ในวันที่ 27 ม.ค. 2568 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 9 คน จากกรณีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ประกอบด้วย “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี, “ไฟซ้อน” สิทธินนท์ ทรงศิริ, “ลูกมาร์ค” และ “สาธร” (นามสมมติ) ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
.
สำหรับการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยซึ่งมีผู้ขึ้นปราศรัยมาจากหลากหลายกลุ่ม โดยในวันดังกล่าวได้มีการ ‘ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1’ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ
หลังจากนั้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2563 แกนนำ 6 คน ได้ถูกตำรวจ สภ.คลองหลวง จับกุมตามหมายจับ หรือไปแจ้งข้อกล่าวหา ในเวลาไล่เลี่ยกันมา
จนวันที่ 30 ส.ค. 2565 อัยการจังหวัดธัญบุรีได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดธัญบุรี สำหรับปนัสยา, ภาณุพงศ์, อานนท์, ณัฐชนน, พริษฐ์ ถูกอัยการสั่งฟ้องรวม 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ มาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะที่ “บอล” ชนินทร์ ถูกฟ้องเฉพาะข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 ตำรวจยังมีการจับกุม “ไฟซ้อน” ซึ่งทำหน้าที่พิธีกรบนเวทีการชุมนุมเกิดขึ้นภายหลังการฟ้องคดีดังกล่าวไม่กี่วัน โดยใช้หมายจับที่ออกไว้กว่า 2 ปีแล้ว ก่อนอัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 ในสามข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับกลุ่มแกนนำ ทำให้ไฟซ้อนกลายเป็นจำเลยรายที่ 7 ในคดีนี้
นอกจากนี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ยังมีการดำเนินคดีกับ “สาธร” และ “ลูกมาร์ค” เพิ่มเติมอีกสองราย โดยระบุว่าเป็นผู้ร่วมดูแลการชุมนุม กับพิธีกรบนเวที ตามลำดับ โดยมีหมายจับที่ออกตั้งแต่ปี 2563 ก่อนอัยการจะมีการสั่งฟ้องคดีทั้งสองใน 3 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 ทำให้รวมแล้วมีจำเลย 9 ราย และศาลมีคำสั่งรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน เนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน
ในคดีนี้ จำเลยทั้งหมดยืนยันต่อสู้คดี โดยมีการสืบพยานทั้งสิ้นจำนวน 7 นัด ในระหว่างวันที่ 2 – 4 ต.ค., 9 – 10 ต.ค., 25 ต.ค., และ 12 พ.ย. 2567 โดยฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบ 11 ปาก และฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งสิ้น 2 ปาก ได้แก่ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนศาลจะนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 27 ม.ค. 2568
การชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ยังนำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญโดย ณฐพร โตประยูร ให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่านักกิจกรรมที่ถูกร้องจำนวน 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มีการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จากการปราศรัยหรือไม่
ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวโดยเห็นว่า การกระทำของทั้ง 3 คน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 แต่ทั้งนี้คดีในศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวพันกับคดีอาญา ฝ่ายโจทก์ยังต้องนำสืบว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบตามข้อกล่าวหาที่ฟ้องมาหรือไม่อย่างไร
สำหรับการสืบพยานในคดีนี้ อานนท์ นำภา นอกจากเป็นหนึ่งในจำเลย ยังร่วมทำหน้าที่เป็นทนายความของฝ่ายจำเลยด้วย โดยก่อนการสืบพยานนั้น ศาลผู้พิจารณาได้ให้ความเห็นในตอนแรกว่าไม่สามารถให้อานนท์ว่าความได้ เนื่องจากสวมชุดนักโทษ จึงไม่สามารถสวมครุยทนายได้ แต่อานนท์ยืนยันว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้ โดยระบุว่าศาลอาญาเคยมีหนังสือไปสอบถามสภาทนายความฯ ซึ่งสภาทนายความฯ เองก็มีหนังสือยืนยันว่าตนปฏิบัติหน้าที่ทนายความได้ หลังจากศาลไปปรึกษาอธิบดีศาลแล้ว ศาลได้อนุญาตให้อานนท์ว่าความได้ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตว่าความแต่อย่างใด
สำหรับรายละเอียดการสืบพยาน และต่อสู้คดีนี้ ติดตามบันทึกสังเกตการณ์คดีเพิ่มเติมต่อไป