ในวันที่ 29 ส.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดพิษณุโลกนัดฟังคำพิพากษาในคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “ตี๋” (สงวนชื่อสกุล) นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เหตุเกี่ยวข้องกับการแจกหนังสือ “รวมบทปราศรัยคัดสรรคดี 112 ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่กษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง” ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564
เกี่ยวกับคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 เป็นวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัยนเรศวร มีกิจกรรมที่กลุ่มนักศึกษา NU-Movement จัดขึ้นที่บริเวณคณะสังคมศาสตร์ โดยมีการตั้งสแตนดี้รูปภาพของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พร้อมกับมีการตั้งโต๊ะแจกหนังสือ แผ่นพับ ที่คั่นหนังสือ โดยหนึ่งในหนังสือที่มีการวางไว้คือ “หนังสือรวมบทปราศรัยคัดสรรคดี 112 ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่กษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง” หน้าปกสีขาว ซึ่งเป็นหนังสือรวมคำปราศรัยในพื้นที่ชุมนุมของ #แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงเวทีการชุมนุมในช่วงปี 2563 แต่ถ้อยคำปราศรัยทั้งหมดในหนังสือ ไม่ใช่ข้อความที่ “ตี๋” เป็นผู้กล่าวแต่อย่างใด
ต่อมาหลังเกิดเหตุผ่านไปกว่า 1 ปี เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 พ.ต.ท.มนู หรศาสตร์ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ออกหมายเรียก ‘ตี๋’ เข้าให้การในฐานะพยาน แต่เมื่อ ‘ตี๋’ เข้าพบกลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ทันที โดยมี พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ บุญเยี่ยม เป็นผู้กล่าวหาว่าเขานำหนังสือดังกล่าวมาเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป
.
อัยการฟ้องคดี กล่าวหาแจกจ่ายหนังสือในงานรับปริญญา ระบุข้อความในหนังสือเข้าข่ายความผิด ม.112
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 กุลนิษฐ์ รัตนคูสกุล พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกยื่นฟ้อง ‘ตี๋’ ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ในข้อหามาตรา 112 โดยบรรยายฟ้องมีใจความสำคัญว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จำเลยได้แจกจ่ายหนังสือบทปราศรัยคัดสรรคดี 112 มีข้อความว่า “ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่กษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง” เล่มสีขาว ให้แก่บุคคลทั่วไป
คำฟ้องได้ยกข้อความบางส่วนของคำปราศรัยของบุคคล 6 คน ที่กล่าวในการชุมนุมครั้งต่างๆ รวมทั้งข้อความจากจดหมายเปิดผนึกถึงราษฎรชาวไทยถึงสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 อัยการระบุว่าข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
.
ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์อ้างจำเลยเป็นแกนนำกลุ่ม NU-Movement แจกหนังสือในงานรับปริญญา มีเนื้อหาหมิ่นกษัตริย์ ด้านจำเลยยืนยันไม่ใช่ผู้แจก- ไม่เคยอ่านหนังสือดังกล่าวมาก่อน
คดีนี้ตี๋ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ทำให้ศาลนัดสืบพยานทั้งสองฝ่ายรวม 7 นัด โดยสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 12-15 มี.ค. 2567, 5 มิ.ย. 2567 และสืบพยานจำเลย ต่อจากการสืบพยานโจทก์ทันที คือวันที่ 5-7 มิ.ย. 2567
ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบทั้งสิ้น 15 ปาก ได้แก่ ตำรวจผู้กล่าวหา, ตำรวจผู้ตรวจยึดหนังสือ, ตำรวจสืบสวนผู้ติดตามสมาชิกกลุ่ม NU-Movement 8 นาย, อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, ตำรวจฝ่ายการข่าว, คณะทำงานพนักงานสอบสวน, พนักงานสอบสวน 2 นาย
โจทก์พยายามกล่าวหาว่า จำเลยเป็นแกนนำของกลุ่ม NU-Movement และเป็นผู้ถือกล่องอุปกรณ์สีขาวแดงรูปไม้ม็อบที่คาดว่าเป็นกล่องหนังสือนำมาวางยังจุดเกิดเหตุ ซึ่งหนังสือปกสีขาวตามฟ้อง และหนังสือมีข้อความที่เข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ฯ
ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำสืบพยาน 4 ปาก ได้แก่ จำเลย, อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, บุคคลทั่วไปผู้อยู่ในเหตุการณ์ โดยจำเลยต่อสู้ว่าตนเพียงมาร่วมถ่ายภาพรับปริญญากับเพื่อน ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ผู้แจกหนังสือ ทั้งไม่เคยอ่านหนังสือปกสีขาวดังกล่าวมาก่อน โดยจำเลยช่วยรุ่นน้องถือกล่องสีขาวแดงมาวางบนสนามหญ้าและช่วยเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ไม่ทราบว่าในกล่องมีหนังสืออะไร
สำหรับเหตุการณ์โดยสรุปได้ว่าเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 กลุ่ม NU-Movement ได้โพสต์ข้อความทำนองว่าจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ในวันดังกล่าว ต่อมาช่วง 11.00 น. ของวันดังกล่าวมีนักศึกษารวมตัวกันที่ใต้อาคารทางเชื่อมคณะสังคมศาสตร์-นิติศาสตร์ โดยมีอุปกรณ์และกล่องหลายกล่องวางอยู่ก่อน ก่อนที่จำเลยจะเข้ามารวมกลุ่มประมาณ 12.00 น. และพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาสักพัก จึงช่วยกันย้ายอุปกรณ์ไปที่บริเวณหน้าคณะสังคมศาสตร์ โดยจำเลยเป็นผู้ถือกล่องสีขาว-แดงรูปไม้ม็อบเดินไปพร้อมกับนักศึกษา
เมื่อถึงหน้าอาคาร จำเลยวางกล่องลง ขณะนั้นมีชายดูมีอายุเข้ามาพูดคุยกับนักศึกษา จำเลยจึงเข้าไปช่วยพูดคุยจนชายคนดังกล่าวเดินกลับไป และหลังจากนั้นมีอาจารย์ในชุดราชการสีขาวเข้ามาพูดคุยกับจำเลยและกลุ่มนักศึกษาในทำนองขอให้หยุดกิจกรรม จำเลยจึงเข้าไปช่วยเจรจาอีกครั้ง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยช่วยจัดสิ่งของ ตั้งโต๊ะ หรือแจกหนังสือแต่อย่างใด
.
ผู้กล่าวหาเบิกความ – เชื่อว่าจำเลยเป็นแกนนำกลุ่ม NU-Movement และถือกล่องหนังสือมาวางจุดเกิดเหตุ จึงดำเนินคดี แม้ว่าจำเลยจะไม่ใช่ผู้แจกหนังสือก็ตาม
พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ บุญเยี่ยม รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เบิกความถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวว่า เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2564 ก่อนเกิดเหตุ มหาวิทยาลัยนเรศวรมีกำหนดการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 โดยมีกรมสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมา ตำรวจจึงมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อถวายความปลอดภัย โดย พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลการข่าว ร่วมกับทหารมลฑลทหารบกที่ 39
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 เวลาประมาณ 20.30 พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ พบเพจเฟซบุ๊กชื่อ “NU-Movement” โพสต์ข้อความว่า “มาร่วมสร้างภาพความประทับใจกับเซอร์ไพร์สใหญ่ ณ บริเวณทางเชื่อม นิติ-สังคม” และโพสต์ภาพเงาของบุคคล เพจเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของกลุ่มนักศึกษาที่ร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมือง เคยรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเคยมีการรวมกลุ่มที่อนุสาวรีย์ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีรายชื่อสมาชิกในกลุ่มแล้ว รวมถึงจำเลยก็เคยร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย
.
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก NU-Movement โพสต์พร้อมข้อความเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564
.
พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า โพสต์ดังกล่าวทำให้เข้าใจว่าจะมีการจัดกิจกรรมที่บริเวณทางเชื่อมอาคาร คณะนิติศาสตร์กับสังคมศาสตร์ ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัย ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง เฝ้าระวังจุดดังกล่าวในวันที่ 30 ธ.ค. 2564
นอกจากนี้ยังทราบมาว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร แต่เนื่องจากจำเลยไม่ได้เข้าซ้อมในพิธีรับปริญญาบัตร จึงไม่สามารถเข้ารับในวันจริงได้ โดยที่ทราบเนื่องจากมหาวิทยาลัยส่งรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวมทั้งรายชื่อของผู้มีสิทธิเข้ารับ แต่ไม่ได้เข้าพิธีซ้อม จึงไม่สามารถเข้ารับในวันจริงได้
พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบบริเวณอาคารคณะนิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำของวันที่ 29 ถึงเช้ามืดวันที่ 30 ธ.ค. 2564 แต่ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ
ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 30 ธ.ค. 2564 พบนักศึกษาประมาณ 5-6 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 3 คัน ถือวัตถุคล้ายฟิวเจอร์บอร์ด รูปร่างคล้ายสแตนดี้ที่ปรากฏในโพสต์ของเพจ NU-Movement เข้ามาที่อาคาร ซึ่งอยู่ติดกับอาคารคณะสังคมศาสตร์ และรวมตัวอยู่บริเวณใต้อาคารติดกับคณะสังคมศาสตร์ อยู่ประมาณ 3 ชั่วโมง ระหว่างนั้นมีนักศึกษาเดินเข้าออก และมีผู้คนมาร่วมงานพระราชทานปริญญาบัตรอีกจำนวนมาก น่าจะเกิน 1,000 คน โดยกลุ่มนักศึกษาที่นำสแตนดี้มามีประมาณ 10 คน และใช้ผ้าคลุมไว้
ต่อมาเวลาประมาณ 12.00 น. พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ พบเห็นจำเลยซึ่งสวมเสื้อครุยสำหรับเข้ารับปริญญา อยู่กับนักศึกษาใต้อาคาร และกลุ่มนักศึกษาขนย้ายของ ได้แก่ สแตนดี้ที่เตรียมมาในช่วงเช้า และมีกล่องประมาณ 5 กล่องย้ายไปที่อื่น จึงเข้าใจว่ากลุ่มนักศึกษาเริ่มทำกิจกรรม เนื่องจากจำเลยเดินทางมาถึง จึงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าไปสอบถามว่าทำกิจกรรมอะไร แต่กลุ่มนักศึกษาไม่ตอบและแจ้งว่าเป็นสิทธิส่วนตัว จากนั้นจำเลยและกลุ่มนักศึกษาจึงย้ายไปที่หน้าอาคารคณะสังคมศาสตร์
ตามไฟล์วิดีโอพยานของโจทก์ได้แสดงภาพของจำเลยรวมกลุ่มกับกลุ่มนักศึกษา และขนย้ายสิ่งของออกมาจากใต้อาคาร โดยจำเลยเป็นคนที่สวมเสื้อครุยและเดินถือกล่องออกไปพร้อมกับกลุ่มนักศึกษาที่ถืออุปกรณ์อย่างอื่น จนถึงหน้าเสาธงระหว่างอาคารคณะนิติศาสตร์-สังคมศาสตร์ ขณะนั้นมีชายสวมเสื้อแขนสั้นเข้าไปพูดคุยกับจำเลยขอให้หยุดทำกิจกรรม แต่กลุ่มจำเลยยืนยันว่าจะทำกิจกรรมต่อไป และปรากฏมีภาพเคลื่อนไหวของจำเลย ก้มลงไปหยิบสิ่งของออกมาจากกล่องกระดาษที่ถือมาที่หน้าเสาธง คือหนังสือดังปกสีขาวของกลางในคดีนี้ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ จึงเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้นำของกลุ่มนักศึกษาในวันเกิดเหตุ
นอกจากนี้สแตนดี้ที่กลุ่มนักศึกษาเตรียมมา คือสแตนดี้หน้าสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งบุคคลทั้งสองเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 และมีบทบาทในการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และเป็นเงาเดียวกันกับภาพในโพสต์ของกลุ่ม NU-Movement ในวันที่ 29 ธ.ค. 2564
กลุ่มนักศึกษาและจำเลยวางหนังสือและเอกสารบนโต๊ะในลักษณะที่ต้องการแจกจ่ายให้บุคคลทั่วไป พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ จึงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปขอหนังสือและเอกสารดังกล่าว ซึ่งกลุ่มนักศึกษาก็ยินดีมอบให้ มีทั้งที่คั่นหนังสือ แผ่นพับ และหนังสือ
.
ภาพการจัดกิจกรรมในวันที่ 30 ธ.ค. 2564
.
นอกจากนี้ไฟล์วิดีโอพยานของโจทก์ได้แสดงเหตุการณ์ที่อาจารย์หญิงท่านหนึ่ง สวมชุดราชการสีขาว พูดคุยกับจำเลยขอให้เลิกจัดกิจกรรมดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่ากิจกรรมนี้เป็นการล้อเลียนเสียดสีการพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งสแตนดี้ที่จำเลยกับพวกเตรียมมามีตรามหาวิทยาลัยนเรศวร และมีป้ายเขียนว่า “ไม่รับปริญญาก็เรียนจบได้” นอกจากนี้ยังมีป้ายเลข 112 และมีเครื่องหมายขีดห้าม โดยจำเลยกับพวกจัดกิจกรรมอยู่ที่จุดดังกล่าวจนถึงเวลา 16.00 น. จากนั้นก็เก็บอุปกรณ์และแยกย้ายกันกลับ
เย็นของวันเกิดเหตุ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์และทีมงาน จึงร่วมประชุมกันที่สถานีตำรวจชุมชน ม.นเรศวร เพื่อสรุปว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง สามารถได้เอกสารจากการจัดกิจกรรมอะไรบ้าง และมีผู้เข้าร่วมเป็นบุคคลใดบ้าง ซึ่งตำรวจมีข้อมูลบุคคลที่เคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาก่อนและนำมาเทียบดูกัน และได้จัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา ต่อมาตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลกมีคำสั่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยคณะทำงานฯ ได้ประชุมสรุปข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยอาศัยรายงานที่ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ทำขึ้น
หนังสือของกลางที่ตรวจยึดมาได้ คือบทปราศรัยในการชุมนุมต่าง ๆ หลายแห่ง ล้วนแต่เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่ออ่านข้อความดูแล้วพบว่า มีข้อความที่น่าจะเป็นความผิดต่อ ม.112 คณะทำงานจึงมีความเห็นส่งหนังสือดังกล่าวไปให้กองกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำความเห็นว่ามีข้อความใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นความผิด และยังได้ส่งให้พยานผู้เชี่ยวชาญ คืออาจารย์ภาษาไทยของสถานศึกษาร่วมพิจารณาด้วย สรุปกันได้ว่ามีข้อความเป็นความผิดจำนวน 7 ข้อความ และมอบหมายให้ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 112 และ 116
ตอบทนายจำเลยถามค้าน ในวันเกิดเหตุไปถึงที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลา 05.30 น. เฝ้าอยู่ตลอด แต่ไม่พบจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยเข้ามารวมกลุ่มกับนักศึกษาจึงไม่อาจยืนยันได้ว่าตอนที่จำเลยมาถึงได้ถือสิ่งของมาด้วยหรือไม่
พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ เห็นขณะจำเลยยืนรวมกลุ่มอยู่ใต้อาคารไม่มีสิ่งของอยู่ในมือ แต่เมื่อมีการย้ายที่จำเลยจึงยกกล่องกระดาษขึ้นทันที โดยสภาพของกล่องสีแดงขาวขณะที่จำเลยถือออกไปนอกอาคารมีฝากล่องปิดอยู่และ ไม่ทราบว่าภายในกล่องคืออะไร ทั้งไม่มีตำรวจคนใดไปขอตรวจดูของในกล่องขณะจำเลยเดินออกมาจากใต้อาคาร
ทนายความจำเลยเปิดไฟล์วิดีโอของโจทก์ให้ดูอีกครั้ง เป็นช่วงที่เห็นบุคคลหยิบสิ่งของออกมาจากกล่องสีขาวแดงที่จำเลยนำมา แล้วถามพยานว่าจำเลยไม่ได้นำหนังสือออกมาจากกล่องใช่ไหม พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ตอบว่าถ้าดูจากคลิปดังกล่าวตนไม่เห็น ไม่แน่ใจว่าจำเลยจะหยิบหนังสือดังกล่าวออกมาหรือไม่ เพราะคลิปไม่ได้ถ่ายจำเลยไว้ตลอดเวลา นอกจากนี้ในทุกไฟล์วิดีโอของโจทก์ก็ไม่ปรากฏภาพจำเลยเป็นผู้แจกหนังสือให้แก่บุคคลอื่นเลย
พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ไม่ได้ยินว่ามีบุคคลใดโฆษณาหรืออธิบายว่าหนังสือดังกล่าวคือหนังสืออะไร และในขณะนั้นตนก็ไม่ทราบว่าหนังสือดังกล่าวคือหนังสืออะไร โดยเห็นจำเลยเดินเข้า ๆ ออก ๆ จากโต๊ะที่แจกหนังสือของกลาง ซึ่งกิจกรรมที่กลุ่มนักศึกษาจัดนี้ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น แต่ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ไม่ทราบว่านอกจากเจ้าพนักงานตำรวจแล้วจะมีประชาชนทั่วไปเข้าไปขอรับเอกสารด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ ก็ยังไม่ทราบว่าจำเลยเป็นผู้ริเริ่มจัดกิจกรรมหรือไม่ และไม่ทราบว่ากลุ่มนักศึกษาได้หนังสือปกสีขาวมาอย่างไร หรือจำเลยนำหนังสือมาอย่างไร
ตอบพนักงานอัยการถามติง เมื่อย้อนดูคลิปวิดีโออีกครั้งจึงทราบว่า หนังสือที่นำมาวางบนโต๊ะได้นำออกมาจากกล่องที่จำเลยถือมา โดยพฤติการณ์ที่จำเลยกับกลุ่มนักศึกษาตั้งโต๊ะและนำหนังสือพร้อมแผ่นพับมาวางบนโต๊ะเข้าใจได้ว่าต้องการแจกจ่ายให้บุคคลทั่วไป ซึ่งตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบอยู่ในชุดเดียวกันเข้าไปที่โต๊ะ กลุ่มนักศึกษาแจ้งว่าสามารถหยิบได้เลย เจ้าหน้าที่จึงหยิบหนังสือและแผ่นพับออกมาได้
.
ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ายึดของกลาง เห็นหนังสือวางแจกอยู่จึงหยิบมารายงานผู้บังคับบัญชา อ้างว่าจำเลยทำท่าชี้นิ้วสั่งการให้จัดโต๊ะ จึงเข้าใจว่าเป็นแกนนำ แม้ไม่เห็นจำเลยแจกหนังสือ
ส.ต.ท.วสันต์ ชัยอ่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ได้รับมอบหมายงานให้หาข่าวใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่องานพระราชทานปริญญา ในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 โดย ส.ต.ท.วสันต์ ได้เข้าตรวจสอบเพจ NU-Movement ในวันที่ 29 ธ.ค. 2564 พบเห็นข้อความและภาพถ่าย ดูแล้วน่าจะมีการเชิญชวนมาร่วมกิจกรรมบริเวณคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงรายงานต่อผู้บังคับบัญชา
ต่อมา ส.ต.ท.วสันต์ ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปสังเกตการณ์ที่บริเวณคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ว่ามีการจัดกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ และบุคคลใดเป็นผู้จัดกิจกรรม โดยที่ทางตำรวจมีข้อมูลมาก่อนแล้วว่ามีบุคคลใดเคยจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองบ้าง นอกจากนี้ก็รู้ว่าสมาชิกกลุ่มคนใดใช้ยานพาหนะอะไร ศึกษาอยู่ที่สถานศึกษาใดบ้าง
ส.ต.ท.วสันต์ แต่งกายนอกเครื่องแบบเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยนเรศวร ต่อมาเวลา 9.00 น. มีนักศึกษา 4-5 คน ถือสแตนดี้กล่อง และโต๊ะมาไว้ที่ใต้อาคาร เชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ที่เตรียมมาใช้ในกิจกรรมทางการเมือง
กลุ่มนักศึกษานั่งกันอยู่ที่ใต้อาคารจนถึงเวลาประมาณ 12.00 น. จำเลยเดินเข้าไปหากลุ่มโดยสวมใส่เสื้อครุยที่ใช้ในการรับปริญญา จำเลยพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาครู่หนึ่งก็ขนย้ายอุปกรณ์ที่เตรียมมาไปยังจุดเกิดเหตุหน้าคณะสังคมศาสตร์ โดยจำเลยถือกล่องไปด้วย 1 กล่อง ส.ต.ท.วสันต์ เดินตามจำเลยกับพวกไปถึงหน้าคณะสังคมฯ จึงมีการตั้งโต๊ะและสแตนดี้
ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ ส.ต.ท.วสันต์ ไปสังเกตการณ์ใกล้ ๆ จุดที่มีการตั้งโต๊ะ พบเห็นมีการตั้งหนังสือเป็นกอง ๆ และมีเอกสารวางอยู่บนโต๊ะ จึงเข้าใจว่าต้องการแจกให้กับบุคคลทั่วไป เมื่อเข้าไปใกล้ ๆ โต๊ะ นักศึกษาผู้หญิงคนหนึ่งแจ้งว่าหยิบได้เลย ส.ต.ท.วสันต์ จึงหยิบหนังสือ แผ่นพับ และที่คั่นหนังสือ ที่วางอยู่บนโต๊ะ โดยตอนแรกหยิบมาเฉพาะที่คั่นหนังสือ 1 ชิ้น นำมาให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 50 เมตร จากนั้นก็กลับไปที่โต๊ะอีก แล้วหยิบหนังสือและเอกสารทั้งหมดที่ตั้งโต๊ะแจก
ต่อมาผู้บังคับบัญชาบอกให้ ส.ต.ท.วสันต์ กลับไปที่โต๊ะเป็นครั้งที่ 3 แต่ครั้งนี้นักศึกษาผู้หญิงน่าจะรู้แล้วว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ยินบอกว่า “ถ้าพี่จะเก็บไปเป็นหลักฐาน วางไว้ให้คนอื่นหยิบไปอ่านดีกว่าไหม” ครั้งสุดท้ายนี้ ส.ต.ท.วสันต์ จึงไม่ได้หยิบอะไรออกมา โดยอุปกรณ์ที่จำเลยกับพวกใช้จัดกิจกรรม มีสแตนดี้ ป้ายต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีป้ายระบุข้อความว่า “เบิกเนตร” “ไม่เข้ากิจกรรม ก็เรียนจบได้” “อุปสรรคของนิสิตคืออธิการ” และป้ายวงกลมสัญลักษณ์ขีดทับ 112
ในการจัดกิจกรรม จำเลยเป็นคนบอกให้นักศึกษาคนอื่นว่าจัดวางอุปกรณ์ไว้ตำแหน่งใดบ้าง ระหว่างกิจกรรมมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าไปพูดคุยกับจำเลย จำเลยก็พูดคุยในลักษณะเป็นตัวแทนกลุ่ม
ตอบทนายความถามค้าน ยอมรับว่าก่อนจำเลยจะเข้าไปรวมกลุ่มกับนักศึกษาใต้อาคารนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจสอบว่าสิ่งของที่กลุ่มนักศึกษานำมามีอะไรบ้าง โดยจำเลยไม่ใช่คนที่นำสิ่งของอุปกรณ์ไปวางไว้บนโต๊ะสำหรับแจก เพียงแต่อยู่ใกล้ ๆ และขณะจำเลยเข้ามารวมกลุ่มก็ไม่ได้ถือสิ่งของอะไรมาด้วย จากนั้นตำรวจก็ไม่ได้ตรวจสอบกล่องรูปไม้ถูพื้นที่จำเลยถือไปในที่เกิดเหตุ ว่ามีสิ่งของอะไรอยู่ข้างใน
ขณะเข้าไปหยิบหนังสือ ไม่มีบุคคลใดอธิบายว่าคือหนังสืออะไร และขณะที่หยิบหนังสือก็ไม่ทราบว่าจำเลยอยู่ที่ไหน นอกจากนี้บันทึกตรวจยึดก็ระบุชื่อบุคคลอื่นในกลุ่ม NU-Movement เป็นแกนนำ ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้
ทนายถามต่อไปว่าในคำให้การชั้นสอบสวนของพยานนั้น ไม่ได้ให้การว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการกลุ่มนักศึกษาคนอื่นให้จัดวางอุปกรณ์หรือสั่งให้จัดโต๊ะอย่างไร ส.ต.ท.วสันต์ ตอบว่าไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน และก็ไม่ได้ให้การว่าไปรับหนังสือมาจากโต๊ะถึง 3 ครั้ง
ทนายความเปิดไฟล์วิดีโอภาพเหตุการณ์ให้พยานดูแล้วถามว่า ขณะจำเลยก้มลงไปที่กล่องกระดาษซึ่งวางอยู่ที่พื้นและมีบุคคลอื่นหยิบของออกมาจากกล่อง พยานดูออกหรือไม่ว่าของที่ออกมาจากกล่องคืออะไร ส.ต.ท.วสันต์ ตอบว่าไม่ทราบว่าคืออะไร และตามไฟล์วิดีโอก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ใด ๆ ที่จำเลยสั่งการกลุ่มนักศึกษาให้จัดวางโต๊ะและอุปกรณ์อย่างไร อย่างไรก็ตาม ส.ต.ท.วสันต์ ยืนยันว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ไม่อยู่ในคลิปวิดีโอ
ตอบพนักงานอัยการถามติง ว่าเห็นนักศึกษานำหนังสือปกสีขาวออกจากกล่องรูปไม้ถูพื้นที่จำเลยนำมาวางที่เกิดเหตุ และเหตุที่ไม่ได้ระบุว่าจำเลยเป็นแกนนำของกลุ่มในบันทึกตรวจยึด เนื่องจากขณะทำบันทึก เจ้าพนักงานตำรวจอยู่ระหว่างค้นหาชื่อ-สกุล ของนักศึกษา โดยพบชื่อของสมาชิกอีกคนกับตี๋ก่อนนักศึกษาคนอื่น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาจึงระบุชื่อทั้งสองในเอกสารก่อน การที่ ส.ต.ท.วสันต์ เชื่อว่าจำเลยเป็นแกนนำ เนื่องจากเมื่อจำเลยมารวมกลุ่ม นักศึกษาก็เริ่มทำกิจกรรมทันที
.
ภาพจากเพจ NU-Movement
.
