนุมหรือไม่ แต่ก็ยอมรับตามที่จำเลยถามว่าแม้ได้ยินคำปราศรัย ก็ไม่ได้มีความคิดจะไปแจ้งความแต่อย่างใด
เมื่อจำเลยถามว่าพยานอยากให้ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ติดคุกหรือไม่ พยานบอกว่าให้เป็นกระบวนการในชั้นศาล แต่เห็นด้วยกับที่จำเลยถามว่า หากพยานเป็นหนึ่งในตำรวจที่จะต้องเข้าสลายการชุมนุม เมื่อได้ยินคำปราศรัยของจำเลย ก็คงไม่กล้าสลายการชุมนุม เพราะกลัวระคายเคืองถึงพระองค์ท่าน
อัยการถามติง
ในการเบิกความของพนักงานตำรวจที่ถอดเทป อัยการถามกับ ส.ต.ท.อนุชา เพียงปากเดียว เกี่ยวกับเรื่องคำปราศรัยที่ตอบจำเลยว่าไม่ได้มีความคิดจะไปแจ้งความเป็นเพราะอะไร พยานตอบว่าเพราะตนเองไม่ได้มีหน้าที่เป็นผู้เข้าแจ้งความ เป็นเพียงผู้รวบรวมพยานหลักฐานให้พนักงานสอบสวนเท่านั้น
.
ตำรวจจราจร 3 นาย ที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม ชี้หากเกิดการสลายการชุมนุม แกนนำก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อยุติไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้น
ในคดีนี้มี พ.ต.ท.ศิริ ราชรักษา รองผู้กำกับการตำรวจ จราจร สน.สำราญราษฎร์, พ.ต.ท.วิโรจน์ สาขากร สารวัตรตำรวจจราจร สน.นางเลิ้ง และ ร.ต.ต.กฤษณะ ครูศรี ผบ.หมู่งานจราจรกรุงเทพฯ กองบังคับการตำรวจจราจร พยานทั้ง 3 มีหน้าที่ดูแลการจราจร จับกุมผู้กระทำผิดทางอาญา
ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 มีคำสั่งให้พยานทั้งสามจัดการจราจรที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง และพื้นที่โดยรอบในท้องที่ของตัวเอง โดย ร.ต.ต.กฤษณะ มีหน้าที่หลักในการประสานอำนวยความสะดวกด้านงานจราจรทั้งหมดในกรุงเทพฯ
จากการประชุมแผนจราจรก่อนออกปฏิบัติหน้านี้ พ.ต.ท.ศิริ ได้ไปประจำการที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเวลาประมาณ 08.00 น. ส่วน พ.ต.ท.วิโรจน์ เริ่มปฏิบัติงานตอน 05.00 น. และ ร.ต.ต.กฤษณะ บอกว่าตัวเองปฏิบัติงานตั้งแต่ 06.00 – 14.00 น. โดยลงพื้นที่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ด้วย แต่พยานดูจอมอนิเตอร์ที่ตู้จราจรไม่ได้ปะปนอยู่กับฝูงชน
พ.ต.ท.ศิริ ได้เจอกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ ซึ่งในขณะนั้นจำนวนผู้ร่วมชุมนุมยังมีไม่มาก และการตั้งเวทีขนาดเล็กพร้อมเครื่องเสียงบนฟุตปาธอีกด้วย ส่วน พ.ต.ท.วิโรจน์ เบิกความว่าในการดูแลการจราจรวันดังกล่าว พยานไม่ได้มีการบันทึกภาพ เนื่องจากดูแลการจราจรเท่านั้น
พ.ต.ท.ศิริ และ พ.ต.ท.วิโรจน์ รับทราบและรู้ว่าในการชุมนุมวันดังกล่าวเป็นกิจกรรมของกลุ่มราษฎร เนื่องจากพยานอยู่ในที่เกิดเหตุ และมีหน้าที่ควบคุมสัญญาณไฟจราจร โดยเมื่อเวลาผ่านไปสักครู่หนึ่ง กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มหนาแน่น และมีการกระจายตัวลงมาที่พื้นผิวถนนทั้งที่ราชดำเนินและทั้งที่บริเวณแยกนางเลิ้ง
พ.ต.ท.ศิริ เบิกความต่อไปว่า ตนเองอยู่ในพื้นที่การชุมนุมตั้งแต่ช่วงเวลาเริ่มจนถึงเลิกการชุมนุมในพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยประเมินจำนวนคนที่ร่วมชุมนุมได้ราว 1,000 คน และในการปราศรัยของแกนนำผู้ชุมนุมก็มีข้อเรียกร้อง 3 ประการ คือ ประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ในช่วงเวลา 08.40 น. พ.ต.ท.ศิริเล่าว่าพบจำเลยขึ้นปราศรัย และพยานได้ยินคำปราศรัยของจำเลยทั้งหมด โดยประกอบไปด้วยข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ และได้ยินว่าจำเลยได้พูดข้อความตามฟ้องจริง
พ.ต.ท.ศิริ เห็นว่าคำพูดตามฟ้องของพยานเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เพราะประชาชนเป็นข้าฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงเห็นว่าไม่เหมาะสม แต่พยานทำอะไรไม่ได้ และได้แต่จัดการจราจรต่อไป
เมื่ออัยการนำภาพการชุมนุมในวันดังกล่าว โดยมีภาพที่ประชาชนอยู่บนลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งในภาพไม่มีต้นไม้อยู่แล้ว เนื่องจากมีการรื้อออกไป อัยการขอให้พยานยืนยันว่าสิ่งที่อยู่ในภาพที่ได้ดูตรงกับสภาพความเป็นจริงของกิจกรรมชุมนุมในวันนั้น ซึ่งพยานบอกว่าภาพที่อัยการให้ดูเป็นภาพถ่ายจริงจากวันเกิดเหตุ
ส่วน พ.ต.ท.วิโรจน์ ประจำการอยู่ที่บริเวณถนนนครสวรรค์ โดยเมื่อผู้ชุมนุมผ่านแยกนางเลิ้งมารวมตัวกัน ก็ได้มีการเจรจากับตำรวจในพื้นที่จนถึง 17.00 น. เพื่อขอให้ขบวนเสด็จขับผ่านไปก่อน จึงจะอนุญาตให้ผู้ชุมนุมมุ่งหน้าต่อไปที่ทำเนียบรัฐบาลได้
แต่ในส่วนภาพถ่ายตอนกลางคืน ที่มีการปักหลักอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท.ศิริ ไม่แน่ใจว่าเป็นวันเดียวกันหรือไม่ เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่พยานรับผิดชอบการจราจร
ส่วน ร.ต.ต.กฤษณะ เบิกความเพียงว่าปัญหาการจราจรเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อมีการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในขอบเขตความรับผิดชอบและสนับสนุนในฐานะส่วนกลาง พยานก็อาจส่งตำรวจไปโบกจราจร นำกรวยจราจรไปปิดกั้นถนนในบางพื้นที่
นอกจากนี้ ในเรื่องการประกาศยุติการชุมนุมในช่วงเวลากลางวัน พ.ต.ท.ศิริ และ พ.ต.ท.วิโรจน์ เบิกความสอดคล้องกันว่าผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ ได้เป็นคนประกาศด้วยตนเอง แต่แกนนำไม่ปฏิบัติตาม แต่ยุติกันไปเองในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. เพราะมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่อื่นต่อ
จำเลยถามค้าน
จำเลยถามต่อ พ.ต.ท.ศิริว่า ในวันที่มาให้การในชั้นสอบสวน ไม่ได้มีการให้การเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ไว้ แต่พยานเบิกความกับศาลว่าการปราศรัยของจำเลยผิดมาตราดังกล่าว พยานยอมรับตามที่ทนายถามว่าไม่เคยให้การเรื่อง ม.112 ไว้จริง
ในการชุมนุมที่เกิดขึ้น พ.ต.ท.ศิริก็ยอมรับตามที่จำเลยถามว่าไม่ได้เพิ่งมารู้ว่าจะมีการชุมนุมในวันดังกล่าว แต่ได้รับรายงานข่าวมาก่อนหน้านั้นแล้ว และก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ก็เคยมีการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563
ทั้งนี้ เมื่อจำเลยถามต่อไปว่า พ.ต.ท.ศิริ รู้จักเหตุการณ์ในอดีตของวันที่ 14 ต.ค. หรือไม่ พยานบอกว่าตนเองเกิดทันประวัติศาสตร์ 14 ต.ค. 2516 ที่มีการรวมตัวกันของนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และในช่วงเวลาดังกล่าวก็เคยมีการเสียชีวิตและล้มตายจำนานมาก
และยอมรับตามที่จำเลยถามต่อในประเด็นประวัติศาสตร์การชุมนุมว่าในช่วงพฤษภาคม 2535 ก็เป็นอีกเหตุการณ์ชุมนุมที่มีการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมจำนานมากที่ถนนราชดำเนิน และการชุมนุมตามฟ้องส่วนใหญ่พ.ต.ท.ศิริ ก็เห็นด้วยกับที่จำเลยถามว่าเป็นการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ และแก่ที่สุดน่าจะเป็นอานนท์
ในการชุมนุมพยานคิดว่ามีคนเข้าร่วมหลักหมื่นคน เนื่องจากมีจำนวนประชาชนเยอะมากจนต้องปิดถนน และจากการประจำการอยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และยอมรับตามที่จำเลยถามว่าในวันดังกล่าวมีกลุ่มการ์ดของผู้ชุมนุม นำโดย โตโต้ ปิยรัฐ และลูกเกด ชลธิชา ที่คอยประสานงานกับตำรวจ และช่วยจัดการเรื่องจราจรอยู่ด้วย และยอมรับว่าในการชุมนุมช่วงเช้าที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ได้มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น
เมื่อจำเลยถามต่อว่า ในการชุมนุมที่มีคนจำนวนมากขนาดนี้ แกนนำก็จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือการสลายการชุมนุม หรือเกิดความสูญเสียขึ้น และหากมีความสูญเสียเกิดขึ้นความรับผิดชอบก็ควรจะเป็นของแกนนำใช่หรือไม่ พยานบอกว่าเห็นด้วยตามที่จำเลยถาม
และเห็นด้วยกับที่จำเลยบอกว่าในการปราศรัยวันดังกล่าว มีการบอกให้ประชาชนระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายต้นไม้จริง และถึงแม้ตลอดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์จะมีกลุ่มคนเสื้อเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มชุมนุมฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มของจำเลยอยู่ด้วย ก็ไม่มีการปะทะหรือมีความรุนแรงเกิดขึ้น
ส่วน พ.ต.ท.วิโรจน์ จำเลยได้ถามว่าในส่วนถนนนครสวรรค์ จนถึงแยกนางเลิ้งมีการเจรจากับชลธิชาเรื่องการให้ขบวนเสด็จผ่านไปก่อนในช่วงเวลาประมาณ 17.45 – 18.00 น. ใช่หรือไม่ และพยานยืนยันทามไลน์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณแยกนางเลิ้งตามที่เคยให้ปากคำไว้ตอนชั้นสอบสวนหรือไม่ พยานบอกว่าใช่ และผู้ชุมนุมไม่ได้มีความชุลมุน ทุกอย่างเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
อัยการถามติง
อัยการถามกับ พ.ต.ท.วิโรจน์ เพียงคนเดียวว่าทามไลน์การเคลื่อนขบวนตอนเย็นของผู้ชุมนุมจะรับรองว่าเป็นจริงทั้งหมดหรือไม่ พยานบอกว่าไม่ทราบ และอาจมีเวลาคาดเคลื่อนไม่ตรง แต่ก็ใกล้เคียงเวลาจริงที่สุดแล้ว
.
