ศาลอาญาพิพากษาจำคุก “อานนท์” อีก 4 ปี เหตุโพสต์ 3 ข้อความ ชี้ แม้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ แต่มีนัยยะสื่อถึง ร.10 เจตนาให้ ปชช.เข้าใจผิด

17 ม.ค.​ 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่ม “คณะราษฎร 2563” จากกรณีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อเดือนมกราคม 2564 ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 กับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

โดยศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่รอลงอาญา ระบุว่า ข้อความทั้งสามของจำเลยแม้จะใช้คำว่า “ระบอบกษัตริย์” และ “สถาบันกษัตริย์” แต่สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 มีจุดประสงค์ให้ประชาชนที่เห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจผิดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง และทรงใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งเป็นความความเท็จ จาบจ้วงล่วงเกิน ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ 

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์หรือ ศชอ. ได้เดินทางไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังเห็นโพสต์ 3 ข้อความของอานนท์ และพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกอานนท์ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 และแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

อานนท์ให้การปฏิเสธโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล ในการสืบพยานเมื่อเดือนเมษายนและพฤศจิกายน 2566 อัยการโจทก์พยายามนำสืบว่า การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจใส่ร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ แม้จำเลยไม่ได้มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าพาดพิงถึงบุคคลใด แต่มีนัยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ติชมอย่างสุจริตตามรัฐธรรมนูญ  

ขณะที่ข้อต่อสู้ของอานนท์คือ โพสต์ทั้งสามกล่าวถึงคนในกระบวนการยุติธรรมที่บังคับใช้มาตรา 112 และสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้เจาะจงกล่าวถึงกษัตริย์องค์ใด โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 112 เพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง, บทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ซึ่งขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รวมไปถึงเรื่องการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์

ย้อนอ่านประมวลการต่อสู้คดี>> “วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม-สถาบันกษัตริย์เพื่อให้อยู่ในหลักการ ปชต.”: เปิดคำให้การพยานคดี 112 “อานนท์ นำภา” โพสต์ 3 ข้อความ ต้นปี 64

ช่วงเช้าวันนี้ อานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อมาฟังคำพิพากษา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวมาที่ห้องพิจารณา 902 โดยในห้องพิจารณาได้มีผู้ที่มาให้กำลังใจอานนท์เป็นจำนวนมาก ญาติ สื่อมวลชน รวมไปถึงผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย  

เวลา 09.20 น. ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษา สรุปใจความได้ว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากที่เข้านำสืบเบิกความในทำนองเดียวกันว่า โพสต์ทั้งสามตามฟ้องมีลักษณะใส่ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้ผู้พบเห็นข้อความดังกล่าวรู้สึกไม่ดีและดูหมิ่นเกลียดชังรัชกาลที่ 10 โดยมีการใส่ร้ายว่า พระองค์ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายที่ต่างประเทศ เบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของพระองค์ อันเป็นการหมิ่นประมาท อาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 

แม้ในโพสต์จะใช้คำว่า “ระบอบกษัตริย์” และ “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้มีการเจาะจงถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้ว จะเข้าใจได้ว่าสื่อถึงรัชกาลที่ 10 นอกจากนี้ การที่จำเลยขอออกหมายเรียกเอกสารสำคัญอย่าง ตารางการเดินทางเข้าออกประเทศของรัชกาลที่ 10 ระบุในบัญชีพยานจำเลย เห็นว่า หากจำเลยไม่ได้มุ่งหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 แล้ว เหตุใดถึงต้องอ้างหลักฐานดังกล่าวมาในบัญชีพยานจำเลย อีกทั้งจำเลยยังเบิกความอ้างว่า ต้องการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 ให้กลับไปเป็นเหมือนในรัชกาลที่ 9 จึงเป็นการตอกย้ำยืนยันว่า ทั้งสามข้อความกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 

พยานหลักฐานโจทก์มีความแน่นหนาและปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้หมิ่นประมาทในหลวงรัชกาลที่ 10 พร้อมกับมีจุดประสงค์ให้ประชาชนที่เห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจผิดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเบียดบังเอาทรัพย์สินของประเทศไปเป็นของตนเอง และทรงใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งเป็นความความเท็จ จาบจ้วงล่วงเกิน ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี และให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีที่พิพากษาไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ศาลได้กำชับกับผู้ที่มานั่งฟังการพิพากษาว่า ขอให้สื่อมวลชนเผยแพร่คำพิพากษาอย่างระมัดระวัง เพราะว่าบางถ้อยศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว

คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ของอานนท์ที่ศาลมีคำพิพากษา ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกอานนท์ 4 ปี ในคดีจากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยอานนท์ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์เรื่อยมา ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงวันนี้ (17 ม.ค. 2567) เป็นเวลา 114 วันแล้ว และหากนับโทษจำคุกในคดีนี้และคดี #ม็อบ14ตุลา ต่อกันตามคำพิพากษา อานนท์มีโทษจำคุกจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) รวม 8 ปีแล้ว 

ทั้งนี้ อานนท์ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการปราศรัยและโพสต์ข้อความในช่วงปี 63-64 รวมทั้งสิ้น 14 คดี โดยยังเหลือคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล 11 คดี และอยู่ในชั้นอัยการอีก 1 คดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-67

ฐานข้อมูลคดี:

คดี 112 “อานนท์” ถูก “แน่งน้อย” กล่าวหา โพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และการใช้ ม.112

X