ตำรวจสืบสวนหาข่าว คอยตามประกบสมาชิกกลุ่ม NU-Movement 8 คน มองส่องเข้าไปในบ้าน-ไปหาที่บ้าน-โทรหาครอบครัว ช่วยห้ามไม่ให้ทำกิจกรรม
พยานกลุ่มที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน กองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรพิษณุโลก จำนวน 8 นาย ได้เข้าเบิกความในลักษณะเดียวกัน เกี่ยวกับหน้าที่คอยติดตามนักศึกษา-นักเรียนในจังหวัดพิษณุโลก รวมถึงสมาชิกกลุ่ม NU-Movement โดยตำรวจสืบสวนหนึ่งคนจะคอยติดตามสมาชิกกลุ่มดังกล่าวหนึ่งคน ด.ต.เดชา ลูกอินทร์ เป็นผู้ติดตามจำเลย ส่วน ร.ต.ท.อภิชัย กันหมุด, ด.ต.มนตรี แก้วดิษฐ์, ด.ต.ประกิจ ชุ่มกลัด, ส.ต.ท.กิตติพันธุ์ พ่วงเฟื่อง, ร.ต.อ.สุรกิจ วงษ์วิกย์กรณ์, ร.ต.อ. นิพนธ์ แซวหิว ติดตามสมาชิกในกลุ่มและนักกิจกรรมที่เหลือ
ด.ต.เดชา ลูกอินทร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนผู้ติดตามจำเลย เบิกความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับกลุ่ม NU-Movement ว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากเคยโพสต์ข้อความในลงเพจเฟซบุ๊กของกลุ่ม ผู้บังคับบัญชาเกรงว่าจำเลยจะไปจัดกิจกรรมทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่องานรับปริญญา จึงมอบหมายให้ ด.ต.เดชา เฝ้าระวังจำเลย โดยสืบทราบมาว่าจำเลยเคยเคลื่อนไหวในประเด็นแก้ไขมาตรา 112 และเป็นบัณฑิตจบการศึกษาปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีสิทธิเข้ารับปริญญา แต่ไม่เข้าร่วมพิธีซ้อม จึงไม่สามารถเข้าร่วมพิธีในวันจริงได้
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 ด.ต.เดชา ทราบจากผู้บังคับบัญชาว่ามีการรวมกลุ่มกันที่บ้าน ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้กับมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเดินทางไปสังเกตการณ์ที่บ้านดังกล่าว เมื่อเวลา 20.30 น. พบรถจักรยานยนต์ของจำเลยจอดอยู่ ภายในบ้านเปิดม่านอยู่จึงมองเข้าไปเห็นคนกำลังพูดคุยกัน 4-5 คน สังเกตการณ์อยู่จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. จึงกลับออกมา
ต่อมาเช้าของวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เข้าไปตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าวอีกครั้ง เวลา 6.30 น. ด.ต.เดชา เข้าไปที่บ้าน แต่ไม่พบรถจักรยานยนต์ของจำเลยแล้ว จึงได้ตามสืบสวนต่อตามร้านอาหาร โรงแรมบริเวณมหาวิทยาลัย แต่ไม่พบ
จนเวลาประมาณ 12.00 น. ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่ามีการรวมตัวกันของกลุ่ม NU-Movement ที่บริเวณทางเชื่อมคณะสังคมศาสตร์-นิติศาสตร์ ด.ต.เดชา จึงพบจำเลยอยู่ใต้อาคาร มีบุคคลกำลังช่วยจำเลยสวมเสื้อครุย จากนั้นจำเลยจึงพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษา จากนั้นกลุ่มนักศึกษาจึงเคลื่อนย้ายสแตนดี้และอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยจำเลยถือกล่องกระดาษรูปไม้ถูพื้น ซึ่งขณะนั้นไม่ทราบว่าคืออะไร เดินไปที่หน้าคณะนิติศาสตร์
จำเลยวางกล่องลงและไปพูดคุยกับชายเสื้อแขนสั้นที่เข้ามาพูดคุยในลักษณะห้ามปราม จากนั้น ด.ต.เดชา ก็ไม่ตั้งใจดูว่าจำเลยทำอะไรบ้าง แต่เห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดแจงและสั่งการให้นักศึกษาทำ โดยมีนักศึกษานำหนังสือปกสีขาวซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องที่จำเลยถือมา วางไว้บนโต๊ะ
ตอบทนายความถามค้าน รับว่าไม่ได้ขอให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตรวจสอบข้อมูลของจำเลยกับเพจเฟซบุ๊ก NU-Movement ว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร และปกติการสืบสวน การใช้เป็นพยานหลักฐาน จะทำเป็นเอกสารรายงานต่อผู้บังคับบัญชา แต่เหตุการณ์การไปสังเกตการณ์ที่บ้านหลังดังกล่าว ไม่ได้ทำเป็นรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาไว้
ทั้งนี้ ด.ต.เดชา ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบกล่องสีแดงรูปไม้ถูพื้นที่เบิกความถึง แต่ยืนยันว่ามีการนำหนังสือออกมาจากกล่องนั้น แม้ ด.ต.เดชา อยู่ห่างออกไปจากจุดแจกหนังสือราว 10 เมตร และไม่ได้ถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอรายงานผู้บังคับบัญชา ทั้งเมื่อทนายความเปิดไฟล์วิดีโอ ให้ ด.ต.เดชา ดู ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ขณะจำเลยนำกล่องดังกล่าวมาวางและมีบุคคลอื่นหยิบสิ่งของออกจากกล่อง แล้วถามว่าทราบหรือไม่ว่าสิ่งของที่หยิบออกมาคืออะไร ด.ต.เดชา ตอบว่าไม่ทราบ
เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน ร.ต.ท.อภิชัย กันหมุด, ด.ต.มนตรี แก้วดิษฐ์, ร.ต.ต.ประกิจ ชุ่มกลัด, ส.ต.ท.กิตติพันธุ์ พ่วงเฟื่อง, ร.ต.อ.สุรกิจ วงษ์วิกย์กรณ์, ร.ต.อ. นิพนธ์ แซวหิว, ร.ต.ท.สุขสันต์ เสริมสุข ผู้เฝ้าระวังสมาชิกในกลุ่ม NU-Movement และนักกิจกรรมในพิษณุโลก เบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เฝ้าระวังติดตามนักกิจกรรม นักเรียน และนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร สมาชิกกลุ่ม NU-Movement ทุกคน
เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 นาย จะเฝ้าระวังติดตามนักศึกษา 1 คนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เคยออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และแก้ไขมาตรา 112 ตำรวจสืบสวนแต่ละคนจะได้ข้อมูลส่วนบุคคล และประวัติการเคลื่อนไหวของสมาชิกแต่ละคนมาเพื่อเฝ้าระวัง
ก่อนเกิดเหตุประมาณ 7 วัน ร.ต.อ.สุรกิจ โทรหาผู้ปกครอง ซึ่งเป็นตากับยายของหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม NU-Movement โดยขอให้ตากับยายแจ้งให้ตนเองทราบว่าสมาชิกคนดังกล่าวจะออกไปทำกิจกรรมทางการเมือง ต่อมาวันที่ 29 ธ.ค. 2564 เวลาประมาณ 19.00 น. ตากับยายได้โทรศัพท์แจ้งมาว่ามีรุ่นพี่มารับนักเรียนคนดังกล่าวออกไปจากบ้านแล้ว
นอกจากนี้ ร.ต.อ.อภิชัย สืบสวนพบว่าสมาชิกกลุ่ม NU-Movement ที่ได้รับมอบหมายให้ติดตาม ได้โทรศัพท์คุยกับบิดาของสมาชิกคนดังกล่าว โดยบิดาแจ้งไม่ให้ไปติดตาม แต่บิดาจะเป็นคนไปเตือนไม่ให้ทำกิจกรรมในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 เอง
วันที่ 29 ธ.ค. 2564 ร.ต.ท.สุขสันต์ เดินทางไปหานักกิจกรรมคนหนึ่งที่เคยแสดงออกทางการเมืองในจังหวัดพิษณุโลก เพื่อแจ้งว่าได้รับมอบหมายให้เฝ้าระวังเพราะเกรงว่าจะจัดกิจกรรมทางการเมืองในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 และจะก่อให้เกิด “ความไม่สงบเรียบร้อย” โดยนักกิจกรรมแจ้งว่าเขาจะไม่ทำกิจกรรมอะไรและจะไม่ไปมหาวิทยาลัยนเรศวรในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 แต่เมื่อถึงเวลากิจกรรม ร.ต.ท.สุขสันต์ กลับได้รับแจ้งจากไลน์กลุ่มของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่านักกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในมหาวิทยาลัย
ก่อนเกิดเหตุ ร.ต.อ.นิพนธ์ และ ร.ต.ต.ประกิจ สืบสวนเพิ่มเติมทราบว่ามีหนึ่งในสมาชิกเช่าบ้านอยู่ร่วมกัน 2-3 คน อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 ร.ต.อ.นิพนธ์ จึงเดินทางไปสังเกตการณ์ที่บ้านหลังดังกล่าว พบรถจักรยานยนต์ 3 คัน ซึ่งเป็นของสมาชิกกลุ่ม NU-Movement โดย ร.ต.อ. นิพนธ์ พยายามมองเข้าไปในบ้าน แต่ม่านปิดอยู่จึงกลับออกมา
ต่อมาเวลา 19.00 -20.00 น.ได้รับแจ้งว่าจะมีกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น ร.ต.อ.นิพนธ์ และ ร.ต.ต.ประกิจ จึงกลับเข้าไปที่บ้านหลังดังกล่าวอีก พบรถจักรยานยนต์เพิ่มอีก 3 คัน พบว่ามีรถจักรยานยนต์ของจำเลยรวมอยู่ด้วย จึงขับรถวนไปมาเพื่อมองผ่านหน้าต่างบ้านดังกล่าว เห็นวัยรุ่น 4-5 คนอยู่ในบ้าน โดย ร.ต.ต.ประกิจ เห็นว่าจำเลยอยู่ในบ้านด้วย
ในวันเกิดเหตุ 30 ธ.ค. 2564 เวลาเช้าตรู่ 6.00-6.30 น. ร.ต.อ.นิพนธ์ และ ร.ต.ต.ประกิจ กลับเข้าไปดูที่บ้านหลังดังกล่าวอีก พบรถจักรยานยนต์ 3 คันจอดอยู่ในบ้าน แต่ไม่พบรถจักรยานยนต์อีก 3 คันแล้ว จึงกลับออกมาจนกระทั่งเวลา 8.30 น. จึงกลับเข้าไปดูอีก พบรถจักรยานยนต์จอดอยู่นอกรั้ว 3 คันซึ่งไม่ใช่คันเดียวกับตอนเมื่อคืนที่ 29 ธ.ค. 2564 โดยไม่มีรถจักรยานยนต์ของจำเลยอยู่ด้วย
ร.ต.อ.นิพนธ์ และ ร.ต.ต.ประกิจ จึงออกมาเฝ้าระวังอยู่ทางเข้าออกหมู่บ้าน ต่อมาเวลา 9.00 น. มีบุคคล 3 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 2 คัน ขับออกมาจากหมู่บ้าน โดยถือสแตนดี้มาด้วย 1 ตัว แต่หันหน้าเข้ากับตัวจึงไม่เห็นว่าคือรูปอะไร จนเวลา 9.30 น. มีบุคคลอีก 3 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 2 คัน ซึ่งเป็นของสมาชิกกลุ่ม NU-Movement ถือสแตนดี้มาอีก 1 ตัว และต่อมา 10.30 น. มีสมาชิกอีกคนของกลุ่มนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ออกมาโดยถือกล่องออกมาด้วย 1 ใบ แต่จำรายละเอียดของกล่องไม่ได้ โดยจำเลยไม่อยู่ด้วย
ขณะนั้น ด.ต.มนตรี และ ร.ต.ท.สุขสันต์ ได้รับคำสั่งให้เฝ้าระวังติดตามสมาชิกในกลุ่ม จึงแต่งกายนอกเครื่องแบบ ไปถึงคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประมาณ 11.00 น. ร.ต.ท.สุขสันต์ พบนักกิจกรรมที่ตนได้รับมอบหมายให้ติดตามจึงเข้าไปพูดคุยกัน โดยนักกิจกรรมแจ้งว่าตอนแรกตั้งใจจะไม่มา แต่เห็นไลฟ์สดของกลุ่มน้อง ๆ จึงมาดู จากนั้นจึงขอแยกไปรวมตัวกับกลุ่มนักศึกษา 5-6 คน ที่รออยู่ใต้อาคารคณะสังคมศาสตร์
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ร.ต.อ.นิพนธ์, ร.ต.ต.ประกิจ, ส.ต.ท.กิตติพันธุ์ และ ร.ต.อ.สุรกิจ ได้รับแจ้งว่ากลุ่ม NU-Movement รวมตัวกันอยู่ใต้อาคารคณะสังคมศาสตร์-นิติศาสตร์ จึงไปยังพื้นที่พบสมาชิกกลุ่ม 7-8 คน ทุกคนสวมชุดไปรเวท โดยในขณะนั้นยังไม่เห็นจำเลยอยู่ในกลุ่มด้วย
หลังจากนั้นพบจำเลยถือกล่องสีขาวแดง 1 กล่องและเดินไปที่หน้าคณะสังคมศาสตร์พร้อมกับกลุ่มนักศึกษาคนอื่นช่วยกันถืออุปกรณ์ และสแตนดี้ 2 ตัวไปด้วย โดยมีสมาชิกคนอื่นถือไอแพดในลักษณะกำลังถ่ายวิดีโอ โดยระหว่างกิจกรรมมีการตั้งโต๊ะ มีหนังสือปกสีขาวและเอกสารอื่น ๆ วางอยู่บนโต๊ะ และมีอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวรเข้าไปพูดคุยกับจำเลยขอให้เลิกจัดกิจกรรม โดยจำเลยกับกลุ่มนักศึกษาทำกิจกรรมกันกระทั่งเวลาประมาณ 16.00-16.15 น. จึงเลิกกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม ร.ต.ต.ประกิจ ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นหัวหน้าของกลุ่ม NU-Movement
ร.ต.อ.นิพนธ์ แซวหิว ตอบทนายความถามค้านว่า ไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้นำหนังสือปกสีขาวมาบริเวณที่เกิดเหตุ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าหนังสือปกสีขาวในคดีนี้ ถูกนำออกมาจากกล่องที่จำเลยถือไปที่เกิดเหตุ และจำเลยก็ไม่ได้แจกหนังสือให้บุคคลทั่วไป ทั้งไม่ได้ยินว่าจำเลยสั่งการนักศึกษาคนอื่น ๆ ในขณะทำกิจกรรม เห็นเพียงแต่ท่าทางของจำเลยที่น่าจะมีการสั่งการ นอกจากนี้ไม่มีการโฆษณาหนังสือดังกล่าวว่าคือหนังสืออะไร
ร.ต.ต.ประกิจ ชุ่มกลัด ตอบทนายความถามค้าน ว่าตนไม่ทราบว่าบุคคลที่รวมตัวกันในบ้านที่ไปสังเกตการณ์นั้นจะทำอะไรกันในบ้าน และไม่เห็นอุปกรณ์สแตนดี้อยู่ข้างในบ้านหลังดังกล่าว โดยเหตุการณ์ที่จำเลยเดินเข้าไปรวมกลุ่มกับนักศึกษาไม่ได้ถือสิ่งของใดติดมาด้วย และก็ไม่ทราบว่ากล่องที่จำเลยถือไปที่เกิดเหตุคือกล่องอะไร
ด.ต.มนตรี แก้วดิษฐ์ ตอบทนายความถามค้าน ทนายความนำเอกสารบันทึกการตรวจยึดสิ่งของให้ดูแล้วถามว่า เอกสารรายงานนี้ระบุชื่อบุคคลอื่นเป็นแกนนำของกลุ่ม NU-Movement ซึ่งไม่ใช่จำเลย โดย ด.ต.มนตรี ตอบว่าไม่ทราบข้อเท็จจริงและไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าวมาก่อน และขณะติดตามสมาชิกกลุ่ม NU-Movement และในขณะกิจกรรมก็ไม่ได้สังเกตว่าบนโต๊ะมีป้ายบอกว่าเป็นเอกสารแจกฟรีหรือไม่ นอกจากนี้ ด.ต.มนตรี ไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าจำเลยทำท่าทางสั่งกลุ่มนักศึกษาในที่เกิดเหตุ อ้างว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ถาม
ร.ต.อ.สุรกิจ วงษ์วิกย์กรณ์ ตอบทนายความถามค้าน ว่าตนเองไม่ได้อยู่ที่จุดมีการตั้งโต๊ะจัดกิจกรรมตลอดเวลาแต่อยู่เป็นช่วง ๆ และเห็นว่าบนโต๊ะไม่มีป้ายข้อความแสดงว่าประสงค์จะแจกหนังสือที่วางอยู่บนโต๊ะ นอกจากนี้ยังยืนยันไม่ได้ว่าหนังสือปกสีขาวดังกล่าวถูกนำออกมาจากกล่องที่จำเลยถือไปวางไว้ที่เกิดเหตุหรือไม่ และก็ไม่เห็นจำเลยแจกหนังสือที่วางอยู่บนโต๊ะ และตอบพนักงานอัยการถามติง ว่าแม้ว่าจะไม่เห็นว่ามีการหยิบหนังสือปกสีขาวออกมาจากกล่องกระดาษ แต่ขณะดูที่โต๊ะดังกล่าวมีหนังสือปกสีขาวและมีกล่องวางอยู่บนโต๊ะ จึงเข้าใจว่ามีการนำหนังสือออกมาจากกล่อง
ร.ต.ท.สุขสันต์ เสริมสุข ตอบทนายความถามค้าน ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำเอกสารต่าง ๆ มาวางบนโต๊ะ และระหว่างกิจกรรมจำเลยไม่ได้ยืนที่โต๊ะวางหนังสือ ไม่ทราบว่าหนังสือปกสีขาวดังกล่าวคือหนังสืออะไร อีกทั้งก็ไม่ได้สังเกตว่าในระหว่างจัดกิจกรรมมีการประกาศแจ้งว่าหนังสือดังกล่าว คือหนังสืออะไรด้วย
ร.ต.ท.อภิชัย กันหมุด ตอบทนายความถามค้าน ขณะที่มีการรวมตัวอยู่ใต้คณะสังคมศาสตร์ไม่แน่ใจว่ากล่องอยู่กับกลุ่มนักศึกษาหรือไม่ และไม่เห็นว่าบุคคลใดนำหนังสือมาวางบนโต๊ะ อีกทั้งบนโต๊ะไม่มีข้อความว่าแจก และจำเลยก็ไม่ได้ยืนอยู่ที่โต๊ะ แต่อยู่บริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ ร.ต.ท.อภิชัย ก็ไม่ได้ยินว่าจำเลยสั่งการนักศึกษาคนอื่นในขณะจัดกิจกรรมด้วย
.