รองผู้กำกับสืบสวน สน.นางเลิ้ง และ สน.ชนะสงคราม หนึ่งในเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบศาลได้ว่าทำไมขบวนเสด็จของราชินีถึงฝ่าเข้าพื้นที่ชุมนุม
ในคดีนี้มี พ.ต.ท.สมศักดิ์ ใหม่บุญมี รองผู้กำกับการสืบสวน สน.นางเลิ้ง และ พ.ต.ท.สุธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รองผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม พยานทั้งสองคนมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบหาข่าวสืบสวนในท้องที่ที่รับผิดชอบ
เกี่ยวกับคดีนี้ พยานทั้งสองคนเบิกความคล้ายกันกันว่าได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้จัดชุดสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันหลาย สน.
พ.ต.ท.สุธิศักดิ์ เบิกความว่า ในการชุมนุมพยานได้ลงพื้นที่หาข่าวสืบสวนด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถจับประเด็นของการปราศรัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่การชุมนุมได้ แต่รับรู้ว่ามีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง ส่วนเวทีที่ตั้งอยู่บนฟุตปาธหน้าร้านแมคโดนัลด์ ก็มีขนาดเล็กตามพยานหลักฐานที่อัยการให้ดู และมีการนำกระถางต้นไม้ออกมาจากลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจริง และเห็นว่าการยกกระถางต้นไม้ออกมาเป็นเพราะการ ‘ปลุกระดม’ ของจำเลยกับแกนนำ แต่ไม่ทราบในรายละเอียดว่าทำเพื่ออะไร และภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนออกจากบริเวณอนุสาวรีย์เพื่อไปปักหลักกันที่หน้าทำเนียบ ซึ่งไม่ใช่ท้องที่รับผิดชอบของพยาน
ทั้งนี้ พ.ต.ท.สมศักดิ์ ได้รับทราบจากฝ่ายสืบสวนว่าผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ไปทำเนียบรัฐบาลในเวลา 14.00 น.
พยานเบิกความว่าฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้งได้กระจายกำลังกับปะปนกับฝูงชน เพื่อทำการบันทึกภาพ และถ่ายคลิปวิดีโอในช่วงที่ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามได้ประกาศให้ยุติการชุมนุม ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสลายการชุมนุม จึงได้ทำการกระจายตัวเพื่อบันทึกภาพไว้
ต่อมาเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ได้เอารถตู้จำนวน 4 – 5 คันมาขวางที่บนสะพานชมัยมรุเชฎ เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านไปได้ เนื่องจากฝั่งผู้ชุมนุมไม่ยอมยุติ จนกระทั่งเวลา 17.00 น. ขบวนเสด็จผ่านมาจึงต้องเอารถตู้ถอยออก 1 คัน เพื่อให้ขบวนเสด็จผ่านไปได้ แต่ภายหลังขบวนเสด็จผ่านพ้นไป เจ้าหน้าที่ตำรวจก็กลับมาตึงกำลังเหมือนเดิม
พ.ต.ท.สมศักดิ์ เบิกความต่อในส่วนพื้นที่ของตัวเองว่า ตามภาพถ่ายพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ไม่ใช่ภาพที่พยานบันทึกเอง แต่ยืนยันตามภาพถ่ายที่อัยการให้ดู ซึ่งเป็นภาพที่กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณข้างทำเนียบฯ และพยายามดันรถตู้ออกจากทางของขบวนชุมนุมว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
จำเลยถามค้าน
จำเลยถามต่อ พ.ต.ท.สมศักดิ์ว่า ในชุดฝ่ายสืบสวนของ สน.นางเลิ้ง ได้มีการเข้ามาเจรจากับผู้ชุมนุมว่าขอให้เปลี่ยนเส้นทางของขบวนผู้ชุมนุมไปที่ถนนนครสวรรค์ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ทับกับเส้นทางขบวนเสด็จใช่หรือไม่ พยานบอกว่าใช่
พ.ต.ท.สมศักดิ์ ก็ได้ยอมรับตามที่จำเลยถามว่า ในช่วงเวลา 16.00 – 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการพยายามปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงบริเวณทำเนียบฯ โดยมีกองกำลังตำรวจราว 1 กองร้อย และยืนยันว่าได้เจรจาให้ผู้ชุมนุมสามารถผ่านเข้าไปได้ภายหลังจากที่ขบวนเสด็จผ่านไปแล้วในช่วงเกือบ 18.00 น.
ทั้งนี้ศาลได้ถามกับ พ.ต.ท.สมศักดิ์ โดยไม่ได้บันทึกในคำเบิกความว่า เหตุการณ์ที่ขบวนเสด็จของพระราชินีผ่านเข้าไปบริเวณพื้นที่การชุมนุม เป็นเพราะเหตุใด ทำไมถึงไม่มีการเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น ในเมื่อบริเวณดังกล่าวมีเส้นทางที่สามารถเลี่ยงพื้นที่การชุมนุมได้ พยานตอบว่าไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอีกทีหนึ่ง
ส่วน พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ จำเลยได้ถามว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมของเยาวชนเป็นหลักใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ และยอมรับว่าวิธีการชุมนุมไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และยอมรับว่าส่วนใหญ่ผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัย
แต่ส่วนใหญ่พยานจำเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้ และไม่รู้ว่าเส้นทางขบบวนเสด็จเข้าไปในเส้นทางไหนบ้าง แต่ยืนยันตามที่จำเลยถามว่าการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรื่อยมา
.
พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เจ้าของสำนวนคดี เห็นว่าจำเลยผิดข้อหาอะไรบ้างต้องผ่านคณะกรรมการของพนักงานสืบสวนสอบสวน
ร.ต.อ.อานนท์ ไทรด้วง ในขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ เกี่ยวข้องในคดีนี้เนื่องจากพยานเป็นพนักงานสอบสวน เจ้าของสำนวนคดี
ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเข้าเวร และได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้กำกับสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วยไปดูแลพื้นที่การชุมนุม
ต่อมาในวันที่ 16 ต.ค. 2563 พนักงานดูแลต้นไม้ของ กทม. ได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์กับพยานว่ามีความเสียหายของต้นไม้ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ฯ เป็นจำนวนประมาณ 200,000 บาท และยืนยันว่าในคดีนี้ไม่มีการแจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้อง แต่ยอมรับข้อเท็จจริงว่าเมื่อแกนนำประกาศยุติการชุมนุมในช่วงเวลากลางคืน ก็ไม่ได้มีการชุมนุมแล้ว
ร.ต.อ.อานนท์ บอกว่าภาพตามพยานหลักฐานทั้งหมดนี้ พยานเป็นคนลงลายมือชื่อรับรองด้วยตนเอง และเมื่อสรุปสำนวนเสร็จก็มีความเห็นว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายบท อาทิเช่น มาตรา 112, ทำให้เสียทรัพย์, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น แต่ทั้งหมดพยานไม่ได้มีความเห็นเพียงคนเดียว แต่ได้นำส่งให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนด้วย โดยนำเสนอผ่านผู้บังคับบัญชา
ในคดีนี้พยานได้สอบปากคำพยานบุคคลไว้หลายปาก เช่น บุศบงค์ ธนกิจวิไล, ศิริลักษณ์ สีนวลขำ, พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ และ พ.ต.ท.วิโรจน์ หินเธาร์
ทนายถามค้าน
ทนายถามกับพยานว่า ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเป็นพนักงานสอบสวนเวร ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ลงพื้นที่เกิดเหตุ แต่ติดตามรายงานจากการสื่อและข่าวใช่หรือไม่ พยานบอกว่าใช่
ส่วนเรื่องพยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่าย พยานบอกว่ามีเพียงภาพความเสียหายของต้นไม้ที่พยานเป็นผู้ถ่ายเอง ส่วนภาพอื่น ๆ ในสำนวนคดีนี้ เจ้าหน้าที่คนอื่นเป็นคนนำมาให้ โดยภาพถ่ายที่มาจากสำนักข่าว พยานไม่เคยเรียกนักข่าว หรือช่างภาพคนใดมาสอบปากคำ
ส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาทำให้เสียทรัพย์ มูลค่าความเสียหายได้ข้อเท็จจริงจากยงทวี ไม่ได้ไปสอบหาข้อเท็จจริงจากตัวกลางหรือพ่อค้าต้นไม้ในตลาด และก็ไม่ทราบว่าในวงการราชการจะมีการจัดซื้อประเมินที่มักจะเกินกว่าราคาในท้องตลาดหรือไม่
สำหรับเรื่องพื้นที่การชุมนุมที่ทับซ้อน ทนายถามกับพยานว่าหากมีการทับซ้อนกัน 2 สน. ขึ้นไป ผู้ดูแลการชุมนุมจะต้องเป็นคนที่สูงกว่าผู้กำกับการ สน. เช่น ผู้บังคับบัญชาการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และหากคาบเกี่ยวกันกับพื้นที่ สน. ในกองบังคับการตำรวจนครบาลอื่น ก็ต้องเปลี่ยนเป็นผู้ดูแลที่มีตำแหน่งสูงขึ้นไปอีกคือ ผู้บังคับบัญชาการตำรวจนครบาลใช่หรือไม่ พยานบอกว่าใช่
ในส่วนความผิดฐานจราจร เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการชุมนุม พยานได้สอบปากคำผู้กำกับการทั้ง 3 สน. ได้แก่ ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์, ผู้กำกับการ สน.นางลิ้ง และผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม พบว่าทั้งสามพื้นที่ไม่มีที่ใดได้รับหนังสือแจ้งการชุมนุม ส่วนเรื่องความผิดฐาน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ พยานไม่ได้สอบปากคำพยานบุคคลใดไว้
.
นักวิชาการสุขภิบาล เบิกความชี้ว่าถึงแม้จะชุมนุมในพื้นที่เปิดโล่ง ก็ยังคงสามารถติดโรคได้
สัมฤทธิ์ พันธ์แสน เป็นนักวิชาการสุขภิบาล ประจำการอยู่ที่สำนักงานเขตพระนคร เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ เขตพระนคร ตามหนังสือลงวันที่ 26 มิ.ย. 2563
ในการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเห็นว่าเป็นช่วงที่อยู่ในระหว่างการสั่งปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดชั่วคราวในกรุงเทพมหานคร และเห็นว่าการชุมนุมจะสามารถทำได้หากผู้จัดการชุมนุมจัดกิจกรรมโดยมีมาตรการป้องกันตามมาตรการควบคุมโรคของสาธารณสุข จัดให้มีจุดคัดกรองโรค เจลล้างมือ และสวมใส่หน้ากากอนามัย ตลอดจนชุมนุมในพื้นที่โล่งแจ้ง
ส่วนการชุมนุมที่เกิดขึ้น พยานเห็นว่ามีผู้ชุมนุมที่สวมหน้ากากอนามัยบ้างและไม่สวมด้วย ไม่มีจุดคัดกรองการเข้าร่วมทำกิจกรรมชุมนุมอย่างชัดเจน ถือว่าเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19
ทนายถามค้าน
ทนายถามกับพยานว่าโรคโควิด – 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ตอนที่พยานยังเรียนหนังสืออยู่ก็ไม่ได้มีการเรียนการสอนให้ป้องกันโรคนี้อย่างไร โดยในช่วงเดือน ต.ค. 2563 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ห้างร้านต่าง ๆ ก็ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ พยานตอบว่าใช่ แต่ร้านต่าง ๆ ก็ต้องมีมาตรการตามที่ราชการกำหนด
และยอมรับว่าหากชุมนุมกันในที่ปิดก็จะเสี่ยงต่อการแพร่โรคมากกว่าในพื้นที่โล่งแจ้ง และยอมรับตามที่ถามว่าพื้นที่ชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเห็นว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ ไม่ใช่ไม่มีเลย พยานจำได้ว่ามีการติดเชื้อประมาณ 8 – 9 คนทั่วประเทศ แต่จำนวนทั้งหมดในตอนนั้นพยานไม่สามารถจำได้
ทั้งนี้ ทนายถามว่าสถานการณ์การป้องกันโรคโควิด – 19 ในตอนนั้นรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ใช่ สถานการณ์ในตอนนั้นราชการสามารถควบคุมการแพร่โรคระบาดได้
อัยการถามติง
อัยการถามว่าที่เบิกความยืนยันเรื่องพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แต่ถึงแม้จะเปิดโล่ง แต่ถ้ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่มีจุดคัดกรอง ก็มีโอกาสที่จะแพร่โรคได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ถึงแม้จะใส่หน้ากากอนามัย แต่หากบุคคลมีการใช้มือสัมผัส และไม่มีการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ก็สามารถแพร่โรคติดต่อกันได้ และถึงแม้จะเว้นระยะห่างกันแค่ช่วงศอก ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการป้องกันโรคได้
.
พนักงานดูแลสิ่งแวดล้อมของ กทม. รับว่าต้นไม้บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในสมัยผู้ว่าฯ ชัชชาติไม่ได้จัดแล้ว เนื่องจากถูกใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมทางการเมืองบ่อยครั้ง
ยงทวี โพธิษา พนักงานดูแลสิ่งแวดล้อมของ กทม. มีหน้าที่ดูแลต้นไม้บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 13.30 น. พยานได้ออกตรวจทันทีหลังได้ทราบเรื่องการรื้อกระถางต้นไม้ในบริเวณดังกล่าว
พยานเบิกความว่าลักษณะของการขนต้นไม้มีทั้งแบบที่ขนด้วยความระมัดระวัง และเทกระจัดกระจาย พยานยืนยันตามภาพที่อัยการให้ดูว่ามีความเสียหายของต้นไม้เกิดขึ้นจริง โดยทั้งหมดมีหลายชนิด เช่น ไทรเกาหลี, เฟื้องฟ้า, ต้อยติ่ง เป็นต้น ทั้งหมดมีประมาณ 30,000 ต้น ซึ่งประดับอยู่โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
พยานอธิบายต่อว่าที่ประดับต้นไม้ในบริเวณดังกล่าว เนื่องมาจากว่าถนนราชดำเนินเป็นพื้นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ตลอดจนเป็นเส้นทางเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ถนนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบสวยงาม
สาเหตุที่พยานได้เข้าไปตรวจต้นไม้ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 เนื่องจากว่าในวันนั้นมีขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 พยานจึงมีหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบความเสียหายว่ามีส่วนใดที่ชำรุดหรือไม่สวยงาม จะได้แก้ไขกันทันก่อนที่จะมีขบวนเสด็จผ่าน
ในวันดังกล่าว พยานได้เห็นว่าจำเลยและแกนนำกลุ่มมีการชักชวนให้ผู้ชุมนุม ขนย้ายต้นไม้ลงมาที่ถนนโดยรอบ และจากการตรวจสอบพบความเสียหายหลายชนิด เช่น ต้อยติ่ง, บานบุรี, ศุภโชค เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อพบความเสียหาย ยงทวีบอกว่าตัวเองได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และได้รับคำสั่งให้ประเมินความเสียหาทั้งหมด โดยหนังสือคำสั่งได้มีลงมาถึงรองผู้อำนวยการ สำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โดยรอง ผอ. ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้พยานมาร้องทุกข์
ระหว่างที่ไปตรวจสอบความเสียหาย ยงทวีได้พบว่ามีผู้ชุมนุมอยู่เยอะเกิน 1,000 คน และพยานได้ไปพร้อมกับลูกน้องจำนวน 3 คน พบว่าต้นไม้มีการวางกระจัดกระจาย แต่พยานก็ไม่ได้เข้าไปห้ามปราม เนื่องจากผู้ชุมนุมมีจำนวนเยอะ จึงได้แต่ทำการดูแลบริเวณโดยรอบเท่านั้น เพราะหลังจากการขนย้ายต้นไม้ออกแล้ว ผู้ชุมนุมได้ขึ้นไปอยู่บริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการแสดงสัญลักษณ์สามนิ้ว และโบกธงไปมา
ส่วนเรื่องค่าเสียหาย พยานได้ประเมินจากความเสียหายของกระถางที่แตกไป กิ่งไม้ที่หัก และถุงดินที่ขาด ยกเว้นต้นไม้ที่เห็นว่าสามารถเอาไปอนุบาลใหม่ได้ ก็จะไม่ถูกคิดรวมไว้ในความเสียตรงนี้ ส่วนที่เสียหายก็จะมีการกำหนดค่าเสียหายตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 223,700 บาท
นอกจากนี้ พยานยังได้เบิกความต่อไปว่า ต้นไม้ทั้งหมดถูกปลูกขึ้นโดยใช้ภาษีของประชาชนในการเพาะเลี้ยง และจัดซื้อมา และเหตุที่พยานต้องเข้ามาแจ้งความเรียกค่าเสียหายในคดีนี้ เนื่องจากแกนนำประกาศเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมไปรื้อต้นไม้
จำเลยถามค้าน
จำเลยถามกับพยานว่าในตอนที่เข้าไปแจ้งความ ในขณะนั้นกรุงเทพมหานครอยู่ในช่วงการบริหารราชการของผู้ว่าฯ ชื่อ อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่ถูกแต่งตั้งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช่หรือไม่ พยานยืนยันตามที่จำเลยถาม
จำเลยจึงถามว่า ปัจจุบันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่มีการจัดแต่งต้นไม้ที่ลานอนุสาวรีย์แล้ว และไม่มีการปิดรั้วกั้นด้วย ยงทวีตอบว่าใช่ จำเลยจึงถามต่อว่าในการล้อมรั้วกับการวางต้นไม้ทั้งหมดก็เพราะกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปใช่หรือไม่ พยานตอบว่าสำหรับรั้วที่เอามากั้นไว้เป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ใช่ทรัพย์สินของสำนักงานสิ่งแวดล้อม กทม.
