หมายจับออกกว่า 2 ปี ตำรวจเพิ่งจับกุม ‘ไฟซ้อน’ พิธีกร #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน คดี ม.116 ก่อนศาลให้ประกันตัว

6 ก.ย. 2565 เวลา 13.50 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการต่อต้านก่อการร้าย กองบังคับการปฎิบัติการพิเศษ และ สภ.คลองหลวง ได้สนธิกำลังเข้าจับกุม “ไฟซ้อน” สิทธินนท์ ทรงศิริ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อายุ 26 ปี ถึงที่ทำงานย่านลาดพร้าว โดยเป็นการจับกุมตามหมายจับ ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2563 

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นการจับกุมในคดีจากเหตุเป็นพิธีกรเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ลานพญานาค ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ผ่านมากว่า 2 ปีแล้ว ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 “ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง” ต่อมา ได้ถูกนำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.คลองหลวง 

ทั้งนี้ กรณีการชุมนุมครั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565 อัยการได้สั่งฟ้องจำเลยจำนวน 6 คน ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ประกอบด้วย “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี 

การจับกุมสิทธินนท์เพิ่มเติมของตำรวจจึงเกิดขึ้นภายหลังการฟ้องคดีไม่กี่วัน โดยหมายจับที่ออกไว้กว่า 2 ปีแล้ว และผู้ต้องหาเองก็ไม่เคยหลบหนีไปไหน

.

ตร. แจ้ง 116-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุเป็นพิธีกรเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ระบุพฤติการณ์ปลุกเร้าเชิญชวนผู้ชุมนุมบนเวที 

สำหรับบันทึกจับกุมในคดีนี้ ระบุว่าการจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง โดยมีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งจาก กก.ต่อต้านการร้าย, บก.ปฎิบัติการพิเศษ และ สภ.คลองหลวง รวมทั้งสิ้น 11 นาย โดยอ้างว่าได้รับข้อมูลจาก “สายลับ” ที่ไม่เปิดเผยชื่อว่าผู้ต้องหาได้ปรากฏตัวในสถานที่จับกุม จึงนำกำลังไปจับกุม

สำหรับพฤติการณ์คดี พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สภ.คลองหลวง ได้ตรวจพบว่า มีการโพสต์ข้อความทางเพจที่ใช้ชื่อว่า “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ภายใต้ชื่อสัญลักษณ์หรือหัวข้อว่า #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน บนเฟซบุ๊กและสื่อออนไลน์ต่างๆ ชักชวนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 10 ส.ค. 2563 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. ได้เริ่มกิจกรรมปราศรัยบนเวที โดยมีสิทธินนท์ ทำหน้าที่เป็นพิธีกรและกล่าวเชิญชวนปลุกเร้าผู้ชุมนุมบนเวที และดำเนินกิจกรรมตามที่ปนัสยากับพวก วางแผนและแบ่งหน้าที่กัน 

ข้อกล่าวหาอ้างว่าสิทธินนท์ได้มีการเชิญผู้กล่าวปราศรัย ได้แก่ ภาณุพงศ์, อานนท์, ณัฐชนน และปนัสยา ขึ้นพูดปราศรัยบนเวทีมีเนื้อหาโจมตีรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีการถ่ายทอดสดภาพเคลื่อนไหวและเสียง

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาสิทธินนท์จำนวน 5 ข้อหา ได้แก่ 

1. “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

2. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

3. ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมมั่วสุม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

4. ก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคระบาดแพร่ออกไป ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

5. ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวน สิทธินนท์รับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ และไม่เคยถูกจับกุมตามหมายจับในคดีนี้มาก่อน โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมถึงไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมดังกล่าว

หลังจากจัดทำบันทึกจับกุม เวลา 16.00 น. พ.ต.ท.พิศิษฐ บุญมีสุข พนักงานสอบสวน ได้เร่งรีบนำตัวสิทธินนท์ไปยื่นขออำนาจศาลจังหวัดธัญบุรีฝากขัง โดยอ้างว่ายังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มอีก 1 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือ 

ทั้งพนักงานสอบสวนยังคัดค้านการประกัน โดยอ้างว่าเนื่องจากเป็นคดีมีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัว เกรงว่าผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี

ต่อมาหลังศาลอนุญาตให้ฝากขังตามคำขอ เวลา 17.30 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอวางเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกันศาลได้มีคำสั่งให้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด 

สำหรับการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยซึ่งมีผู้ขึ้นปราศรัยมาจากหลากหลายกลุ่ม โดยในวันดังกล่าวรุ้ง ปนัสยา เป็นผู้อ่าน ‘ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1’ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ ก่อนจะสิ้นสุดกิจกรรม

.

X