อาจารย์ภาษาไทย ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม อ้างว่าบางข้อความในหนังสือเข้าข่ายเป็น ม.112
สมเกียรติ ติดชัย อาจารย์ภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มหาจุฬาลงกรณ์ และปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยเป็นอาจารย์ภาษาไทยมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกจบ ช่วง พ.ศ. 2556 และนอกจากการสอนแล้วยังทำผลงานวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย
เกี่ยวกับคดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือไปที่อธิการบดี และอธิการบดีมีหนังสือมาที่คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ ต่อมาคณบดีได้ให้พยานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา มาพิจารณาเอกสารนี้ เพื่อดูข้อความว่ามีความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่
เจ้าพนักงานตำรวจส่งหนังสือปกสีขาวในคดีนี้มาให้สมเกียรติ เพื่อทำความเห็น โดยให้คัดเลือกข้อความที่ตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นความผิดออกมา เจ้าพนักงานคัดเลือกมาแล้วประมาณ 10 ข้อความ ซึ่งสมเกียรติเข้าใจว่ากองกฎหมายของตำรวจเป็นคนคัดเลือก เมื่อพยานได้อ่านเอกสารหนังสือปกขาวทั้งเล่มแล้ว จึงพิจารณาว่ามีข้อความที่เป็นความผิด และมีบางข้อความที่ตำรวจคัดเลือกมานั้น ไม่เป็นความผิด
สำหรับหลักเกณฑ์การดูว่าเป็นความผิดหรือไม่นั้น จะดูข้อกฎหมายมาตรา 112 ด้วย และดูข้อความ คำที่ใช้อ้างอิงจากพจนานุกรม ถ้อยคำต่าง ๆ มาประกอบกัน ซึ่งข้อความที่พยานมีความเห็นว่าเป็นความผิดนั้นได้นำมาจากพจนานุกรมและบริบทแวดล้อม ทั้งนี้พยานไม่ได้พิจารณาเฉพาะข้อความที่ตำรวจคัดเลือกมาเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาถึงข้อความทั้งหมดด้วย ซึ่งเมื่อตรวจสอบเสร็จ จึงมีความเห็นส่งให้ยังพนักงานสอบสวน
อัยการยกข้อความขึ้นมาทีละข้อความ และให้พยานให้ความเห็นว่าแต่ละข้อความเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งพยานก็ได้ให้ความเห็นว่าข้อความบางส่วนเข้าข่ายดังกล่าว
สมเกียรติเบิกความได้ไปให้ความเห็นในคดีมาตรา 112 ในคดีนี้เป็นคดีแรก หลังจากคดีนี้ยังได้ให้ความเห็นในคดีที่อำเภอเนินมะปรางอีก 1 คดี
ตอบทนายความจำเลยถามค้าน เมื่ออ่านหนังสือทั้งหมดแล้ว ในตอนแรก พยานรับว่าไม่แน่ใจว่าข้อความใดเป็นความผิดที่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 บ้าง จึงต้องการให้กองกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาก่อนว่ามีข้อความใดบ้าง พยานพิจารณาเฉพาะข้อความที่ตำรวจคัดเลือกมาเป็นหลัก แต่ก็พิจารณาข้อความอื่นที่ไม่ได้คัดเลือกมาด้วย
ทนายความได้ซักถามถึงข้อความบางส่วนที่พยานเห็นว่าเป็นความผิด แต่ก็มีข้อความที่พยานรับว่าไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการกล่าวถึง กอ.รมน. โดยรับว่าผู้รับข้อความแต่ละคน มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ย่อมจะตีความหมายของข้อความแตกต่างกันออกไปได้
.
ผู้บังคับบัญชาสั่งติดตามกลุ่ม NU-Movement และพนักงานสอบสวน – เมื่อจำเลยมารวมกลุ่มก็เริ่มกิจกรรมทันที จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นแกนนำ แม้ไม่มีพยานปากใดให้การในชั้นสอบสวนไว้
พ.ต.อ.ธีรเดช แจ่มแจ้ง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก เบิกความว่าช่วงเกิดเหตุมีหมายกำหนดการณ์ว่าสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ซึ่งขณะนั้นรับผิดชอบงานด้านความมั่นคง โดยหน่วยงานความมั่นคง ได้แก่ กองทัพ, กอ.รมน., ตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก และฝ่ายปกครอง มาประชุมร่วมกัน เรื่องการรักษาความปลอดภัยในงานดังกล่าว
หน่วยงานที่ร่วมประชุมมีข้อมูลอยู่ก่อนแล้วว่า ในจังหวัดพิษณุโลกมีกลุ่มบุคคลชื่อ NU-Movement ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาประมาณ 9-10 คน เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีการเคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กของกลุ่ม และหากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในกรุงเทพฯ มีการเคลื่อนไหว ทางกลุ่มก็จะจัดกิจกรรมภายในจังหวัดพิษณุโลกในช่วงเวลาเดียวกันด้วย โดยทราบว่าจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่ม NU-Movement
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 เวลาประมาณ 20.00 น. เพจ NU-Movement โพสต์ข้อความเชิญชวนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม พ.ต.อ.ธีรเดช จึงสั่งการให้ชุดสืบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดฯ และ สภ.เมืองพิษณุโลก จับตาดูสมาชิกกลุ่ม NU-Movement โดยได้รับรายงานว่าทางกลุ่มจะนำสแตนดี้รูปภาพมาตั้งที่หน้าตึกคณะสังคมศาสตร์ เป็นการล้อเลียนการรับปริญญา ในวันที่ 30 ธ.ค. 2564
ในวันที่ 30 ธ.ค. 2564 พ.ต.อ.ธีรเดช มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลบริเวณอาคารอุทยาน ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีรับปริญญา ต่อมามีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมารายงานว่ากลุ่ม NU-Movement รวมตัวกันบริเวณใต้อาคารคณะนิติศาสตร์ จึงได้สั่งการให้ชุดสืบสวนเฝ้าระวังติดตาม และเก็บรายละเอียด ภาพนิ่งและคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน โดยให้เฝ้าระวังตั้งแต่กิจกรรมดังกล่าวเริ่มประมาณ 12.30 น. จนเลิกกิจกรรม แต่จำไม่ได้เลิกประมาณเวลาเท่าใด
ช่วงกลางคืนของวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ชุดสืบสวนของภูธรจังหวัด และ สภ.เมืองพิษณุโลก รายงานทำรายงานให้ทราบ และต่อมาวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลกมีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานของพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ระบุว่าหากมีการดำเนินคดีมาตรา 112 จะต้องมีการตั้งคณะทำงาน
ในการตั้งคณะทำงานนั้น พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก มีคำสั่งแต่งตั้งให้ ร.ต.อ.อิทธิพล มยุรี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วย โดยได้ทำหน้าที่สอบสวนพยานบุคคลในคดีนี้
พ.ต.อ.ธีรเดช เบิกความต่อไปว่าคณะทำงานสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า วันที่ 30 ธ.ค. 2564 กิจกรรมนำโดยจำเลย ได้มีการตั้งสแตนดี้ล้อเลียน โดยจำเลยถือกล่อง ภายในกล่องมีหนังสือปกสีขาว รวมคำปราศรัยตามสถานที่ต่าง ๆ มาแจกแก่บุคคลทั่วไป
คณะทำงานยังให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำของผู้เชี่ยวชาญวิชาภาษาไทย ให้พิจารณาเนื้อหาในหนังสือเพื่อประกอบสำนวน โดยมีกองกฎหมายและคดี ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยคัดเลือกข้อความที่เห็นว่าเป็นความผิด มาตรงกัน 7-10 ข้อความ จึงมีความเห็นตรงกันว่าข้อความที่เลือกมานั้นเป็นความผิด และคณะทำงานยังมีความเห็นว่าจำเลยเป็นแกนนำของกลุ่ม NU-Movement
เหตุที่เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดนี้ เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจมีข้อมูลเบื้องต้นอยู่แล้วว่าจำเลยเป็นแกนนำของกลุ่ม ประกอบกับมีพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุ พวกของจำเลยรวมกลุ่มก่อนเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ยังไม่เริ่มกิจกรรม เมื่อจำเลยเข้าร่วม กลุ่มดังกล่าวก็เริ่มกิจกรรมทันที จึงเชื่อว่าจำเลยมีอิทธิพลกับกลุ่มดังกล่าว และคณะทำงานยังมีความเห็นว่าจำเลยต้องทราบว่าหนังสือดังกล่าวคือหนังสืออะไร เนื่องจากพฤติการณ์ที่จำเลยถือกล่องบรรจุหนังสือไปที่สถานที่จัดกิจกรรม
พ.ต.อ.ธีรเดช แจ่มแจ้ง ตอบทนายความจำเลยถามค้าน รับว่าไม่ได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าตรวจสอบกล่องที่จำเลยถือไปยังที่เกิดเหตุ และไม่มีคำสั่งให้ตำรวจเข้าจับกุมตัวจำเลยในวันเกิดเหตุ นอกจากนี้ปกติหากเป็นหนังสือต้องห้าม จะมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่หนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือต้องห้ามหรือไม่นั้นตนเองไม่ทราบ และไม่ทราบว่ามีการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือบนกล่องและหนังสือหรือไม่ นอกจากนี้ก็ไม่มีหมายเรียกกลุ่มนักศึกษาคนอื่น ๆ ที่จัดกิจกรรมมาให้การ
ตอบพนักงานอัยการถามติง ว่าเหตุที่ไม่ได้ออกหมายเรียกนักศึกษาที่จัดกิจกรรมมาให้การ เนื่องจากมีพยานเป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ และมีหนังสือในคดีนี้เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งเพียงพอแล้ว โดยตำรวจที่เป็นประจักษ์พยานยืนยันว่าหนังสือได้นำมาจากกล่องที่จำเลยถือมา
ร.ต.อ.อิทธิพล มยุรี ตอบทนายความถามค้าน ว่าตามเอกสารบันทึกการตรวจยึดมีการระบุชื่อบุคคลอื่นเป็นแกนนำของกลุ่ม NU-Movement ซึ่งไม่ใช่ชื่อของจำเลย และตามคลิปวิดีโอหลักฐานไม่ได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้ทั้งหมด
นอกจากนี้คำให้การชั้นสอบสวนของ ด.ต.เดชา ได้ให้การไว้ว่าจำเลยถ่ายรูปกับเพื่อน ๆ จนกระทั่งเวลา 16.15 น. ก็แยกย้ายไป และไม่ได้ให้การไว้ว่าจำเลยสั่งการนักศึกษาคนอื่นร่วมทำกิจกรรม ส่วนพยานปากอื่น ๆ ก็ไม่ได้ให้การถึงจำเลย ไม่มีพยานปากเจ้าหน้าที่ตำรวจปากใด ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการหรือเป็นแกนนำของกลุ่ม และไม่ได้หมายเรียกพยานคนอื่น ๆ ในที่เกิดเหตุมาด้วย
ตอบพนักงานอัยการถามติง เหตุที่พยานไม่ได้หมายเรียกประจักษ์พยานในเหตุการณ์มาสอบปากคำเพิ่มเติม เนื่องจากมีคลิปวิดีโอขณะเกิดเหตุชัดเจนอยู่แล้ว
.