แต่ส่วนต้นไม้ที่ถูกจัดตกแต่ง ยงทวีอธิบายว่ามีการตกแต่งในบริเวณลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมานานแล้ว แต่ถูกยกเลิกไปในภายหลัง เนื่องด้วยปัญหาหลายปัจจัย และ กทม. ไม่มีงบประมาณมาดูแลต้นไม้แล้ว
จำเลยจึงถามในประเด็นต้นไม้กับยงทวีต่อว่า จริง ๆ ที่ยกเลิกไปในสมัยของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เนื่องจากผู้ว่าฯ ไม่ต้องการให้ตั้งต้นไม้อีก เพราะลานของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มักถูกใช้เป็นพื้นที่จัดการชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้งใช่หรือไม่ พยานตอบว่าก็เข้าใจได้แบบนั้น
ทั้งนี้ ยงทวีบอกว่าการตกแต่งต้นไม้มีมานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 พยานขอยืนยันว่าไม่ได้เพิ่งมีการมาจัดแต่งช่วงที่มีการชุมนุมการเมืองที่ผ่านมา เพราะพยานเริ่มทำงานที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมของ กทม. มาตั้งแต่ปี 2531 ขอยืนยัน แม้ว่าจำเลยจะถามย้ำว่าก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมในปี 2563 ไม่มีการจัดแต่งต้นไม้ตามที่พยานกล่าวอ้าง แต่พยานบอกว่าตนเองมีรูปการจัดแต่งต้นไม้ก่อนช่วงปี 2563 แต่ในวันนี้ไม่ได้นำภาพถ่ายดังกล่าวมา
ในการชุมนุมที่เกิดขึ้นพยานเห็นว่าผู้ชุมนุมไม่จำเป็นต้องขึ้นไปบริเวณลานอนุสาวรีย์ก็ได้ และพยานไม่เคยได้ยินเรื่องที่มีการกล่าวหา กทม. ว่าที่มาจัดแต่งต้นไม้ล้อมอนุสาวรีย์ไว้ ก็เพื่อกันไม่ให้ผู้ชุมนุมสามารถมาชุมนุมกันในบริเวณดังกล่าวได้ แต่เห็นด้วยกับที่จำเลยถามว่าการชุมนุมจะสามารถแสดงออกที่ไหนก็ได้
จำเลยจึงถามต่อไปว่า พยานได้ยินในสิ่งที่จำเลยปราศรัยวันนั้นหรือไม่เรื่องการขนย้ายต้นไม้ที่ขอให้ผู้ชุมนุมทำด้วยความระมัดระวัง พยานยืนยันว่าได้ยินและจำในสิ่งที่อานนท์พูดในวันนั้นได้ แต่ไม่เห็นด้วยในสิ่งที่จำเลยถามต่อว่าการขนย้ายในวันนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะพยานเห็นว่ามีบางส่วนที่สร้างความไม่เรียบร้อยเหมือนกัน
จำเลยจึงถามต่อไปว่า กระถางที่แตกส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวออกจากบริเวณอนุสาวรีย์แล้ว และเกิดขึ้นจากการรีบเก็บกวาดของเจ้าหน้าที่เอง เพื่อให้ทันเวลาที่ขบวนเสด็จจะเสด็จผ่าน ไม่ใช่จากกลุ่มผู้ชุมนุม ยงทวีตอบว่าไม่จริง เพราะมีบางส่วนที่เสียหายจากการเชิญชวนของแกนนำ แม้พยานจะอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่วันนี้ก็ไม่ได้มีหลักฐานใดมานำเสนอต่อศาลว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมจากผู้ชุมนุมตามที่เบิกความไว้
จำเลยถามต่อพยานในประเด็นการประเมินค่าราคาความเสียหายของต้นไม้ จริง ๆ แล้วไม่ใช่การประเมินจากราคาต้นไม้ตามชนิดพันธุ์ต่าง ๆ แต่เป็นการประเมินตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ใช่ราคาจริงตามท้องตลาดต้นไม้ทั่วไป พยานตอบว่าใช่
พยานบอกว่าตนเองไม่ทราบรายชื่อบุคคลที่ทำให้ต้นไม้เสียหาย และไม่ทราบถึงชื่อผู้ที่มาช่วยเคลียร์ต้นไม้ที่ได้รับความเสียหายด้วย การพิสูจน์และประเมินความเสียหายเกิดขึ้นตอนเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 14 ต.ค. 2563
จำเลยจึงถามต่อยงทวีว่า ในหนังสือมอบอำนาจจากรองผู้อำนวยการ สำนักงานสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ปรากฏเลยว่าให้ไปแจ้งความกับใคร ด้วยเหตุใด พยานตอบว่าใช่ และอธิบายต่อว่าในการมอบอำนาจดังกล่าว พยานได้รับมอบหมายอยู่ภายใต้การบริหารราชการของ อัศวิน ขวัญเมือง แต่เมื่อจำเลยถามว่าในขณะนั้นอัศวินมีตำแหน่งเป็นเพียง ‘รักษาการผู้ว่าฯ’ ซึ่งอยู่ในระหว่างเลือกตั้งใหม่ พยานมีหลักฐานใดมานำเสนอต่อศาลหรือไม่ว่าตำแหน่งรักษาการดังกล่าวสามารถออกคำสั่งมอบอำนาจให้พยานมาแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ได้ พยานตอบว่าไม่มี
และในขณะที่ไปแจ้งความ พยานได้บอกว่ามีการแจ้งความกับเพนกวิน พริษฐ์ หนึ่งในแกนนำการชุมนุมนี้ด้วย แต่เป็นการแจ้งความเพิ่ม เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563
สุดท้าย จำเลยถามกับพยานว่าในการชุมนุมมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก และแม้จะมีการขนย้ายต้นไม้และทำร่วงหล่นกันไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของผู้ชุมนุม พยานบอกว่าใช่
อัยการติง
อัยการถามว่า ในการได้รับมอบอำนาจให้พยานไปร้องทุกข์ ก็เนื่องมาจากว่าเกิดความเสียหายของต้นไม้ และมีสาเหตุมาจากการชุมนุมกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ฯ พยานตอบว่าใช่
.
คนขับรถรับจ้างมากางเต้นท์ในพื้นที่ชุมนุม เบิกความว่าตนเองเป็นหนึ่งในคนที่ถูกจับไปพร้อมกับผู้ชุมนุมในช่วงที่มีการสลายการชุมนุม
ปาร์พิรัชย์ ปุญญาธนาภูเดช เข้ามาเกี่ยวกับคดีนี้เนื่องจากไปรับจ้างกางเต้นท์ให้บริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม แต่จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ เพราะเรื่องเกิดนานมาแล้ว
ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ได้รับโทรศัพท์ให้ไปช่วยกางเต้นท์ทั้งหมด 3 หลัง ที่หน้าโรงเรียนดังกล่าวในวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยให้ไปรอที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเวลา 12.00 น. ซึ่งต่อมาก็มีกลุ่มคนแต่งกายชุดดำให้ขับรถตามขบวนชุมนุมไป แต่พยานไม่รู้ว่าเป็นขบวนอะไร กำหนดในการเก็บเต้นท์ออกจากพื้นที่คือเวลา 04.00 น. ของวันถัดไป (15 ต.ค. 2563)
ทั้งนี้ พยานเป็นคนหนึ่งที่ถูกตำรวจ คฝ. ควบคุมตัว แต่จะถูกนำตัวไปที่ใดพยานก็จำไม่ได้แล้ว ในคืนดังกล่าวพยานรู้ว่าตำรวจได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และมีการเข้าสลายการชุมนุม จึงได้พยายามโทรหาที่บ้าน แต่มีนายตำรวจคนหนึ่งในพื้นที่ชุมนุมได้เข้ามายึดโทรศัพท์ และเขวี้ยงโทรศัพท์ของพยานลงกับพื้นจนเสียหาย
จำเลยถามค้าน
พยานยืนยันตามที่จำเลยถามว่าพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่เปิดโล่งแจ้ง ตลอดระหว่างทางของขบวนผู้ชุมนุมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกตลอดทั้งทาง แต่พอถึงจุดหมายที่ต้องกางเต้นท์ ผู้ชุมนุมจะใช้เต้นท์ของพยานทำอะไรบ้างไม่สามารถทราบได้
พยานทราบเรื่องการสลายการชุมนุม จึงได้พยายามเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมกลางดึกเพราะต้องการจะไปเก็บเต้นท์ของตนเอง เพราะคิดว่าตำรวจคงไม่ได้ทำอะไรกับพยาน แต่ในเช้าวันนั้น พยานก็ถูกนำตัวไปพร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย
แต่ทั้งนี้ พยานจำชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำโทรศัพท์ของพยานเสียหายไม่ได้
.
จนท.กทม.ให้ความเห็นต่อคำปราศรัยของจำเลย ชี้ข้อความไม่เป็นจริง
สุภัชฌา อนวัชรพงศ์พันธ์ รับราชการในหน่วยงานวางผังและพัฒนาเมือง สำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้อ่านคำปราศรัยของจำเลยในคดีนี้ มีความรู้สึกว่าไม่เหมาะสม เป็นการดูหมิ่นในหลวง ที่วางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่ควรถูกดึงมาพูดถึงในเรื่องอะไรแบบนี้ ซึ่งจากการอ่านข้อความแล้วพยานเห็นว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าข้อความนั้นเป็นจริงอย่างไร
ในการสอบปากคำชั้นสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้พยานอ่านข้อความที่ถูกถอดเทปมา และให้ออกความเห็นว่ามีความเห็นอย่างไร สาเหตุที่พยานได้ไปให้ความเห็นในคดีนี้ เนื่องจากมีการทำหนังสือส่งมาที่สำนักวางผังเมืองให้พยานไปแจ้งความร้องทุกข์
จำเลยถามค้าน
จำเลยถามว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเห็นด้วยกับกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าวหรือไม่ พยานบอกว่าไม่ขอออกความเห็น แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และคิดว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
พยานยอมรับว่าตัวเองไม่เคยแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ และหากวันนั้นที่ตำรวจมีการสลายการชุมนุม จะเข้าใจว่าในหลวงเป็นคนสั่งได้หรือไม่ พยานขอไม่ตอบ และไม่ขอตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการสลายการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง
ส่วนเรื่องสามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม พยานไม่ขอตอบว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ และใครจะเป็นคนสั่งให้เกิดการสลายการชุมนุม พยานก็ไม่ทราบ แต่ไม่ใช่ในหลวงแน่นอน
.
ประชาชนที่ไปเข้าร่วมรับเสด็จ เบิกความเห็นด้วยว่าหากตัวเองเป็นแกนนำการชุมนุมก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดการสลายการชุมนุม และหากต้องติดคุกเพื่อแสดงความรับผิดชอบก็ยอมรับได้
รัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์ ประกอบอาชีพเป็นติวเตอร์อิสระ เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานไปรับเสด็จกับเพื่อนที่บริเวณกองทัพบก ประมาณ 11.00 น. ได้พบเห็นเหตุการณ์การล้อมรั้วลวดหนามของตำรวจกั้นไว้ไม่ให้ผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกัน
ในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. พยานเห็นว่ามีขบวนเสด็จของพระราชินีกับพระองค์ทีปังกร ผ่านมาทางทำเนียบรัฐบาล และเห็นเหตุการณ์ของกลุ่มพวกเสื้อดำ ซึ่งคือกลุ่มผู้ชุมนุมของจำเลย และกลุ่มคนเสื้อเหลืองซึ่งคือกลุ่มคนที่มารอรับขบวนเสด็จด่าทอกัน โดยกล่าวใส่กันประมาณว่าเสียงของพวกสามนิ้วกับเสียงทรงพระเจริญอะไรจะดังกว่ากัน และมีการทุบรถพระที่นั่งด้วย
พยานมีความรู้สึกต่อข้อความที่จำเลยปราศรัยว่าเป็นการหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง เพราะรัชกาลที่ 10 ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารประเทศ การบริหารประเทศเป็นอำนาจของรัฐบาล จึงรู้สึกว่าการที่จำเลยพูดข้อความตามฟ้องเป็นการบิดเบือนให้ประชาชนเกลียดชังในหลวงว่าสามารถทำร้ายรังแกประชาชนได้
จำเลยถามค้าน
จำเลยถามพยานว่า ตัวของพยานเองเคยไปเป็นพยานโจทก์ให้คดีมาตรา 112 และเคยเป็นผู้กล่าวหาในคดีมาตราดังกล่าวที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พยานยอมรับว่าใช่
พยานเป็นผู้จงรักภักดี และตั้งใจไปรับเสด็จในวันที่ 14 ต.ค. 2563 แต่พยานจะไปกับเพื่อนคนใด พยานบอกว่าขอไม่พูดชื่อเนื่องจากเป็นเรื่องส่วนตัว และที่ไปรอรับเสด็จที่กองทัพบกก็เพราะเพื่อนบอกว่าขบวนเสด็จจะผ่านมาทางนั้น และที่เดินไปดูเหตุการณ์ด่าทอกัน ไม่ได้มีความตั้งใจจะเข้าไปร่วมปะทะด้วย แต่ต้องการไปดูเท่านั้น
จำเลยถามต่อไปว่าที่พยานเบิกความว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการทุบรถขบวนเสด็จ พยานอยู่ในเหตุการณ์และเห็นด้วยตนเองหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้เห็นด้วยตนเอง เป็นเพียงการตามอ่านข่าวในภายหลังเท่านั้น
จำเลยจึงถามต่อว่าในภาพเหตุการณ์ที่มีการทุบรถ พยานโกรธหรือไม่ พยานบอกว่าโกรธมาก มากถึงมากที่สุด และตั้งใจออกจากบ้านมาเพื่อให้ปากคำกับตำรวจในคดีนี้โดยเฉพาะ เมื่อจำเลยเอาคำปราศรัยตามฟ้องให้พยานดู แล้วจึงถามความรู้สึกกับพยานว่าเห็นคำปราศรัยแล้วโกรธหรือไม่ พยานตอบว่าโกรธมาก เห็นใครพูดแบบนี้ก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา
นอกจากนี้ พยานยังยอมรับว่าได้ตามดูข่าวในยูทูปภายหลัง แต่ติดตามดูเหตุการณ์เรื่องการขัดขวางขบวนเสด็จเป็นหลัก ไม่ได้ตามดูข่าวของกลุ่มผู้ชุมนุม และไม่ได้เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ ‘กลุ่มสามนิ้ว’ แต่จำไม่ได้ว่าไม่เห็นด้วยเรื่องอะไรบ้าง แต่รู้ว่าเป็นกลุ่มไม่จงรักภักดี และยอมรับว่าผู้ชุมนุมไม่ได้มีการฝ่าแนวกั้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด
เมื่อจำเลยถามต่อในประเด็นการสลายการชุมนุมของตำรวจว่าในคืนนั้นอยากให้มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นหรือไม่ พยานบอกว่าไม่อยากให้สลายเพราะว่ามีคนอยู่เยอะมาก และเห็นด้วยกับที่จำเลยถามว่า หากพยานเป็นแกนนำการชุมนุมก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมในวันนั้น และหากต้องติดคุกเพราะออกไปชุมนุมก็ยินดีที่จะยอมรับผิดจากการกระทำของตัวเอง
อัยการถามติง
อัยการถามว่าที่ให้การไปในชั้นสอบสวนทั้งหมด พยานให้การตามความนึกคิดของตัวเอง ไม่ได้เป็นเพราะอยู่กลุ่มหรือสังกัดฝ่ายใดใช่หรือไม่ พยานบอกว่าใช่ และพยานก็ไม่รู้จักจำเลย ที่แสดงความรู้สึกโกรธก็เป็นการโกรธที่ข้อความไม่ได้มีเจตนาให้ร้าย
.