.
จำเลย: วันรับปริญญาจึงไปเพื่อถ่ายภาพ มีรุ่นน้องขอให้ช่วยยกของไปวาง ไม่รู้ว่าในกล่องมีอะไร จนปัจจุบันยังไม่เคยอ่านหนังสือปกขาว
“ตี๋” จำเลยในคดีนี้ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และอยู่ในระหว่างศึกษาปริญญาโทในคณะเดียวกัน โดยจำเลยเคยเป็นสมาชิกของกลุ่ม NU-Movement ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ถึงกลางปี 2563 หลังจากนั้นจำเลยจะต้องไปฝึกงานที่กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาเคยเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม NU-Movement เช่น จัดวงพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ การแสดง หรือรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ
เกี่ยวกับเหตุการณ์ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 จำเลยตื่นนอนประมาณ 9.00 น. และออกจากหอพักเพื่อไปทานอาหารและกาแฟ แล้วกลับมายังหอพัก ตั้งใจว่าจะออกไปที่มหาวิทยาลัยเพื่อถ่ายรูปกับเพื่อนที่มารับปริญญาในวันดังกล่าว โดยคาดว่าเพื่อนจะออกจากหอประชุมเวลาประมาณ 12.00 น.
ต่อมาเวลา 11.45 น. รุ่นน้องสมาชิกกลุ่ม NU-Movement โทรศัพท์มาหา แจ้งว่าทางกลุ่มจะจัดกิจกรรมบริเวณทางเชื่อมคณะนิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่พบว่ามีบุคคลที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก เกรงว่าจะถูกคุกคาม เพราะเคยมีตำรวจไปที่บ้านของรุ่นน้องคนดังกล่าว และเข้าไปพูดคุยกับพ่อแม่มาก่อน จึงอยากให้จำเลยเข้าไปที่มหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเจรจากับเจ้าหน้าที่ โดยจำเลยเห็นเพจเฟซบุ๊กของกลุ่ม NU-Movement โพสต์ว่าจะจัดกิจกรรมบิ๊กเซอร์ไพรส์อยู่ก่อนแล้ว
หลังจากนั้นจำเลยจึงเดินทางออกจากหอพักโดยนำเสื้อครุยสำหรับรับปริญญาไปด้วย เมื่อไปถึงพบสมาชิกกลุ่ม NU-Movement รวมกลุ่มอยู่ 5-10 คน จำเลยจึงพูดคุยกับนักศึกษาในกลุ่มดังกล่าวอยู่ประมาณ 20 นาทีเพื่อสอบถามว่าจัดกิจกรรมอะไร และสถานการณ์เป็นอย่างไร
ต่อมาเวลาประมาณ 12.20 น. ทางกลุ่มนักศึกษาบอกจำเลยว่าขอให้ช่วยขนของไปที่สนามหญ้าหน้าคณะสังคมศาสตร์ โดยตอนแรกตั้งใจจะจัดกิจกรรมที่บริเวณทางเชื่อมระหว่างคณะนิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่บริเวณดังกล่าวมีคนจำนวนมาก ไม่สะดวกจึงย้ายสถานที่ จำเลยจึงช่วยยกกล่องกระดาษ ขนาดประมาณใส่กระดาษ A4 รูปไม้ถูพื้น ซึ่งเป็นกล่องที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด แต่จำเลยไม่ทราบว่าภายในกล่องมีอะไรบ้างเพราะกล่องปิดอยู่ โดยขนของไปวางบริเวณสนามหญ้าที่เกิดเหตุ
ระหว่างนั้นได้ยินเสียงรุ่นน้องพูดคุยกับชายดูมีอายุด้วยน้ำเสียงโมโห ดูท่าทีไม่สามารถตกลงกันได้ จึงเข้าไปพูดคุยด้วย เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการทะเลาะวิวาทกัน โดยจำเลยไม่แน่ใจว่าชายคนดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ จึงเข้าไปพูดคุยว่าการเข้ามาในลักษณะเช่นนี้เป็นการคุกคาม ซึ่งเห็นว่าไม่น่าจะดีกับทุกฝ่าย ชายคนดังกล่าวจึงเดินจากไป
จำเลยได้อยู่บริเวณสนามหญ้าที่เกิดเหตุ พูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาสักครู่ ต่อมาเวลาประมาณ 12.45 น. จำเลยจึงเดินไปคณะเกษตรศาสตร์ ห่างออกไปประมาณ 700-800 เมตร เพื่อถ่ายภาพกับเพื่อนที่รับปริญญา
จนกระทั่งเวลา 13.40 น. จำเลยคิดว่าเพื่อนที่คณะสังคมศาสตร์น่าจะออกจากห้องประชุมแล้ว จึงเดินกลับไปที่คณะ ซึ่งก็เดินผ่านไปบริเวณสนามหญ้าที่เกิดเหตุด้วย โดยอยู่ถึงเวลา 16.00 น. จากนั้นก็ไปถ่ายภาพกับเพื่อนที่คณะบริหารธุรกิจและวิศวกรรมศาสตร์ จนถึงเวลา 16.30 น. จากนั้นก็ไปที่วิทยาลัยพลังงานเพื่อถ่ายภาพ จนถึงเวลา 17.30 น. จึงเดินทางกลับที่พัก
จำเลยกล่าวต่อไปว่า ตนเองรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการถูกดำเนินคดีนี้ โดยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกให้ไปเป็นพยานเท่านั้น แต่เมื่อไปถึงกลับถูกแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งจำเลยเองนั้นไม่ทราบว่าหนังสือดังกล่าวคือหนังสืออะไร จนปัจจุบันยังไม่เคยอ่านหนังสือดังกล่าวเลย
จำเลยตอบพนักงานอัยการถามค้าน พยานระบุว่าไม่ทราบว่าชายที่ดูมีอายุซึ่งเข้าไปคุยกับรุ่นน้องคือใคร ไม่ทราบว่าชายคนดังกล่าวบอกให้หยุดจัดกิจกรรม ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการชูป้ายเลข 112 และยังไม่มีการจัดวางอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรม
จำเลยไม่ทราบว่าทางกลุ่ม NU-Movement มีวัตถุประสงค์จัดกิจกรรมเพื่ออะไร เพราะไม่ใช่คนจัด โดยที่จำเลยเข้าไปที่เกิดเหตุเพราะว่าทางกลุ่มขอให้เข้าไปช่วย โดยไม่ได้มีเจตนาเข้าไปช่วยตั้งแต่แรก ทราบว่าปกติกลุ่ม NU-Movement จะมีการติดต่อกันผ่านทางไลน์
จำเลยตอบทนายความถามติง หลังจากที่จำเลยไปฝึกงานก็ออกจากกลุ่มไลน์ และไม่ทราบว่าปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวสื่อสารกันด้วยวิธีใด
.