อาจารย์รัฐศาสตร์ เบิกความชี้การดื้อแพ่งเป็นการละเมิดกฎหมายเพื่อต่อสู้กับระบบ แต่ยังถือว่าเป็นอาชญากร
ไชยันต์ ไชยพร รับราชการตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรับราชการตำแหน่งอาจารย์มาตั้งแต่ปี 2535 จนกระทั่งปัจจุบัน ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาปรัชญาทางการเมือง วิชาประชาธิปไตยเปรียบเทียบ และวิชาสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองสมัยใหม่
นอกจากนี้พยานยังเขียนหนังสือชื่อ ประเพณีการปกครองประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หนังสือว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่การปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเดนมาร์ก และหนังสือเรื่องความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง
คดีนี้พยานได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนให้มาให้ความเห็นเกี่ยวกับคำปราศรัยของจำเลย ในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์ พยานเห็นว่าตำแหน่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารประเทศ โดยในการใช้อำนาจบริหารต่าง ๆ ก็จะเป็นการทำผ่านรัฐบาล
ทั้งนี้ ไชยันต์บอกว่าการแสดงความคิดเห็นของบุคคล เป็นเสรีภาพที่พึงกระทำได้หากอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และการชุมนุมเองก็เป็นสิ่งที่ควรทำภายใต้กรอบของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งไม่ควรไปละเมิดการใช้สิทธิเสรีภาพและทรัพย์สินของใคร
ในเหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานจำการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ได้ แต่หากการชุมนุมมีการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงต่อสถาบันกษัตริย์ เช่น การเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ หรือการจำลองทำกิโยติน พยานเห็นว่าเป็นการแสดงให้เห็นเจตนาอาฆาตมาดร้ายต่อพระบรมวงศานุวงศ์ได้
ไชยันต์บอกว่าตนเองรู้จักกลุ่มคณะราษฎร์ 2563 และในการเคลื่อนไหวหลายครั้งก็ต้องยอมรับว่ามีทั้งใช้ได้และที่ใช้ไม่ได้ แต่สำหรับการชุมนุมในคดีนี้ คำปราศรัยของจำเลยที่พยานได้ดูตามฟ้อง พยานมีความเห็นว่าเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่ากษัตริย์มีอำนาจสั่งการซึ่งไม่ใช่อย่างที่จำเลยกล่าวหา และอาจทำให้ผู้คนเกิดความเกลียดชังต่อกษัตริย์ได้
ในขณะเดียวกัน คำกล่าวนี้อาจสร้างความวุ่นวาย ทำให้เกิดความไม่มั่นคงของระบบการปกครอง ศาลควรพิจารณาเอาผิดในมาตรา 112 และมาตรา 116 ด้วย
จำเลยถามค้าน
จำเลยถามกับไชยันต์ว่า พยานเคยออกมาให้ความเห็นและเห็นด้วยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่จำเลยปราศรัยในม็อบแฮรี่พอตเตอร์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 พยานบอกว่าใช่ และเคยเสนอว่าเห็นด้วยจริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรถกเถียงกันได้ โดยไม่ต้องกระทำการอะไรที่รุนแรงภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในฐานะที่พยานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ จำเลยจึงขอถามกับพยานว่าแนวคิดแบบ Civil Disobedience หรือการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย มีความหมายว่าอย่างไร ไชยันต์บอกว่าคือการละเมิดกฎหมายโดยปราศจากความรุนแรง เพื่อมุ่งหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายของรัฐ เป็นการกระทำที่ท้าทายต่อแหล่งอำนาจต่าง ๆ แต่ผู้กระทำย่อมมอบตัวต่อกระบวนการยุติธรรมเพื่อไปต่อสู้ในระบบ หรือกล่าวได้ว่าเป็นฮีโร่ในคาบอาชญากร เนื่องจากเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย จึงต้องเป็นอาชญากรไปก่อนที่จะถูกเรียกว่าฮีโร่
เมื่อจำเลยถามกับไชยันต์ว่า ตัวของพยานเองก็เคยทำการดื้อแพ่งมาแล้ว โดยการฉีกบัตรเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ใช่หรือไม่ พยานบอกว่าการกระะทำตอนนั้นทำด้วยความจำเป็น และพยานเองก็ได้เข้ามอบตัวกับกระบวนการยุติธรรม และต่อสู้ในศาลถึง 3 ชั้น สุดท้ายพยานก็ถูกตัดสินให้มีความผิด
ในประเด็นประวัติศาสตร์การชุมนุมในประเทศไทยที่ผ่านมา จำเลยถามพยานว่ารู้จักเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2516 หรือไม่ พยานบอกว่ารู้จัก การชุมนุมในขณะนั้นเป็นของนักศึกษาที่ออกมาประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร การเรียกร้องของนักศึกษาในวันดังกล่าวส่งผลให้เกิดการล้มตาย และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องหลักนิติรัฐให้กับประเทศ
อย่างไรก็ตาม ไชยันต์ตอบว่าตนเองไม่ได้ดูคลิปการปราศรัยของจำเลย ในการมาเบิกความวันนี้เป็นการอ่านบันทึกถอดเทปที่ตำรวจให้อ่านเท่านั้น และในบริบทการชุมนุมดังกล่าว พยานไม่ทราบตามที่ถามว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมจำเลยถึงต้องปราศรัยด้วยคำพูดตามฟ้อง
พยานอธิบายต่อไปว่าคำปราศรัยของจำเลยเป็นการพูดที่อันตรายมาก เพราะอาจสร้างการปลุกเร้าระดมฝูงชนได้มาก และถึงแม้จำเลยจะบอกว่าเป็นการสื่อสารถึงตำรวจ แต่การสลายการชุมนุมก็น่าจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้บังคับบัญชาจะเป็นคนสั่งการอย่างไรมากกว่า
พยานได้อ่านถ้อยคำและไม่สามารถคิดเป็นอย่างอื่นไปได้ว่าถ้ามีการสลายการชุมนุมจะเป็นคำสั่งของรัชกาลที่ 10 แต่ถ้าใครเชื่อพยานก็เห็นว่าโง่เต็มที
จำเลยจึงถามต่อไปว่า พยานเห็นด้วยกับการสลายการชุมนุมในวันดังกล่าวหรือไม่ พยานบอกว่าขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำตามกรอบของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ หรือไม่ และมีการปฏิบัติตามหลักสากลของการสลายการชุมนุมหรือไม่ ส่วนในเรื่องขบวนเสด็จที่ผ่านไปบริเวณที่มีผู้ชุมนุม พยานคิดว่าเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องควบคุมฝูงชนอยู่แล้ว เพื่อคุ้มครองบุคคลที่เป็นประมุขของรัฐ
พยานเห็นด้วยตามที่จำเลยถามว่า หากศาลจะลงโทษเอาผิดจำเลยควรจะต้องผิดทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 และยอมรับเรื่องที่จำเลยถามว่าพยานไม่ได้ให้การไว้ว่าคำพูดของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรงและอันตรายไว้ในชั้นสอบสวน พยานขยายคำเบิกความของตัวเอง
.
อาจารย์สถาบันพัฒนบัณฑิต ไม่ขอตอบว่าอยากให้มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นจริงหรือไม่
อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สอนวิชาเกี่ยวกับสถิติประยุกต์เป็นหลักและไม่ได้จบหรือศึกษาวิชากฎหมายใด ๆ
เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนติดต่อให้พยานไปอ่านบันทึกคำถอดเทปคำปราศรัยของจำเลย พยานมีความเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ และละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเป็นการพูดโดยปราศจากข้อเท็จจริงและไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้
นอกจากนี้ พยานยังเบิกความต่อว่า การชุมนุมของจำเลยสามารถทำได้โดยไม่ละเมิดผู้อื่น แต่สิ่งที่จำเลยทำเป็นการละเมิดในหลวง ซึ่งเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ จึงเป็นการทำผิดต่อประเพณีอันดี ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ไม่เป็นการกระทำที่สอดคล้องกับศีลธรรมอันดีของไทย
จำเลยถามค้าน
พยานยอมรับว่าเคยเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 เป็นจำนวนมากกว่า 10 คดีแล้ว และยอมรับว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม แต่มาในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพราะเคยเป็นอนุกรรมการศาสตร์พระราชา ตลอดจนเขียนหนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์
จำเลยถามกับพยานว่าตอนที่พยานโพสต์เรื่องเล่าจากการใช้ชีวิตในต่างแดนว่าตนเองเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศอื่น เนื่องจากเจอเหตุการณ์ฝังใจในวันที่อากาศหนาวจัด แล้วพยานเอามือไปจับลูกบิดประตูบ้านจนทำให้มือของพยานติดกับลูกบิด จำเลยถามต่อพยานว่าที่มีคนไปแซะว่าทำไมถึงใช้มือเปล่าจับลูกบิดในตอนที่อากาศหนาวเย็นแบบนั้น พยานโกรธหรือไม่ พยานบอกว่าตัวเองไม่ได้คิดอะไร
ส่วนกรณีที่พยานชอบโพสต์ด่ากลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามว่าเป็น ‘สามกีบ’ พยานขอไม่ออกความเห็นตามที่จำเลยถามว่าจะหมายถึงวัว ควายหรือไม่
พยานแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 และไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ และไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 6 จะเป็นการคัดลอกกฎหมายมาจากประเทศใด
การเบิกความอ้างถึงมาตรา 6 ก็มาจากการอ่านหนังสือของ ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ แต่ไม่ทราบว่าอาจารย์ท่านนี้จะเป็นหนึ่งในพยานโจทก์คดีนี้ด้วยหรือไม่ และพยานยังยอมรับตามที่จำเลยถามว่าเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญของหยุด แสงอุทัย ในสมัยเรียน
ในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และกลุ่มราษฎร พยานเห็นด้วยว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่กลุ่ม กปปส. ได้ยุติบทบาทการชุมนุมไปตั้งแต่หลังรัฐประหารแล้ว แต่ทั้งนี้พยานไม่ขอตอบว่าเห็นด้วยกับการรัฐประหารในปี 2557 หรือไม่
จำเลยจึงถามต่อไปว่า หากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นคนมีคำสั่งเกี่ยวกับการชุมนุมจริง และหากพยานเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำตามคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ พยานบอกว่ารัชกาลที่ 10 ทรงอยู่เหนือการเมือง ไม่ขอตอบในประเด็นนี้
พยานยังไม่ขอตอบในประเด็นคำถามที่จำเลยถามว่า รัชกาลที่ 9 เคยสั่งให้มีการยุติการชุมนุมในสมัยพฤษภาทมิฬ 2535 ภายหลังพลเอกสุจินดา คราประยูร สั่งให้สลายการชุมนุมที่มีแกนนำคือพลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งในหลวงทรงรับสั่งให้ทั้งสองฝ่ายมาเข้าเฝ้าและขอให้ยุติการชุมนุมด้วย ซึ่งภายหลังมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกจับกุม จำเลยจึงถามต่อพยานว่าในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2563 พยานอยากให้มีเหตุการณ์สลายการชุมนุมหรือไม่ พยานบอกว่าขอไม่ตอบ
ทั้งพยานไม่ขอตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่ในการใช้ชื่อของพระมหากษัตริย์มาอ้างในเรื่องการสลายการชุมนุม พยานทราบแต่เพียงว่าหากจะชุมนุมก็ห้ามเข้าใกล้เขตพระราชวัง ตลอดจนพยานไม่ขอตอบถึงเหตุการณ์ในวันก่อนหน้าอย่าง 13 ต.ค. 2563 ที่มีการสลายการชุมนุม อันเนื่องมจากขบวนเสด็จที่จะผ่านแถวราชดำเนินด้วย
จำเลยจึงถามต่อในประเด็นเรื่องคำปราศรัยว่า หากในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ไม่มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นจริงคำปราศรัยของจำเลยก็ไม่ใช่เรื่องบิดเบือนแต่อย่างใด พยานบอกว่าไม่ใช่ ยังคงเป็นคำบิดเบือนอยู่ เพราะรัชกาลที่ 10 ทรงอยู่เหนือการเมือง จะมีการสลายการชุมนุมหรือไม่ แต่การปราศรัยในวันดังกล่าวไม่ได้มีหลักฐาน นอกจากนี้พยานไม่เคยไปถามตำรวจเลยว่าเหตุที่ไม่สลายการชุมนุมในวันดังกล่าวเพราะเหตุใด
ส่วนเรื่องขบวนเสด็จที่ผ่านหน้าทำเนียบรัฐบาล และไม่ได้มีการหลีกเลี่ยงผู้ชุมนุมนั้นจะเป็นการทำเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรงหรือไม่ พยานก็ไม่ขอตอบ
.
ประชาชนที่เข้าไปทำโรงทานในพื้นที่ชุมนุม ยืนยันว่าพื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีรถพยาบาลคอยดูแลผู้ชุมนุมโดยรอบ
เทวินทร์ พูลทวี มีอาชีพรับจ้าง เกี่ยวกับวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเข้าไปทำโรงทานในพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนชอบทำโรงทานและชอบตอบแทนสังคม โดยเห็นว่าในทุก ๆ วันที่ 14 ต.ค. จะมีการรำลึกถึงผู้ชุมนุมในอดีตที่เคยเสียชีวิตจากการเรียกร้องทางการเมือง ทั้งนี้พยานทำอาหารมาจากบ้านของตนเอง และแจกให้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ชุมนุมที่อยู่ในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
จำเลยถามค้าน
เทวินทร์ยืนยันตามที่จำเลยถามว่าพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดกว้าง และร้านแมคโดนัลด์ก็เปิดให้คนเข้าไปใช้บริการ มีห้องน้ำในร้านให้ใช้ และยืนยันว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่ใส่ และในช่วงที่พยานเข้าไปแจกอาหาร ก็เป็นช่วงที่โควิดยังไม่มีการระบาดร้ายแรง
สำหรับเรื่องมาตรการป้องกันโรค พยานเห็นว่ามีพยาบาลอาสา และมีรถพยาบาลอยู่ในพื้นที่การชุมนุม แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นของหน่วยพยาบาลใด
ศาลถามกับเทวินทร์ว่าพยานนำอาหารมาแจกเป็นจำนวนเท่าไหร่ พยานบอกว่าจำไม่ได้แล้ว แต่เตรียมมาประมาณ 500 ถ้วย
.
อานนท์อ้างตัวเองเป็นพยานจำเลย
อานนท์ นำภา ประกอบอาชีพทนายความ ในคดีนี้สืบเนื่องมาจากการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ในนามของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งมีข้อเรียกร้อง 3 ประการคือ ขอให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ในการชุมนุมครั้งนี้ ก็สืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งประยุทธ์ได้ยึดอำนาจการปกครอง และออกกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ รวมไปถึงจับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนหลายคน
จำเลยเริ่มจัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร โดยเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การบริหารของประยุทธ์ไม่นำประชาชนขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหาร เนื่องจากมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลายส่วน รัฐบาล คสช. ยังได้วางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ และไม่อาจรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีอยู่ทุกวันได้
จากปัญหาข้างต้นนี้ ทำให้จำเลยและพวกไม่เห็นด้วยจึงออกมาเรียกร้องและเคลื่อนไหวทางการเมือง
อานนท์เบิกความต่อไปว่า สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จำเลยไม่เห็นด้วยกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 15 ที่ระบุว่า การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เนื่องจากเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 มีการเสด็จออกประพาสต่างประเทศ ก็ควรจะมีการแต่งตั้งตัวแทนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสมอ มิควรดำเนินการสำเร็จราชการด้วยพระองค์เองจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ จำเลยยังเห็นว่ามีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ถูกออกมาภายใต้รัฐบาลของประยุทธ์ ดังนี้
1. การร่าง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ของกรมทหารราบที่ 1 และ 11 การโอนทหารเข้าไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งพยานเห็นว่ากษัตริย์ไม่ควรจะมีกองกำลังส่วนตัวเช่นนี้
2. การแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหาษัตริย์ ซึ่งทำให้กษัตริย์มีอำนาจถ่ายโอนทรัพย์สิน รวมถึงส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และงบประมาณตามพระราชอัธยาศัย และไม่อยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลังอีกต่อไป พยานเห็นว่าสิ่งนี้สร้างความคลุมเคลือและไม่ชัดเจนในส่วนการใช้จ่ายที่มาจากภาษีของประชาชน
ส่วนประเด็นตามฟ้องที่จำเลยถูกกล่าวหา จำเลยเห็นว่าตนเองได้พูดอย่างเป็นทางการในม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 เรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ จนทำให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และไม่ใช่แค่จำเลย แต่ยังมีเยาวชน และผู้ชุมนุมอีกหลายคนที่ถูกดำเนินคดีในมาตรานี้อย่างกว้างขวาง
ในทุกครั้งที่มีการชุมนุม จำเลยได้พูดเรื่องการแก้ไขกฎหมายอย่างชัดเจนทุกครั้ง ตลอดจนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็มีการพูดเช่นเดียวกัน และทุกครั้งที่ปราศรัยก็ได้เตือนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมพูดอยู่ในกรอบของกฎหมายเสมอ
แต่ในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รัฐไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง ทั้งจำเลยสังเกตเห็นว่ามีการพยายามทำลายสมบัติของคณะราษฎร 2475 หลายครั้ง ตลอดจนมีการอุ้มหายผู้ลี้ภัยอย่าง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยที่รัฐไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ เหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ จำเลยคิดว่าเป็นต้นเหตุที่สร้างความโกรธให้กับประชาชน
ตลอดจน ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่มีการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง และเป็นครั้งแรกที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวทำกิจกรรมสาธารณะ หลังที่รัฐปิดไม่ให้ประชาชนเข้าใช้ ทั้ง ๆ ที่เป็นทรัพยากรที่ประชาชนสามารถใช้ร่วมกันได้ ทั้งการรื้อถอนศาลฎีกาเก่า ซึ่งถือเป็นมรดกคณะราษฎร 2475 จำเลยเห็นว่าเป็นการพยายามลบเลือนประวัติศาสตร์ และเป็นการทำลายคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ทางการเมืองอีกด้วย
นอกจากนี้ ในการแต่งตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครอย่าง อัศวิน ขวัญเมือง ที่เข้ามาลบเลือนคุณค่าของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมืองมาช้านาน การเอาต้นไม้มาประดับเป็นการไม่เคารพพื้นที่และสิทธิของประชาชนที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง
หากจะถามว่าทำไมจำเลยกับพวกถึงออกมาชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 อย่างละเอียด จำเลยขออธิบายว่าเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้เสนอข้อเรียกร้องทั้งสามประการข้างต้นไป ซึ่งจำเลยขอยืนยันว่าได้ปราศรัยและทำกิจกรรมอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายทุกประการ แต่ไม่มีการตอบรับจากหน่วยงานไหนเลย จนทำให้เกิดการชุมนุมในวันดังกล่าวขึ้น
ถึงแม้ว่าในขณะที่ชุมนุมจะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ในขณะนั้นก็ไม่ได้มีการติดเชื้อโควิด และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตามกฎหมายแล้ว มีผลให้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ถูกบังคับใช้ ซึ่งแสดงว่าไม่มีกฎหมายที่จะบังคับให้ผู้ชุมนุมต้องไปแจ้งการชุมนุม แต่แกนนำก็ยังจัดแถลงการณ์ก่อนล่วงหน้าในวันที่ 8 ต.ค. 2563 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่าจะมีการรวมตัวกันของประชาชนแล้ว
ส่วนประเด็นการรื้อถอนต้นไม้ที่พยานโจทก์เบิกความกล่าวหา จำเลยขออธิบายว่าการยกต้นไม้ออกเป็นกิจกรรมคืนความสวยงามให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะสภาพของอนุสาวรีย์ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการจัดแต่งต้นไม้เช่นนี้มาก่อน ดังนั้นการยกต้นไม้ออกถือเป็นการคืนความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมให้กับอนุสาวรีย์