อาจารย์กฎหมาย: วัตถุประสงค์ของหนังสือปกขาวคือการเรียกร้องแก้กฎหมาย-ปฏิรูปสถาบันฯ บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าการแจกหนังสือไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย
กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน รับผิดชอบสอบวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป และนิติปรัชญา
เมื่ออ่านสำเนาคำฟ้องแล้ว พยานเห็นว่าพฤติการณ์ในคดีนี้ จำเลยถูกฟ้องว่าแจกหนังสือที่มีข้อความที่หน้าปกว่า “บทปราศรัยคัดสรรคดี 112 ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของประกาศคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ บุคคลทั่วไปสามารถสืบค้นได้
สำหรับการหมิ่นประมาทด้วยวาจา และหนังสือมีความแตกต่างกัน การหมิ่นประมาทด้วยวาจาเป็นการกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท ผู้กล่าวถ้อยคำย่อมมีเจตนาหมิ่นประมาทอยู่ในตัว แต่การแจกหนังสือนี้ ปรากฏเพียงหน้าปกและมีจำนวนหน้าถึง 125 หน้า มีเจ้าของบทปราศรัย 12 คน วิญญูชนทั่วไปไม่น่าจะทราบได้ว่าหนังสือดังกล่าวมีข้อความใดบ้าง และข้อความที่ถูกฟ้องมี 7 ข้อความเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ในคดีนี้แล้วจำเลยน่าจะไม่ทราบข้อความในหนังสือ จึงไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 วรรคที่ 1 ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เป็นการรับรองสิทธิ์ในเชิงบวก โดยรัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ แต่ไม่ได้หมายถึงขนาดว่าจะต้องกำหนดโทษให้ผู้ที่ไม่เคารพสักการะ ดังนี้การอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพื่อขยายความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อใช้ลงโทษบุคคล เป็นการตีความที่ขัดกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 29
ข้อความตามคำฟ้อง ที่โจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 พยานเห็นว่าเป็นการตัดข้อความบางส่วนออกจากหนังสือ ซึ่งในการสื่อสารจำต้องอ่านข้อความทั้งหมด จึงจะเข้าใจเจตนาของเจ้าของบทปราศรัยที่แท้จริง ซึ่งเมื่อพยานอ่านทั้งหมดแล้วเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ของผู้กล่าวบทปราศรัย คือต้องการให้มีการแก้ไขมาตรา 112 โดยยกปัญหาในการใช้กฎหมาย และต้องการให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะนี้ก็ยังไม่มีบรรทัดฐานคำพิพากษาว่า การเรียกร้องในลักษณะใดบ้างที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่ผิดตามมาตรา 112 ดังนั้น บุคคลทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่าการแจกหนังสือหรือเอกสารย่อมจะไม่เป็นความผิด และเข้าใจว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ตอบพนักงานอัยการถามค้าน พยานรับว่าผู้แจกหนังสือดังกล่าว อาจจะเห็นข้อความในหนังสือแล้วจึงแจกจ่ายแก่บุคคลทั่วไปก็เป็นได้
โจทก์ถามต่อไปว่าข้อความว่า “หากพระองค์ยังคงใช้เงินแผ่นดินสุรุ่ยสุร่ายปีละหลายหมื่นล้านเช่นนี้ก็จะเป็นที่ติฉินนินทาของประชาชน ว่าทรงเสวยสุขอยู่บนหลังของราษฎร” โดยเมื่อเห็นข้อความนี้ พยานรู้สึกว่ามีลักษณะคล้ายกับส่วนหนึ่งของคำประกาศของคณะราษฎร ซึ่งใช้คำว่า “เจ้านายทำนาบนหลังคน” จึงรู้สึกว่าเป็นการนำข้อความจากเอกสารประวัติศาสตร์มาอ่านซ้ำเท่านั้น และอัยการถามต่อไปว่าประชาชนทั่วไปอาจรู้สึกเกลียดชังพระมหากษัตริย์ที่ใช้เงินแผ่นดินอย่างสุรุ่ยสุร่ายก็เป็นได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่
ตอบทนายความถามติง พยานเห็นว่าข้อความ “หากพระองค์ยังคงใช้เงินแผ่นดินสุรุ่ยสุร่าย” พอจะเข้าใจว่าหมายถึงบุคคลใด อย่างไรก็ตามบุคคลทั่วไปที่มีประสบการณ์แตกต่างกันอาจตีความต่างกันไปได้
.
.
อาจารย์ประวัติศาสตร์: หนังสือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝัันถึงสังคมที่เท่าเทียมตามระบอบประชาธิปไตยฯ เป็นเอกสารที่พบโดยทั่วไปไม่ใช่หนังสือต้องห้าม
ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เบิกความว่า พยานมีความสนใจประวัติศาสตร์ร่วมสมัย โดยเมื่อปี 2566 ร่วมกับอาจารย์อีกหลายคนเขียนหนังสือ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” เป็นการศึกษาการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศ สร้างความยุติธรรม และจินตนาการถึงสังคมไทยที่มีความเท่าเทียมเสมอภาค โดยทำการศึกษาช่วงที่มีการชุมนุมระหว่าง พ.ศ. 2563-2566
พฤติการณ์ในคดีนี้ที่มีการแจกหนังสือรวมบทปราศรัยนั้น พยานเห็นว่า จากการเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาช่วงปี 2563-2566 มีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เนื่องจากนักศึกษามีความสนใจใคร่รู้ประวัติศาสตร์ หนังสือที่แจกจึงเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อจินตนาการไปถึงสังคมที่มีความเท่าเทียม อีกทั้งหนังสือในคดีนี้ไม่ใช่หนังสือต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 จึงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่มีการแจกหนังสือดังกล่าว
เมื่อพยานอ่านหนังสือแล้ว เห็นว่าหากตัดข้อความบางส่วนออกมาพิจารณา สามารถตีความได้หลากหลาย แต่เมื่ออ่านหนังสือทั้งเล่มโดยรวมแล้ว จึงเห็นว่าผู้กล่าวบทปราศรัยเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพรักของประชาชน แต่ไม่ใช่เป็นผู้ปกครอง ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นไปตามระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อย่างไรก็ตามประสบการณ์ของผู้อ่านที่แตกต่างกัน อาจตีความข้อความแตกต่างกันออกไปได้ โดยพบว่ามีการแจกหนังสือปกสีขาวนี้ในการชุมนุมทั่วไป และยังมีการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตด้วย
ตอบพนักงานอัยการถามค้าน ตามที่พยานเบิกความว่าการแจกหนังสือเป็นกระบวนการเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะเท่านั้น ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่การแจกหนังสือที่มีข้อความล้อเลียนเสียดสีพระมหากษัตริย์จะทำให้ข้อเรียกร้องเป็นจริงได้อย่างไร พยานตอบว่า ไม่ทราบ
.
ผู้อยู่ในเหตุการณ์: ไม่เห็นว่าจำเลยสั่งการนักศึกษาคนอื่น และไม่ได้แจกหนังสือ
พยานปากนี้เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ตลอดตั้งแต่ต้น เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งจบการศึกษาแล้ว โดยช่วงที่กลุ่มนักศึกษาเคยจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็เข้าร่วมเป็นผู้ชุมนุมด้วยหลายครั้ง แต่ไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม NU-Movement
ก่อนเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมาหาพยาน แจ้งว่าได้รับมอบหมายให้คอยจับตาเฝ้าดู และสอบถามว่าพยานจะเดินทางไปมหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อสังเกตการณ์ว่าจะจัดกิจกรรมอะไรหรือไม่ โดยได้เฝ้าจับตาดูมาแล้วหลายเดือน แต่ไม่ทราบชื่อของตำรวจคนดังกล่าว
พยานอยู่ในที่เกิดเหตุตั้งแต่เวลาประมาณ 11.00 น. ถึง 17.00 น. ในช่วงเวลา 11.00 น. พบกลุ่มนักศึกษาประมาณ 5 คน รวมตัวกันอยู่ก่อนแล้ว บริเวณใกล้เคียงพบเจ้าหน้าที่ตำรวจคนที่โทรศัพท์หา และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่น ๆ อีกหลายคน ซึ่งสังเกตได้ง่ายเพราะมีท่าทางและลักษณะทรงผม คาดว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนั้นยังไม่พบจำเลย
เมื่อจำเลยมาถึงใต้อาคารคณะสังคมฯ เวลาประมาณ 12.00 น. ก็ยกกล่องกระดาษ โดยไม่เห็นจำเลยสั่งการกลุ่มนักศึกษา เมื่อไปถึงสนามหญ้าที่เกิดเหตุก็พบเห็นชายสวมเสื้อลายสก็อต และหญิงสวมชุดราชการสีขาวเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษา แต่ไม่ได้สังเกตว่าคุยกับใครบ้าง ระหว่างกิจกรรมนั้น จำเลยไม่ได้อยู่ที่จุดดังกล่าวตลอดเวลา โดยพยานมีความเห็นว่าแม้วันดังกล่าวจำเลยจะไม่เข้าไปหากลุ่มนักศึกษา ก็จะมีการจัดกิจกรรมในแบบดังกล่าวอยู่ดี
.