อีกทั้ง ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ‘ไผ่ จตุภัทร์’ ได้มีการนำประชาชนมาปักหลักค้างคืนรอชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. ด้วย แต่ได้มีการจับกุมเกิดขึ้น ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนจะมีขบวนเสด็จผ่าน เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าการมาปักหลักของประชาชนแบบนั้นจะไม่เกิดภาพที่สวยงามของพื้นที่เมื่อมีขบวนเสด็จผ่าน
หลังจากจำเลยทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช้าวันชุมนุมก็ได้มีปักหลักตั้งแต่ 07.00 น. เพื่อให้การชุมนุมดำเนินต่อไปได้ แต่เมื่อมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้น จึงทำให้มีการขยายตัวลงถนน เป็นธรรมชาติของการรวมตัวกัน และกลุ่มผู้จัดการชุมนุมก็ได้มีการระมัดระวังเรื่องเลนถนน เกิดการขยายตัวไปไม่เกิน 6 เลนเท่านั้นในฝั่งขาเข้าของอนุสาวรย์ และมีข้อตกลงรวมกันกับผู้ชุมนุมว่าเราจะไม่ขัดขวางทางจราจร หรือแม้แต่ขบวนเสด็จก็จะไม่ทำอะไรที่ดูไม่ดี จะชุมนุมกันด้วยความสงบ
การชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีความเสี่ยงที่ตำรวจจะเข้าสลายการชุมนุมมาก เพราะในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ก็มีคนบาดเจ็บจากการเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำที่มารอปักหลักไปแล้ว และจำเลยก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าหากยังชุมนุมกันอยู่ จะมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น ดังนั้นจำเลยจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตำรวจเข้าปราบปรามกลุ่มประชาชน และหลังจากที่จำเลยได้พูดประโยคตามฟ้องออกไป ก็ทำให้ตำรวจไม่กล้าเข้ามาสลายการชุมนุม และทำให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยจนถึงกลางคืน
ทั้งนี้ อานนท์ได้พูดกับศาลว่า หากท่านฟังการปราศรัยทั้งหมดจะเห็นว่าไม่ได้มีข้อความใดที่พาดพิงถึงกษัตริย์ไปมากกว่านี้อีกแล้ว เพราะทั้งหมดเป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาลและประยุทธ์ จันทร์โอชา
นอกจากนี้ ในการจัดขบวนเสด็จให้ผ่านหน้าทำเนียบรัฐบาล จำเลยเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความจงใจของตำรวจที่ต้องการให้ขบวนเสด็จผ่านเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง จนทำให้มีประชาชนโดนดำเนินคดีตามมาตรา 110 แต่ผลของคดีดังกล่าวก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว
เหตุที่จำเลยสามารถกล่าวได้เช่นนี้ ก็เพราะในวันที่ชุมนุม จำเลยได้คุยโทรศัพท์กับรองผู้บัญชาการตำรวจ ซึ่งขอเจรจาให้จำเลยและพวกยุติการชุมนุม และถามว่าจำเลยจะเอาอย่างไร เพราะหากจำเลยนำประชาชนมาปักหลักอยู่ที่ทำเนียบทั้งคืนนี้แบบนี้ ตำรวจก็จะยกระดับ โดยประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง และเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งในช่วงเช้าของวันถัดมา (15 ต.ค. 2563) ตำรวจก็ได้เข้าสลายการชุมนุมจริง
ในคืนดังกล่าว จำเลยยังได้รับแจ้งว่ามีการขอกำลังเป็นทหารบกเข้ามาเสริมด้วย การมีกองกำลังทหารเข้ามาเช่นนี้ จำเลยเห็นว่ามันมีความเสี่ยงที่ตำรวจต้องการจะยกระดับความรุนแรง และอาจมีการสูญเสียเกิดขึ้นได้ ทำให้ในช่วงรุ่งเช้าของการชุมนุม จำเลยก็ได้ยอมประกาศยุติการชุมนุม และได้ส่งชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมกลับบ้านจนหมด จนกระทั่งจำเลยถูกจับกุมพร้อมแกนนำทั้งหมด
การจับกุมที่เกิดขึ้น จำเลยขอยืนยันว่าเป็นไปด้วยความยินยอม และตัวเองได้เดินไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง แต่ในเช้าวันถัดมาก็พบว่าถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฝากขังคดีที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ทันที โดยมีหน่วยคอมมาโด (หนุมาน) ควบคุมตัวจำเลยไปอยู่บนฮอร์ลำนั้นด้วย
อานนท์พูดต่อว่า ด้วยความสุจริตใจของตัวเอง จำเลยขอยืนยันว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดก็เพื่ออยากเห็นสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในประเทศนี้ การพูดออกไปเช่นนั้นมีเพียงเจตนาเดียวคือต้องการหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบสูงสุดของแกนนำม็อบที่จะทำได้
อานนท์แถลงต่อในช่วงท้ายว่า การออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้มีราคาที่ต้องจ่าย แต่ก็คุ้มค่าแล้วในการที่จะไม่พาใครไปตาย ในฐานะแกนนำ จำเลยไม่ขอโทษใคร แต่ขอโทษรัฐที่เข้ามาปราบปรามประชาชนเช่นนี้
ศาลบอกอานนท์ว่าขอให้สรุปเรื่องทั้งหมดที่เบิกความเป็นประเด็นได้หรือไม่ เพราะจำเลยอธิบายเยอะมาก และหากสรุปศาลก็เห็นควรว่าจำเลยพูดมามากพอแล้ว และอยากให้เหลือเวลาให้อัยการได้ถามค้านด้วย
จำเลยบอกว่าหากต้องสรุป จำเลยมีประเด็นทั้งหมดมี 4 ข้อ ดังนี้
1. เรื่องความเสียหายของต้นไม้ เบิกความค้านพยานโจทก์ ว่าไม่ได้มีความตั้งใจทำลายต้นไม้ที่เป็นทรัพย์สินของ กทม. และในตอนปราศรัยก็ได้พูดกับมวลชนชัดเจนและย้ำกับทุกคนว่าการเคลื่อนย้ายต้องทำโดยความระมัดระวัง ไม่ให้ต้นไม้เสียหาย โดยมีเจตนาในการเคลื่อนย้าย เพื่อคืนต้นไม้ให้กับ กทม. และคืนความสวยงามให้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น
2. ประเด็นการจราจรติดขัด จำเลยเบิกความค้านโจทก์ว่า ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะสร้างปัญหาการจราจร แต่เมื่อการชุมนุมมีการขยายตัวของมวลชน การขยายพื้นที่จึงเป็นความจำเป็นและเป็นเรื่องธรรมชาติของการชุมนุม ทั้งได้มีการประสานงานตำรวจจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกแล้ว และไม่ได้มีความไม่เรียบร้อยแต่อย่างใด ไม่ได้มีการสลายการชุมนุม หรือเข้าไปขัดขวางขบวนเสด็จ ส่วนการตั้งเต้นท์และเครื่องขยายเสียงก็ตั้งในจุดที่ไม่ได้มีการขัดขวางการจราจร
3. เหตุที่ไม่ได้แจ้งการชุมนุม เป็นเพราะในขณะเกิดเหตุมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (6) งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายนี้ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
4. เหตุตามคำฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 จำเลยขอยืนยันว่ามีเจตนาเพียงต้องการไม่ให้เกิดการสลายการชุมนุมเท่านั้น เพราะหลังจากการพูดไปก็ไม่ได้เกิดการสลายการชุมนุมจริง เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 ต.ค. 2563 จำเลยจึงขอสาบานให้ตายเลยว่าไม่ได้ต้องการพาดพิงถึงกษัตริย์ สิ่งเดียวที่ต้องการในวันดังกล่าว คือไม่อยากให้เกิดการสลายการชุมนุม จนทำให้มีความรุนแรงเสียหายถึงชีวิต
ภายหลังอัยการโจทก์ขอไม่ใช้สิทธิถามค้านอานนท์ ทำให้ศาลแถลงจบการสืบพยานคดีไว้เท่านี้ พร้อมนัดวันฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 26 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ซึ่งภายหลังการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาหัวหน้าองค์คณะได้พูดคุยกับจำเลย โดยไม่มีการบันทึกใด ๆ ไว้ในคำเบิกความ ถึงประเด็นเรื่องการพยายามทำลายมรดกคณะราษฎร 2475
ศาลท้วงกับอานนท์ว่า ศาลฎีกาเก่าที่ต้องทุบทิ้งไป ไม่เกี่ยวกับคณะราษฎร แต่เพราะมีการสร้างมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว รากฐานของตึกทรุดโทรมไปมาก อาจเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในตึกศาล จึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างใหม่ จำเลยได้แย้งอธิบายว่า จำเลยเข้าใจมาตลอดว่าศาลฎีกาสร้างในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ศาลยังโต้ตอบว่าคำเบิกความที่อานนท์อธิบายมาเป็นสิ่งที่เขาคิดไปเอง
ทั้งนี้ การโต้เถียงกันใช้เวลาไม่นาน แต่เหลือทิ้งไว้เพียงความสงสัยในใจของอานนท์ โดยเขาได้พูดกับทนายความที่อยู่ด้วยในวันนั้นว่า “สรุปแล้วตึกศาลฎีกานี่มันเป็นมรดกของคณะราษฎรไหม?”
อ่านบทความประกอบเรื่องการรื้อ – สร้าง ศาลฎีกา บางเหตุผลที่สังคมไม่ควรยอมให้ “รื้อ-สร้าง” ศาลฎีกาใหม่
.